จิตตปัญญาเวชศึกษา 191: การศึกษาเพื่อความเป็นไท/ทาส


การศึกษาเพื่อความเป็นไท /ทาส

 

"ศึกษา" หรือ "สิกขา" มาจาก "ส แปลว่า ตนเอง และ อิกขา แปลว่า รู้ หรือ ทำให้รู้ การเรียนนั้นจึงสำคัญที่ "ผู้เรียน" ที่จะต้องทำให้ตนเองรู้ การวัดสัมฤทธิผลนั้นก็วัดว่าตนเองรู้ หรือไม่รู้

การมีสติว่าเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไรนั้นสำคัญมาก มากจนกระทั่งถ้าเผลอไผลไปเมื่อไร สิ่งที่เราทำก็อาจจะไม่ได้อยู่ในร่องในรอยที่จะนำเราไปสู่จุดหมายนั้นๆได้โดยง่าย ทั้งนี้ก็เพราะการ "มีสติ" จะต้องฝึกฝน และทำอย่างสม่ำเสมอ อาศัยการทุ่มเทกับการมีสติมากพอประมาณ ก็จะได้ประโยชน์ถึงที่สุดจากการที่เราเริ่ม "อยู่กับตนเอง" ได้ชัดเจนมากขึ้น

ครูเข้ามามีบทบาทในระยะแรกของชีวิต ก็เพราะเด็กนั้นยังมีประสบการณ์ไม่มาก ยังคงตื่นเต้นกับอวัยวะที่ตนเองมี ยังหาความชำนาญในการใช้อวัยวะเหล่านั้น ตื่นเต้นกับเรื่องราวรอบๆตัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผัสสะทั้งห้า สฬายตนะทั้งหก ส่งมาให้สมองแปล หัวใจรับรู้ความรู้สึก จนบางทีก็จะหลุดโฟกัส และสนุกสนานไปกับสิ่งใหม่ๆที่เรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างน่าตื่นเต้น เพลิดเพลินไปหมด ไม่นับการเรียนรู้จักเพื่อน รู้จักสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่มีผลต่อชีวิต ต่อความทุกข์ความสุข หรือในที่สุดต่อการให้ความหมายของชีวิต

ช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ คงจะเป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีทักษะมากพอสมควรในการใช้ร่างกายของตนเอง และเริ่ม "สนุก" ในการใช้ความคิด จินตนาการ เหมือนเดินเข้าไปในร้านขายขนมขนาดมหึมา ค้นพบว่ามีอะไรต่อมิอะไรที่อยากจะรู้ อยากจะเรียน อยากจะเข้าใจเต็มไปหมด เกินกว่าที่จะเรียนได้ทุกอย่าง กับการที่เรียนรู้ว่าในโลกนี้ เขายังต้องอาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ที่ต้องการพื้นที่เช่นกัน และพื้นที่บางพื้นที่มีจำกัด จะต้องฝึกการใช้ร่วมกัน ฝึกการถ้อยทีถ้อยอาศัย และเข้าอกเข้าใจ เห็นใจกัน ถ้าหากจะเปรียบเทียบว่าในช่วง 7 ปีแรกของวัยเด็ก เป็นการเรียนรู้ฐานกาย ช่วง 7 ปีที่สองจะเป็นช่วงสำคัญที่เด็กจะเรียนรู้ "ฐานใจ"

"ฐานใจ" มีสองระนาบที่เคียงคู่กัน คึือ อารมณ์ความรู้สึกภายในของเราเอง กับอารมณ์ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตรอบข้าง ทั้งสองระนาบ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองระนาบนี้มีึความสำคัญอย่างมากไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม เป็นสัตว์ที่ต้องอาศัยการสื่อสารติดต่อกันมาช่วยให้ชีวิตอยู่รอด อยู่อย่างมีความสุข และอยู่อย่างมีความหมาย

ข่าวดีก็คือ การพัฒนาฐานใจนั้นเป็นทักษะที่ทุกคนทำได้ ฝึกได้ ชำนาญได้ แต่ข่าวไม่ค่อยดีก็คือ หากไม่ได้รับการฝึก การพัฒนา อย่างตั้งใจแล้ว อาจจะกลายเป็นหลุมโพรงใหญ่ของรากฐานชีวิตในอนาคตได้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากการเรียนรู้ในการรักษา "สมดุล" ของอารมณ์ภายในของเราเอง กับอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นๆ ในขณะที่ทุกๆคนจะ "ไว" ต่อความรู้สึกของเราเองโดยธรรมชาติ แต่ความไวต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นเป็นทักษะที่ต้องใช้ความตั้งใจและความพยายามในการฝึกฝน สังคมที่ผ่านการวิวัฒน์การอยู่ร่วมกัน จะเกิดกฏกติกาที่จะช่วยรักษา "สมดุล" นี้ให้เกิดความเสถียรในระดับหนึ่งให้ได้ มิฉะนั้นสังคมนั้นๆจะง่อนแง่น และพังทลายลงเนื่องจากสมดุลจะเอียงเอนไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่คนในสังคมนั้นๆให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของ "ตนเอง" เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

เมื่อฐานใจพัฒนาได้มั่นคง ในช่วง 7 ปีที่สามก็จะเป็นการพัฒนา "ฐานคิด" ที่ทำให้การรวบรวมความจำ เหตุการณ์ นำมาเรียงร้อยเป็นเหตุ เป็นผล เป็นปัจจัยต่อเนื่อง ฐานคิดที่มีรากฐานของ "ใจ" ที่เสถียร ก็จะเป็นความคิด เป็นจินตนาการที่เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวมได้ มิใช่เป็นความคิดเป็นจินตนาการที่เพียงเพื่อตนเองเท่านั้น

การศึกษาในปัจจุบัน มีอาการและอาการแสดงหลายอย่างที่บ่งชี้ถึงความ "เสียสมดุล" ของฐานใจ และพลอยทำให้ "ฐานคิด" วางอยู่บนรากฐานที่ไม่เสถียร

เดี๋ยวนี้เด็กเรียนหนังสืออย่างมีเป้าหมายหรือไม่? ให้คุณค่ากับสิ่งที่กำลังทำมากน้อยเพียงไร? พลังงานของวัยเยาว์ที่มีมากมายเหลือเฟือในปัจจุบัน มี "ทิศทาง" ผลักดันไปในทิศทางไหน? ตั้งแต่อดีตนั้น พลังงานแห่งวัยรุ่น เป็นพลังงานแห่ง rebellion หรือความเป็นกบฎ ซึ่งเป็นพลังงานด้านบวก เป็นพลังงานที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นกับสิ่งที่ตนเองมี หรือสามารถจะมีนั่นเอง เป็นการเรียนรู้ขั้นตอนสำคัญว่า ที่แท้ตนเองมีศักยภาพเพียงไร ตนเองสามารถจะสร้างสรรค์ ทำอะไรได้บ้าง

นักกบฎหลายๆคน เป็น role model ที่คนสามารถจะเรียนรู้ได้ เช่น สตีฟ จอบ หรือ บิล เกต แต่สิ่งสำคัญที่นักกบฎ ที่กลายเป็น "นักปฏิรูป" ก็คือ เขาเหล่านี้เมื่อเดินออกจาก "ของเดิม" เขาไม่ได้เดินไปบ่น เดินไปด่าว่าชะตากรรม แต่เดินไป "ทำอะไรบางอย่าง" เพราะเราจะเปลี่ยนอะไรได้นั้น มันต้องเปลี่ยนจากผลแห่งการกระทำทั้งสิ้น

การเป็นนักกบฎ ต้องเคียงคู่กันไปกับการเป็นนักกระทำ และนักกระทำนั้น ไม่คอยจะหาข้ออ้าง หรือ blame ไปที่คนอื่น แต่จะหมกมุ่นกับการค้นหาว่าตนเองกระทำอะไรได้บ้างอยู่ตลอดเวลา

แต่ในเสียงสะท้อนบางเสียงของปัจจุบัน เราได้เห็นความพยายามปฏิรูป ปฏิวัติการศึกษาแบบแปลกๆ เลียบๆเคียงๆเกาไปจุดอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ได้ focus ที่สำคัญของความหมายการศึกษา อาทิ การให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ การสั่งปิดโรงเรียนที่เด็กไปน้อย การลดการบ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น "กิจกรรม" แต่ไม่ได้มี "Principle" หรือ "หลักการ" ที่ช่วยในเรื่อง "ทิศทางการพัฒนา"

และตอนนี้ก็มีข่าวเรื่อง "เครื่องแบบ" ในระดับอุดมศึกษา มาเป็นหัวข้อว่าเป็นสิ่งที่ "กดขี่" ความคิด จินตนาการ ความสร้างสรรค์ ของนักเรียน

ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาจริงๆว่า ขณะที่เราจะมีความคิด จินตนาการ อะไรนั้น มันอยู่ที่อะไรกันแน่? อยู่ที่เสื้อที่เราใส่ กางเกงที่เราสวม เป็น big deal ขนาดนั้น? และปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่? การถูกบังคับให้ใส่ หรือ การไม่ยอมใส่ ที่เป็นตัวกำหนดการ "เรียนไม่ได้" ของคนที่กำลังทุกข์อยู่ทุกวันนี้

เรื่องบางเรื่องนั้น น่าสนใจว่ามันเป็นเหตุและผลโดยตรง หรือว่าเป็นการให้ความหมาย (นั้นคือเป็น "สัญลักษณ์")

และถ้าหากมันเป็นสัญญลักษณ์ ที่น่าสนใจก็คือ เราเองเป็นผู้ให้ความหมายของสัญญลักษณ์นั้นๆเอง และหากเราเป็นผู้ให้ความหมาย ก็ยิ่งน่าสนใจที่ว่า ทำไมเราถึงได้พยายามให้ความหมายแบบนั้นๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่มีความสามารถจะทำอะไรต่อไป? อาทิ ฉันเรียนไม่ได้หากใส่เสื้อที่ขาว ฉันจินตนาการไม่ออกหากใส่กระโปรงสีดำ ฉัน ฯลฯ ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ จนกระทั่งดูเหมือนว่าเราพยายามกำหนดเงื่อนไขไว้มากมายเหลือคณานับเพื่อที่จะบอกใครๆ (รวมทั้งตนเอง) ว่าฉัน "ทำไม่ได้ เรียนไม่ได้"

และ "เป็นไปได้ไหม"

ที่จะเปลี่ยนเป็น ฉัน ฯลฯ ได้ ทั้งๆที่ใส่เสื้อขาว กระโปรงดำ กางเกงธรรมดาๆสีดำ?

ตกลงอิสรภาพที่ว่านั้น (หมายถึงอิสรภาพในการเรียนรู้) มันอยู่ที่กฏระเบียบ หรืออยู่ที่จิตใจที่อยากจะเรียน อยากจะสร้างสรรค์ อยากจะจินตนาการ เป็นสำคัญ?

บางทีพวกเราทุกคน อาจจะลองมานั่งนึกใคร่ครวญตรึกตรองดู สมัยตอนที่เราเรียนหนังสือนั้น ในวิชาที่เราชอบ (หวังว่าทุกคน คงจะมีสักวิชา สองวิชา) เราทำกันอย่างไร และอะไรที่ทำให้เราทำได้ดี หรือไม่ได้ดี ณ ขณะนั้น?

มิใช่ว่าไม่เชื่อว่านักเรียนคนที่บ่นว่าเรียนไม่ได้ คิดไม่ออก จินตนาการไม่ไหว เพราะเขาถูกบังคับให้ใส่เสื้อขาว กางเกงแบบนั้นๆ กระโปรงแบบนี้ๆ ว่าไม่เป็นความจริง เชื่อว่าเขาคงจะทุกข์จริงๆ แต่กำลังถามสมมติฐานว่า สาเหตุแห่งทุกข์นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะใครเป็นคนสร้างเงื่อนไขขึ้นมากันแน่? และเราเองหรือไม่ ที่อาจจะสร้างเงื่อนไขมามากเกินไปหรือเปล่าที่จะจำกัดศักยภาพของชีวิตของเรา

ถ้าหากเราสร้างเงื่อนไขของชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรค กับการสร้างเงื่อนไขชีวิตที่เต็มไปด้วยทางออก อย่างไรจะช่วยชีวิตเราได้มากกว่ากัน? การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก กับการสามารถจัดการการเปลี่ยนแปลงจากภายใน อย่างไรเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตเราง่ายมากกว่ากัน?

ตรงนี้อาจจะเป็นตัวแบ่งแยกว่า เราเรียนอย่างมี mentality แห่งความเป็นไท หรือเราอยากจะเรียนโดยมี mentality แห่งความเป็นทาส สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นกับกฏระเบียบ แต่ขึ้นกับความคิดของตัวเราเอง

หมายเลขบันทึก: 547737เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2013 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2013 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียน คุณหมอสกล
รับสารภาพตามตรงนะคะว่าไม่เคยอ่านบทความของอาจารย์ เคยไปฟังอาจารย์บรรยายในเวทีประชุมวิชาการบ้าง รู้สึกชื่นชมนะคะ .. ก็แค่นั้น .. วันนี้เมื่อได้อ่านบทความ สะดุดใจที่ชื่อเรื่อง อ่านแล้วก็ “รู้สึกอิ่ม” และประทับใจ จนต้องคลิกเข้าไปดูประวัติ จึงทราบว่าเป็นอาจารย์ค่ะ ขอบคุณนะคะ ตอนนี้วางแผนจะหาเวลาไปอ่านบทความของอาจารย์ย้อนหลังค่ะ

ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมเยียนครับ ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกที่ ทุกเรื่องนะครับ

อ่านแล้วสะท้อนการศึกษาไทยหลายๆๆอย่าง

พยายามลงพื้นที่ทำอะไรที่แตกต่างครับ

เอามาฝากอาจารย์

http://www.gotoknow.org/posts/547751

เดี๋ยวนี้เด็กฟุ้งซ่าน เพราะ "ทำน้อยลง แต่พูดมากขึ้น" แล้วตอนสอบก็ไป "กาๆๆ" แล้วก็ผ่าน แล้วก็ได้เกียรตินิยม แต่ไม่มีใครได้ทักษะในการสะท้อนตนเอง มองตนเอง และเห็นความสัมพันธ์กับคนรอบด้าน หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเลย

ขอบพระคุณอาจารย์ขจิตครับ

อ่านแล้ว ทำให้นึกย้อนถึงตัวเองค่ะ สะดุดกับสิ่งที่อาจารย์บอกว่า สมัยเรียนเรามีวิชาอะไรที่ชอบไหม เราทำอย่างไรกับมัน สารภาพว่าไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรค่ะ แต่ในขณะที่ทำก็จะพยายามทำทุกสิ่งที่ผ่านมาในมือเราอย่างสุดความสามารถ แม้จะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรกันแน่ในตอนเรียน แต่ความรู้สึกอยากเรียนรู้ของตัวเอง มันได้ถูกกระตุ้นผ่าน "ท่านอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่่ง" ที่จะเน้นย้ำเสมอให้เราอย่าได้เชื่ออะไร หากไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเสียก่อน (ตามหลักกาลามสูตร) สิ่งนี้มันยิ่งกระตุ้นให้เราทะยานอยากที่จะเรียนรู้ มันเป็นความพิเศษ

จนกระทั่งวันนี้ วันที่ได้ทำหน้าที่ของครู มีสิ่งที่รู้ว่าตัวเองชอบและอยากทำคืออะไร ความชอบ ความอยากนั้นคือการได้กระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดพื้นที่และความรู้สึกอยากจะเรียนรู้ภายใต้ฐานคิด การเรียนรู้ที่แท้จริง

ขอบคุณอาจารย์สกลมากค่ะ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของดิฉัน เพื่อให้ดิฉันไปสู่เป้าหมายในการสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อไป

 

หมายเหตุ- ดิฉันเชื่อว่าอิสรภาพแห่งการเรียนรู้ของตัวเองได้เริ่มต้นแล้ว

 

"อิสรภาพแห่งการเรียนรู้ของตัวเองได้เริ่มต้นแล้ว"

ไพเราะมากเลยนะคะคุณจิตศิริน ดิฉันเรียนรู้ความหมายนี้หลังจากจบ ป.ตรีค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังวนเวียนอยู่ไม่สิ้นสุด แต่มีความสุขนะคะ สุขที่ได้เรียนรู้ สุขที่มีประสบกาารณ์ สุขที่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกๆ และคนรอบข้างค่ะ  ที่แปลกคือทุกคนยอมรับเราในเรื่องนี้โดยดุษฎี คือไม่มีข้อโต้แย้ง ออกจะชื่นชมเราอย่างมากอีกด้วย  แต่.. ไม่ได้ถือเอาเยี่ยงอย่างแต่อย่างใด ..

คุณ
ดารนี ชัยอิทธิพร

 ดีใจที่ได้มาแบ่งปันกันนะคะ จริง ๆ แล้วความหมายนี้ของคำนี้ ได้ถูกกลั่นกรองออกมาหลังจากที่ได้อ่านบล๊อคนี้นี่เองค่ะ อาจจะช้า แต่เมื่อสิ่งนี้ได้เกิดขึ้น ปีติก็เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นค่ะ

และเชื่่ออย่างจริงใจค่ะ ว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท