แก้วไม่ร้อน


เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาครอบครัวปิยะวัฒน์นั่งกินขนมกันที่บ้าน พ่อกับแม่นั่งกินน้ำชาในขณะที่เจ้าต้นไม้นั่งกินข้าวเกรียบกุ้ง

แก้วน้ำชาของพ่อและแม่เป็นแก้วสองชั้นซื้อมาจากงานเกษตรฯ จับได้ไม่ร้อนหน้าตาเป็นอย่างในรูปนี่ละครับ

เจ้าต้นไม้นั่งจับๆ คลำๆ แก้วน้ำชาอยู่สักพักก็ถามขึ้นว่า "ทำไมแก้วถึงไม่ร้อนละแม่?"

อ.จัน ก็อธิบายว่าแก้วนั้นเป็นสองชั้น เวลาเราจับแก้วชั้นนอกก็เลยไม่ร้อนมือ แล้วถามกลับว่า

"อยากรู้ไหมลูกว่าเขาทำแก้วกันอย่างไร? เดี๋ยวแม่เปิดให้ดู" แล้วก็เดินไปเปิดวิดีโอการเป่าแก้วจาก YouTube ทันที

ผมผู้ร่วมเหตุการณ์รีบคว้ากล้องมาถ่ายรูปแก้วไว้ เพราะผมคิดว่านี่คือการเรียนรู้โลกยุคใหม่ของเด็กในวัยเจ้าต้นไม้ครับ

สมัยผมเด็กๆ ครั้งแรกที่ผมเคยเห็นเขาเป่าแก้วก็คือตอนสมัยมัธยมในงานวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นอยู่ ม.1 หน้าใสพึ่งจบ ป.6 แล้วได้เห็นคุณครูวิทยาศาสตร์เป่าแก้วเป็นรูปดอกไม้น่าตื่นตาตื่นใจมาก แต่ผมก็ยังไม่เคยเห็นการทำแก้วที่ใหญ่กว่านั้นหรือการทำแก้วในลักษณะอุตสาหกรรมอย่างที่เจ้าต้นไม้ได้เห็นผ่าน YouTube ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

วิดีโอที่ผมได้เห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทำแก้วรู้สึกจะเป็นสารคดีในช่อง Discovery ที่ผมได้ดูสมัยเรียนอยู่อเมริกา นั่นคือเกือบยี่สิบปีหลังจากผมได้เห็นการเป่าแก้วครั้งแรกในชีวิต

เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นดีกว่าแต่ก่อนมาก ปัจจุบันนี้โอกาสในการเรียนรู้นั้นมากมหาศาล เราไม่ได้มีข้อจำกัดด้วยพื้นที่หรือระยะทางที่ห่างไกลสื่อในการเรียนรู้เหมือนแต่ก่อนแล้ว

แต่สิ่งที่จะเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ของเด็กยุคปัจจุบันคือตัวเด็กเองต่างหาก

เด็กที่มีความสนใจอยากรู้อยากเห็น มีความมานะอดทนตั้งใจในการเรียนรู้ อยากทำสิ่งใดก็ตาม เดี๋ยวนี้กลายเป็นสิ่งไม่ยากที่เขาจะหาความรู้ในการทำสิ่งนั้น

แต่เด็กที่ไม่มีความพยายามในการเรียนรู้ แม้ความรู้จะมาถึงปลายจมูกอย่างในปัจจุบันนี้ แต่ก็ยากที่จะเห็นเขาทำในสิ่งที่เขาบอกว่าอยากทำ

ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีที่ผ่านมาเป็นตัวสะท้อนได้เป็นอย่างดี นั่นคือเราเห็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนว่าเด็กต่างจังหวัดที่อยู่ไกลๆ ฐานะยากจนได้คะแนนดีกว่าเด็กที่อยู่ในเมืองจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ

ผมคิดว่าการพัฒนาการศึกษาในยุคต่อไปนี้เราคงต้องมุ่งที่การพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าการพัฒนาสื่อเนื้อหาความรู้ให้แก่เด็ก

"ทำอย่างไรให้เด็กอยากรู้อยากเห็นและมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้" น่าจะเป็นโจทย์ที่น่าสนใจที่สุด

และแน่นอน... ผมไม่มีคำตอบ ผมก็ไม่รู้ นี่ก็พยายามหาทางที่จะรู้อยู่ครับ

สิ่งที่พอรู้คร่าวๆ คือเราต้องทำให้เด็กเห็นว่า "เขาทำได้" เมื่อเขาเรียนแล้วเขาได้รู้ นั่นคือการสร้างความมั่นใจในการเรียนรู้ให้เขานั่นเองครับ

แต่ก็ไม่ได้ผลเสมอไป จากการทดลองของผม บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล ก็คงต้องลองผิดลองถูกกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 546175เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เห็นด้วยค่ะอาจารย์...อะไรที่เริ่มจากความอยากรู้...การเรียนรู้จะมีความหมาย

        สวัสดีค่ะอาจารย์ อ่านบันทึกอาจารย์แต่ละครั้ง มีอะไรให้คิดต่อ

         น้องต้นไม้โชคดีมากที่มีคุณพ่อคุณแม่คุณภาพ เพียงถามว่าทำไมแก้วไม่ร้อน คุณแม่ก็พาไปดูการทำแก้วเลย น่าชื่นชมจริง ๆ

ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีที่ผ่านมาเป็นตัวสะท้อนได้เป็นอย่างดี นั่นคือเราเห็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนว่าเด็กต่างจังหวัดที่อยู่ไกลๆ ฐานะยากจนได้คะแนนดีกว่าเด็กที่อยู่ในเมืองจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญนรู้ของเด็กมากกว่าการพัฒนาสื่อเนื้อหาความรู้ให้แก่เด็ก

         ข้อสังเกตของอาจารย์ น่าทำวิจัยว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้เด็กต่างจังหวัดทำได้ดีกว่าเด็กในเมืองอย่างมีนัยสำคัญ การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตและสื่อไอซีทีที่เท่าเทียมเด็กในเมืองและความอยากรู้ใฝ่เรียนเป็นปัจจัยสำคัญหรือไม่

        "ทำอย่างไรให้เด็กอยากรู้อยากเห็นและมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้" น่าจะเป็นโจทย์ที่น่าสนใจที่สุด  เห็นด้วยค่ะ นี่ก็เป็นโจทย์วิจัยที่น่าลงมือทำ ความจริงเคยมีงานวิจัย แต่สังคมวัฒนธรรมไทยมีเอกลักษณ์ที่งานวิจัยในพื้นที่อื่นอาจไม่สามารถ generalized มาใช้ได้

 คำตอบหนึ่งน่าจะเป็นไปตามข้อสังเกตุของอาจารย์:  สิ่งที่พอรู้คร่าวๆ คือเราต้องทำให้เด็กเห็นว่า "เขาทำได้" เมื่อเขาเรียนแล้วเขาได้รู้ นั่นคือการสร้างความมั่นใจในการเรียนรู้ให้เขานั่นเองครับ

แต่ก็ไม่ได้ผลเสมอไป จากการทดลองของผม บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล

ครอบครัวก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากเรียนรู้เหมือนกันนะคะอาจารย์

...ประโยชน์ที่ได้รับจากโลก Internet นะคะ ...ของคุณค่ะ

ขอบคุณครับอาจารย์

ผมเข้ามาอ่าน จึงได้เรียนได้รู้ใน บางสิ่งที่ยังไม่รู้ ครับ

พี่คิดว่า  เรายังไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้เด็กไทยรักที่จะเรียนรู้ค่ะ

ความรู้มีเยอะ หาง่าย แต่ไม่สนใจที่จะรู้่  ผู้ใหญ่ก็เป็นค่ะ  อย่าไปว่าแต่เด็ก  (สมัยพี่เป็นเด็ก จะหาความรู้มาแย้งครูนี่ก็ต้องไปค้นหนังสือนานหลายวัน)

อยู่ในโลกออนไลน์มากๆ ทำให้เราสมาธิสั้นกันไปหมด จนอ่านอะไรยาวๆ ไม่เป็น  ความรู้สั้นๆ แค่บันทัดเดียวก็ไม่มีซะด้วย

น้องต้นไม้โชคดีที่อยู่ในครอบครัวที่สนับสนุนการเรียนรู้ค่ะ  เด็กอีกเยอะที่ไม่โชคดีแบบนี้

"สิ่งที่จะเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ของเด็กยุคปัจจุบันคือตัวเด็กเอง"

ใช่เลยครับกับคำพูดนี้ เหมือนอย่าง บางคนมีทุนทรัพย์มากมายแต่อาจจะเรียนไม่จบ ไม่เหมือนกับเด็กที่ขัดสนทุนทรัพย์ แต่กลับเรียนจบในระดับสูงสุดได้ด้วยตัวเอง จริง ๆ ครับ

เด็กเค้าจะเหมือนต้นแบบอ่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท