"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

ต่อยอดความคิดจาก “งามกิริยา” สู่ "เสขิยวัตร"


๔/๐๘/๒๕๕๖

********

 

ต่อยอดความคิดจาก “งามกิริยา” สู่ "เสขิยวัตร"

 

ขอบคุณรูปภาพ จาก 

ได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบันทึกของคุณกุหลาบ มัทนา จากสมุดชื่อ “สิริจิปาถะ” เรื่อง "งามกิริยา" เกี่ยวกับกิริยามารยาทที่ว่าไม่งดงามในการรับประทานอาหารมาเมื่อวานนี้ ที่นี่

ก็ทำให้นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนในเรื่องวินัยให้กับพระสงฆ์ จะว่าไปแล้วหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงและตรัสสอนนั้น  ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการแสดงหรือสอนต่อพระภิกษุสงฆ์  หากว่าพระสงฆ์ทั้งหลายได้นำหลักพระธรรมวินัยนั้นมาประยุกต์ใช้หรือประยุกต์สอนให้กับพุทธบริษัทกันอีกครั้งหนึ่ง

และหลักความประพฤติด้านกิริยามารยาทในการแสวงหาอาหารและนำอาหารมาบริโภคนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในพระวินัยบัญญัติ ชือว่า (เสขิยวัตร ) โดยตรง  หากแต่คำสอนโดยอ้อมยังมีอยู่ในที่อื่น ๆ อีกมาก  จึงอยากนำมาเสริม บันทึกที่ชื่อว่า “งามกิริยา” ดังกล่าวมานี้ ในแบบที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายสามารถอ่านแล้วนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยปรับสำนวนเสียใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันตามที่ผู้เขียนเข้าใจ

เสขิยวัตร หมายถึง วัตรที่พุทธบริษัทจะต้องศึกษาธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทในด้านต่าง ๆ  ในที่นี้เน้นเรื่องการรับประทานอาหาร(โภชนปฏิสังยุต)เท่านั้น

พึงทำความเข้าใจหรือเรียนรู้ (หนังสือนวโกวาทท่านใช้คำว่า “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า...”) แล้วปฏิบัติตามเกี่ยวกับมารยาทในการรับประทานอาหาร ๓๐ ประการ คือ

๑.    เราจักเข้ารับอาหารที่มีผู้ประกอบให้แล้วด้วยความเอื้อเฟื้อ ไม่เรื่องมาก เลือกมาก และไม่ทำหกเลอะเทอะ เปรอะเปื้อนบริเวณนั้น เช่น ในห้าง โรงแรมหรืองานสัมมนาต่าง ๆ

๒.    เราจักแสดงความสงบเสงี่ยมเมื่อเข้ารับอาหาร ตักอาหาร ไม่พูดคุย ส่งเสียงดัง หยอกล้อ ส่ายหน้าไปมา  ควรมองและประคองภาชนะใส่อาหารไม่ให้หกหล่น

๓.    เราจักตักอาหารแต่น้อยพอสมควรกับข้าวสุก ไม่ตักเอาอาหารที่ชอบมามากจนผู้มาทีหลังต้องผิดหวัง จนไม่มีอาหารพอรับประทานกับข้าวได้

๔.    เราจักตักอาหารมาเฉพาะพอแก่ตนเองรับประทานเท่านั้น  ไม่ตักจนล้นถ้วยจาน หกเลอะเทอะเรี่ยราด

๕.    เราจักรับประทานอาหารด้วยอาการสงบ ไม่ส่งเสียงดังพูดจากถากถางว่า อาหารไม่อร่อย ทำด้วยอะไร ควรรักษาน้ำใจเจ้าภาพและเจ้าของงาน

๖.    ขณะรับประทานอาหาร ควรมองที่ภาชนะใส่อาหารหรือบนโต๊ะเท่านั้น ไม่ควรมองคนนั้นที คนโน้นที หรือสอดส่ายสายตามองไปรอบ ๆ บริเวณนั้น

๗.    เราจักตักข้าวในหม้อให้เรียบเสมอไม่ขุดลึก ๆ เฉพาะตรงกลาง และใส่จานไม่ให้เลอะเทอะติดขอบจาน ข้าวเหนียวไม่ควักเฉพาะตรงกลางอย่างเดียว

๘.    เราจักรับประทานข้าวและกับให้หมดพร้อมกัน ไม่ควรทานแต่กับข้าวที่อร่อยเพียงอย่างเดียวโดยเหลือข้าวค้างจานไว้จำนวนมาก

๙.    เราจักรับประทานอาหารโดยเกลี่ยเมล็ดข้าวและกับข้าวให้เรียบร้อยเสมอ ขณะที่รับประทาน ไม่ทำให้เลอะเทอะติดขอบจานหรือร่วงตกหล่นลงบนพื้น

๑๐.            เราจักไม่เอาข้าวสุกปิดทับกับข้าวโดยหวังว่า จะได้รับกับข้าวเพิ่มมากขึ้นอีก โดยที่ไม่มีผู้เห็นหรือทักท้วง

๑๑.            เราจักไม่ขอกับข้าวหรือข้าวสุกนอกเหนือจากที่เขามีบริการไว้แล้ว โดยร้องเรียกส่งเสียงอันดังโดยไม่เกรงใจใคร

๑๒.            ขณะรับประทานอาหารไม่ควรมองดูจานข้าวและกับข้าวของเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ นอกจากจะเสียมารยาทแล้ว ยังก่อให้เกิดความอิจฉาหรือความโลภขึ้นได้

๑๓.            เราจักไม่ตักอาหารให้เต็มหรือพูนจนล้นช้อน เพราะจะทำให้อ้าปากกว้างเต็มปาก ดูไม่สุภาพ

๑๔.            เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อมตะล่อมให้พอดีคำ และพยายามไม่ให้หกขณะนำเข้าปาก

๑๕.            เราจักไม่อ้าปากกว้าง ๆ ไว้รอท่า ขณะที่คำข้าวยังมาไม่ถึงปาก

๑๖.            เราจักไม่นำนิ้วมือสอดเข้าไปในปากในลัษณะดูดนิ้ว(เหมือนเด็ก) และหากมีสิ่งใดติดฟันก็ควรใช้ไม้จิ้มฟันและควรใช้ผ้าหรือมือปิดบังเอาไว้ขณะเขี่ยออก

๑๗.            เราจักไม่พูดคุยขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก และไม่ตักข้าวเข้าใส่ปากเพิ่มอีกเมื่อยังเคี้ยวข้าวไม่หมดและยังไม่ได้กลืนลงคอ

๑๘.            เราจักไม่โยนคำข้าว เช่นข้าวเหนียว เข้าปาก ไม่โยนอาหารที่เป็นเม็ดหรือเป็นแผ่น เช่น ขนมขบเคี้ยว ลูกอม(เหมือนโฆษณาชิ้นหนึ่ง) เข้าปาก โดยเปิดปากอ้ารออยู่ก่อนแล้ว

๑๙.            เราจักไม่รับประทานโดยกัดคำข้าว เช่นข้าวเหนียวปั้นยาว ๆ แล้วกัดกิน หรือกัดกินอาหารที่ชิ้นยาว ๆ โดยไม่ได้หั่นหรือตัดเป็นชิ้น ๆ เช่น ใส้กรอก กล้วย แตงไทย มะละกอ ควรหั่นเป็นชิ้น ๆ เสียก่อนค่อยรับประทาน

๒๐.            เราจักไม่รับประทานอาหารโดยทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย หรือทานอาหารเข้าไปมากจนแก้มตุ่ย ควรทำอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ

๒๑.            เราจักไม่รับประทานไปด้วยเล่นไปด้วย(เหมือนเด็ก) เล่นสะบัดมือ เล่นช้อนส้อม แกะเกาตามตัว และพูดเล่นลิ้นกับคนข้าง ๆ

๒๒.            เราจักไม่รับประทานให้เมล็ดข้าวหล่นจากช้อน หล่นบนชามข้าว หล่นบนพื้นและบนหน้าตักของตนเอง

๒๓.            เราจักไม่รับประทานอาหารโดยแลบลิ้นเลียอาหาร และเลียช้อน ชามโดยอาการว่าอร่อยหรือเสียดาย เช่น เลียไอศกรีม เป็นต้น

๒๔.            เราจักไม่รับประทานอาหารให้เกิดเสียงดับจั๊บ ๆ หรือดังจุ๊บ ๆ ควรเคี้ยวช้า ๆ เน้น ๆ และไม่อ้าปากกว้าง

๒๕.            เราจักรับประทานอาหารไม่ให้เกิดเสียงดังซูด ๆ โดยเฉพาะอาหารที่เป็นน้ำ เช่น ต้ม ซุป มาม่า เครื่องดื่ม ควรดูให้รู้ก่อนว่าอาหารนั้นร้อนหรือเย็นควรทานขณะนั้นได้หรือไม่

๒๖.            เราจักไม่รับประทานอาหารไปด้วยเลียมือไปด้วย แบบอาการอร่อยจนน่าเสียดายสิ่งของที่ติดอยู่บนมือ และสิ่งของอื่น ๆ เช่น ช้อน ตะเกียบก็ไม่ควรเลียเช่นกัน

๒๗.            เราจักรับประทานอาหารไม่ให้เกิดเสียงดัง หรือขูดขีดกับภาชนะ เช่น จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ บนโต๊ะอาหาร

๒๘.            เราจักไม่รับประทานอาหารโดยแลบลิ้นเลียริมฝีปาก หากมีเศษอาหารติดควรใช้ผ้าเช็ดปากหรือกระดาษทิชชูเช็ดออก

๒๙.            เราจักไม่นำมือที่เปื้อนเศษอาหารหรือเปื้อนมันมาจับแก้วน้ำดื่ม ควรเช็ดมือให้สะอาดก่อน หรือใช้ทิชชูห่อแก้วน้ำก่อนจับยกมาดื่ม

๓๐.            เราจักรับประทานอาหารให้หมดจาน ไม่ควรให้เหลือค้างไว้อย่างน่าเสียดาย เมื่อหมดแล้วให้เกลี่ยเศษที่เหลือลงถังที่เตรียมไว้ ใช้ทิชชูเช็ดพอหมาดแล้วนำไปวางเรียงเป็นชั้น ๆ เพื่อทำการชำระหรือล้างต่อไป

การประยุกต์ใช้หลักเสขิยวัตรทางพุทธศาสนามาปรับใช้ในชีวิตของยุคสมัยประจำวันอาจจะดูขัดเคืองกับความเป็นจริงอยู่บ้าง  หากแต่สิ่งเหล่านี้ “น่าอัศจรรย์ใจ” ยิ่งนักว่า พระพุทธองค์ท่านทรงรู้ เข้าใจ และได้ทรงสอนพระภิกษุหรือผู้สืบทอด “พุทธวงศ์”ของท่านมาก่อน ตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว

อาจด้วยความที่อยากให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสต่อพระภิกษุสงฆ์ด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดูสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ปราณีต งดงามด้วยกิริยามารยาท ดังกล่าวมาก็ตามที  แต่สิ่งเหล่านี้หากพุทธบริษัทได้นำมาประพฤติปฏิบัติตามก็เป็นที่เชื่อได้ มั่นใจได้ว่า “ไม่อายหลักสากล” เหมือนกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 547417เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2013 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 07:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นมารยาททางสังคมนะคะ สมัยเด็ก ๆ พี่ได้เรียนเรื่องนี้ด้วยค่ะ หลักสูตรสมัยก่อนมีสิ่งดี ๆ ก็มากนะคะ

หลักเสขิยวัตร ===> เป็นการสอนให้คน “งดงาม” นะคะ ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

  • ขอบคุณสมาชิกที่ให้กำลังใจทุกท่านครับ

 

  • ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังมีหลักสูตรที่สอนเรื่องมารยาทเหล่านี้ในโรงเรียนอยุ่หรือเปล่านะครับอาจารย์บุษยมาศ
  • ใช่ตามที่พี่เปิ้ลกล่าวถึงนั่นแหละครับ "งดงาม" หากปฏิบัติตาม "เสขิยวัตร" มีทั้งหมด ๗๕ ประการ ที่กล่าวถึงนี่เพียงแค่ ๓๐ ประการเท่านั้นเองนะครับ
  • ขอบคุณคุณครูมะเดื่อเช่นกันครับ

บ่น่าเจื้อเนาะเจ้า ว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์เปิ้นทรงฮื้อความฮู้ทันสมัยอย่างอี้.....เสขิยวัตร หมายถึง วัตรที่พุทธบริษัทจะต้องศึกษาธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทในด้านต่าง ๆ  ในที่นี้เน้นเรื่องการรับประทานอาหาร(โภชนปฏิสังยุต)เท่านั้น....

มนุษย์คนหนึ่งคิดได้ยังงัย น่าทึ่งมากครับ 

ขอบคุณมากค่ะพี่หนาน กุหลาบเพิ่งได้เรียนรู้เรื่อง "เสขิยวัตร" วันนี้เอง อัศจรรย์ใจมากที่หลักคำสอนของพระพุทธองค์ช่างละเอียด ละออ มากและไม่เคยล้าสมัยเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่พระองค์ทรงสั่งสอนมาถึง 2,600 ปีและยังใช้ได้ทุกกาลเวลาจนถึงเดี๋ยวนี้ มีหลาย ๆ ข้อที่กุหลาบจะต้องระมัดระวังและสำรวจตัวเองหลายข้อ เช่นแอบมอง (แอบจริง ๆ)อาหารของคนอื่น เมื่อเห็นว่าหน้าตาน่ากินก็สั่งตาม คงทำนองเดียวกันที่เห็นคนอื่นมองมาที่รถเข็นของเราขณะที่กำลังจับจ่ายซื้อของ กุหลาบเคยนึกขำ ๆ ว่ามองอะไร นึกเองบ้างซินะ :)

ถ้ากุหลาบเป็นครู กุหลาบจะนำคำสอนเหล่านี้ไปถ่ายทอดต่อให้นักเรียนทุกรุ่นค่ะ จะได้หล่อหลอมจากเบ้าเดียวกัน เรียบร้อยงดงามกันไปหมด เขาก็จะเป็นพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ของลูกหลานของเขาต่อไป ขอบคุณมาก ๆค่ะพี่หนาน  

  • ขอบคุณแม่ครูKRUDALA  
  • ขอบคุณอาจารย์ ดร.จูล
  • ขอบคุณคุณกุหลาบ มัทนา
  • ที่เข้ามาอ่านให้กำลังใจและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ได้ความรู้ที่หลากหลายเป็นอย่างมากครับ
  • ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านภายหลังและมอบดอกไม้ให้มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท