"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

การบำเพ็ญบุญในวันพระ ๑๕ ค่ำ ของชาวพุทธภาคเหนือ (บ้านแพะ)๑


ขั้นตอนทำบุญวันพระแบบภาคเหนือ(บ้านแพะ-น้ำลอก)

๑๐/๐๙/๒๕๕๖

**********

 

การบำเพ็ญบุญในวันพระ ๑๕ ค่ำ

ของชาวพุทธภาคเหนือ (บ้านแพะ)

 

การทำบุญวันพระตามประเพณีของทางภาคเหนือมีขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบอย่างไร (หากความเพียรยังไม่พร้อมก็ค่อย ๆ อ่านทีละนิดทีละหน่อยหลาย ๆ วันก็ได้นะครับ) โดยผู้เขียนต้องการถ่ายทอดขั้นตอนรายละเอียดทุกอย่างเท่าที่เห็นว่าสำคัญ โดยเน้นที่บทสวด พุทธชัยมงคลคาถา (พาหุง มหากา ภวตุสพฺ) พร้อมคำแปลด้วย ส่วนที่เป็นคำสวดมนต์ จะเขียนเป็นรูปของภาษาบาลีนะครับ เพื่อรักษาไว้ซึ่งภาษาที่สมบูรณ์ถูกต้องเหมาะสม หากผิดพลาดตรงไหน ผิดตกอย่างไร วอนผู้รู้ช่วยแนะนำด้วย

หากคำถวายที่เป็นภาษาบาลีผสมกับภาษาไทย จะคงความเป็นภาษาไทยเอาไว้นะครับ(พิธีการของแต่ละท้องถิ่นในภาคเหนืออาจใช้คำถวายที่แตกต่างกัน บันทึกนี้เป็นแบบฉบับเฉพาะที่หมู่บ้านและปู่อาจารย์ของผมใช้และปฏิบัติกันเท่านั้น พึงทำความเข้าใจให้ตรงกันไว้ ณ ที่นี้เป็นเบื้องต้น)

 

ขั้นตอนพิธีการในวันพระตามที่ปู่อาจารย์และชาวบ้านได้ปฏิบัติตามกันมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยเขียนตามความเข้าใจเป็นลำดับ ดังต่อไปนี้

๑. วันพระขึ้น หรือแรม ๑๕ ค่ำ ของวันเข้าพรรษาและช่วงปีใหม่เมือง ตอนเช้ามืดเวลาประมาณตี ๕ ถึง ๗ โมงเช้า ชาวบ้านมักจะนำอาหารที่ทำเป็นพิเศษเพื่อไปถวายทานเพื่ออุทิศถวายให้กับญาติผู้ที่ตายไปแล้ว เรียกว่า ก๋ารตานขันข้าว ชาวพุทธจะนำอาหารที่เตรียมไว้ประกอบด้วย ข้าวสุก กับข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ธูป เทียน ดอกไม้ น้ำหยาด(น้ำเพื่อให้พระได้ใช้กรวดอุทิศให้กับผู้ตาย) รายชื่อผู้ทานและบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว และที่ขาดไม่ได้คือ ซองปัจจัยตามกำลังศรัทธา ส่วนมากก็จะใส่ซอง ๒๐-๕๐ บาท เท่านั้น

พอไปถึงที่กุฏิพระก็นำของที่เตรียมมาประเคนให้ท่าน พระท่านก็จะประกอบพิธีด้วยตัวเอง โดยท่านจะมีคำกล่าวเพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย แต่ละท้องถิ่นก็คงจะไม่เหมือนกัน อาจจะเพี้ยนกันไปนิดหน่อย เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังคงเป็นพระอยู่นั้น ใช้ "คำตานขันข้าว" ดังนี้

 

"เอวัง โหตุ ดีหลี อัชชะในวันนี้ก็เป๋นวันดี เป็นวันสะหลี ศุภะมังคะละอันผาเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าวันและยามตังหลาย บัดนี้หมายมีมูละศรัทธา นาย/นาง(ชื่อผู้นำอาหารมาถวาย)...............ได้ตกแต่งแป๋งพร้อมน้อมนำมายังมธุบุปผาราจาดวงดอก เข้าตอก ดอกไม้ ลำเตียน โภชนะอาหารสำรับหนึ่ง มาถวายกับต๋นตั๋วลูกศิษย์ซะหลี สัพพัญญูพระพุทธเจ้า บัดนี้ก็ได้อว่ายหน้าฮับเอาไว้แล้ว ยังบ่อเต่าเตื่อนั้น หน้าบุญกุณตานตังหลาย มวลฝูงนี่ เพื่อตี่จะอุติสะส่วนบุญกุณตานตังหลาย ไปหาผุ้จุติต๋ายไปสู่ปาระโลกปายหน้า อันมีนามะก๋รจื่อว่า(ชื่อผู้ที่ตายไปแล้วตามรายชื่อ)......................แม้นว่าต๋นตั๋วของนาย/นาง.....................ไปต๊กอยู่ตี่ใกล้ก็ขอหื้อมาฮับเอาโดยเร็วตันใจ๋ แม้นว่าไปต๊กอยู่ตี่ไกล๋ มาบ่อได้ไปบ่อรอด ผู้ข้า(อาตมา)ก็ขอฝากยอดมเหสิก๋า เตวะบุตร เตวะดา พระยาอินทร์พระยาพรหม พระยายมราช ต๋นจดเส้นกั้นนำหยาดหมายตาน หื้อไปลอดเถิงเติงยังผู้ตี่จุติต๋ายไปแล้วนั้น หื้อได้กิ๋นได้บริโภค ไปลอดแม่เจ้าก็ขอหื้อผากฎ(ปรากฏ)เป็นดั่งข้าวงาย ไปลอดแม่ขวายก็ขอหื้อผากฎเป็นดั่งแผ่นเสื้อและผ้า ไปลอดแม่หล้าก็ขอหื้อผากฏเป๋นดั่งข้าวติ๊พย์(ข้าวทิพย์) น้ำติ๊พย์(น้ำทิพย์) สิบประก๋ารจุ่งจักมีเตี้ยงแต๊ดีหลีเต๊อออ... ยถา...สัพพี..สุขังพลัง"

(ต่อด้วยคำกรวดน้ำ พร้อมกับนำน้ำที่เจ้าภาพเตรียมมานั้น กรวดใส่ภาชนะที่รองรับไปพร้อมกัน)

 

ก็ถือว่าเสร็จ การตานขันข้าว แต่เพียงเท่านี้ เสร็จแล้วผู้ทานก็กราบพระถอยออกมา ท่านอื่นที่รออยู่ก็เข้าไปทำพิธีต่อ กว่าจะครบทุกคนบางครั้งเกือบ ๗ โมงครึ่งก็มี

จากนั้น...

 

๒. เมื่อเวลาประมาณ ๗.๓๐ น. ตอนเช้า ปู่อาจ๋ารย์ (บางท่านเรียก ป้ออาจ๋ารย์ ) ปู่จารย์นิมนต์พระลงมาสู่ศาลาการเปรียญและขึ้นนั่งยังอาสนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มรรคนายก หรือ ปู่จารย์ นำกราบพระ อาราธนาศีล รับสมาทานศีล เป็นลำดับไป อาจกล่าวนำในลักษณะนี้

"ต๋อนนี่ พระคุณเจ้าได้ลงมาสู่ศาลาก๋ารเปรียญเป๋นตี่เรียบร้อยแล้ว ขอเจิญบรรดาป่อแม่ปี่น้อง ลุง ป้า อาว อา ตังหลาย พร้อมใจ๋กั๋น กราบพระ บูชาพระรัตนตรัย ตั้งใจ๋ไหว้พระฮับศีล โดยพร้อมเพียงกั๋นเป็นลำดับไปเน้อ"

 

อิมินา สกฺกาเรน พุทฺธํ ปูเชม

อิมินา สกฺกาเรน ธมฺมํ ปูเชม

อิมินา สกฺกาเรน สงฺฆํ ปูเชม

 

อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ ภควา พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ (กราบ)

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ (กราบ)

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ (กราบ)

 

"ลำดับต่อไป เจิญกล่าวคำอาราธนาศีลพร้อมกั๋นเน่อครับ"...

 

มยํ ภนฺเตวิสุ̊วิสุ̊ รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ ยาจาม

ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเตวิสุ̊วิสุ̊ รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ ยาจาม

ตะติยมฺปิ มยํ ภนฺเตวิสุ̊วิสุ̊ รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ ยาจาม

(คำว่า วิสุง อาจจะเขียนผิดรูปแบบจากภาษาไปนิด เนื่องจากใช้สัญลักษณ์แทนอังนิคหิตด้านบน ส.เสือ)

 

๓. ช่วงนี้พระท่านจะตั้งตาลปัตรเตรียมกล่าวคำรออยู่ก่อนแล้วพอกล่าวจบ พระท่านก็จะนำกล่าวคำให้ศีล ชาวบ้านทั่วไปกล่าวตาม

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทธสฺส ชาวบ้านกล่าวตามอย่างที่พระท่านพากล่าว ๓ ครั้ง

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ (พระสวดซ้ำ ๓ ครั้ง)

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...

ข้าพเจ้าขอถือเอา พระพุทธเจ้าเป็นสะระณะ
ข้าพเจ้าขอถือเอา พระธรรมเจ้าเป็นสะระณะ
ข้าพเจ้าขอถือเอา พระสงฆเจ้าเป็นสะระณะ

ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...
ทุติยมฺปิ สังฆัง สรณํ คัจฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...

แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอา พระพุทธเจ้าเป็นสะระณะ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอา พระธรรมเจ้าเป็นสะระณะ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอา พระสงฆเจ้าเป็นสะระณะ

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ชาวบ้านว่าตาม...
ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ชาวบ้านว่าตาม...

แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอา พระพุทธเจ้าเป็นสะระณะ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอา พระธรรมเจ้าเป็นสะระณะ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอา พระสงฆเจ้าเป็นสะระณะ

 

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ชาวบ้านว่าตาม...

อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ชาวบ้านว่าตาม...

กาเมสุมิจฺฉานารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิชาวบ้านว่าตาม...

มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ชาวบ้านว่าตาม...

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ชาวบ้านว่าตาม...

(พระสรุปศีลต่อ) *อิมานิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ สีเลน สุคติงฺยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพพุติงฺยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย.รับ สาธุ พร้อมกัน ๑ ครั้ง

(ศีล ๕ ไม่แปลเพราะรู้กันดีอยู่แล้ว ส่วนบทสรุปศีล แปลโดยสรุปได้ว่า *สิกขาบททั้ง ๕ ประการนี้ ศีลย่อมนำให้จิตของเราไปสู่สุคติ ศีลย่อมนำให้ถึงพร้อมด้วยโภคะทรัพย์ ศีลย่อมนำทางให้เราไปสู่พระนิพพาน ไม่มีสิ่งใดเลอเลิศไปกว่าศีลอีกแล้ว*)

 

๔. ปู่อาจารย์กล่าวคำนิมนต์พระสวดพระคาถาพาหุงฯ ยกตัวอย่างคำกล่าวของปู่จารย์ ถนัด ดังดี ที่หมู่บ้านของผมท่านใช้ (แต่ละท่านก็ใช้ไม่เหมือนกัน) "คำอาราธนาพาหุง" นี้ตัดมาจากบททำวัตรเช้าว่า...

 

"โย ธมฺมํ เทเสสิ อาทิกลฺยาณํมชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสสิ ตมหํ ภควนฺตํ อภิปูชยามิตมหํ ภควนฺตํ สิรสา นมามิ"

 

คำกล่าว "อาราธนาพาหุง" ของปู่อาจารย์ ลือ เขย่า ท่านใช้เมื่อตอนที่ยังไม่เสียชีวิตที่วัดใหม่เจริญธรรม บ้านแพะ ดังนี้...

 

"พุทธะรัจจะ ธัมมะรัจจะ สังฆะรัจจะ ธัมมะเทสนา กริสสามิ"

 

จากนั้นพระท่านก็จะเริ่มสวดบทถวายพรพระเป็นลำดับไป...

หมายเลขบันทึก: 547860เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ กุหลาบอ่านตอนที่๓ ไปได้เล็กน้อย รู้สึกสนใจอยากมีความรู้ต่อ จึงย้อนมาอ่านตั้งแต่เริ่มต้นจะดีกว่า อนุโมทนาด้วยค่ะพี่หนาน

เป็นการทบทวนความรู้และจัดเรียงความคิดไปพร้อม ๆ กันด้วยครับ

ขอขอบคุณสมาชิก ครู อาจารย์ ข้าราชการ ทุกท่านที่ให้กำลังใจเป็นอย่างสูงนะครับ

 nui
 จัตุเศรษฐธรรม
 เพชรน้ำหนึ่ง
 ชยพร แอคะรัจน์
 Joy
 ดร. พจนา แย้มนัยนา
 กุหลาบ มัทนา
 สุวิจักขณ์ อริยวงศ์ชัย
 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท