ตอนที่ 19 ยุทธศาสตร์พัฒนากับการแก้ปัญหาจราจร


   

ตอนที่ 19
ยุทธศาสตร์พัฒนากับการแก้ปัญหาจราจร


        พูดถึงการจราจรในกรุงเทพฯคงไม่มีวันจบเพราะเรื่องราวมีมากเหลือเกิน เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง จำได้ว่าเป็นวันศุกร์ก่อนวันสงกรานต์ คนกรุงเทพฯพากันกลับไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัด ตอนนั้นผู้เขียนทำงานอยู่กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน พอเลิกงานขับรถออกมาจากที่ทำงาน เพื่อกลับบ้านที่บางเขน ต้องติดอยู่บนถนนตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงบ้านร่วมตีสอง รถจอดนิ่งอยู่บนถนนไม่ขยับเป็นเวลานาน และค่อยๆเคลื่อนได้ระยะ 3-4 เมตรแล้วหยุดนิ่งเป็นเช่นนี้ตลอดทาง เกิดอะไรขึ้นกับการจราจรในกรุงเทพฯ
        ปัจจุบันปัญหาการจราจรเป็นปัญหาใหญ่มากและเป็นปัญหารีบด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ดูเหมือนผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ทั้งนี้อาจเพราะเป็นปัญหาที่แก้ยากบางครั้งยิ่งแก้ยิ่งแย่ เพราะมันมีระบบที่ผูกพันเกาะเกี่ยวกันยุ่งเหยิง ถ้าแก้ไม่เป็นหรือคิดไม่เป็นไม่มีทางสำเร็จหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
         แต่อย่างไรก็ตาม ถ้านำระบบยุทธศาสตร์มาเป็นระบบหลักในการแก้ปัญหาก็น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างและครอบคลุมมากกว่า และจะแสดงให้เห็นความยุ่งยากอย่างเหลือกำลังทีเดียว
( หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นแค่นักยุทธศาสตร์ไม่ใช่นักแก้ปัญหาจราจร วันนี้ขอสมมุตเป็นผู้รู้เรื่องการจราจรแบบงูๆปลาๆ จะให้รู้จริงเหมือนผู้เชี่ยวชาญคงไม่ได้ การคิดระบบเกิดจากสมองของผู้เขียนเพียงคนเดียวจึงแสดงให้เห็นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ไม่ใช่ตำราวิเศษที่จะนำไปแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯหรือที่ใดๆ)

                 

 

           ผลผลิตของระบบจราจร คือ การเคลื่อนที่ของรถบนถนนไปถึงจุดหมาย ความจริงเป้าหมายหรือผลผลิตของระบบยุทธศาสตร์การจราจรจะอยู่ที่ คนเดินทางไปถึงจุดหมาย ถ้าคนเคลื่อนที่ด้วย เท้า จนถึงจุดหมาย ก็ไม่ต้องอาศัย รถ คำว่า “ รถ ” ในที่นี้น่าจะหมายถึงยานพาหนะทุกชนิด ซึ่งรวมถึงพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ ไม่ใช้เครื่องยนต์ ใช้แรงงานสัตว์ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ บนดิน ใต้ดิน ลอยฟ้า ใต้น้ำ ฯ
         ถ้าคิดง่ายๆ ให้ผลผลิตของระบบยุทธศาสตร์การจราจรคือ การเคลื่อนที่ของยานพาหนะ ( เพราะทุกวันนี้คิดแก้ปัญหาจราจรเฉพาะตรงจุดที่การใช้เวลาในการเคลื่อนที่ของยานพาหนะจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทาง)


จะเขียนโมเดลได้ดังนี้

          ผู้เขียนคิดกระบวนการย่อยได้ประมาณ 9 กระบวนการ ในแต่ละกระบวนการมีระบบย่อยๆอีกมากมายที่พอแสดงได้ดังนี้

          1.กระบวนการของระบบรถยนต์ ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
          ระบบเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า ระบบหล่อเย็น ระบบปรับอากาศ ระบบเชื้อเพลิง ระบบช่วงล่าง ระบบเบรก ระบบอำนวยความสะดวกภายในรถยนต์ ระบบสัญญาณ ฯ
          เป้าหมาย รถยนต์ต้องมีสภาพที่สมบูรณ์ทุกระบบ
          2.กระบวนการของผู้ขับรถ ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
          ขับรถชำนาญ ขับรถไม่ชำนาญ ชำนาญทาง ไม่รู้เส้นทาง สภาพสมอง สภาพร่างกาย สภาพจิตใจ นิสัย ความเชื่อเกี่ยวกับการขับขี่ยานพาหนะ ฯ
          เป้าหมาย ผู้ขับรถต้องมีความชำนาญในการขับรถและชำนาญเส้นทาง มีความสมบูรณ์ทางสมอง ร่างกายและจิตใจ นิสัยดี
          3. กระบวนการเส้นทางจราจร ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
          สภาพผิวจราจร ความกว้าง-แคบของถนน ทางสายเอก ทางสายโท ทางแยก อุโมงค์ สะพาน สะพานลอย ทางพิเศษ เส้นจราจร ป้ายจราจร ไฟทาง กลางวัน-กลางคืน ฝนตก ฯ
          เป้าหมาย ถนนต้องเรียบ –กว้าง มีทางแยกน้อย เส้นจราจรชัดเจน ไฟสว่าง ถนนไม่ลื่น
          4.กระบวนการสิ่งกีดขวาง ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
          สัญญาณไฟจราจร ทางแยก ชุมชน ศูนย์การค้า ตลาด โรงเรียน วัด ป้ายรถเมล์ ยู-เทิร์น รถจอด รถจอดแช่ เนินสะดุด สิ่งกีดขวาง ทางม้าลาย หลุม/บ่อ ฝาท่อ ผิวถนนขรุขระ ก่อสร้าง ปิดการจราจร ใช้ทางเลี่ยง กลุ่มผู้ชุมนุม เลี้ยวขวาตัดเลน น้ำท่วม ขบวนรถพิเศษ ด่านเก็บเงิน ด่านตรวจรถ อุบัติเหตุ ฯ
           เป้าหมาย บนถนนต้องไม่มีสิ่งกีดขวางช่องทาง
           5. กระบวนการใช้ถนน ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
           เดินทางส่วนตัว รับจ้าง ขนส่งมวลชน บรรทุกเบา บรรทุกหนัก ฯ
           เป้าหมาย ใช้ถนนน้อยครั้งที่สุด
          6.กระบวนการมิติทางเวลา/พื้นที่ ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
          ใช้ถนนเวลาเช้า-เย็น ใช้ถนนกลางวันทั้งวัน ใช้ถนนกลางคืน ใช้ถนนทุกเวลา ใช้ถนนบางเวลา ฯ ใช้ถนนพื้นที่เดียว ใช้ถนนทุกพื้นที่ ใช้ถนนพื้นที่ประจำฯ
           เป้าหมาย ใช้เวลาบนถนนน้อยที่สุด
           7.กระบวนการใช้รถแต่ละประเภท ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
           รถยนต์ส่วนตัว รถราชการ รถตู้ รถตู้โดยสาร รถบัส รถเมล์ รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน รถซาเล้ง รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลาง รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถพ่วง รถโรงเรียน รถมูลนิธิ รถพยาบาล รถตำรวจ รถเก็บขยะ รถตัดต้นไม้ รถรดน้ำต้นไม้ รถซ่อมสายโทรศัพท์ รถซ่อมไฟฟ้า รถปักป้าย รถซ่อมถนน รถดับเพลิง รถบรรทุกแก็ส รถบรรทุกสารอันตราย ฯ
           เป้าหมาย รถแต่ละประเภทใช้เวลาอยู่บนถนนน้อยที่สุด
           8.กระบวนการของระบบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
           สะพานลอยคนข้าม เกาะกลางถนน ป้ายไฟร้านค้า ปั้มน้ำมัน เสาไฟฟ้า ฟุตบาท ท่อระบายน้ำ ทางวันเวย์ ทางแยก ประตูทางเข้า -ออกสถานที่สำคัญ เลนบังคับ สถานที่จอดรถ วินมอเตอร์ไซค์ กฎจราจร เป็นเจ้าของรถหลายคัน
           เป้าหมาย ระบบเกี่ยวข้องต่างๆเกี่ยวข้องกับถนนน้อยที่สุด
           9.กระบวนการทางจราจร ประกอบด้วยระบบย่อยดังนี้
           การจราจรบนผิวดิน(ระบบถนน ระบบราง) การจราจรใต้ดิน (ระบบถนน ระบบราง) การจราจรทางน้ำ การจราจรลอยฟ้า(ระบบถนน ระบบราง) ฯ
           เป้าหมาย กระบวนการทางจราจรมีทุกระบบ

จะเห็นว่าเมื่อคิดกระบวนการย่อยที่สำคัญได้ 9 กระบวนการ และแต่ละกระบวนการมีระบบย่อยอีกมากมาย ระบบย่อยยังมีระบบเล็กๆที่เกี่ยวข้องอีกมหาศาล ซึ่งจะได้พูดในรายละเอียดต่อไป -----------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 546176เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท