ลูกเห็นคนทำไม่ดีแล้วได้ดี ทำให้หมดกำลังใจที่จะทำดี


ขอให้พ่อแม่เคารพในการตัดสินใจของลูก ในภาวะอย่างนี้ไม่ควรบอกว่าลูก "ต้องทำ"อย่างนี้ .. ลูก "ต้องทำ"อย่างนั้น เพราะนั่นหมายถึงพ่อแม่กำลังละเมิดการตัดสินใจของลูก ไม่เคารพในการตัดสินใจของลูก..จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

คุณพ่อที่น่ารักท่านหนึ่งถามว่า จะทำอย่างไรให้ลูกเชื่อสิ่งที่พ่อสั่งสอนเรื่องการตั้งมั่นทำดีแล้วจะได้ดี แต่ สิ่งที่ลูกเห็นในปัจจุบันมันขัดแย้งกับสิ่งที่พ่อสอน เพราะ "ลูกเห็นคนทำไม่ดีแล้วได้ดี" ทำให้หมดกำลังใจที่จะทำดี

ยกตัวอย่างให้เห็นจากการทำการบ้านคณิตศาสตร์ ที่อาจารย์บอกว่าทำเสร็จแล้วให้ระบายสีรูปภาพด้วย จุดประสงค์ คือ ให้เด็ก ๆ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ โดยบอกว่าจะให้คะแนนด้วย แต่ท้ายแล้ว ลูกมารู้ความจริงโดยไม่ได้ตั้งใจว่าเพื่อนคนหนึ่งสอบกลางภาคได้ 4 ทั้ง ๆ ที่เพื่อนคนนี้ไม่เคยระบายสีเลย ในขณะที่ลูกระบายสีทุกครั้ง..ทุกรูป แต่กลับได้คะแนน 3 กว่า ๆ 

วันรุ่งขึ้น..
ตอนทำการบ้านคณิตศาสตร์เสร็จ ลูกบอกว่าไม่อยากระบายสีแล้ว เพราะเพื่อนที่ไม่ได้ระบายสียังได้เกรด 4 เลย พ่อถึงกับอึ้ง บอกลูกว่า นั้นเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ลูกทำดีแล้ว ควรทำดีต่อไป และผลดีจะตกอยู่กับตัวลูกเอง การเรียนลูกต้องไม่เรียนเพื่อหวังแค่คะแนน
พ่อคิดว่าที่พูดไปนั้น ลูกคงไม่เข้าใจ แต่ก็ทำตามใจพ่อ คือ กลับไประบายสีแบบไม่เต็มใจ

ลูกจะอายุเท่าไรก็ตาม..
แม้จะยังเล็ก ถ้าลูกลุกขึ้นมาต่อต้านพ่อแม่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นั่นแปลว่าลูกมีแนวทางในการตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ยังเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายพ่อแม่ได้เข้าใจทั้งหมด

เบื้องต้น..
ขอให้พ่อแม่ยอมรับในการตัดสินใจของลูก..เคารพในการัดสินใจของลูก ลูกไม่ทำ..ไม่เป็นไร รอก่อนได้

อย่าให้ความสำคัญกับชิ้น "งานของลูก" มากกว่า "ใจของลูก"

ขอให้พ่อแม่เคารพในการตัดสินใจของลูก
ในภาวะอย่างนี้ไม่ควรบอกว่าลูก "ต้องทำ"อย่างนี้ .. ลูก "ต้องทำ"อย่างนั้น เพราะนั่นหมายถึงพ่อแม่กำลังละเมิดการตัดสินใจของลูก ไม่เคารพในการตัดสินใจของลูก..จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

ขอให้พ่อแม่ปล่อยวางไว้ก่อน ไม่บังคับให้ต้องทำในสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึกของลูกอย่างมากในขณะนั้น ไม่นาน..สักพัก ลูกจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
เรื่องนี้พ่อแม่ต้องคิดว่า "ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย"..รอได้นะจ๊ะ

สิ่งที่ลูกจะได้เรียนรู้ต่อไปคือถ้าลูกไม่ทำตามกติกาที่ครูสั่ง..ลูกจะต้องเผชิญกับอะไร..แล้วลูกจะปรับตัวเข้าได้ในสถานการณ์นั้นด้วยตนเอง..แม้จะขุ่นใจ แต่ลูกจะเข้าใจการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมมากขึ้น

ที่สำคัญคือ..
พ่อแม่ต้องไม่ตอกย้ำซ้ำทุกข์ของลูกที่มีให้ทุกข์มากขึ้น เพราะโดนกดดันทั้ง 2 ฝ่าย..โรงเรียนก็โดนครู กลับบ้านยังจะโดนพ่อแม่อีก..มันเกินจะรับสำหรับลูกน้อยน่ะ

ขอให้บ้านเป็นพื้นที่ "เย็น" สำหรับลูกเถอะนะ ลูกเจอเรื่องร้อน ๆ จากที่ไหนมา จะได้มีที่ชื่นใจให้เหยียบยืนให้เย็นบ้าง

จะว่าไปแล้ว..
เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่จะสอนให้ลูกเล็ก ๆ เข้าใจ เพราะโดยวัยแล้ว ลูกน่าจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้ในวัยสัก 7-12 ปี (จำง่าย ๆ ก็ได้ 7 -11 )เพราะเป็นวัยที่ลูกสามารถเข้าใจและคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและสามารถรับมือกับสิ่งที่เป็นนามธรรมได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

แม่เคยบ่นเรื่องนี้เหมือนกันว่า..
เป็นเรื่องที่หดหู่จริง ๆ ที่ทุกวันนี้ในสังคมบ้านเราเมืองเรานั้นการแข่งขันกันทำความดีดูจะลดน้อยถอยลงไปทุกที 
ฉะนั้นจงอย่าคาดหวังว่าใครจะดี แต่ต้องคาดหวังและทำให้ตัวเรานั้นให้ดี..สมดั่งใจหวังซะก่อน
ตัวเรา..พ่อ ๆ แม่ ๆ นั่นแหละ ต้องตั้งมั่นต่อการคิดดี ปฏิบัติดี..แล้วขยายดี กระจายดี
ต่อเมื่อตัวพ่อแม่ดีแล้วก็ต้องสอนลูกให้ดีตามไปด้วยกัน

เรื่อความซื่อสัตย์..
ต้องสอนลูกให้เข้าใจว่า เรื่องความซื่อสัตย์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำให้ชีวิตและสังคมเข้มแข็ง
พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่าง และสอนให้ลูกให้ซื่อสัตย์แม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

ต้องสอนลูกที่อาจจะพลัดเข้าไปในความรู้สึกว่าการซื่อสัตย์ทำให้ตนเอง "เสีย" โอกาส เพราะเห็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์แล้ว "ได้" โอกาส ก็เลยอยาก "ได้" บ้าง เลยดูจะชื่นชมในหนทางที่จะ "ได้" อย่างไม่ซื่อสัตย์
เรื่องนี้พ่อแม่ต้องทำให้เห็น เป็นให้ลูกดู..

ต้องสอนลูกเสมอว่า..
ถ้าลูกเห็นใครไม่ซื่อสัตย์ลูกก็รู้แก่ใจว่ามันไม่ดี..แล้วลูกจะเป็นคนที่ทำไม่ดีเพิ่มขึ้นอีก 1 คนหรือ

การแข่งขันไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
ลูกสามารถที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้ด้วยดี มีไมตรี มีมิตรภาพ เกื้อกูลและพึ่งพิงอิงอาศัยกันได้ โดยที่ซื่อสัตย์..ไม่ต้อง "ขี้โกง" ไม่ต้องผลักคนอื่นให้ล้ม หรือเหยียบใครต่อใคร

การแข่งขันด้วยดี..ล้วนอยู่ที่ใจ
ถ้าลูกชนะใจตนเองให้หลุดพ้นจากการอยากได้ โดยการ"โกง" นั่นจึงหมายว่าลูก คือ ผู้ชนะที่แท้จริง ชนะทั้งใจตัวเอง ชนะใจพ่อแม่ และชนะใจคนดีทุกคน

ต้องสอนให้ลูกรู้จักและรักที่จะทำความดี และรู้สึกภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง..ที่ได้ทำดี
เพราะนี่คือการสร้างฐานความสุขอันแข็งแกร่งให้กับลูก เพราะความรักและความภูมิใจในคุณค่าของตัวเองนั้นเป็นเหมือนรากแก้ว ที่จะทำให้ต้นไม้ยืนหยัดได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าลูกสามารถแผ่ความรักไปให้กับผู้อื่นได้ ก็จะเปรียบเสมือนรากฝอยที่จะช่วยให้ต้นไม้นั้นเติบใหญ่ได้อย่างแข็งแรง มีอายุยืนนาน และแตกยอดทอดกิ่งออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

สุดท้ายคงต้องตั้งกติกากับลูกว่า..
ถ้าพ่อแม่เห็นว่าสิ่งที่ลูกทำ หรือกำลังจะทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่เหมาะ เป็นสิ่งที่ควร เป็นสิ่งที่ลูกต้องทำ..พ่อแม่จะยืนยันในการกระทำที่ถูกต้องนั้น ๆ ของลูก

ถ้าพ่อแม่เห็นว่าสิ่งที่ลูกทำ หรือกำลังจะทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ เป็นสิ่งที่ไม่ควร..พ่อแม่จะไม่ยอมให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้น..เด็ดขาด
ใครจะทำก็ไม่สำคัญ..แต่ลูกต้องไม่ทำ
บ้านเราจะไม่ทำอะไรที่ไม่ซื่อสัตย์เด็ดขาด..พ่อแม่ยอมไม่ได้

แม่สอนให้รู้ ลูกจึงดู จึงเห็นและเข้าใจ กระทั่งใช้ชีวิตที่ดีได้จนถึงวันนี้
รักแม่เป็นที่สุด

หมายเลขบันทึก: 547853เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2013 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ต้องขอบคุณพี่ตุ๊บปอง (คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีบ) ที่อนุญาติให้แม่ดาวได้นำเรื่องราวดี ๆ มีประโยชน์แบบนี้มาแบ่งปันกัน หากใครสนใจติดตามอ่านเรื่องราวดี ๆ สามารถไปติดตามอ่านได้ ในfacebook ชื่อ ตุ๊บปอง ตุ๊บปอง เข้าไปกดถูกใจ แล้วตามอ่านกันได้เลยจ้า ส่วนในหน้านี้ แม่ดาวเองจะเลือกบางเรื่อง ที่ตัวเองประทับใจสุด ๆ โดนใจสุด ๆ มาแบ่งปันไว้ให้ตามอ่านกันจ้า 

ข้อคิดและข้อปฏิบัติที่แม่ดาวได้จากเรื่องนี้คือ 

1. รับฟังและเคารพในการตัดสินใจของลูก


2. ไม่ตอกย้ำซ้ำเติมทุกข์ให้ลูกมากยิ่งขึ้น


3. สอนเรื่องความซื่อสัตย์ ชัยชนะที่แท้จริง คือการชนะใจตน ที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความความ
คดโกงในจิตใจ


4. การแข่งขันไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากแข่งขันกันด้วยความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ไม่ทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้ได้มาเพื่อชัยชนะ 


5. สอนให้ลูกรู้จักความดีรักที่จะทำความดี และภูมิใจที่ได้ทำดี


6. พ่อแม่ต้องมีกติกาชัดเจน หากลูกทำดี ทำในสิ่งที่ควร ถูกต้องเหมาะสม ให้ยืนยันความดีนั้นกับลูก และตรงกันข้ามหากลูกทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ควร ต้องหนักแน่นยืนยันชัดเจน ไม่ยอมให้ลูกทำสิ่งนั้นโดยเด็ดขาด ขอย้ำ เด็ดขาด ไม่ใช่ทำ ๆ ขาด ๆ ต้องชัดเจน มีจุดยืนชัดเจน ไม่ได้ คือไม่ได้ ไม่ใช่บอกว่า ไม่ได้ แต่บางครั้งก็ยอมให้ทำได้แบบนี้นนะคะ


7. ให้ความสำคัญกับ "ใจ"ของลูก มากกว่า "ผลสำเร็จ" ของลูก

คงต้องบอกลูกว่าเมื่อแบบอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เราก็ไม่ต้องเอาอย่าเขา

ภูมิใจในส่ิงตนเองได้กระทก...ก็ถือว่าเป็นพระเอกแล้ว

เป็นพระเอกให้ใครดูไม่ได้ก็เป็นพระเอกในใจพ่อกับแม่ไงล่ะครับ

ขอบคุณ  เรื่อวราว ดีดี จากคุณแม่ดีดี ...ที่เผื่อแผ่ มาให้  เสมอมา นะคะ...

จะคอย  ติดตามค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท