จากการที่มีมติว่าจะลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาท ลดลงมาเหลือ
12,000 บาทนั้น ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนาที่พอจะลืมตาอ้าปากได้ประโยชน์จากเม็ดเงินจำนวนนี้อยู่บ้างก็พลอยอกสั่นขวัญหายไปตามๆ
กัน เพราะรัฐบาลกำลังจะปรับเปลี่ยนให้ลดราคาลงมา
เนื่องด้วยสาเหตุการณ์อธิบายผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และทีมงานที่ไม่มีความชัดเจน
เลี่ยงบาลีแบบเอาสีข้างเข้าถู ไม่ตรงประเด็น
เนื่องด้วยอาจจะเกรงว่าตัวเลขขาดทุนจะมีอยู่สูงมากเกินไปตามที่ฝ่ายค้านได้โยนประเด็นเอาไว้ก็ไม่ทราบได้
แต่ในเมื่อความจริงก็ต้องเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ ก็ควรจะต้องรีบรับฟังและแก้ไข
ถ้ามีการสวมสิทธิ์ ทุจริตกันจริงในหลากหลายรูปแบบ รัฐบาลควรจะต้องรีบตรวจสอบ
ปรับปรุงแก้ไขที่ต้นเหตุเหล่านี้
ไม่ใช่ไปแก้ที่ปลายเหตุด้วยการลดราคารับจำนำลงมาเพื่อให้ตัวเลขที่ขาดทุนดูน้อยลง
อันนี้เป็นการกระทืบลงไปที่อกและเหยียบกลางดวงใจของชาวนาโดยตรง!!!
เนื่องด้วยราคารับจำนำที่รัฐบาลได้มอบให้แก่ชาวนาพี่น้องเกษตรกรนั้น
ยังไม่ตรงกับจริตหรือพฤติกรรมการขายของพี่น้องเกษตรกรชาวนามากเท่าใดนัก
เพราะราคาที่ได้รับจริงจาก 15,000 บาทนั้น เขาได้รับจริงๆ เพียงแค่ประมาณ 12,000 –
13,000 บาท เนื่องด้วยราคา 15,000 บาทนั้นเป็นราคาที่จะต้องมีความชื้นไม่เกิน 15
เปอร์เซ็นต์แต่พฤติกรรมชาวนาไทยส่วนใหญ่เกี่ยวข้าวแล้วจะใส่รถบรรทุกส่งไปขายที่โรงสีทันที
เพราะไม่มีที่เก็บ ที่ตาก
อีกทั้งมีความจำเป็นเร่งด่วนในหลายเหตุผลที่จะต้องรีบใช้เงิน แถมโครงการนี้ความจริงแล้วเงินก็ยังไม่ได้รับโดยทันที
จะต้องรอไปอีกประมาณ 15-20 วัน จึงจะได้รับ
ทำให้ในระหว่างนี้จะต้องไปหยิบยืมกู้หนี้ยืมสินพี่น้องเพื่อนบ้านไปพลางๆก่อน
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามชาวนาก็ยังได้ประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอยู่บ้าง
จากที่ในอดีตขายข้าวได้ราคาเพียง 4,500 –
6,000 บาท ถูกลดทอนตีราคาไปตามคุณภาพที่กำหนดโดยพ่อค้าโรงสี เพราะเกษตรกรไม่มีความรู้ในเรื่องเครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้วัดความชื้น
เขาแจ้งเท่าใดก็เท่านั้น
ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ราคาของข้าวเปลือกที่ทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายสูง
แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ ทีมงาน
ที่ท่านนายกยิ่งลักษณ์ควรจะต้องเข้มงวดกวดขันให้โครงการนี้มีความโปร่งใสมากที่สุด
ทั้งในเรื่องการสวมสิทธิ์ การรับซื้อ การขาย การเก็บสต๊อก
ความชัดเจนในเรื่องราคาที่เกษตรกรหรือชาวนาจะได้รับควรจะสอดคล้องต้องกันกับพฤติกรรมการขายของชาวนาที่ส่วนใหญ่จะขายข้าวสด
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่าที่ได้เห็นตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการก็ประมาณ
หนึ่งแสนกว่าล้านบาท เมื่อเทียบกับเงิน 5 – 6
แสนล้านบาทที่นำไปอุ้มเศรษฐีที่ล้มบนฟูกเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งของ 56 ไฟแนนซ์ที่รัฐบาลรับทรัพย์สินและลูกหนี้มา
800,000 ล้านบาทส่งต่อให้ ปรส. อีกทั้งรัฐบาลในขณะนั้นต้องรับผิดชอบชดเชยภาระหนี้สินโดยรวมของกองทุนฟื้นฟูสูงถึง
1.3 ล้านล้านบาท
แต่มรดกถูกส่งไปทิ้งให้อีแร้งอีการุมทึ้งจากการประมูลซื้อถูกขายแพงของนายทุนต่างชาติโดยขาดการตรวจสอบและความรอบคอบในระบบการบริหารจัดการจึงทำให้คนไทยเสียเปรียบเสียผลประโยชน์จากการบริหาร
NPL ในครั้งนั้น...
ผมว่าครั้งนี้ทำเพื่อเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติน่าจะได้บุญและคุ้มค่ากว่านะครับ
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ
www.thaigreenagro.com
ไม่มีความเห็น