เพลินกับเรื่องเล่าของคุณครูช่วงชั้นที่ ๒ : "ง่ายๆ... แต่ได้เรียนรู้"


 

ในภาคเรียนนี้คุณครูชั้น ๖ เลือกห้องเรียน ๖/๔  ของคุณครูยุ้ย – สุรีย์ เป็นห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเล่าความสำเร็จ  เพราะห้องเรียนนี้สะอาดและสงบดี  ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คุณครูชั้น ๖ ทุกคนได้มาใช้เวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำเร็จเกิดขึ้นในชั้นเรียน

 

คุณครูวิ - วิสาขา ข่าทิพย์พาที  ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้เด็กๆ เกิดแรงบันดาลใจในการทำการทดลอง และมีความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ (ownership) เป็นคนแรก

 

คุณครูวิ เล่าถึงการเรียนรู้เรื่อง “เขตภูมิอากาศแบบต่างๆ” ของนักเรียนชั้น ๖ ผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ โดยใช้อุปกรณ์เพียง ๒ อย่าง คือ ไฟฉาย และกระดาษ ซึ่งเด็กๆ ทุกคนสามารถได้ทดลองทำด้วยตัวเองอย่างทั่วถึง เพียงแค่ปิดไฟในห้องเรียนให้มืดลง แล้วให้เด็กแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๕ คน ทุกคนจะได้รับกระดาษขาวคนละ ๑ แผ่น และไฟฉายกลุ่มละ ๑ อัน  

 

 

เหตุใดคุณครูวิ ถึงเลือกใช้ไฟฉายกับการทดลองนี้  

 

คุณครูวิเล่าให้ฟังว่า ไฟฉายคืออุปกรณ์ที่หาได้ง่าย  และที่สำคัญคือ แสงของไฟฉายมีลักษณะเหมือนลำแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ส่วนแผ่นกระดาษก็เปรียบเสมือนผิวโลก ที่เมื่อเอียงกระดาษไปเรื่อยๆ ก็เทียบเท่ากับการโค้งของผิวโลกที่ไม่เสมอกัน จึงทำให้การได้รับแสงจากดวงอาทิตย์มีความเข้มของแสงไม่เท่ากัน

 

 

ที่มาของแรงบันดาลใจ

 

คุณครูวิได้แรงบันดาลใจในการนำอุปกรณ์ไฟฉายมาใช้กับการทดลองเรื่องนี้มาจากครูคู่วิชา คือ คุณครูอัม อัมภิณี  ที่ได้สืบค้นและเห็นการทดลองลักษณะนี้ใน YouTube ซึ่งเป็นการทดลองที่ทาง สสวท. นำมาเผยแพร่ แต่เป็นการทดลองที่ใช้สอนเด็กมัธยม ดังนั้น คุณครูอัมจึงเกิดความคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับเด็กในระดับประถมดู จึงนำมาแลกเปลี่ยนกับครูวิ

 

ตัวคุณครูวิเองเพิ่งเปลี่ยนจากการสอนคณิตศาสตร์มาสอนหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยาในภาคเรียนนี้ จึงยังใหม่กับการเรียนการสอน  แต่เมื่อได้ฟังก็เกิดความสนใจที่จะทำการทดลองนี้ เพราะเมื่อคุณครูอัมแลกเปลี่ยนแนวคิดในการทำการทดลอง ก็สังเกตว่าตนเองก็สามารถเข้าใจได้ง่ายดาย จึงคิดว่าเด็กก็น่าจะสามารถเข้าใจได้เช่นกัน

 

ในชั้นเรียน

 

ก่อนเริ่มทดลอง คุณครูวิตั้งคำถามกับนักเรียนว่า ถ้าต้องการให้แสงของไฟฉายส่องกระทบเป็นมุมฉาก นักเรียนจะต้องทำอย่างไร ?  ทุกคนก็สามารถแสดงท่าทางการส่องไฟฉายในลักษณะตั้งตรงเป็นฉากไปยังกระดาษ

 

คำถามถัดมาคุณครูวิถามว่า ถ้าต้องการให้แสงส่องไปยังกระดาษให้มีมุมตกกระทบน้อยลงจะทำอย่างไร?  มีนักเรียนบางคนเสนอว่าให้เอียงไฟฉาย

 

คุณครูวิจึงตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไฟฉายเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ แสดงว่า ถ้าเอียงไฟฉาย ก็หมายความว่า แสงอาทิตย์กำลังส่องแสงเอียงมายังโลก ณ เวลานั้น มีนักเรียนอีกคน เสนอว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่งแสงเอียง เพราะความเป็นจริงดวงอาทิตย์ส่องแสงตั้งตรงมายังโลก เพียงแต่โลกมันเอียง ดังนั้น จึงควรเอียงกระดาษมากกว่า

 

เริ่มทำการทดลอง

 

ขั้นแรกส่องไฟฉายเป็นแนวตรงไปยังกระดาษและใช้ดินสอวงพื้นที่ที่แสงตกกระทบไว้ ซึ่งมีลักษณะเป็นวงรี ต่อจากนั้นก็เคลื่อนกระดาษเฉียงลง ทำให้แสงจากไฟฉายที่ส่องลงมายังกระดาษมีความเข้มที่จางลง และมีลักษณะเป็นวงใหญ่ขึ้น เมื่อเคลื่อนเฉียงลงไปเรื่อยๆ แสงที่ตกกระทบลงไปยังกระดาษก็ดูจางลงเรื่อยๆ และมีลักษณะวงใหญ่ขึ้น

 

เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองก็มาถึงช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  นักเรียนสะท้อนผลของการทดลองว่า เมื่อแสงของไฟฉายส่องตรงมายังกระดาษโดยที่ไม่ได้เอียงกระดาษ แสงจะตกกระทบบนกระดาษเป็นลักษณะวงรี และมีความเข้มของแสงมาก โดยพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงมากก็จะได้รับความร้อนมาก บริเวณนี้จึงเป็นภูมิอากาศเขตร้อน ส่วนเมื่อเอียงกระดาษโดยให้แสงจากไฟฉายส่องตรงไปเหมือนเดิม พบว่าพื้นที่ที่ได้รับแสงเป็นวงที่กว้างขึ้นและมีความเข้มน้อยลง มีความร้อนลดลง จึงเป็นภูมิอากาศเขตอบอุ่น

 

คุณครูวิจึงชวนคิดย้อนทวนกลับไปยังคาบเรียนก่อนหน้านี้  ที่นักเรียนได้ทำการทดลองเรื่องมุมตกกระทบที่แตกต่างกันของแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก จากบริเวณที่แสงตกกระทบ ๙๐ องศา จนถึง ๐ องศา นักเรียนทุกคนก็เกิดความเข้าใจทันทีว่า แสงตกกระทบจาก ๙๐ องศา จนถึง ๐ องศาจะมีความเข้มน้อยลงเรื่อยๆ และความเข้มที่ได้รับมาก็เทียบเท่ากับความร้อน ดังนั้น ความร้อนก็ลดลงไปเรื่อยๆ ตามมุมตกกระทบ จึงส่งผลให้เกิดเขตภูมิอากาศแบบต่างๆ บนโลกขึ้น

 

เมื่อจบชั้นเรียน คุณครูวิรู้สึกดีที่แม้นักเรียนที่เรียนรู้ได้ช้าก็ยังสามารถสร้างเรียนรู้จากการทำการทดลองครั้งนี้ได้ และสามารถสรุปความเข้าใจที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ได้ครบถ้วน การทดลองนี้จึงเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้เป็นอย่างดีว่า การทดลองง่ายๆ ก็สามารถก่อการเรียนรู้ได้อย่างดี ถ้ามีแนวคิดของการเรียนรู้ที่ชัดเจน

 

 

 

 

เรียบเรียงโดย

  ครูเล็ก - ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์ 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 547052เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท