นิทรรศการในสังคมที่เด็กด้อยโอกาส


ในจำนวนภาพต่างๆ ที่ร่วมจัดแสดง ผมมีความรู้สึกสะท้อนใจมากที่สุดกับหลายภาพของกลุ่มเด็กลี้ภัย เพราะในขณะที่เด็กด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ต่างสื่อภาพออกมาเพื่อแสดงถึงความต้องการความอบอุ่นในครอบครัว ต้องการโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน แต่กับภาพของกลุ่มเด็กลี้ภัย พวกเขากลับสื่อให้เห็นถึง สงคราม ทหาร ปืน และสีของเลือดที่เปรอะเปื้อนอยู่เต็มหน้ากระดาษ นั่นเป็นโลกที่พวกเขารู้จักมาตลอดชีวิต ซึ่งมันทำให้ผมกลับนึกย้อนกลับมาถึงเด็กไทยของเราด้วยความกลัว ยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้
พรสวรรค์ไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่กับใครตลอดกาล มันแค่เป็นแรงดลใจให้เราเกิดมุมานะพัฒนาในสิ่งที่เราทำได้ดีให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ใครมัวกระหยิ่มอยู่ว่าพรสวรรค์ที่ตัวเองมีเป็นสิ่งวิเศษเหนือคนอื่น โดยไม่ยอมลุกขึ้นฝึกปรือหรือเพิ่มเติมในสิ่งนั้น ท้ายสุด ล้วนพบว่าพวกเขาต่างพ่ายแพ้ต่อคนที่มีพรสวรรค์เหนือกว่าตนอยู่เสมอ

คนที่อยู่เหนือผู้มีพรสวรรค์แท้แล้วก็ไม่ใช่ใครเลย พวกเขาคือคนธรรมดา ผู้หมั่นฝึกฝนในสิ่งที่เลือกสร้างอย่างไม่ย่อท้อ และไม่ยอมสิ้นหวังกับความพ่ายแพ้แม้สักกี่ครั้งก็ตาม

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ในทางตรงข้ามกับผู้ที่สวรรค์มอบพรวิเศษมาให้ โลกนี้ยังมีมนุษย์อีกประเภทหนึ่ง ที่ชีวิตเสมือนถูกสวรรค์สาปให้ต้องรับรู้ถึงความพ่ายแพ้ตั้งแต่กำเนิด และคล้ายว่าทั้งชีวิตจะไม่มีวันรู้จักกับชัยชนะไปได้ หากไม่ผ่านการต่อสู้กับตนเองอย่างเหนือมนุษย์คนอื่นๆ แต่หลายครั้ง เราก็ได้พบว่ามนุษย์ที่ถูกสาปกลุ่มนี้ ยังสามารถทำให้ผู้คนทั่วไปรวมถึงผู้มีพรสวรรค์ทั้งหลายต้องตกตะลึง เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาสร้างขึ้น และพิสูจน์ให้เราเห็น เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ จนมั่นใจว่าแม้แต่พรจากสวรรค์ยังยากที่จะเสกสรรให้ใครพิเศษคนไหนสามารถสร้างสิ่งอัศจรรย์เหล่านั้นขึ้นมาได้

มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายาม ความพยายามเพียงประการเดียวเท่านั้น!

วันนี้เป็นวันที่ 30 เมษายน ผม(ผู้ซึ่งเพิ่งเป็นครูได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์)และคณะอาจารย์ ได้นำเด็กนักเรียนจากโรงเรียนฐานปัญญา ย่านบางแค ซึ่งโดยสารมากับรถตู้ของโรงเรียนจำนวน 4 คันรถ เดินทางออกจากโรงเรียนกันตั้งแต่ช่วงสายราว 09.00 น. โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ(หัวลำโพง)

หลายครั้งสำหรับหลายคนในกรุงเทพฯ หัวลำโพงคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ในทุกภาคของประเทศไทย และบางคนอาจเคยได้นั่งรถไฟระหว่างประเทศ(บัธเตอร์เวิร์ธ) เพื่อเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ด้วยซ้ำ ซึ่งแม้จะโดยสารไปกับรถไฟขบวนเดียวกัน แต่เราต่างก็รู้กันดีอยู่ว่าพาหนะโดยสารที่ใช้ชื่อว่ารถไฟนั้น คือตัวอย่างของการแบ่งชนชั้นทางสังคมที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่ง และคิดว่าทุกคนคงทราบกันดีเช่นกันว่าในรถไฟแต่ละขบวน จำนวนโบกี้ที่ต่อกันยาวที่สุดก็คือโบกี้ในชั้นที่ 3 เสมอ อาจจะด้วยเพราะเป็นโบกี้ที่มีราคาที่นั่งโดยสารถูกที่สุด หรืออาจเพราะกลุ่มคนที่นิยมใช้บริการรถไฟมากที่สุด...เป็นกลุ่มคนจน

สิ่งเดียวที่ผมมั่นใจ คือการนั่งรถไฟชั้น 3 ไปในระยะทางไกลๆ เช่นรถไฟสายใต้นั้น มันช่างเป็นห้วงประสบการณ์แห่งความทุกข์ทรมานที่ยาวนานเหลือเกิน

กลับมาที่สถานีรถไฟหัวลำโพงกันอีกครั้ง การเดินทางออกจากที่นี่ของผมกับเหล่านักเรียนในวันนี้ต้องนับว่าผิดแปลกไปจากการโดยสารรถไฟขบวนไหนๆ ที่จอดเทียบอยู่ในชานชาลา นั่นเพราะในระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 21 พฤษภาคม 2547 นี้ เป็นช่วงเวลาที่สถานีรถไฟหัวลำโพงได้เพิ่มชานชาลาพิเศษขึ้นมาอีกชานชาลาหนึ่ง อันเป็นชานชาลาที่ผู้โดยสารจะต้องเดินทางไปด้วยจินตนาการและหัวใจเพียงเท่านั้น ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะกันเหมือนบนขบวนรถไฟที่จอดเทียบชานชาลาไหนๆ เลย ชานชาลาที่ว่านี้ใช้ชื่อว่า “โครงการประกวดวาดภาพศิลปะเด็กด้อยโอกาส”

และนี่เองคือสิ่งที่ทำให้พวกเราต้องเดินทางมาที่นี่ในวันนี้!

ท่ามกลางความจอแจของคนเดินทาง ภาพวาดนับร้อยภาพของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสจากที่ต่างๆ ได้รับการจัดแสดงไว้เป็นสัดส่วนกลางลานอเนกประสงค์ของสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งว่าไปแล้วการที่ทางโครงการได้จัดแสดงภาพวาดไว้ที่นี่ อาจทำให้นี่เป็นนิทรรศการภาพวาดที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในประเทศไปเลยทีเดียว นักเรียนที่พามาค่อนข้างจะตื่นเต้นกับบรรยากาศของร้านขายขนมและร้านไอศกรีม มากกว่าจะสนใจภาพวาดของกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ทั้งที่จุดประสงค์ที่เรานำพวกเขามาชมภาพวาดเหล่านี้ ก็เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กนักเรียน(ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน ม.1ม.2) หันมาหวงแหนโอกาสที่พวกเขามี และใช้มันให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อชีวิตในวันข้างหน้า

แต่เด็กก็คือเด็ก(แม้ในทางกายภาพพวกเขาหลายคนกำลังกลายเป็นวัยรุ่น และบางคนเริ่มค่อนไปทางผู้ใหญ่แล้ว) โลกของพวกเขายังเป็นโลกของเกมส์และขนม ยังเป็นโลกของมิตรภาพ และความสนุกสนานเฮฮา โรงเรียนของพวกเขาเป็นโรงเรียนเอกชน ผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่จึงค่อนข้างจะมีฐานะ การมุ่งหวังให้เด็กนักเรียนของเราได้รับรู้และรู้สึกถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ผ่านทางภาพวาดที่สื่อออกมาจากก้นบึ้งของเงาสะท้อนใจ จึงค่อนข้างจะห่างไกลจากประสบการณ์ร่วมของพวกเขาอยู่มาก ถึงอย่างไร สิ่งที่ผมมุ่งหวังมาตั้งแต่ต้นก็คือให้พวกเขาได้มีสายตาที่กว้างไกลขึ้น อย่างน้อยก็พ้นไปจากโรงเรียน บ้าน และกลุ่มเพื่อนของพวกเขา สังเกตจากความตื่นเต้นของนักเรียนหลายๆ คน ผมก็ว่ามันพอจะประสบผลอยู่บ้างเหมือนกัน(แต่คนที่น่าจะรู้สึกยินดีไปกว่าผม คงเป็นเจ้าของร้านไอศกรีม)

ภาพวาดของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่นำมาจัดแสดงไว้ในครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงภาพวาดของพวกเขาครั้งที่ 2 (เว้นจากครั้งแรกไป 4-5 ปี) โดยมี พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ ทีมงานพิทักษ์เด็ก เยาวชนและสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวเรือใหญ่ แบ่งผลงานออกแสดงตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 8-21 ปี (เท่าที่ผมเห็น) และแบ่งการตัดสินออกเป็น 2 ประเภท คือแบบยอดเยี่ยม(น่าจะหมายถึงสวยงาม) และแบบสร้างสรรค์ ผมออกจะแปลกใจที่งานนี้ไม่ได้มีการแยกกลุ่มเด็กพิเศษไปจัดประกวดต่างหาก ทว่ากลับนำผลงานมาตัดสินร่วมกัน อันประกอบไปด้วย เด็กเร่ร่อน,พิการ,กำพร้า,ถูกทารุณกรรม,เด็กชาวเขา,ลี้ภัย ฯลฯ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีภาพที่ส่งผ่านองค์กรดูแลเข้าร่วมประกวดถึง 203 ภาพ

อย่างไรก็ตาม แทบทุกภาพที่นำมาจัดแสดงต่างทำให้ผมรู้สึกทึ่งและอึ้งได้ไม่แพ้กัน

ถึงตอนนี้ นักเรียนบางคนเริ่มตั้งคำถามกับภาพที่พวกเขาสนใจ(ผมขอให้พวกเขาเขียนเรียงความ โดยเลือกภาพที่ประทับใจมาคนละหนึ่งภาพพร้อมอธิบายความประทับใจอันนั้น)

“อาจารย์ครับ ทำไมภาพนี้ถึงชื่อว่า ‘คฤหาสน์สลัม’ ล่ะครับ” นักเรียนคนนั้นถามถึงภาพสีน้ำภาพหนึ่งที่ร่วมจัดแสดง มันเป็นภาพสลัมในโทนสีหม่น มีจุดรวมสายตาอยู่ที่ทางเดินซึ่งมีลักษณะเป็นไม้กระดานผุๆ พังๆ พาดต่อกันไปในสภาพโย้เย้อย่างกับงูเลื้อย ผมคิดเอาว่าเด็กที่เป็นเจ้าของภาพตั้งชื่อภาพนี้ลึกเกินไปหรือเปล่า เพราะถ้าเขาต้องการบ่งบอกว่าด้วยสภาพเช่นสลัมที่เขาวาดขึ้น ก็สามารถบันดาลสุขให้แก่ผู้อยู่ได้มากนักแล้ว ก็ยิ่งไม่ควรสื่อด้วยชื่อชื่อนี้ ผมกลับเห็นว่าถ้าเขาใช้ชื่อว่า ‘บ้านสลัม’ ยังดูน่าจะอบอุ่นและเข้ากับภาพมากกว่า เพราะมันจะทำให้หมายถึงความสุขนั้นอยู่ที่ใจคนอาศัย ไม่ใช่เกิดมาจากสภาพของหลักแหล่ง แม้ว่ามันก็ยังจะดูเป็นเรื่องที่ติดแนวเพ้อฝันอยู่มากก็ตาม

สำหรับคำว่าคฤหาสน์นั้น ผมมองเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจากความอวดร่ำอวดรวยของคนกลุ่มหนึ่ง ผู้ซึ่งมีปัญญาพอที่จะจ้างคนรับใช้มาปัดกวาดเช็ดถูคฤหาสน์หลังงาม ซึ่งโอบล้อมไว้ด้วยชั้นกำแพงแน่นหนา และบานประตูที่มียอดแหลมเพื่อป้องกันการบุกรุกของคนแปลกหน้า คฤหาสน์ไม่เคยเปิดประตูต้อนรับใครนอกจากผู้เป็นเจ้าของ

..ผมรู้จักเพื่อนบ้าน แต่ไม่เคยรู้ว่าเพื่อนคฤหาสน์นั้นเป็นแบบไหน คฤหาสน์ไม่ต้องการเพื่อน- -บางครั้งยังอดคิดเช่นนี้ไม่ได้

แต่เปล่าเลย ผมไม่ได้ตอบนักเรียนเช่นที่รู้สึก กลับบอกเขาไปว่า

“นั่นสิ ครูก็สงสัยเหมือนกัน คฤหาสน์มันอยู่ตรงไหนของภาพนี้นะ ?”

กับเด็กนักเรียนอีกหลายคน พวกเขายังมีคำถามกับอีกหลายภาพ แต่คำถามส่วนใหญ่ล้วนเป็นไปในทำนองเดียวกัน

“อาจารย์คะ ภาพนี้สื่อถึงอะไรคะ ?” ผมต้องอธิบายภาพต่างๆ นับสิบภาพ ด้วยคำถามแบบเดียวกันนี้ของนักเรียนหลายคน จนกระทั่งมาถึงภาพภาพหนึ่ง ที่มองอย่างไรก็ไม่เห็นคนอยู่ในภาพ แต่มีชื่อภาพว่า “อบอุ่น” มันเป็นภาพของเงาดำๆ บนพื้นสีอ่อน ซึ่งผมได้อาศัยภาพภาพนี้ตอบคำถามของนักเรียนทุกคนที่เหลือ(ซึ่งกำลังจะถามผมต่อในแบบเดียวกัน)

“ภาพนี้มันสื่อถึงจินตนาการของพวกเธอยังไงล่ะ”

ช่วงหนึ่ง หลังนักเรียนได้วนกันไปชมภาพที่จัดแสดงจนครบถ้วนแล้ว พวกเขาก็หันไปตื่นเต้นกับการเซ็นสมุดเยี่ยม หลายคนดีใจที่จะได้เขียนความรู้สึกลงไปในสมุดเล่มเดียวกับที่คนดังๆ อย่างเช่น อาจารย์สังคม ทองมี ได้เขียนเอาไว้ก่อนหน้า ก่อนที่นักเรียนของผมจะแตกฮือ เมื่อมีหญิงสูงอายุชาวสเปน(รู้หลังจากได้คุยกัน)เข้าไปคุยด้วย เวลานั้นผมจึงถือโอกาสเข้าไปเปิดดูในหน้าต่างๆ ของสมุดเยี่ยม และให้แปลกใจที่ในนั้นปรากฏชื่อของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความชื่อดังที่เป็นข่าวว่าถูกอุ้มร่วมเซ็นอยู่ด้วย ก่อนจะหายข้องใจเมื่อได้เห็นชื่อและลายเซ็นของบิ๊กดีทูบีในหน้าถัดมา

ในจำนวนภาพต่างๆ ที่ร่วมจัดแสดง ผมมีความรู้สึกสะท้อนใจมากที่สุดกับหลายภาพของกลุ่มเด็กลี้ภัย เพราะในขณะที่เด็กด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ต่างสื่อภาพออกมาเพื่อแสดงถึงความต้องการความอบอุ่นในครอบครัว ต้องการโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน แต่กับภาพของกลุ่มเด็กลี้ภัย พวกเขากลับสื่อให้เห็นถึง สงคราม ทหาร ปืน และสีของเลือดที่เปรอะเปื้อนอยู่เต็มหน้ากระดาษ นั่นเป็นโลกที่พวกเขารู้จักมาตลอดชีวิต ซึ่งมันทำให้ผมกลับนึกย้อนกลับมาถึงเด็กไทยของเราด้วยความกลัว ยิ่งโดยเฉพาะกับเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้

ผมกลัวว่าสักวันหนึ่ง ภาพวาดที่เด็กๆ ของเราสื่อออกมา จะเต็มไปด้วยโทนสีของเลือดเหมือนเช่นภาพของเด็กๆ จากค่ายผู้ลี้ภัย ถ้าวันนั้นมาถึง เราจะทำอย่างไรได้..

เพียงชั่วเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เด็กนักเรียนทุกคนก็ได้ภาพที่ตัวเองประทับใจ มีนักเรียนคนหนึ่งมาบอกกับผมว่าเขาได้ภาพที่ประทับใจถึง 5 ภาพ ผมร้องโอ้โฮ ถามเขาว่าแล้วจะจดจำรายละเอียดของภาพแต่ละภาพได้หมดหรือไม่-อย่างไร นักเรียนคนนั้นยิ้ม ยกโทรศัพท์มือถือของเขาขึ้นมาให้ผมดู ภาพทุกภาพเข้าไปอยู่หน้าจอโทรศัพท์ของเขาเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้น ผมจึงได้แต่ถอนหายใจ คิดว่านอกจากสังคมทุกวันนี้จะไม่ค่อยมีพื้นที่เอื้อต่อจินตนาการของเด็กๆ แล้ว เทคโนโลยีใหม่ๆ ยังพร้อมใจจะเข้ามาทำลายจินตนาการของเด็กๆ ไปอีกด้วย

วันนี้ ผมได้พบว่านอกจากนักเรียนของผมจะอยู่คนละฟากกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ที่ผมได้พาไปชมนิทรรศการภาพวาดแล้ว พวกเขายังถูกหล่อหลอมโดยไม่รู้ตัวให้ยืนอยู่คนละฟากกับจินตนาการอีกด้วย ถ้าเด็กๆ ไม่รู้จักจินตนาการ ผู้ใหญ่อย่างผมจะกล้าจินตนาการถึงอนาคตของพวกเขาได้อย่างไร

นึกย้อนกลับไปถึงวันแรกที่มาสอบสัมภาษณ์เพื่อเป็นครู ตอนนั้น อาจารย์ที่สัมภาษณ์ถามผมว่ารู้หรือไม่ว่าคำว่า “คุรุ” แปลว่าอะไร เมื่อผมตอบว่าไม่ทราบ อาจารย์จึงเฉลยให้ฟังว่าคุรุแปลว่า “หนัก” การเป็นครูของผมที่เพิ่งจะผ่านเข้าสู่สัปดาห์ที่สองนี้ ผมเริ่มตระหนักและเข้าใจความหมายของคำคำนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว
คำสำคัญ (Tags): #สารคดี
หมายเลขบันทึก: 54615เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2006 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท