การประกันคุณภาพการศึกษา : การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา


การประกันคุณภาพการศึกษา: การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

            การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา เป็นขั้นตอนของการประกันคุณภาพภายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา  มุ่งเน้นในเรื่องของผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประจำปี และมีบทบาทเพื่อการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งในการดำเนินการนั้น สถานศึกษาต้องทำการติดตาม ตรวจสอบผลการดำเนินตามแผนปฏิบัติประจำปีที่สถานศึกษาได้กำหนด เพื่อนำผลจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และประสิทธิผลของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา  

วัตถุประสงค์ของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

             การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อให้สถานศึกษาสามารถติดตามรวบรวมข้อมูลความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และการปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง 2) เพื่อรวบรวมและจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ และนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 3) เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา และเป็นที่ยอมรับ เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง  และ 4) เพื่อเตรียมพร้อมรับการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองรับการประเมินภายนอก
องค์ประกอบของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาเป็นกระบวนการที่สถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง               การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวง ฯ เป็นการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งในการตรวจสอบคุณภาพการศึกษา มี 2 ระดับ ได้แก่

    1.การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา  สามารถนำแนวคิดเชิงระบบมาใช้ในการติดตามคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีองค์ประกอบของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาในเชิงระบบ ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ปัจจัย กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์ สามารถสรุปประเด็นสำคัญของการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา เป็น 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและงบประมาณ ด้านการบริหารจัดการ ด้านกระบวนการเรียนรู้ ด้านการประกันคุณภาพ ด้านผู้เรียน และด้านโรงเรียน

    2.การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาระดับสถานศึกษา   เป็นการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนั้นขอบข่ายและประเด็นการตรวจสอบจึงประกอบด้วยการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปี การดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรมที่กำหนดไว้ได้ตามแผนหรือไม่ มีการปรับแผนหรือไม่ มีเพราะเหตุใด มีการสรุปผลการดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ การติดตามตรวจสอบมีการให้ข้อสังเกต ให้ข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการต่อไป

ขั้นตอนและกระบวนการการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

  การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา เป็นกระบวนการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้าน  ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต/ผลลัพธ์ เพื่อให้การบริหารจัดการคุณภาพมีประสิทธิภาพจะใช้วงจรเดมมิ่ง ( PDCA) เป็นเครื่องมือติดตามตรวจสอบคุณภาพซึ่งประกอบด้วย

1.     การวางแผนติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา  มีการกำหนดขั้นตอนการทำงานเป็น

กระบวนการมาตรฐานแต่ละขั้นตอนมีวิธีการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและการบันทึกการทำงานทุกขั้นตอนเป็นปัจจุบันการดำเนินการตามแผนการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าทั้งด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต/ผลลัพธ์

2.    การดำเนินการตามแผนการติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าทั้งด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต/ผลลัพธ์

3.    การรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา 

4.    การพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นการเสนอแนะมาตรการเร่งรัดการพัฒนา

คุณภาพการศึกษาเป็นการแก้ไขพัฒนาระบบ

แนวทางการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

             การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาเป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่โรงเรียนจัดทำขึ้น มีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

                  รูปแบบที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง

                 รูปแบบที่ 2 ผู้ปฏิบัติงานรายงานการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นระยะตามที่สถานศึกษากำหนด

                   รูปแบบที่ 3 คณะกรรมการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นระยะตามที่สถานศึกษากำหนด

สรุปและรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา

            การสรุปและรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา เป็น การสรุปผลการดำเนินงานร่วมกันของคณะผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบริหารงบประมาณ  การรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เป็นการเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา

 

 ****************

                                              

   เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.(2554). การติดตามตรวจสอยคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.(2555).แนวคิดและแนวทางการพัฒนาผู้ติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.(2554). แนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

 

หมายเลขบันทึก: 548296เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท