ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

การอ่านกับการพูด


การอ่านกับการพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

                มีคนเคยกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ แบตเตอรี่ที่อัดแล้วย่อมมีพลังสูง สมองคนเราก็ควรจะเสริมสร้างพลังขึ้นด้วยการอ่าน อัดและอัดความรอบรู้เหล่านั้นเข้าไปให้มาก”

                กระผมเห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ต้องการพูดเก่ง พูดเป็น พูดแล้วได้ประโยชน์ พูดแล้วได้เงิน บุคคลนั้นจะต้องมีองค์ความรู้อยู่ในตัว ซึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญมักได้มาจากการอ่านหนังสือ หลายคนเมื่อได้ฟังแล้ว อาจจะโต้เถียงว่า โลกยุคนี้ไม่ต้องอ่านหนังสือก็ได้ เราสามารถฟังหรือดูผ่านสื่อต่างๆได้

                แต่สำหรับกระผมแล้ว กระผมยังเชื่อมั่นว่า การอ่าน เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ที่ต้องการความรู้ได้รับความคิด ได้รับข้อมูล ได้รับปัญญามากกว่า สื่ออื่นๆ เพราะเมื่อเราได้อ่านหนังสือแล้ว  เกิดคำถามหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่เป็นปัญหาในเรื่องที่เราอ่าน เราสามารถหยุดคิดได้ หรืออาจเรียกว่า การใคร่ครวญคิด อีกทั้งทำให้เรามีนิสัยจดจ่อ อดทน มีสมาธิ  ซึ่งแตกต่างกับการฟัง หลายคนฟังแล้วไม่ได้คิดตามหรือคิดไม่ทัน ก็อาจคล้อยตามได้ การอ่านจึงทำให้เราเกิดความคิด เกิดปัญญาได้มากกว่าวิธีอื่นๆ

                ฉะนั้น หากว่าเราต้องการพูดเก่ง พูดดี หรือใช้ประโยชน์จากการพูด เราก็ควรอ่านหนังสือให้มากที่สุด อ่านหนังสือทุกประเภท เพราะหนังสือแต่ละเล่มมีประโยชน์ ทำให้เราเกิดความคิด  เกิดจินตนาการ   อ่านอย่างเดียวอาจจะลืม ทางที่ดีเราก็ควรหา สมุด กระดาษ ปากกา จด จดในสิ่งที่เราต้องการที่จะนำเอาไปใช้ในอนาคต เช่น จดคำคม คำกลอน คำพูดที่น่าสนใจของบุคคลต่างๆ ฯลฯ

                ยิ่งกว่านั้น บุคคลที่ใช้ภาษาได้ดี  บุคคลผู้นั้นจะต้องยิ่งอ่านหนังสือเป็นจำนวนมากกว่าคนอื่นๆ  บางคนถึงกับอ่านและท่องพจนานุกรมเลยทีเดียว เช่น มาร์คทเวน นักเขียนชื่อดังระดับโลกในอดีต , ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ ก็ท่องพจนานุกรม  เป็นต้น การท่องและการอ่านพจนานุกรมอยู่เป็นประจำ  จึงทำให้บุคคลทั้งสองท่าน เลือกใช้ถ้อยคำได้ดี เลือกใช้ถ้อยคำได้เป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ในงานเขียนกับใช้ในงานพูดของเขา

                การอ่านหนังสือมากๆ  จะทำให้เราเลือกใช้คำได้เป็นอย่างดีและการอ่านหนังสือมากๆจะทำให้เราเป็นคนพูดได้อย่างถูกต้อง เช่น ตัว “ร” ตัว “ล” หลายคนใช้ผิด พูดผิด เขียนผิด โรงเรียน บางคนเขียนหรือพูดเป็น โลงเลียน  ถนนเจริญกรุง หลายคนพูดหรือเขียนเป็น ถนนเจลิญกุง เป็นต้น

                การอ่านหนังสือมากๆจะทำให้เราได้  วรรคทอง เพื่อนำเอาไปใช้ ตัวอย่าง การอ่านหนังสือประวัติบุคคลสำคัญของโลก เคเนดี้ JFK อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เขาเคยกล่าวในสุนทรพจน์แล้วมีคนนำมาเขียนว่า “ โปรดอย่าถามว่าประเทศชาติของท่านจะทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง แต่จงถามว่าท่านจะทำให้อะไรให้แก่ประเทศชาติของท่านบ้าง”  เมื่อเราได้อ่านแล้วเกิดความประทับใจ  เราอาจจดคำพูดเหล่านั้นเพื่อนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ในอนาคต  เช่น หากว่าวันใดที่เราเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เรามีการประชุมองค์กรหรือ ภายในองค์กร ภายในหน่วยงานของเราเริ่มมีปัญหาเรื่องคน เราอาจจะนำไปพูดหรือประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม    “ โปรดอย่าถามว่าองค์กรของท่านจะทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง แต่จงถามว่าท่านจะทำอะไรให้แก่องค์กรของท่านบ้าง”  เป็นต้น

                ฉะนั้น หนังสือทุกประเภทจึงเปรียบเสมือนแหล่งที่บรรจุองค์ความรู้มหาศาล มีมากมายกว้างขวางดุจน้ำในสมุทร แต่คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะมีความมานะ บากบั่น พยายาม ในการอ่านสักเพียงไร

หากท่านอ่านมาก ท่านจะเป็นคนที่มีความคิดเห็นใหม่ๆ ท่านจะมีคำพูดที่คมคาย ท่านจะมีปัญญามากกว่าบุคคลอื่น  แต่เป็นที่น่าเสียดายกับคนไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ชอบอ่านหนังสือ และเด็กรุ่นใหม่ๆ เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ไม่ยอมอ่าน ไม่ยอมศึกษาเพิ่มเติมอีก คิดว่ามีความรู้มากพอแล้ว แต่แท้จริงแล้ว ความรู้มีไม่สิ้นสุด

ดังคำพูดของพระพุทธเจ้าที่เคยกล่าวไว้ว่า “ ที่เรารู้ที่เราสอนเป็นเพียงแค่ใบไม้แค่กำมือเดียว เมื่อเทียบกับ ต้นไม้ที่มีอยู่ทั้งต้น” ซึ่งต้นไม้นั้น ยังมีกิ่งก้าน สาขา ใบไม้ อีกเป็นจำนวนมาก

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #นักพูด#การพูด
หมายเลขบันทึก: 547583เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท