ตัวอย่างการสอนให้ได้ "ฝึกคิด" : การสอนแบบ "พาคิด"


การตระเวนไปนิเทศการสอนแบบ KM-ยกกำลังสอง ตามโรงเรียนประถมศึกษาในเขตพื้นที่ สพป.มหาสารคาม เขต 3 และ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 ทำให้ผมได้มีโอกาสได้ "สาธิตการสอน" ให้คุณครูดูหลายครั้ง

วิธีการสอนแบบ "พาคิด" เป็นการสอนให้นักเรียนได้ "ฝึกคิด" วิธีหนึ่ง ผมทำแบบนี้ครับ


ตัวอย่างที่ 1 เรื่อง เครื่องดนตรี ผมได้ทดลองสาธิตการสอนนี้ที่โรงเรียนนาโพธิ์ สพป.มค. 3

เริ่มที่ ดึงสมาธิเด็กๆ ก่อน

  • นักเรียนทั้งหลายครับ.....ห้นมาทางนี้ก่อนครับ... หมุนเก้าอี้มาทางนี้ด้วยลูก...จะได้นั่งถนัด.. มองเห็นมือครูชัดไหมลูก (ยกมือขึ้น)... คนหลังสุดชื่ออะไรนะครับ (ตรวจเช็คว่าเขาได้ยินระดับเสียงที่เราพูดไหม)..ชื่อกิตติพงศ์ (ชื่อสมมติครับ) ชื่อเล่นชื่ออะไรครับ (เรียกชื่อเล่นจะเข้าถึงเด็กได้มากกว่า...แต่คุณครูที่อยู่กับเด็กนานๆ ไม่จำเป็นครับ) ชื่อน้องตั้มใช่มั้ยครับ .... สวัสดีครับน้องตั้ม ....  น้องตั้มครับนี่กี่นิ้วครับ (พร้อมชูนิ้วมือขึ้น การทำแบบนี้เพื่อตรวจเช็คระยะการมองเห็นชัดของเด็กในกรณีที่เด็กนั่งไกล แต่คราวนี้ผมใช้เพื่อ "วอร์มอัพ" การ "พาคิด") .... ถามในลักษณะคล้ายกันนี้แต่ต่างเรื่องกันกับนักเรียนอีก 1 หรือ 2 คน 
  • วันนี้เราจะคุยกันเรื่อง "เครื่องดนตรี" รู้จักเครื่องดนตรีไหมลูก ใครรู้จักเครื่องดนตรียกมือขึ้น (ดึงสมาธิเป็นระยะด้วยการทำให้มีส่วนร่วม) ยกสูงสูงๆ ลูก ... หนึ่ง สอง สาม สี่ ...... สิบคน (โดยมากนักเรียนไทยเราจะไม่ค่อยชอบยกมือ เลยต้องใช้อุบายย้ำให้ยก และนับจำนวนเพื่อทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องนี้....เว้นแต่จำนวนที่ยกมือเยอะแล้วก็ไม่จำเป็นต้องนับ..)  เครื่องดนตรีหนึ่งที่ครูชอบและอยากจะเล่นเป็นคือ "แคน" เพราะเสียงแคนทำให้ครูคิดถึงบ้าน คิดถึงสมัยตอนเป็นเด็กๆ เท่าพวกเรา ที่ตอนนั้นครูจะวิ่งอยู่ตามท้องไร่ท้องนาด้วยความสนุกสนาน (ขั้นตอนนี้คือการเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตจริงของเราตอนเป็นเด็กอายุเท่าๆ กับนักเรียน ในเรื่องที่เกี่ยวกับ "เครื่องดนตรี" เพื่อที่จะเปิดใจเด็ก ....เปิดใจเด็กๆ ด้วยการเปิดใจตนเองให้ฟัง ).... (สังเกตว่านักเรียนส่งใจมาอยู่กับเราแล้ว...ลุย)

สำรวจความรู้เดิม

  • ไหนใครเคยเล่นดนตรียกมือขึ้น เคยเล่นนะครับ ที่เคยจับเคยเล่นจริงๆ... (ต้องมีนักเรียนยกมือแน่ สมมติว่าหนึ่งในผู้ยกมือคือน้องนิว).....  น้องนิวเล่นเครื่องดนตรีอะไรลูก...(เรียกชื่อ เพื่อทำให้นักเรียนรู้สึกว่าตนเองสำคัญ)  เล่นกีตาร์ค่ะ ....  ว้าว !!! (ทำท่าทางทึ่งและสนใจ) ใครสอนลูก เล่นตอนไหนบ้าง....  (หากเขาเล่าเรื่องได้ กระตุ้นให้เล่าเรื่อง ฝึกคิดถ่ายทอด)....
  • เริ่มเขียน Mind Mapping ไว้กลางกระดานเรื่อง "เครื่องดนตรี" แล้วเขียนคำว่า "กีตาร์" ไว้เป็นก้านแขนงแรก และเขียนเชื่อ "น้องนิว" ไว้ใกล้ๆ ด้วย (ขั้นตอนนี้จะทำให้เด็กๆ ที่เหลืออยากมีส่วนร่วมบ้าง อยากมีชื่อตนเองบนกระดานบ้าง) 
  • นอกจากน้องนิวแล้วใครเคยเล่นอะไรบ้างลูก .... เปิดโอกาสให้ได้เล่าเรื่องประสบการณ์บ้างเล็กน้อยสัก 2-3 คน (หรือสำหรับคนที่อยากเล่า) แล้วเขียนเครื่องดนตรีแต่ละชนิดนั้นๆ ลงเป็นก้านแขนงต่อๆ ไปของ Mind Map...  (ที่โรงเรียนนาโพธิ์มีเด็กที่ยกมือว่า เคยเล่นเครื่องดนเตรีประมาณ 5 คน ที่เคยเล่นคือ แคน กลองยาว ขลุ่ย กีตาร์)
  • ต่อไป..สำหรับคนที่ยังไม่ได้ตอบนะลูก.. เครื่องดนตรีอะไรที่เราเคยเห็น เคยได้ยินเสียง ไม่จำเป็นต้องเคยเล่นเคยจับก็ได้... ช่วยกันคิดๆ  คนที่ตอบแล้วช่วยเพื่อนคิดก็ได้ครับ  แล้วยกมือตอบ โดยไม่ให้ซ้ำกันนะครับ ...   (แล้วเราก่อนค่อยเติมลงไปใน Mind Map) 
  • คราวนี้คุณครูจะเปิดเพลงให้ฟัง เพลงหนึ่ง ตอนเราฟังเพลงให้ทุกคนหลับตา ตั้งใจฟังเสียง แล้วบอกครูว่าได้ยินเสียงอะไรบ้าง ตกลงไหมครับ.... (พูดประโยคนี้ซ้ำอีกครั้ง) ตกลงไหมครับน้องตั้ม ... (พยายามเรียกระบุชื่อนักเรียนเป็นคนๆ)
  • เปิดเพลงให้ฟัง (ที่นาโพธิ์ มีคอมพิวเตอร์ที่เล่นเพลงได้ในห้อง วันนั้นเราเปิดเพลงหมอลำของ ศิริพร อำไพพงศ์)
  • ได้ยินเสียงอะไรบ้างลูก..... (แล้วทำเครื่องหมายลงใน Mind Map ที่เราทำไว้.... สังเกตว่าเด็กที่เคยเล่นเครื่องดนตรีชนิดนั้นจะจำเสียงได้ กิจกรรมนี้ทำให้ห้องเรียนสนุกได้มากครับ)
  • ขั้นตอนนี้ อาจให้นักเรียนทดลองทำ Mind Map ของตนเองลงไปในสมุด และให้เด็กๆ วาดรูปเครื่องดนตรีแทนที่การเขียนคำ ... (แต่วันนั้นไม่ได้ทำครับ...)
  • (ที่ผ่านมาเป็นการฝึกคิดวิเคราะห์แบบแยกแยะจากประสบการณ์เดิม)

เติมความรู้ใหม่ 

  • เอาล่ะ คราวนี้นักเรียนแต่ละกลุ่ม (วันนั้นนักเรียนนั่งเป็นกลุ่ม) ลองเปิดหนังสือ (มีหนังสือเรียนที่คุณครูใช้) แล้วช่วยกันหาเครื่องดนตรีที่ยังไม่มีใน Mind Map  แล้วเขียนเพิ่มเติมลงไปใน Mind Map 
  • นักเรียนครับ....หากคุณครูจะแบ่งเครื่องดนตรีเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มๆ คุณครูจะแบ่งแบบใดได้บ้างหนอ....  (ทิ้งเวลานิดหนึ่ง...สังเกตปฏิกิริยา หากเงียบ แสดงว่า คำถามยากเกินไป ให้ยกตัวอย่างทันที) ... ครูว่า..กลุ่มแรกครูจะเลือกเอาที่ "ใช้ตี" แล้วทำให้เกิดเสียง เช่น กลองยาว กลองชุด ...ฯลฯ  .... แบ่งเป็นกลุ่มอะไรได้อีกหนอ..... (ทิ้งเวลาอีก ทิ้งเวลานานกว่าเดิม....)  ...ใช่แล้วครับ ครูเห็นด้วย ควรแบ่งเป็นกลุ่มที่ "มีสาย" เก่งมากลูก เยี่ยมมาก (มีเด็กตอบได้ ให้ "จับ" และ ชมทันที)....... (ขั้นตอนนี้เป็นการฝึกคิดวิเคราะห์ จำแนกและจัดหมวดหมู่) 
  • มอบหมายให้แต่ละกลุ่มช่วยกันทำลงบนกระดาษคลิปชาร์ท... และให้นำเสนอ 

 นำไปใช้ (วันนั้นเวลาจำกัดไปไม่ถึงขั้นนี้)

  •  ควร "ชวนคิด" ถึงประโยชน์ของเครื่องดนตรี อาจทำแบบเดิมคือ "พาคิด" หรือใช้วิธีตั้งคำถามกระตุ้นให้เห็นความสำคัญเช่น  หากในโลกนี้ไม่มีเครื่องดนตรีจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ฯลฯ
  • มอบหมายให้เด็กๆ ช่วยกันสำรวจ สืบหาว่า ในหมู่บ้านชุมชนของเรา มีใครเล่นเครื่องดนตรีอะไรเป็นบ้าง
  • เป็นไปได้ อาจเชิญ "ปราชญ์ชาวบ้าน" หรือ "ศิลปินชาวบ้าน" (หมายถึงอยู่ในชุมชน) มาเล่นดนตรีให้เด็กๆ ฟังจริงๆ หรือพาเด็กๆ ไปสัมผัส จับเครื่องเล่นดนตรีจริงๆ 


ตัวอย่างที่ 2  เรื่อง "อาหารหลัก 5 หมู่" สาธิตการสอนที่โรงเรียนชุมชนบ้านโพนงามประสาทศิลป์ สพป.กส. 1

เริ่มที่ดึงสมาธิเด็กๆ....

  • นักเรียนทุกคนหันหน้ามาทางนี้ลูก... โอ้...ขอบคุณมากน้องชื่ออะไรนะลูก หันหน้ามาเร็วมากเลย ตั้งใจดีมากครับ ....  (วันนี้แค่พูดประโยคเดียวเด็กๆ ส่งใจมาหมดเลยครับ ... เด็กที่นี่สมาธิดีครับ)
  • คุณครูชื่อ ครูต๋อย ชอบกิจ "ข้าวจี่" ครับ  (แล้วเขียนเป็น Mind Map ลงบนกระดาน ใช้คำว่า อาหารที่ฉันชอบ) 

 สำรวจความรู้เดิม

  • น้องบีมชอบกินอาหารอะไรมากที่สุดลูก (น้องบีมนั่งอยู่หัวโต๊ะตัวแรกของโต๊ะที่เรียงกันเป็นรูปตัวยู) น้องบีมคิดนิดหนึ่งแล้วตอบว่า ชอบกิจไข่ตุ่นค่ะ ... (เขียนชื่อน้องบีม และคำว่า "ไข่ตุ๋น" ลงบน Mind Map)
  • น้องหม่ำชอบกินอะไรลูก... น้องหม่ำชอบกิน "ขนมจีน"... แต่ก่อนที่น้องหม่ำจะบอกเพื่อนว่าเราชอบอะไร ให้บอกก่อนว่า "ครูต๋อยชอบข้าวจี่ น้องบีมชอบไข่ตุ๋น" ตกลงไหมคะ ...(แล้วก็พาพูดเลย ทำเป็นตัวอย่าง พาทำ เพราะเด็กยังเล็กเกินไปจะสื่อสารแล้วให้ทำตามคำบอก)  
  • แล้วคนต่อไปล่ะลูก อ้าวเริ่มเลย..ง "ครูต่อยชอบข้าวจี่ น้องบีมชอบไข่ตุ๋น น้องหม่ำชอบกินขนมจีน และ....น้องพิมพ์ชอบกิน...... (วันนี้เด็กเล็กมาก จึงให้ทุกคนช่วยกันพูด... เด็กๆชอบครับ สนุก...แต่อย่าลืมสังเกต ถ้าเด็กเริ่มเบื่อต้องหยุดและเปลี่ยนกิจกรรม) 

เติมความรู้ใหม่ 

  • อาหารที่เรากินนักวิทยาศาสตร์พบว่าสามารถแบ่งได้เป็น 5 หมู่ ได้แก่ หมู่ที่ 1 โปรตีน ........ (ทำเป็น Mind Map โดยใช้คำว่า อาหารหลัก 5 หมู่)
  • เติมความรู้แต่ละหมู่ของอาหารว่า ได้จากอะไรบ้าง เช่น หมู่ที่ 1 โปรตีน ได้จาก เนื้อ หมู ไก่ ปลา นม ไข่ ถั่วเหลือง.... (โดยใช้สื่อ วันนี้ครูไพจิตร เตรียมรูปภาพอาหารมาอย่างดี)

นำไปใช้

  • คราวนี้เรามาดู ครูต๋อย ที่ชอบกินข้าวจี่ ครูต๋อยกินอาหารหมู่ไหนครับ...... เด็กๆ ตอบได้ครับ บอกหมู่ 2 เพราะเป็นข้าว ......  
  • น้องบีมล่ะครับ  น้องบีมชอบกินอะไรนะครับ .... "ไข่ตุ๋น" (เด็กๆ ตอบเสียงดังพร้อมกัน) แล้ว น้องบีมได้กินอาหารในหมู่ไหนครับ.... เด็กๆ  "หมู่ที่ 1" เด็กๆ ตอบได้ชัดมากครับ (ผมมีความสุขมาก) 
  • ......ค่อยๆ ตั้งคำถามนำ....    

วิธีการนี้ผมเรียกว่า การสอนแบบ "พาคิด"  เด็กๆ ได้ฝึกคิด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 546892เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2013 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2013 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจมากครับ เพราะเป้นการลดข้อจำกัดบางประการของ รูปแบบ 7E's Model ได้ดีครับ

 

ขอขอบคุณครับสำหรับสาระดีดี

พันเทพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท