เศรษฐกิจ & ความโลภที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์...


          คนส่วนใหญ่เข้าใจไปในทิศทางตรงกันที่ว่า ความโลภ (greed) ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์... ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์รวมถึงนักธุรกิจหลายท่านถึงกลับกล่าวในทำนองยืนยันที่ว่า ความโลภไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างไร กลับเป็นเหตุปัจจัยที่ควรสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ เกี่ยวเนื่องจาก ความโลภเป็นเสมือนแรงขับที่สำคัญทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผลิตที่สอดรับกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี มีผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

                         

          ซึ่งในประเด็นของการทำความเข้าใจใน ความโลภที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ข้อสังเกตบางประการในหนังสือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เอาไว้ว่า :

         ...ข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับความบกพร่องของคำกล่าวว่า ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น คือ

               ก) ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก็จริง แต่เป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์นั้น มนุษย์ยังมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกมาก รวมทั้งคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับความโลภนั้น เช่น ความมีเมตา กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตลอดจนเสียสละ  ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

               ข) บางคนมองความโลภที่ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น เหมือนอย่างที่เห็นว่าความโลภเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั้งหลายอื่นทั่ว ๆ ไป เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หมู หนู แมว เป็นต้น แต่ความจริงหาเหมือนกันไม่

                   ความอยากได้ของสัตว์อื่น (ดิรัจฉาน) เหล่านั้น เป็นไปตามสัญชาตญาณ เมื่อได้สนองความต้องการในการกิน อยู่ สืบพันธุ์ ขั้นพื้นฐานแล้ว ก็จบ

                   แต่ความโลภของมนุษย์มีการปรุงแต่งด้วยศักยภาพในการคิด ทำให้ขยายขอบเขต ทั้งด้านปริมาณ และขีดระดับ เช่น ทำให้เกิดความรุนแรงอย่างไม่จำกัดดังที่ความโลภของคนคนเดียว อาจเป็นเหตุให้ฆ่าคนอื่นเป็นจำนวนล้าน อาจทำให้เกิดการทำลายล้าง ก่อความพินาศแก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม และแก่ธรรมชาติหรือโลกนี้ อย่างคำนวณนับมิได้

                   ยิ่งกว่านั้น ในการที่จะสนองความโลภมนุษย์อาจใช้ความพลิกแพลงยักเยื้องด้วยวิธีการต่าง ๆ ในทางทุจริตได้ซับซ้อนพิสดารอย่างที่ไม่มีในสัตว์อื่นทั้งหลาย ความโลภถ้าจัดการไม่ถูกต้องจึงก่อปัญหาใหญ่ยิ่ง

             ค) นักเศรษฐศาสตร์บางท่านถึงกลับเข้าใจว่าความโลภเป็นสิ่งที่ดี โดยเข้าใจว่าทำให้ขยันขันแข็งอย่างที่กล่าวแล้วเป็นต้น บางที่พาลไปนึกว่าวงการเศรษฐศาสตร์เห็นอย่างนั้น แต่นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ ๆ ที่สำคัญ แม้แต่ในกระแสหลักเองก็รู้ว่าความโลภเป็นความชั่ว

                      ดังเช่น เคนส์ (John Maynard Keynes) มองว่าความโลภเป็นความชั่วอย่างหนึ่ง เพียงแต่มนุษย์ยังต้องอาศัยใช้ประโยชน์จากมันไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง (อย่างน้อยอีก ๑๐๐ ปี) โดยเขาเข้าใจว่า ความโลภอยากได้เงินทองนี้ จะต้องมีต่อไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะเติบโต สนองความต้องการของมนุษย์ได้เพียงพอ และทำให้มีศักยภาพที่จะกำจัดความยากไร้ให้หมดไป

                     (หลายคนคงบอกว่า สำหรับเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ ถ้าจะรออย่างเคนส์ว่านี้ ให้เวลาอีก ๕๐๐ ปี หรือให้เศรษฐกิจโตอีก ๕๐๐ เท่า ก็ไม่มีทางขจัดความยากไร้ได้สำเร็จ)

 

                 แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ๒ ข้อต่อไป  ได้แก่

               ง) นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นไม่เข้าใจธรรมชาติของความโลภ ไม่รู้จักความหมายของมันจริง มองเห็นคลุมเครือ และพร่ามัว เริ่มแต่ไม่รู้ว่าความต้องการที่เรียกว่าความอยาก มีความแตกต่างกัน แยกในระดับพื้นฐานก็มี ๒ ประเภท ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่าง

                         +   เด็กชาย ก. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากให้บ้านสะอาด

          -      แต่เด็กชาย ข. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากได้ขนมเป็นรางวัล

                           คนในวงวิชาการคนหนึ่ง เขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากให้คนรู้เข้าใจเรื่องนั้น จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาหรือทำการสร้างสรรค์แก่สังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง

                         -  แต่คนในวงวิชาการอีกคนหนึ่งเขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากได้คะแนนมาเลื่อนขั้นหรือค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง

ในตัวอย่าง ๒ แบบ ๒ ข้อนี้

                          ๑. ความอยากแบบแรก เป็นความต้องการทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดมีขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการผลโดยตรงของการกระทำ

                            ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดการกระทำโดยตรง ได้แก่ ความอยากทำ (ในที่นี้หมายเอาการทำเพื่อผลที่ดี หรือทำให้ดี ที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ = ใฝ่สร้างสรรค์) ด้วยความต้องการผลของการกระทำนั้น        

                         ๒. ความอยากแบบที่สอง เป็นความต้องการได้สิ่งสำเร็จแล้วอย่างหนึ่งมาครอบครอง หรือเพื่อเสพบริโภค แต่ตนยังไม่มีสิทธิ์ในสิ่งนั้น และมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำอะไร (อีกอย่างหนึ่งต่างหาก) จึงจะได้รับสิ่งที่ตนต้องการ

                           ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ (สร้างสรรค์) โดยตรง แต่ทำให้หาทางดิ้นรนจวนขวายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มา โดยเฉพาะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขให้ต้องทำ (งานนี้) จึงจะได้ (สิ่งนั้น) เรียกว่า ความอยากได้ ซึ่งจะทำเพราะถูกกำหนดโดยเงื่อนไข เพราะไม่ต้องการผลของการกระทำนั้นโดยตรง (เช่น ไม่ต้องการความสะอาด) แต่ต้องการผลตามเงื่อนไข (เช่น อยากได้ขนมรางวัล)

                   ความอยากที่เรียกว่า ความโลภ หรือโลภะนั้น ได้แก่ความอยากในข้อที่ ๒ คือ ความอยากได้

                   ส่วนความอยากในข้อที่ ๑ มีชื่อเรียกต่างหากว่า ฉันทะ แปลว่า ความอยากทำ หมายถึงอยากทำให้เกิดผลดีอย่างใดอย่างหนึ่งบางทีจึงเรียกว่าอยากสร้างสรรค์ (รวมทั้งอยากทำให้รู้ด้วย : ในที่นี้ยังไม่ได้พูดถึงความต้องการ คือความจำเป็นที่พึงต้องมีต้องได้ ที่ฝรั่งเรียกว่า need)

                  เนื่องจากความโลภเป็นเพียงความอยากได้ คนที่โลภมิได้อยากทำ และมิได้ต้องการผลของการกระทำนั้น เขาจะทำต่อเมื่อมี เงื่อนไข ว่า ต้องทำจึงจะได้ถ้าได้โดยไม่ต้องทำ ย่อมจะตรงกับความต้องการมากที่สุด

                  ดังนั้น เมื่อต้องทำเขาจึงทำด้วยความจำใจหรือไม่เต็มใจ คือทำด้วยความทุกข์ และไม่เต็มใจทำ ทำให้ต้องจัดตั้งระบบการบังคับควบคุม ซึ่งอาจจะซับซ้อนฟอนเฟะ และเพราะถ้าหลีกเลี่ยงได้เขาจะไม่ทำ แต่จะให้ได้โดยไม่ต้องทำ จึงเป็นเหตุให้เกิดการทุจริต และการเบียดเบียนต่าง ๆ ในสังคมได้ทุกรูปแบบ

                  ในเมื่อความโลภ คือความอยากได้ (และความอยากทำที่เรียกว่า ฉันทะ) มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะเป็นตัวนำและขับดันกิจกรรมเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ อย่างมาก ถ้าเศรษฐศาสตร์จะให้เศรษฐกิจก่อผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ ก็จะต้องทำความรู้จักและจัดการกับมันให้ถูกต้อง ซึ่งในขั้นนี้ จะสัมพันธ์กับข้อต่อไปด้วย

              จ) แนวคิดตะวันตกมองธรรมชาติของมนุษย์แบบนิ่ง หรือตายตัว (static) เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันซึ่งเจริญมาตามแนวคิดตะวันตกนั้น จึงมองความโลภและความต้องการต่าง ๆ เป็นแบบเดียวหรือเหมือนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป และมุ่งแต่จะสนองความต้องการในแบบหนึ่งแบบเดียวนั้นดิ่งไป

                   แต่ที่จริงธรรมชาติของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ และตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ธรรมชาติของมนุษย์คือ เป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกศึกษาพัฒนาได้ และการฝึกศึกษานี้เป็นหน้าที่ของทุกชีวิต พร้อมกับเป็นภารกิจของสังคมเป็นหัวใจของการจัดการเกี่ยวกับชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งหมด ในการที่จะให้มีชีวิตที่ดี และให้สังคมมีสันติสุข เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐ และมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญงอกงามได้

                  โดยเฉพาะจุดที่สำคัญยิ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มาก คือ เรื่องความต้องการ รวมทั้งความอยาก ๒ แบบข้างต้น ซึ่งปรับเปลี่ยนพัฒนาได้

                  ความต้องการนี้ เมื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนไป นอกจากทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งรวมทั้งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ก็เป็นปัจจัยนำการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีกมากมาย รวมทั้งการพัฒนาความสุขด้วย

                 การพัฒนาคุณสมบัติเช่นว่านี้แหละ คือการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งสัมพันธ์สอดคล้องไปด้วยกันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ชนิดที่เป็นปัจจัยแก่กันและกันกับการพัฒนามนุษย์ในความหมายที่ถูกต้อง

 

          ในสังคมเศรษฐกิจ โลภะ ถือได้ว่าเป็นปฐมฐานที่บังคับ บีบคั้นให้ผลิต ความต้องการอยากได้นั่น อยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งเป็นรากฐานแห่งโทสะ (โกรธ,โมโห) เมื่อไม่ได้สมใจปรารถนาทำให้เกิดการขัดเคืองใจไม่สบอารมณ์ นำพามาซึ่งความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนโมหะ (ความหลง) ถือได้ว่าเป็นแรงเสริมส่งสนับสนุนโลภะ (ความโลภ) อย่างเด่นชัดเจนที่สุด เมื่อมีความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ความหลงที่มีอวิชชา (ความไม่รู้ในสภาวธรรมตามจริง) เป็นหัวจักรก็จะลากจูงความคิดให้ไปเสพติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ทำให้เกิดความลุ่มหลงในวัตถุที่เสพบำรุงบำเรอว่า สภาวะเหล่านั้นคือความสุข ปลูกฝังหยั่งรากลึกลงไปในความรู้สึกที่แนบแน่น ทำให้พลังอำนาจแห่งโมหะแข็งแกร่งเสริมสร้างเป็นแรงขับเคลื่อนโลภะต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด...    

***************************************************************************************

 

 

กิเลสทั้ง ๓ (โลภะ โทสะ และโมหะ) มีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

                 ๑. ความโลภ (โลภะ) : ท่านว่า มีโทษน้อยแต่คลายช้า เป็นไปในลักษณะที่ว่าเมื่อความโลภก่อเกิดขึ้นมาในจิตใจโทษของมันจะมีไม่มากนัก ส่วนมากจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทรัพย์สินและของมีค่าแต่ทว่าเมื่อความโลภเข้าครอบงำแล้วก็จะตั้งมั่นแน่วแน่อยู่นานในจิตใจกว่าที่ไฟ (โลภะ)จะดับไปได้ เช่น เมื่อมีความโลภอยากได้เงินทองหรือทรัพย์สินมาก ๆ หากแม้ได้มาสมใจปรารถนาแล้วก็พอใจในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ความต้องการก็จะทะยานต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด...ดังคำที่ท่านว่า ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อหรือมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำฉันใด คนโลภนั้นไซร้ก็ไม่เคยอิ่มด้วยอามิสฉันนั้น

                ๒. ความโกรธ (โทสะ) : ท่านว่า มีโทษมากแต่คลายเร็ว เป็นไปในลักษณะที่ว่าเมื่อโทสะก่อเกิดขึ้นมาในจิตใจโทษของมันจะมีมากมายทั้งเกี่ยวเนื่องจากเรื่องทรัพย์สินและของมีค่ารวมถึงชีวิต แต่ทว่าเมื่อโทสะเข้ามาครอบงำแล้วก็จะตั้งมั่นอยู่ได้ไม่นานนักก็จะดับไปจากจิตใจ เช่น เมื่อมีความโกรธหรืออาฆาตก็อาจจะทำให้ควบคุมสติและอารมณ์ของตนเองไม่ได้ทำให้เกิดการทำลายทรัพย์สินของมีค่าและร้ายแรงสุดอาจถึงกับชีวิตแต่พอได้ระบายออกแล้วอารมณ์ร้ายก็จะคลายลง ดังข่าวสารที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนั้นเอง

               ๓. ความหลง (โมหะ) : ท่านว่า มีโทษมากและคลายช้า เป็นไปในลักษณะที่ว่าเมื่อโมหะก่อเกิดขึ้นมาในจิตใจ โทษของมันจะมีมากมายทั้งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทรัพย์สินและของมีค่ารวมถึงชีวิตและที่สำคัญโมหะนั้นเมื่อเข้ามาครอบงำนำทางแล้วก็จะตั้งมั่นอยู่นานกว่าที่จะดับไปจากจิตใจ เกี่ยวเนื่องจาก โมหะ (ความหลง) ถือเป็นเชื้อโดยตรงที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนโลภะและโทสะนั่นเอง เช่น เมื่อมีความหลง (โมหะ) ที่เชื่อว่า บาป – บุญ คุณ – โทษ ไม่มีจริงก็จะยิ่งทำให้เกิดการกระทำที่ล่วงล้ำละเมิดศีลธรรมนำไปสู่ความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตที่เกิดจากการปล้น จี้ ฆ่า ข่มขืน เป็นต้น

              โดยสรุป : โลภะ คือความชอบใจ ติดใจ อยากได้นี่ อยากได้นั่นเป็นรากฐานแห่งโทสะเป็นบ่อเกิดของโทสะ เช่น เกิดชอบใจอยากได้สิ่งใดก็ตามเมื่อไม่ได้ดังใจชอบก็เสียใจ น้อยใจ คือเกิดโทสะขึ้น หรือติดใจชอบใจในสิ่งใดอยู่สิ่งนั้นกลับมีอันเป็นให้พลัดพรากจาก สูญไป ก็เสียดาย เสียใจ กลุ้มใจ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นถ้าไม่มีโลภะซึ่งเป็นต้นเหตุแล้วโทสะอันเป็นปลายเหตุก็ย่อมไม่มีเป็นธรรมดา ส่วนโมหะนั้นย่อมต้องเกิดพร้อมกับโลภะหรือโทสะโดยมีโลภะหรือโทสะเป็นตัวนำโมหะเป็นตัวสนับสนุน เมื่อไม่มีโลภะตัวนำแล้วโมหะตัวสนับสนุนก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งที่จะสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันนั่นเอง

 

  เครดิตภาพ : http://www.dhammadelivery.com/webboard.php?action=show&id=19572

 

 

หมายเลขบันทึก: 547570เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

...ความโลภของคนเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจนะคะ

สาธุ สาธุ สาธุ

                            

ขอบคุณอาจารย์พจนามากครับสำหรับความเห็นดี ๆ ที่มีฝากและให้กำลังใจเสมอมา

ขอบคุณคุณประธานมากครับสำหรับการมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจเสมอมา

ขอบคุณทุก ๆ ท่านมากครับสำหรับดอกไม้ที่มอบให้เป็นกำลังใจ...:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท