ลำดับเหตุการณ์การให้ความช่วยเหลือน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม - เด็กกำพร้า ไร้รัฐไร้สัญชาติ


ลำดับเหตุการณ์การให้ความช่วยเหลือน้องมูฮัมหมัด นูกาซิม
เด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และกำพร้าขาดไร้ซึ่งบุพการีอุปการะ

โดย โครงการบางกอกคลินิก
ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

----------------------------
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖
----------------------------

คุณมานะ งามเนตร ได้เล่าเรื่องผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตใน Facebook เพื่อหารือมวลมิตรในกรณีของ “เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม” เด็กกำพร้าวัยเพียง ๑๒ ขวบ ซึ่งตกอยู่ในความไร้รัฐไร้สัญชาติ และนายซุลกิฟลี มูฮัมหมัด ซึ่งเป็นคุณอาที่เลี้ยงดูน้องมูฮัมหมัด เล่าว่าเด็กถูกจับกุมดำเนินคดีอาญาในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลามีคำสั่งให้ปล่อยตัว แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาจะส่งเด็กไปยังตรวจคนเข้าเมืองสงขลา และแจ้งว่าการดำเนินการต่อไปเป็นอำนาจหน้าที่ของตรวจคนเข้าเมือง ทางคุณอาของน้องมูฮัมหมัดร้อนใจ กังวลว่าหลานชายจะถูกผลักดันส่งออกนอกประเทศ จึงร้องขอให้ช่วยเหลือน้องมูฮัมหมัดโดยเร็วที่สุด

----------------------------
เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖
----------------------------

๐๗.๓๐ น. คุณมานะ งามเนตร ได้โทรศัพท์หารือกับ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หรือ “อาจารย์แหวว” เพื่อขอคำแนะนำในการให้ความช่วยเหลือและประสานความช่วยเหลือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อยับยั้งไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองส่งน้องมูฮัมหมัดออกนอกประเทศไทยไปยังประเทศพม่า ทั้ง ๆ ที่เด็กยังประสบปัญหาความไร้รัฐ ไร้ประเทศต้นทางในการคุ้มครอง และไร้ครอบครัวอุปการะ

๐๘.๓๐ น. อาจารย์แหวว ได้ส่งอีเมลล์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และมวลมิตรในเครือข่ายทำงานจัดการประชากรเพื่อสันติสุขของสงขลา เพื่อแจ้งข้อมูลกรณีของน้องมูฮัมหมัด และขอความร่วมมือผู้ว่า ฯ ประสานงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ชะลอกระบวนการส่งกลับน้องมูฮัมหมัด เพื่อให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงอันกำหนดสถานะบุคคลของเด็กจนเป็นข้อยุติ และมีกระบวนการคุ้มครองสิทธิโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ นอกจากนี้ อาจารย์แหววแนะนำให้ทนายความโครงการบางกอกคลินิกหารือกับ พันตำรวจโท จักร ถนัดอักษร รองผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นมวลมิตรในเครือข่ายทำงานจัดการประชากรเพื่อสันติสุขของสงขลา ให้ชะลอการส่งกลับและให้ความช่วยเหลือกรณีของน้องมูฮัมหมัด

๑๐.๐๐ น. คุณศิวนุช สร้อยทอง ได้โทรศัพท์ถึง พ.ต.ท.จักร เพื่อให้ชะลอการส่งกลับและให้ความช่วยเหลือกรณีของน้องมูฮัมหมัด ซึ่งทาง พ.ต.ท.จักร รับเรื่องในการติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้ และยืนยันว่ากระบวนการส่งกลับของเด็กนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะดำเนินการโดยระมัดระวังอย่างยิ่ง
หากกรณีเด็กตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะต้องประสานประเทศต้นทางตามคำให้การของเด็ก/ครอบครัวเพื่อยื่นขอพิสูจน์สัญชาติของเด็กก่อน และการส่งกลับของเด็กนั้น ต้องปรากฏว่ามีครอบครัวหรือผู้อุปการะตามกฎหมายรอรับเด็กอยู่/เดินทางไปพร้อมกัน การส่งกลับของเด็กโดยไม่มีประเทศต้นทาง และไม่มีผู้อุปการะคอยดูแลจะทำไม่ได้เด็ดขาด

ในระหว่างที่เด็กอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะกักตัวเด็กไว้ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ แต่จะต้องส่งเด็กเข้าอยู่ในความคุ้มครองของสถานสงเคราะห์ ตามมาตรา ๕๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒
ทั้งนี้ พ.ต.ท.จักร ขอความร่วมมือให้คุณศิวนุช ประสานและส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา

๑๐.๓๐ น. คุณศิวนุช ได้โทรศัพท์ถึง พันตำรวจเอก วีร์พล ใหญ่อรุณ ผู้กำกับการ ฝ่ายตรวจสอบสำนวน คดีอุทธรณ์ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ช่วยประสานการติดตามตัวเด็ก และประสานความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา เพื่อชะลอการส่งกลับของเด็กชายมูฮัมหมัด

๑๐.๓๗ น. อาจารย์แหวว ได้โทรศัพท์ถึงคุณศิวนุช เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือน้องมูฮัมหมัดร่วมกัน คือ (๑) ส่งหนังสือเป็นทางการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ชะลอการส่งกลับน้องมูฮัมหมัด และขอให้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดและพัฒนาสิทธิ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ (๒) แสวงหาข้อเท็จจริงของน้องมูฮัมหมัด และครอบครัวเพิ่มเติม (๓) จัดทำความเห็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางประกอบการให้ความช่วยเหลือของภาคส่วนต่าง ๆ (๔) ประสานมวลมิตรซึ่งเป็นเครือข่ายทำงานจัดการประชากรเพื่อสันติสุขของสงขลา ให้ระดมความร่วมมือร่วมใจในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ (๕) เผยแพร่งานสู่สาธารณะเพื่อสร้างองค์ความรู้การให้ความช่วยเหลือเป็นแนวทางให้แก่ภาคประชาสังคม และภาครัฐ

๑๑.๐๕ น. คุณศิวนุช ได้โทรศัพท์ถึง ปลัดอำเภอ ศยามล ซึ่งเป็นเลขาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อแจ้งความคืบหน้าของคดีและขอให้คุณศยามลนำเรื่องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง

๑๑.๔๐ น. นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ ได้โทรศัพท์ถึง นายซุลกิฟลี มูฮัมหมัด ซึ่งแสดงตนว่าเป็นอาของน้องมูฮัมหมัด เพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งพบว่า บิดาและมารดา รวมถึงปู่และย่าของน้องมูฮัมหมัดเดินทางหลบหนีจากเกาะสอง ประเทศพม่า เข้ามาในจังหวัดระนอง ประเทศไทย ซึ่งน้องมูฮัมหมัด เกิดประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ในจังหวัดระนอง แต่ต่อมาและย่าเสียชีวิต และเมื่อน้องมูฮัมหมัด อายุได้ประมาณ ๔ ขวบ บุพการีทั้งสองได้เสียชีวิต น้องมูฮัมหมัดจึงกำพร้าและเหลือตัวคนเดียว นายซุลกิฟลี หรือ “คุณอา” จึงรับน้องมูฮัมหมัดมาเลี้ยงดู และให้อาศัยอยู่กับครอบครัวของตนที่จังหวัดปัตตานี

เนื่องด้วยน้องมูฮัมหมัดไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนจากรัฐบนโลก จึงตกอยู่ในสภาวะความไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งที่ผ่านมาคุณมานะ คำแนะนำให้คุณอาพาน้องมูฮัมหมัดไปให้อำเภอเมืองปัตตานีรับรองสถานะบุคคลและออกบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน “บัตรเลข ๐” เพื่อขจัดความไร้รัฐ แต่ปรากฏว่าน้องมูฮัมหมัดกลับถูกจับกุมดำเนินคดีอาญาฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่เนื่องด้วยอุปสรรคทางภาษาไทยสำเนียงใต้ และการสอบปากคำผ่านโทรศัพท์โดยไม่สามารถเห็นคู่สนทนาได้อย่างปกติ การสอบปากคำครั้งนี้จึงสามารถทำได้เพียงการสอบเบื้องต้นเท่านั้น

ทั้งนี้ คุณพวงรัตน์ได้บันทึกข้อเท็จจริงจากปากคำของคุณอา และเผยแพร่สาธารณะผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตใน Facebook ในหัวข้อ “อดีตกำลังจะซ้ำรอย” เด็กชายไร้รัฐ ไร้บุพการี วัย ๑๒ ปี กำลังจะถูกส่งออกนอกประเทศไทย ข้อหา “คนต่างด้าวไม่มีเอกสารแสดงตน” เพื่อระดมความคิดเห็นและความช่วยเหลือจากมวลมิตร

๑๒.๔๐ น. คุณศิวนุช ได้โทรศัพท์ถึง อาจารย์เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นเครือข่ายทำงานจัดการประชากรเพื่อสันติสุขของสงขลา เพื่อหารือให้สอบปากคำ นายซุลกิฟลี หรือ “คุณอา” และน้องมูฮัมหมัด ในเชิงลึก

๑๔.๓๐ น. อาจารย์เสาวนีย์ และทีมลูกศิษย์ ได้นัดพบกับ นายซุลกิฟลี หรือ “คุณอา” เพื่อสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับครอบครัวของน้องมูฮัมหมัดโดยละเอียด และได้ถ่ายสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาของน้องมูฮัมหมัดไว้ เพื่อประกอบปากคำของคุณอา

๑๕.๑๕ น. อาจารย์เสาวนีย์ ได้โทรศัพท์ถึง คุณศิวนุช เพื่อแจ้งความคืบหน้าของคดีว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองสงขลา กำลังพาน้องมูฮัมหมัดไปส่งที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา

๑๕.๒๐ น. คุณศิวนุช ได้โทรศัพท์ถึง ร้อยตำรวจโท นิพจน์ มรรคถาวร เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเจ้าของคดี เพื่อหารือถึงกระบวนการคุ้มครองเด็ก แต่ทาง ร.ต.ท.นิพจน์ ยืนยันว่าอำนาจหน้าที่ในการจัดการคุ้มครองเด็กต่อไป คือ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา

๑๕.๕๐ น. คุณศิวนุช ได้โทรศัพท์ถึง พ.ต.ท.จักร เพื่อแจ้งว่าขณะนี้น้องมูฮัมหมัดกำลังถูกส่งตัวไปยังตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ซึ่ง พ.ต.ท.จักร ยืนยันว่าเมื่อเด็กมาถึง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะต้องส่งเด็กเข้ารับความคุ้มครองในสถานสงเคราะห์ทันที คือ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา เนื่องจากไม่สามารถกักตัวเด็กไว้ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้

๑๖.๐๐ น. พ.ต.ท.จักร โทรศัพท์ถึง คุณศิวนุช เพื่อแจ้งความคืบหน้าและหารือว่า ผู้อำนวยการบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลาปฏิเสธการรับตัวน้องมูฮัมหมัดเข้าคุ้มครอง ซึ่งจากการวางแผนร่วมกันจึงได้ข้อสรุปว่า เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้อำนวยการบ้านพักเด็ก ฯ ว่า ท่านมีอำนาจหน้าที่คุ้มครองเด็กตามกฎหมาย หากปฏิเสธการรับตัวน้องมูฮัมหมัดเข้าคุ้มครอง ย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ และกรณีนี้จำเป็นต้องรายงานถึงคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

๑๖.๒๕ น. พ.ต.ท.จักร โทรศัพท์ถึง คุณศิวนุช เพื่อแจ้งความคืบหน้าว่า หลังจากที่เข้าเจรจาสร้างองค์ความรู้ ผู้อำนวยการบ้านพักเด็ก ฯ ได้รับตัวน้องมูฮัมหมัดเข้าคุ้มครองสวัสดิภาพตามอำนาจหน้าที่

๑๗.๓๐ น. อาจารย์เสาวนีย์ และทีมลูกศิษย์ ได้เข้าสัมภาษณ์เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงของน้องมูฮัมหมัด นายซุลกิฟลี หรือ “คุณอา” และเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา

----------------------------
แผนงานต่อไป :
----------------------------

(๑) คุณศิวนุช จัดทำความเห็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสิทธิของน้องมูฮัมหมัด กล่าวคือ (๑.๑) การคุ้มครองสิทธิในครอบครัว โดยร้องขอต่อศาลให้อาเป็นผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย (๑.๒) การคุ้มครองสิทธิในการรับรองสถานะบุคคล โดยยื่นคำขอ “บัตรเลข ๐” เพื่อขจัดความไร้รัฐ และการจัดทำเอกสารรับรองการเกิด (๑.๓) การคุ้มครองสุขภาวะของน้องมูฮัมหมัด ในกรณีที่ไม่อาจปรับตัวกับการอยู่ภายใต้ความดูแลของสถานสงเคราะห์ได้ (๑.๔) การคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กขาดไร้ซึ่งบุพการี (๑.๕) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

(๒) อาจารย์เสาวนีย์ จัดทำบันทึกปากคำของ น้องมูฮัมหมัด นายซุลกิฟลี หรือ “คุณอา” และเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา

----------------------------
หมายเหตุ :
----------------------------

พื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อระดมความคิดเห็นและความช่วยเหลือในโลกอินเตอร์เน็ต ปรากฏตามลิงค์ดังนี้

(๑) บันทึกข้อเท็จจริงเบื้องต้นของน้องมูฮัมหมัด โดย คุณมานะ งามเนตร, <https://www.facebook.com/stateless.child/posts/4886192607762> เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖

(๒) กระทู้ระดมความคิดเห็นและความช่วยเหลือ หัวข้อ “คงต้องสู้เพื่อคุ้มครองเด็กอีกแล้วนะคะ” โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, <https://www.facebook.com/archanwell/posts/10151830283646425> เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

(๓) บันทึก “อดีตกำลังจะซ้ำรอย” เด็กชายไร้รัฐ ไร้บุพการี วัย ๑๒ ปี กำลังจะถูกส่งออกนอกประเทศไทย ข้อหา “คนต่างด้าวไม่มีเอกสารแสดงตน” โดย คุณพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์,
<https://www.facebook.com/notes/puangrat-patomsirirak/อดีตกำลังจะซ้ำรอย-เด็กชายไร้รัฐ-ไร้บุพการี-วัย-12-ปี-กำลังจะถูกส่งออกนอกประเทศไท/613506812022376> เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

(๔) ภาพถ่ายใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลของน้องมูฮัมหมัด โดย อาจารย์เสาวนีย์ แก้วจุลกาญจน์, <https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151563876831338&set=a.10150622324266338.377839.504681337&type=1&theater> เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 546117เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 04:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 04:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท