โค้ชด้วยคำถามแล้วลูกน้องไม่ตอบ ทำอย่างไร? โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้เขียนได้รับอยู่บ่อยครั้งในระหว่างการฝึกอบรมโปรแกรม การโค้ชเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงาน’ (PerformanceCoaching) ผู้เขียนมักสังเกตเห็นสายตาของผู้เข้าอบรมที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำทักษะการโค้ชไปใช้ในชีวิตจริง แต่มีความกังวลใจเกี่ยวกับพฤติกรรมท้าทายของลูกน้องหรือโค้ชชี่ระหว่างการโค้ช เช่น กรณีลูกน้องดื้อเงียบ ไม่ตอบคำถาม จะทำอย่างไร ผู้เขียนคิดว่า ก่อนจะตอบคำถามว่าทำอย่างไร เราควรทำความเข้าใจก่อนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ลูกน้องเกิดพฤติกรรมเช่นนี้

การแจ้ง Agenda ไม่ชัดเจน

ผู้บังคับบัญชาหรือโค้ชไม่ได้แจ้งหัวข้อและวัตถุประสงค์การสนทนาที่ชัดเจน ลูกน้องไม่เข้าใจหรือไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกโค้ช บางครั้งรู้ แต่ไม่เข้าใจว่าการโค้ชคืออะไร ทำให้ไม่เห็นประโยชน์ เกิดความระแวงสงสัย ไม่ไว้ใจ ไม่มั่นใจในการสนทนา จึงไม่กล้าตอบ กลัวตอบแล้วจะมีผลกระทบเชิงลบกับตนในภายหลัง

การขาดความไว้วางใจในตัวโค้ช

ลูกน้องอาจเข้าใจเรื่องการโค้ช แต่ไม่เชื่อใจผู้บังคับบัญชาตนเอง คิดว่ามีเป้าหมายอื่นแอบแฝงอยู่ เพราะผู้บังคับบัญชาไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน หรือมีความไม่มั่นใจ ไม่ไว้วางใจในตัวผู้บังคับบัญชามาตั้งแต่ต้น เช่น อาจเคยมีประเด็นขัดแย้งกันมาก่อน บารมีผู้บังคับบัญชาไม่มากพอ ไม่เป็นแม่แบบที่ดี เมื่อจะทำการโค้ช ลูกน้องจึงไม่เชื่อใจ

โค้ชขาดทักษะการโค้ช

ผู้บังคับบัญชาบางท่านโค้ชลูกน้องโดยตั้งคำถามในลักษณะเหมือนการสอบสวนทำให้ลูกน้องรู้สึกเหมือนถูกจับผิด ถูกคุกคาม ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะตอบคำถาม จึงเลี่ยงที่จะตอบ หรือขอให้ผู้บังคับบัญชาบอกมาเลยว่าต้องการให้ตนทำอะไร ผู้บังคับบัญชาบางท่านขาดทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ทำให้ไม่สามารถเข้าใจลูกน้องอย่างแท้จริง และอาจด่วนสรุป หรือตัดสินลูกน้องเร็วเกินไป ทำให้ลูกน้องขาดความไว้วางใจ และทำให้การโค้ชประสบความล้มเหลว

ลูกน้องลลูกน้องตอบไม่ได้จริงๆ

บทบาทที่สำคัญของโค้ชคือ การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้โค้ชชี่คิด และขยายขอบเขตความคิดนั้น โค้ชที่ตั้งคำถามได้ดี แม้ว่าจะเป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับโค้ชชี่ แต่ภายใต้บรรยากาศแห่งความไว้วางใจ ส่วนใหญ่ โค้ชชี่จะค่อยๆกลั่นคำตอบออกมาจากหัวใจและสมองได้ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ลูกน้องหรือโค้ชชี่จะคิดไม่ออกจริงๆ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่บ่อยนัก  หากเกิดขึ้นบ่อยแสดงว่าปัญหาอาจอยู่ที่คำถามที่โค้ชใช้ 

นิสัย / ประสบการณ์ของลูกน้อง

ลูกน้องบางคนอาจมีทัศนคติที่ไม่ดีกับผู้บังคับบัญชา ไม่เชื่อใจผู้บังคับบัญชา จึงแสดงพฤติกรรม ดื้อเงียบถามก็ไม่ตอบ บางกรณีอาจเป็นผลมาจากลูกน้องไม่คุ้นชินกับการได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เช่น เคยทำงานอยู่ในองค์กรที่ผู้บังคับบัญชาในอดีตใช้วิธี สั่งการอยู่ตลอดเวลา ทำให้เมื่อมาทำงานกับผู้บังคับบัญชาคนใหม่ที่ใช้ทักษะการโค้ชด้วยการตั้งคำถามเป็นแนวทางในการบริหารงาน ก็รู้สึกไม่คุ้นชิน

ในวันพรุ่งนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอแนวทางการจัดการกับพฤติกรรมท้าทายของลูกน้องหรือโค้ชชี่ที่เกิดขึ้นระหว่างการโค้ช อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะคะ


หมายเลขบันทึก: 548648เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2013 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2013 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท