การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร


ชื่อผลงานวิจัย

การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร

ผู้วิจัย นายเมธีธนัช ปะเสระกัง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
หน่วยงาน โรงเรียนจินดาบำรุง สำนักงานเขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร
ปีที่วิจัย 2556

 

 

บทคัดย่อ

        การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ประกอบด้วยการวิจัย 2 ส่วน ได้แก่ การวิจัยห้องสมุด 4G ของโรงเรียนสุโขทัย สำนักงานเขตดุสิต สังกัดกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานห้องสมุด 4G ของโรงเรียนสุโขทัย สำนักงานเขตดุสิต สังกัดกรุงเทพมหานคร และการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G มาตรฐาน สำหรับใช้ประเมินโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร ต่อไป ผลการวิจัย พบว่า 

       ส่วนที่ 1 ผลการวิจัยห้องสมุด 4G ของโรงเรียนสุโขทัย สำนักงานเขตดุสิต สังกัดกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้บริหาร ครูบรรณารักษ์ ครูผู้สอน และนักเรียนมีความคิดเห็นต่อสภาพการดำเนินงานห้องสมุด 4G ของโรงเรียนสุโขทัย สำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวม
อยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่ง ( = 4.26) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับ
เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยมีความคิดเห็นในด้านบรรยากาศดี มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด อยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่ง ( = 4.29) รองลงมาคือ ด้านเครื่องมือสืบค้นดี อยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่ง ( = 4.26) ด้านหนังสือดี อยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่ง ( = 4.26) และด้านบรรณารักษ์ดี มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด อยู่ในระดับเห็นด้วยอย่างยิ่ง ( = 4.26)
       ส่วนที่ 2 ผลการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผลการวิจัย 2 ตอน ได้แก่
                 ตอนที่ 1 การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่มร่วมกันของบรรณารักษ์ห้องสมุด จำนวน 10 คน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและสร้างแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร พบว่า ด้านบรรณารักษ์ดี ส่วนใหญ่เห็นว่าต้องมีการสร้างมาตรฐานการเป็นบรรณารักษ์ที่ดี ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในงานบรรณารักษ์และห้องสมุด มีจำนวนที่เพียงพอ เหมาะสม และต้องได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านหนังสือดี ต้องมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกหนังสือที่ดี มีการจัดแบ่งประเภทให้สอดคล้องและครอบคลุมกับความต้องการ รวมทั้งมีความเหมาะสมกับวัยของผู้ใช้บริการด้วย ด้านบรรยากาศดี ต้องได้รับการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการพื้นที่ที่ดี และสนับสนุนการดูแลรักษา และพัฒนาพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง และด้านเครื่องมือสืบค้นดี ต้องมีการนำระบบสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในงานห้องสมุด โดยเฉพาะการสืบค้น ยืม-คืน และการดำเนินงานทั้งหมดของห้องสมุด รวมทั้งต้องมีรูปแบบและเครื่องมือการสืบค้นที่ได้มาตรฐานและเกิดการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ อยู่เสมอ
                ตอนที่ 2 การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และมีการนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3 ครั้ง ผลการวิจัยสามารถสร้างแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ได้จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย
                           ฉบับที่ 1 แบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้บริหาร ประกอบด้วย เกณฑ์มาตรฐาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบรรณารักษ์ดี มีเกณฑ์มาตรฐาน 9 ข้อ ตัวบ่งชี้ 38 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 40 ข้อ ด้านหนังสือดี  มีเกณฑ์มาตรฐาน 5 ข้อ ตัวบ่งชี้ 13 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 21 ข้อ ด้านบรรยากาศดี มีเกณฑ์มาตรฐาน 4 ข้อ ตัวบ่งชี้ 16 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 22 ข้อ และด้านเครื่องมือสืบค้นดี มีเกณฑ์มาตรฐาน 4 ข้อ ตัวบ่งชี้ 8 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 13 ข้อ ซึ่งห้องสมุดที่จะผ่านการประเมินตามแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานครได้ ต้อง “ผ่าน” การประเมินทุกข้อมาตรฐาน ทุกข้อตัวบ่งชี้ และทุกข้อเกณฑ์การประเมิน
                         ฉบับที่ 2 แบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานคร สำหรับครูและนักเรียน ประกอบด้วย เกณฑ์มาตรฐาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบรรณารักษ์ดี มีเกณฑ์มาตรฐาน 9 ข้อ ตัวบ่งชี้ 36 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 47 ข้อ ด้านหนังสือดี มีเกณฑ์มาตรฐาน 5 ข้อ ตัวบ่งชี้ 13 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 17 ข้อ ด้านบรรยากาศดี มีเกณฑ์มาตรฐาน 4 ข้อ ตัวบ่งชี้ 10 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 23 ข้อ และด้านเครื่องมือสืบค้นดี มีเกณฑ์มาตรฐาน 4 ข้อ ตัวบ่งชี้ 8 ข้อ และเกณฑ์การประเมิน 13 ข้อ ซึ่งห้องสมุดที่จะผ่านการประเมินตามแบบประเมินคุณภาพห้องสมุด 4G ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกรุงเทพมหานครได้ ต้องมีค่าคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 4.00 ขึ้นไป ( ≥ 4.00) หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ขึ้นไป ทุกข้อมาตรฐาน ทุกข้อตัวบ่งชี้ และทุกข้อเกณฑ์การประเมิน

 

 

 โดย...

 

ผอ.เมธีธนัช ปะเสระกัง

ผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาบำรุง

 

หมายเลขบันทึก: 546260เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท