การสนองตอบ & ความต้องการ...ควรบริหารอย่างไร?


          มนุษย์มีความต้องการก่อเกิดขึ้นทุกวินาที...แต่ทรัพยากรการผลิตที่ใช้ไปไม่สามารถทดแทนเพิ่มขึ้นได้เหมือนเนรมิต (ทุกวินาทีเช่นเดียวกับความต้องการ) และที่สำคัญทรัพยากรบางอย่างที่ถูกใช้ไป ไม่สามารถที่จะสร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนได้ หรือหากจะสร้างขึ้นทดแทนใหม่ก็ต้องใช้เวลานาน (เป็นเงื่อนไขหรือการบีบคั้นทางด้านเวลา) ดังนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์จึงมีทัศนะที่ว่า ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด

            

           ท่านโมฮันดาส คานธี (Mohandas Gandhi : ค.ศ. ๑๘๖๙ ๑๙๔๘) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น มหาตมะ (Mahatma)หรือบิดาของชาติอินเดีย ท่านได้กล่าวอมตะวาจาที่มีคุณค่า ไม่มีล้าสมัย และยิ่งเพิ่มมนต์ขลังมากยิ่งขึ้นเมื่อมรสุมลูกแล้วลูกเล่าได้เข้ามารุมเร้าจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ค่อนข้างถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เฉกเช่นปัจจุบัน โดยท่านกล่าวเอาไว้ว่า

 

“There is a sufficiency in the world for man's need but not for man's greed.”

หรือ

ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอต่อคนทั้งโลก แต่ไม่เพียงพอต่อคนโลภเพียงคนเดียว

 

                 ในทางเศรษฐศาสตร์บางคนอาจจะสงสัยในประเด็นที่ว่า ความต้องการ (อุปสงค์) กำหนดการสนองตอบ (อุปทาน) หรือว่า อุปทานนั้นกำหนดอุปสงค์กันแน่ เปรียบเสมือนคำถามที่หลายคนเคยได้ยินคุ้นหูกันว่า ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน นั่นเอง ซึ่งกระบวนการของวิธีคิดเราต้องมองภาพรวม (องค์รวม) จึงจะสามารถเห็นและเข้าใจในภาพย่อยได้ชัดเจนและครอบคลุม การที่มีความสับสนเกี่ยวกับอะไรเป็นตัวกำหนดอะไรระหว่างอุปสงค์กับอุปทานนั้น หากเรามองที่พื้นฐานความเป็นจริงก็จะเข้าใจได้ว่า ความต้องการ (อุปสงค์) นั้นเป็นตัวที่กำหนดการสนองตอบ (อุปทาน)เช่น

 

              กรณีที่หนึ่ง : สมมติว่าเราอยากได้รถยนต์ เราก็จะเสาะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับรถ รวมทั้งวิธีการที่จะได้ครอบครอง (ซื้อ) รถนั้น หรือแม้แต่กับสินค้าอื่น ๆ ก็ตามที...แต่บางคนอาจจะแย้งว่า แล้วกรณีที่แฟนของเราชอบไปเดินตามห้างหรือศูนย์การค้าแล้วซื้อโน่น ซื้อนี่ โดยไม่มีความอยากได้มาก่อนเหมือนการที่อยากได้รถยนต์เลย จะอธิบายว่าอย่างไร

 

             กรณีที่สอง : ในประเด็นดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่า การที่คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะสุภาพสตรี) ที่ชอบไปเดินช็อปปิ้งตามห้างหรือศูนย์การค้า แล้วซื้อของติดไม้ติดมือกลับมาเยอะแยะมากมาย โดยที่ไม่ได้มีความอยากหรือตั้งใจในเบื้องต้นที่จะไปซื้อในสิ้นค้าเหล่านั้นมาก่อนเลย เป็นเพราะว่า ความอยากที่มีแฝงอยู่ในตัวของเราทุกคนเป็นพื้นฐานนั้นทำงานโดยการสนองตอบ ซึ่งความอยากแฝงนี้จะอันตรายมากกว่าความอยากที่เปิดเผยอย่างในกรณีที่หนึ่ง (รถยนต์) เพราะว่า ความอยากชนิดแอบแฝงนี้เป็นความอยากแบบมีสติในการกำกับที่น้อยกว่าปรกติ หรือในบางคนที่แฝงอยู่มากอาจจะถึงขั้นทำให้ขาดสติไปเลยก็ได้...

 

              ในกรณีของความอยากได้ในรถยนต์จะเห็นได้ว่า เป็นความอยากพื้นฐานทั่วไปที่ความอยากสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมมีโฟกัสชัดเจน ทำให้เกิดกระบวนการจัดหามาตอบสนองในขั้นต่อไป แต่ความอยากในกรณีที่สองของการที่เรียกได้ว่า ซื้อแบบบ้าคลั่ง หรือซื้อดะ เมื่อไปเห็นไอ้โน่นก็ซื้อ พอไปเห็นไอ้นี่ก็ซื้อ ไม่ใช่ สินค้า (Supply) เป็นตัวกำหนดความต้องการ (Demand) อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่ เป็นเพราะความอยากนั้นฝังอยู่ในจิตใจหรือเป็นความอยากแอบแฝงนั้นทำงานระริกระรี้ เมื่อเทียบกับกรณีที่หนึ่งจะอันตรายมากกว่า เป็นความอยากที่ไม่มีเป้าหมายหรือจุดโฟกัสที่ชัดเจน เมื่อมีสิ่งของมากระตุ้นซึ่งก็คือสินค้า ความอยากที่แฝงอยู่ก็จะกระดี๊กระด๊าตีปีกออกหน้าออกตา ทำให้บางคนซื้อแหลกลานแบบขาดสติ พอกลับมาถึงบ้านได้อาบน้ำเย็นสดชื่นเบิกบาน...เมื่อสติเริ่มกลับมาประจำการอีกครั้งก็ต้องนั่งกลุ้มใจไม่รู้ซื้อมาได้อย่างไร...

                           

 

                ความอยากชนิดแฝงนี่แหละที่ลัทธิบริโภคนิยมที่เกิดจากระบบทุนนิยมชอบนักชอบหนา ผลิตสินค้าอะไรมาก็ขายได้ เป็นการเล่นเกมกับความอยากของผู้บริโภค นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ ท่านก็จะมองว่าเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งภาคการผลิต การจ้างงาน และในที่สุดก็จะทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังจะเห็นในประวัติศาสตร์ที่ช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผลิตสินค้าอะไรออกมาก็ขายได้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ถึงกับประกาศในทำนองที่ว่า หากอยากให้เศรษฐกิจรุ่งโรจน์ชัชวาลอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ต้องปล่อยไปตามกลไกตลาดเสรี ห้ามรัฐบาลเข้าแทรกแซง ซึ่งเป็นแนวคิดทางปรัชญาของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก

               แนวความคิดของสำนักคลาสสิกในเรื่องเศรษฐกิจจะยึดติดถือมั่นใน กลไกตลาด โดยการปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเสรี ห้ามการเข้าไปแทรกแซงโดยรัฐบาล ซึ่งกลไกตลาดที่ว่านี้จะช่วยเกลี่ยความต้องการของผู้ซื้อสินค้าและปริมาณสินค้าของผู้ที่เสนอขายให้เกิดความสมดุลได้ตลอดเวลา  เช่น สมมติว่ามีสินค้า ก. และสินค้า ข. หากว่าสินค้า ก. มีความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้า ก. ออกมาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการไม่ให้สินค้า ก. ขาดตลาด ในทำนองเดียวกันหากสินค้า ก. มีความต้องการของผู้ซื้อลดลง ผู้ผลิตก็จะลดการผลิตลงให้พอดีกับความต้องการที่ลดลงเพื่อไม่ให้สินค้า ก. ล้นตลาด ซึ่งการเพิ่มหรือลดในกระบวนการการผลิตสินค้า ก. ดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าอื่นที่ใช้ปัจจัยการผลิตเดียวกัน สมมติว่ากระทบต่อสินค้า ข. โดยสินค้า ก. ที่ขายดี แสดงว่าสินค้า ข. มียอดขายลดลง เมื่อเพิ่มการผลิตสินค้า ก. (นั่นแสดงถึง การไปเบียดบังเอาปัจจัยการผลิตของสินค้า ข. มาใช้) ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สินค้า ข. ก็จะผลิตลดลงจึงไม่ทำให้สินค้า ก. ขาดตลาด และสินค้า ข. ก็ไม่ล้นตลาด (สินค้า ก. และ ข. ยืดหยุ่นตามอุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป) ในทำนองเดียวกัน หากลดการผลิตสินค้า ก. ลงเนื่องจากยอดขายไม่ดี (นั่นแสดงถึง การโยกย้ายถ่ายโอนปัจจัยการผลิตไปสู่สินค้า ข. ที่ขายดีกว่า) สินค้า ข. ก็จะผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด จึงไม่เกิดสินค้า ก. ล้นตลาดและสินค้า ข. ขาดตลาด เป็นไปตามกฎของซาย (Say’ Law) ที่มีใจความสั้น ๆ ที่ว่า อุปทานก่อให้เกิดอุปสงค์ในตัวเอง(Supply Creates Its Own Demand) โดยที่สำคัญต้องปล่อยให้กลไกตลาด (ราคา) ทำงานได้โดยอิสรเสรี ห้ามเข้าไปแทรกแซงตลาดโดยเด็ดขาด ดุลยภาพของตลาดก็จะเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งอดัม สมิท เรียกกลไกเหล่านี้ว่า มือที่มองไม่เห็น(invisible hand)

              กฎของซายถือว่าได้สร้างเป็นความเชื่อและความศรัทราในยุคนั้นในทำนองที่ว่า การเสนอ (สินค้า) จะสร้างความต้องการในสินค้านั้นให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ต่อมาเมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอย่างรุนแรงช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ปรากฎว่ามีสินค้าล้นตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการตกงานหลายล้านคน สร้างความงุนงงให้กับสาวกเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกเป็นอย่างมาก ว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ย่างไร

 

          ความสัมพันธ์ของอุปสงค์และอุปทานเมื่อมองตามพื้นฐานความเป็นจริงแล้วจะพบว่า...

-      การที่ในภาวะเศรษฐกิจดีนั้น ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ความอยากแฝงที่ถูกเก็บอยู่ จะทำงานได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เมื่อเห็นสินค้าอะไร ก็อยากซื้อ อยากครอบครอง ตามกำลังซื้อของตนที่เพิ่มขึ้น เป็นภาวะที่ความอยากนำสติ ทำให้เห็นภาพเปรียบเสมือน อุปทานก่อให้เกิดอุปสงค์ หรือ การเสนอ (สินค้า) ย่อมทำให้เกิดความต้องการ (ซื้อสินค้า) จากผู้บริโภคเสมอ ทำให้อุปทานดูโดดเด่นขึ้นมาเหนืออุปสงค์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นกระบวนการทำงานของความอยากแฝงที่ทำให้เกิดการบริโภคอย่างไร้สติ เนื่องจากเศรษฐกิจดี มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการเสพติดการบริโภคสินค้าและบริการ หรือที่เรียกว่า ถูกลัทธิบริโภคครอบงำนั่นเอง

 

-       การที่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีกำลังการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง สติในการบริโภคจะกลับมาทำงานในทันทีกลบการทำงานของความอยากแฝงโดยอัตโนมัติ จะสังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่เมื่อมีรายได้ลดลงการจับจ่ายใช้สอยก็จะมีความละเอียดเพิ่มขึ้น คิดโน่น คิดนี่ มากขึ้น เปรียบเสมือนเป็นการเรียกสติในการบริโภคกลับคืนมาทำหน้าที่อีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้ความอยากแฝงทำงานออกนอกหน้านอกตาอยู่นาน ดังนั้น ในภาวะดังกล่าวจะเห็นภาพชัดเจนของบทบาทความต้องการ (demand) เป็นตัวกำหนดการเสนอปริมาณสินค้า (supply) ไม่ว่าผู้ขายจะเสนอโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถมอย่างไร ก็ไม่อาจกระตุ้นต่อมความอยากแฝงได้มากนัก เนื่องจาก สติเริ่มทำงานดีขึ้น จนสะกดความอยากนั้นไม่ให้แสดงอิทธิฤทธิ์ได้โดยง่าย

 

                      จากพื้นฐานของอุปสงค์และอุปทานดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่มีพื้นฐานของความอยากเป็นพลังการขับเคลื่อนที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับปัจจัยและภาวะแวดล้อม ณ เวลานั้นว่า ความอยากจะเป็นแบบไร้สติ (ลัทธิบริโภคนิยม) หรือ เป็นความอยากแบบมีสติ (บริโภคด้วยปัญญา) สิ่งสำคัญและเป็นหัวใจที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดสมดุลและมีความยั่งยืนก็คือ การบริหารจัดการความต้องการ (demand) เพื่อให้เกิดเป็นการบริโภคด้วยปัญญาตามแนวทางของพุทธศาสนา เนื่องจากความต้องการนั้นจะบีบคั้น บังคับ จัดระเบียบให้กับอุปทาน หันกลับเข้าสู่จุดสมดุลโดยอัตโนมัติ เช่น

 

                    หากเราพิจารณาจากจุดเล็ก ๆ สมมติว่า ทุกคนรู้จักความเพียงพอ ไม่หลงใหลในสินค้าที่ฟุ่มเฟือย สนใจแต่สินค้าที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้น ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยจะถูกโยกย้ายถ่ายโอนมาสู่การผลิตสินค้าที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกฎอุปสงค์ อุปทาน ตามปรกติ ที่สำคัญคือ จะเกิดการแข่งขันกันเองในภาคการผลิต เพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้า ผู้ผลิตรายใดสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มากกว่าก็จะครองสัดส่วนของตลาดได้มาก และยิ่งหากผู้ผลิตรายใดสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและลดมลพิษ รวมทั้งใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดแล้วก็จะยิ่งครองสัดส่วนของตลาดได้มาก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากการบริโภคด้วยปัญญานั้นจะช่วยคัดสรรและจัดระเบียบการผลิตให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว

 

                  การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่สำคัญนั้นคือ การบริหารจัดการความต้องการ (demand) ของตัวเราเองก่อนในเบื้องแรก เพื่อพัฒนาไปสู่การบริโภคด้วยปัญญา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาและวางรากฐานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะยาวให้มีการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนเป็นเบื้องถัดไป

 

           "ความอยาก (กิเลส) เป็นนามธรรม การต่อสู่กับนามธรรมต้องใช้นาม (ปัญญาและสติ) ไม่ใช่ ใช้รูปธรรม (วัตถุ) มาต่อสู้โดยการแสวงหามาบำบัดความความอยาก ซึ่งจะไม่มีทางเอาชนะความอยากนั้นได้  โดยที่ปัญญาและสติสามารถผลิตได้จากการฝึกจิตรวมทั้งฝึกกระบวนการความคิดที่เป็นองค์รวม...ปัญญาและสติไม่มีวางขายตามท้องตลาด อยากได้ต้องฝึกเอง"

 

   เครดิตภาพ : http://mblog.manager.co.th/fakunkoon/th-83757/

หมายเลขบันทึก: 547051เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณที่นำ ข้อคิดดีๆมาแบ่งปันครับ

ถูกต้องครับต้องฝึกเอง

ขอบคุณ : คุณณัฏฐวัฒน์ คุณเขียวมรกต และคุณประธาน มากครับสำรหรับการมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ...:)

ขอบคุณมากครับ : สำหรับกำลังใจจากทุกท่านที่มอบผ่านทางด้านดอกไม้...:)

 

       "ความอยาก (กิเลส) เป็นนามธรรม .... การต่อสู่กับนามธรรม.....ต้องใช้นาม ===> ปัญญาและสติ  

 

 

 

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณ P'Ple มากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท