มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
Mrs. Maleephan มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช Pooma

การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก


   สภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น ร.ร.บ้านปากน้ำปากพูน ที่มีนักเรียน 18 คน ครู 1 คน ผู้บริหาร 1 คน

 

               จากการศึกษาสภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมาพบว่า โรงเรียนขนาดเล็ก    ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกันใน 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนการสอน   ด้านความพร้อมทางปัจจัยของโรงเรียนและด้านการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งในแต่ละด้าน มีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

 

               1.    ปัญหาด้านการบริหารจัดการ

 

                     การจัดการศึกษาในอดีต รัฐบาลมุ่งเน้นการจัดตั้งโรงเรียนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เพื่อการขยายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนทุกคนได้เข้าเรียน  แต่ในปัจจุบันความจำเป็นดังกล่าวได้ลดลง  ประกอบกับประชากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ตอนต้น  ดังนั้นจึงทำให้มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก   ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียน  นักเรียนต่อห้องเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน  ค่าใช้จ่ายต่อนักเรียน 1 คน สูงกว่าโรงเรียนขนาดอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น พื้นที่ห่างไกล  ความเจริญ  พื้นที่บนภูเขาสูง บนเกาะ ชายขอบของประเทศ เป็นต้น ซึ่งนักเรียนในโรงเรียนลักษณะดังกล่าวมีปัญหาในการเดินทางไปเรียน ทั้งโรงเรียนยังขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์   ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการบริหารจัดการโรงเรียนซึ่งมีบริบทที่ต่างไปจากโรงเรียนขนาดอื่น ๆ  ส่งผลให้คุณภาพการจัดการศึกษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ

 

               2.    ปัญหาด้านการเรียนการสอน

 

                     ในด้านการเรียนการสอนนั้น พบว่า ครูส่วนใหญ่ขาดทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสภาพที่ครูไม่ครบชั้นและนักเรียนมีจำนวนน้อยในแต่ละชั้น ครูสอนไม่เต็มเวลา และเต็มความสามารถ เพราะมีภารกิจอื่นที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนที่ครูจำนวนหนึ่งต้องปฏิบัติ ทั้งในสังกัดเดียวกันและจากต่างสังกัด หลักสูตรและแผนการจัดการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน สื่อการเรียนการสอนและแหล่งการเรียนรู้มีจำนวนจำกัด  ซึ่งมีสาเหตุ    มาจากโรงเรียนได้รับงบประมาณน้อย ซึ่งในท้ายที่สุดก็ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำไปด้วย

 

               3.   ปัญหาด้านความพร้อมเกี่ยวกับปัจจัยสนับสนุน

 

                     ในการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนที่ผ่านมาได้ใช้เกณฑ์การจัดสรรหลาย ๆ เกณฑ์ ซึ่งขนาดโรงเรียนก็เป็นเกณฑ์หนึ่งในการจัดสรรเนื่องจากมีการคำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้นจึงทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับจัดสรรบุคลากร งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์  ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง เป็นจำนวนน้อย สภาพอาคารเก่า ชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากก่อสร้างมาเป็นเวลานาน  คอมพิวเตอร์  โทรศัพท์ยังมีไม่เพียงพอ โรงเรียนไม่สามารถระดมทรัพยากรจากผู้ปกครอง ชุมชนได้มากนัก  เนื่องจากผู้ปกครองและชุมชนดังกล่าวมีความยากจน สำหรับตัวป้อนด้านนักเรียนนั้น พบว่า  นักเรียน    ในโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน

 

               4.    ปัญหาด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

                        ที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ว่าจะมีตัวแทนของชุมชนและองค์กรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานก็ตาม แต่บทบาทของคณะกรรมการดังกล่าวยังมีไม่มากนัก และหากกล่าวถึงการประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยแล้ว เกือบจะกล่าวได้ว่ามีน้อยมาก หรือไม่มีเลย ในบางพื้นที่ ชุมชน ผู้ปกครอง มีฐานะยากจนไม่สามารถส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนและการเรียนของบุตรหลานได้เท่าที่ควร

    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว  จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางรากฐานการศึกษาใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาให้สูงขึ้น ดังนั้น มาตรการสำคัญประการหนึ่งในนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง คือ  การรวมโรงเรียนขนาดเล็กรวมทั้งเป็นการตอบสนองต่อมาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ได้ระบุสาระสำคัญ

ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

               1.    เพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของโรงเรียนขนาดเล็กด้วยมาตรการที่เหมาะสม ได้แก่ การควบรวม การปรับปรุงประสิทธิภาพ การสร้างเครือข่าย ตลอดจนสนับสนุนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยมีการจัดทำแผนที่ตั้งสถานศึกษา (school mapping) และแผนดำเนินงานแบบขั้นบันไดภายในปี 2561

               2.    จัดให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ เพื่อให้เกิดขนาดที่เหมาะสมโดยชดเชยค่าเดินทางแก่พ่อแม่ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดสรรอัตรากำลังของครูและงบประมาณที่เสริมสร้าง  การพัฒนาคุณภาพได้อย่างเต็มที่

               3.   เร่งดำเนินการให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพดีขึ้น ด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ ส่งเสริมโรงเรียนดีประจำตำบล การควบรวมและถ่ายโอนสถานศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลและให้การอุดหนุนค่ายานพาหนะ

 

               4.    ใช้ระบบงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาเป็นสิ่งจูงใจในการแก้ปัญหาโรงเรียนที่มีขนาดเล็กมาก  จนไม่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาได้ โดยให้ควบรวมเป็นโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา: นโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้, 2553.)

     โรงเรียนบ้านปากน้ำปากพูนจึงได้จัดทำโมเดลการควบรวมกับร.ร.วัดท่าแพ ใช้ชื่อว่า โมเดลปากน้ำปากพูน ซึ่งตอนนี้นักเรียนได้มาเรียนร่วมแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2556 นักเรียนดูมีความสุข เด็กๆเข้ากับเพื่อนๆได้ง่าย คุณครูครบชั้น ก็ต้องดูว่าพอปลายเทอมผลสัมฤทธิ์ของเด็กจะเป็นอย่างไร แต่ในความรู้สึกส่วนตัว เด็กๆต้องมีประสิทธิภาพในการเรียนเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 545967เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     

          ... ทำให้โรงเรียนเกิดคุณภาพมากขึ้น นะคะ ....

 

ขอบคุณบันทึกดีดี นี้ ค่ะ  

ถึงเวลาควบมันก็ต้องควบ ถึงเวลารวมก็ต้องรวม เป็นกฎเกณฑ์ ธรรมชาติ ที่เราต้องยอมรับ ว่าถึงเวลาจริงๆ มีประเด็นที่น่าสนใจตามประสาคยที่อยู่วงการเดียวกัน จากบทความนี้ ที่กล่าวอ้างทฤษฎีมากมาย และโมเดลที่สวยหรู เราคงตัดประเด็นการตามใจเจ้านายออกไป

๑. เด็กน้อย แค่ ๑๘ คน แต่ครูตั้ง ๒ คน (หนึ่งในนั้นเป็นผู้บริหารด้วย)

๒. โรงเรียนนี้ต้องมีอาคารเรียน และอื่นๆ

๓. โรงเรียนนี้ต้องมีหมู่บ้าน มีชุมชน ผู้ปกครอง

 ทำไมต้องไป (เพื่อคุณภาพ ผมตอบแล้วนะครับ)แสดงว่าเอาไม่อยู่จริงๆ และคงตั้งธงไว้แล้ว ก็ขอให้โชคดีแล้วกัน

ครับ ผมยอมรับว่าแปลกใจในเหตุและผล   ซึ่งขณะนี้มีบทเรียนให้ศึกษา ที่ลพบุรี เด็กมีความสุขมาก เด็ก ๓๓ ครู ๒ คน ไม่มีผู้บริหาร ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท