สถานการณ์ที่ 3 : เด็กและเยาวชนจำนวนมากในพื้นที่สึนามิ ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด


มีเด็กและเยาวชนที่เกิดใน ๖ จังหวัดสึนามิจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการจดทะเบียนเกิด เด็กจำนวนไม่น้อยจึงไม่อาจเข้าสู่สิทธิในสัญชาติได้ ทั้งที่เป็นบุคคลสัญชาติไทย อันนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จุดเริ่มต้นของการสร้างตัวตนทางกฎหมายของคนที่เกิดในประเทศไทย อยู่ที่การได้รับการจดทะเบียนการเกิด แต่จากงานวิจัยครั้งนี้ พบว่ามีเด็กและเยาวชนที่เกิดในพื้นที่ประสบภัยสึนามิจำนวนมากไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด  

สภาพภูมิประเทศ

ด้วยลักษณะเฉพาะของพื้นที่ภาคใต้ที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะน้อยใหญ่ กระจัดกระจาย แม้ทางสาธารณสุขจะพยายามเข้าให้ความรู้ความช่วยเหลือย่างทั่วถึง เช่นที่ชาวบ้านบนเกาะตาครุฑ อำเภอเมืองระนอง แม้จะเป็นเกาะเล็กๆ  แต่หลายครอบครัวเริ่มมีการฝากครรภ์ที่สถานีอนามัยเกาะสินไห ซึ่งอยู่ใกล้เคียง หรือบางครอบครัวเข้ามาฝากถึงบนฝั่ง ที่โรงพยาบาลระนอง อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน พบว่าความห่างไกลเช่นนี้ เป็นอุปสรรคต่อการแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดบนเกาะ เช่นที่เกาะตาครุฑ แม้ชาวบ้านจะฝากครรภ์แล้ว แต่เมื่อจำเป็นต้องคลอดที่บ้าน การจะข้ามเรือไปให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่ตั้งอยู่ที่เกาะสินไห ออกหนังสือรับรองการเกิดให้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแม้แต่หมอตำแยบนเกาะสินไหเอง ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง มีบัตรประจำตัวผดุงครรภ์โบราณที่ผ่านการอบรมแล้ว  ยังพบอุปสรรคในการขอออกหนังสือรับรองการเกิดให้เด็กที่ทำคลอดบนเกาะสินไห เนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเซ็นรับรองเอกสารให้ หลายครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ติดประชุมในเมือง หรือติดพายุ นั่งเรือข้ามมาเกาะไม่ได้ ต้องรอถึง ๒-๓ สัปดาห์ ทำให้เลยกำหนดการแจ้งเกิด หรือตกหล่นไป

ทัศนคติ

นอกจากนี้ ยังพบว่าการไม่ได้รับการแจ้งเกิดของเด็กในบางชุมชน เกิดจากทัศนติของชาวบ้านเอง เช่นที่ชุมชนชาวอุรักละโว้ย บนเกาะภูเก็ต ซึ่งภรรยาของผู้นำชุมชนปัจจุบันได้เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนที่ขึ้นฝั่งใหม่ๆ ชาวบ้านกลัวว่าการไปแจ้งชื่อที่อำเภอจะต้องถูกเกณฑ์ทหาร ผู้ใหญ่บ้านในอดีตเมื่อรับแจ้งการเกิดของเด็กในชุมชนแล้ว จึงไม่ไปขอจดทะเบียนการเกิดที่อำเภอ ทำให้เด็กจำนวนมากไม่มีสูติบัตร จนเมื่อประมาณ ๒ ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันได้เริ่มนำหนังสือรับแจ้งการเกิดที่เก็บไว้ที่ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนจำนวนมากไปติดต่อดำเนินเรื่องที่อำเภอ

กฎหมายนโยบายที่ติดขัด และความไม่รู้ไม่เข้าใจของผู้เกี่ยวข้อง

จากกรณีศึกษาในงานวิจัย พบว่า เด็กที่เกิดนอกสถานพยาบาลเกือบทุกกรณี ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด เนื่องจาก (๑)ไม่มีใบรับแจ้งการเกิด - ท.ร.๑ ตอนหน้า จากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ทั้งด้วยสาเหตุไม่ได้ไปแจ้ง หรือด้วยไปแจ้งแล้วถูกปฏิเสธ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าวรับแจ้งเกิดให้ไม่ได้  หรือด้วยไปเกิดนอกชุมชน จึงไม่รู้จะแจ้งใคร (๒) มีใบรับแจ้งการเกิดแล้ว แต่ไปขอออกสูติบัตรที่อำเภอไม่ได้

ส่วนเด็กที่เกิดในสถานพยาบาลจะมีหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) แต่จากกรณีศึกษาพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับเอกสารกลับมาหลังคลอด แต่ได้ไปติดตามภายหลังเมื่อจะดำเนินเรื่องสถานะบุคคล และพบกรณีที่ไม่สามารถนำ ท.ร.๑/๑ ไปขอออกสูติบัตรที่อำเภอได้ เนื่องจากยังติดขัดที่กฎหมายหรือคำสั่งในทางปฏิบัติของกรมการปกครอง และที่สำคัญด้วยความไม่เข้าใจหรืออคติของเจ้าหน้าที่บางคน ทำให้มีการปฏิเสธการจดทะเบียนการเกิดให้เด็กที่เกิดในประเทศไทย ที่มีบิดาสัญชาติไทย แต่มารดารอพิสูจน์สถานะ ดังเช่นกรณีเด็กชายกิติทัศน์ ชาญสมุทร

สภาพปัญหาอันมีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

 

จะเห็นได้ว่าการจดทะเบียนการเกิด ไม่เกี่ยวข้องกับการได้สัญชาติไทย แต่เป็นเอกสารพิสูจน์ตนที่ก่อให้เกิดตัวตนทางกฎหมาย อันนำไปสู่การเข้าถึงสถานะและสิทธิต่างๆ ที่พึงมีตามกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงพบสถานการณ์การแจ้งจดทะเบียนการเกิดของบุตรโดยใช้ชื่อญาติพี่น้องที่มีสัญชาติไทยเป็นบิดาหรือมารดาแทน เพื่อให้เด็กได้รับการจดทะเบียนการเกิด และเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้ ในระหว่างที่บิดาและมารดาที่แท้จริง กำลังรอดำเนินเรื่องสถานะบุคคลของตนเอง แต่กรณีเช่นนี้สามารถเป็นข้อพิสูจน์ถึงการมีความเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงเป็นเครือญาติใกล้ชิดกันระหว่างคนสองแผ่นดินได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่า แม้เด็กที่มีหนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ท.ร.๑/๑)  ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างตัวตนทางกฎหมาย เพราะยังไม่อาจเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้

กรณีศึกษาที่ ๑  เรื่องของเด็กหญิงเบลล์ เป็นตัวอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า การมีเพียงหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) จากโรงพยาบาล ไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าเด็กมีตัวตนทางกฎหมาย เนื่องจากส่วนราชการยังคงพิจารณาถึงเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ที่ถูกกำหนดเมื่อได้รับการจดทะเบียนการเกิด โดยการออกสูติบัตรที่อำเภอ  ดังนั้นกรณีเด็กหญิงเบลล์ ซึ่งแม้เป็นเด็กสัญชาติไทย แต่เมื่อไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ทำให้เหมือนไม่มีตัวตนทางกฎหมาย จึงถูกปฏิเสธความช่วยเหลือกรณีเด็กกำพร้าบุตรผู้ประสบภัยสึนามิ จากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ขณะที่ลูกแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย และมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ เป็นต้น



 
หมายเลขบันทึก: 54813เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท