๑๕๑.การใช้ชีวิตการศึกษาและการสร้างประสบการณ์ต่อสังคม  เรียนรู้จากเวทีคนค้นคนสัญจรสู่ภาคเหนือ มช.


 

ผมเห็นมีเวทีกิจกรรมของบริษัททีวีบูรพา จัดกิจกรรมคนค้นคนอวอร์ดภาคเหนือที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลยไปร่วมในฐานะผู้สนใจทั่วไป จะกล่าวว่าเป็นผู้ชมก็กล่าวไม่ได้ถนัดนัก เพราะตั้งแต่เริ่มกรุ่นวิกฤติสังคมไทยสักประมาณปี ๒๕๔๕ พร้อมๆกับเป็นช่วงการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงานนั้น ผมหยุดดูทีวี ยกทีวีเครื่องเสียงให้คนอื่น เลิกใช้รถเปลี่ยนไปขึ้นรถเมล์รถแท๊กซี่ หยุดใช้เสื้อผ้าที่จะต้องรีด หยุดฟังวิทยุ หยุดอ่านหนังสือพิมพ์และงดติดตามสื่อและข่าวสารเกือบทุกชนิด ที่ผมเชื่อว่าถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่ใช่มุ่งเพื่อสังคมส่วนรวมมากไป และที่ไม่ได้ผ่านเข้ามาทางการทำงานและไม่ได้ผ่านมาทางผู้คนที่เจอกันบนการทำงานและการดำเนินชีวิต
เลยทำให้นานๆหลายเดือนและบางครั้งก็เป็นปี ถึงจะบังเอิญได้ดูทีวี ฟังวิทยุ และติดตามข่าวสารทางหนังสือพิมพ์บ้างสักครั้งหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้เห็นคนในสื่อแก่เฒ่า ที่เป็นเด็กก็เห็นการเติบโตอย่างเห็นหน้าเห็นหลัง และมีพัฒนาการในห้วงเวลาต่างๆแตกต่างกันได้ชัดเจนดี 
รายการคนค้นคนนั้น นอกจากบางตอนของชีวิตปู่เย็นแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรีแล้ว เมื่อนึกอย่างฉับพลันโดยยังไม่ได้ทบทวนมาก ผมก็นึกไม่ออกว่าได้ชมเรื่องราวตอนไหนของชีวิตใครอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีก แต่ก็นึกชอบแนวคิดและรูปแบบของรายการ ที่ใช้วิธีศึกษาชีวิตของคนผู้น่าสนใจ แล้วก็ให้เป็นตัวเล่าเรื่อง ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง พร้อมกับเล่าเรื่อง เชื่อมโยงไปสู่แง่มุมที่เกี่ยวข้องต่างๆ สิ่งที่รายการนำเสนอ เป็นวิธีคิดและวิธีมองโลกที่ให้ความศรัทธาต่อวิถีปฏิบัติของตนเองของมนุษย์ จากแง่มุมของคน ซึ่งมักเป็นคนที่เมื่อมองด้วยสายตาที่อิงไปกับกระแสนิยมของสังคมแล้ว ก็เหมือนกับไม่ค่อยมีตัวตนอยู่ในสังคม
พอเห็นมีรายการเวทีสัญจรสู่ท้องถิ่นภูมิภาค เลยเกิดความสนใจและเข้าไปร่วม งานเขามีทั้งวันในวันอาทิตย์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๖ ผมไปร่วมในตอนบ่าย ซึ่งเป็นการพบกับคนต้นเรื่อง และเสวนาคนบันดาลใจ ถ่ายทอดประสบการณ์ของกลุ่มคนทำสื่อ คุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แล้วก็อีกสองท่าน เป็นมือถ่ายภาพโฆษณาและอาจารย์นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติ ทำสื่อทีวีดิจิตัลทางเลือก around me กับอีกท่านหนึ่ง ก็เป็นคนทำงานสื่อ เป็นคนทำหนังสือ aday ซึ่งผมก็ชอบและซื้ออ่านเป็นระยะๆ ผู้ดำเนินรายการสองท่าน ท่านหนึ่งเป็นครีเอตีฟของรายการ และอีกท่านหนึ่งเป็นคนเดินเรื่องหรือผู้ดำเนินรายการคนค้นคน ทั้งหมดเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือ มอ.การเสวนาเริ่มจากบ่ายโมงครึ่งกระทั่งถึงบ่าย ๓ โมงครึ่ง แต่เสวนาได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียวและอยากจะนำมาศึกษาถ่ายทอดไว้ในบางแง่มุม
 
    
 
 
 
กลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงการเสวนาในหอประชุมนั้น ดูจากความจุของห้องประชุมซึ่งน่าจะจุได้กว่า ๓-๔ พันคน ก็เต็มห้องประชุม กลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนและนักศึกษา ด้านนอกห้องประชุม จัดนิทรรศการและกิจกรรมการมีส่วนร่วม ที่รวบรวมโครงการเชิงสังคมจากแหล่งต่างๆของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่ได้รับรางวัลคนค้นคนอวอร์ด มาจัดแสดงเผยแพร่ ออกบู๊ต นำเสนอผลิตภัณฑ์และรูปแบบการพัฒนาในแนวทางเลือก ทั้งทางด้านสุขภาพ การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ องค์กรชุมชน เศรษฐกิจและสัวสดิภาพชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาวะชุมชนในความหมายใหม่ๆ การจัดการทรัพยากร พลังงาน ธรรมชาติ แม่น้ำคูคลอง และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาเด็กที่ขาดโอกาสในสังคมเมือง ชนบท และชนเผ่าบนพื้นที่สูง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากให้การสนับสนุนสถานที่แล้ว ก็ร่วมเป็นเจ้าภาพดำเนินการ
เรื่องราวของคนต้นเรื่อง มีความทวนกระแสนิยมสังคมอยู่ในตนเอง เพราะมักเข้าถึงสิ่งที่อยู่นอกกระแสความสนใจและอยู่นอกอิทธิพลของโครงสร้างหลักทางสังคม เรื่องราวและเนื้อหาเชิงสารคดีที่เกิดจากการเข้าถึงและสร้างขึ้นจากคนต้นเรื่อง จึงทำให้รายการคนค้นคนในฐานะสื่อมีความเป็นปากเสียงและร่วมสร้างพลังการชี้นำสังคม ที่มาจากเสียงของคนส่วนน้อย คนส่วนน้อยที่โดยทั่วไปก็มักมีภาพการรับรู้ของสังคมจากสื่อต่างๆในด้านที่คนส่วนน้อยเป็นคนชายขอบ เป็นกลุ่มเสียเปรียบ หากมีโอกาสเข้าถึงสื่อ ก็มักเป็นด้านการขยายเสียงเรียกร้องให้คนที่เสียเปรียบได้มีส่วนร่วมในการได้รับโอกาสจากการพัฒนาต่างๆ อย่างเท่าเทียม เสมอภาค มีความยุติธรรม อยู่ในจุดที่ต้องไปให้ถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าถึงได้ 

 

 

แต่ความเป็นคนส่วนน้อยและคนตัวเล็กๆในสังคม ที่ชวนมองและนำเสนอผ่านความเป็นคนต้นเรื่องต่างๆในรายการคนค้นคนนั้น กลับก้าวข้ามและผ่านเลยแง่มุมการสร้างภาพให้มีความเป็นกลุ่มสังคมที่เสียเปรียบและต้องช่วยเรียกร้องให้ได้รับการดูแลจากสังคมมากกว่าจะอยู่ในฐานะเป็นผู้ให้ ไปสู่การนำเสนอแง่มุมที่เต็มไปด้วยพลังชีวิตที่ให้แรงบันดาลใจต่อผู้ชม เห็นการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมดีที่สะท้อนอยู่ในวิธีคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนที่สังคมทั่วไปมองข้าม อีกทั้งเมื่อมองจากความเป็นที่นิยม ที่สามารถนำเอาเรื่องราวทางสังคม ที่ไม่ใช่ข่าวร้ายหรือทำงานขายข่าวแบบเกาะกระแสเหตุการณ์ รวมทั้งเรื่องราวนอกความสนใจ มาทำให้เกิดความน่าสนใจ ประกบกับรายการแบบอยู่ในกระแสนิยมในช่วงเวลาไพรไทม์ของสื่อได้ ก็นับว่ามีความเป็นสื่อเชิงปฏิรูปทั้งวิธีคิดและวิธีทำงานสื่ออีกด้วย
รูปแบบการเดินเรื่องก็น่าสนใจมาก เพราะเป็นรูปแบบการเล่าเรื่อง ดำเนินไปบนเรื่องราวของคนต้นเรื่องที่เป็นกรณีศึกษาวิจัยข้อมูลกรณีเล็กๆ แต่นำมาเจียรนัยและชวนสัมผัสกับแง่มุมที่ยิ่งใหญ่จากความทรงคุณค่าและมีความหมายต่อการเกิดทางเลือกที่สร้างสรรค์อันหลากหลายของสังคม เป็นรูปแบบที่ทำให้เห็นพระเอกและความเป็นผู้นำในมิติใหม่ๆของพลเมืองในสังคมที่หลากหลายอยู่ในคนทุกคน ให้วิธีคิด วิธีมองโลก วิธีมองสังคม ด้วยสายตาที่เปิดออกสู่การมองคนบนการดำเนินชีวิตและทำสิ่งต่างๆที่ดี มีความหมาย 
รูปแบบของการจัดงาน จึงมีความน่าสนใจมาก เพราะสร้างวาระสังคมขึ้นมาให้อิงไปกับความมีบริบทจำเพาะได้ โดยเชื่อมโยงออกมาจากงานสื่อเล่าเรื่องบันดาลใจในชีวิตคนต้นเรื่อง สร้างวงจรการสื่อสารและการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคม ผ่านการจัดการโดยภาคสื่อสารมวลชน ที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันวิชาการ และภาคสังคมกลุ่มต่างๆ ๓ วงจร นับตั้งแต่การไปเสาะหาแหล่งของจริงจากคนต้นเรื่อง มาทำเป็นเนื้อหาเรื่องราวการเล่าเรื่องของสื่อเชิงสารคดี จากนั้น จังหวะที่ ๒ ก็เผยแพร่ผ่านรายการในรูปของสื่อวัฒนธรรมมวลชน (Mass Culture) และจังหวะที่ ๓ ก็เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคมผ่านโครงการจัดเวทีดังเช่นครั้งนี้ ทำให้ข้อจำกัดของสื่อโดยทั่วไป ได้รับการปิดช่องว่างและก่อให้เกิดมิติใหม่ๆ ที่ริเริ่มขึ้นมาโดยสื่อในแนวทางเลือกอย่างนี้ 
โดยทั่วไปแล้ว สื่อต่างๆมักมีข้อจำกัด นับแต่มักจะถูกแรงกดดันทางเศรษฐกิจสังคม ให้ต้องนำเสนอเรื่องที่จะขายได้อยู่ในตนเอง การที่จะทำเรื่องไม่น่าสนใจและไม่อยู่ในกระแสสังคม ให้เกิดความน่าสนใจและมีพลังต่อการชี้นำทางสังคมขึ้นมาบ้าง เป็นเรื่องที่คิดได้แต่ทำให้อยู่ในสังคมและโลกความเป็นจริงได้ยาก 
ขณะเดียวกัน เมื่อสื่อและเผยแพร่ออกไปแล้ว สื่อก็จะสร้างกระแสและชี้นำสังคมให้ไหลไปในทางเดียว หรือเป็น One way Communication เสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้ชมที่เกิดความนิยมเรื่องราวใดๆจากสื่อก็มักจะถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาให้กลายเป็นผู้บริโภคแบบตั้งรับและอ่อนแอลงไป หรือเป็น Passived Audience แบบมวลชน นำไปสู่วัฒนธรรมการบริโภคอีกหลายอย่างตามมาแบบมวลชน ไม่มีกำลังที่จะคิดและเป็นตัวของตัวเองในเรื่องต่างๆที่สื่อสร้างขึ้นเป็นวาระทางสังคม แต่การจัดเวทีสัญจรและมีวิธีเข้าถึงกลุ่มและเครือข่าย ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกับเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยวิธีการต่างๆต่อไปอีก ก็กลับเป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดวงจรที่ ๓ อีกทั้งแทนที่จะเป็นวงจรสร้าง ๒ Ways Communication ให้เกิดขึ้น แก้ข้อจำกัดของสื่อมวลชนทั่วไปได้มิติเดียว ก็กลับเป็นการสร้างการสื่อสารสองทางไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นการสร้างคลื่นระลอกต่อไป เชื่อมโยงสิ่งดีให้มีพลังต่อการสร้างคนและเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง กระเพื่อมออกไปเป็นระลอกๆ 
วิทยากรและผู้ดำเนินรายการทั้งหมด ล้วนเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือ มอ.ร่วมการเสวนากันในหัวข้อ 'ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ' ซึ่งเป็นคำกล่าวของท่านพุทธทาส กล่าวไว้นานมากแล้วสักเมื่อต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ แต่ผมเองนั้น กลับได้เห็นบรรยากาศของการเสวนาเรื่องเกี่ยวกับการศึกษากับบทบาทของจิตวิญญาณความเป็นมหาวิทยาลัย ในการสร้างคนและสร้างสังคม 
ปรกติแล้วเรามักเห็นการเสวนาอภิปรายทางวิชาการที่เกี่ยวกับการศึกษาและมิติอื่นๆของสังคม ที่น่าเบื่อ ห่างไกลจากสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตผู้คน ทำให้เรื่องส่วนรวมที่เป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งนอกจากจะสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันทั้งเพื่อตนเองและคนรอบข้างได้ กลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มและเฉพาะด้าน ไม่น่าสนใจ แต่กลุ่มวิทยากร รวมทั้งผู้ดำเนินรายการ ๒ ท่าน ที่นอกจากดำเนินรายการอย่างดีเยี่ยมแล้วก็ร่วมสนทนาแบ่งปันกันไปด้วยในครั้งนี้ เน้นย้ำให้ผมเห็นได้อีกว่าเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษานั้น นำมาคุยและอภิปรายให้สนุกจากมุมมองของผู้ที่อยู่ในสาขาต่างๆ ทำให้เป็นวาระทางสังคมและมีความเชื่อมโยงที่น่าสนใจสู่เรื่องราวต่างๆแทบจะทุกมิติชีวิต ได้เป็นอย่างดีมาก 
ผู้ร่วมเสวนาและผู้ดำเนินรายการ เพียงใช้ความสำเร็จปลายทางและสถานะทางสังคม อันเป็นที่ยอมรับในความเป็นคนต้นเรื่องในเรื่องที่จะนำมาเสวนา พอเป็นสิ่งบ่งชี้ให้ผู้ฟังได้เข้าถึงประเด็นร่วมของสิ่งที่เสวนา แต่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของสิ่งที่จะชวนผู้ฟังเข้าถึง ไม่ได้พูดถึงความสำเร็จ หรือมุ่งนำเสนอตัวแบบความสำเร็จ แต่นำเสนอตัวอย่างประสบการณ์เพียงเป็นกรณีศึกษา นำเข้าสู่การถกอภิปรายหาวิธีคิดและได้ความบันดาลใจที่มีความเป็นนามธรรมสูง ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ความเชื่อมั่นในตน มีความเป็นตัวของตัวเอง
สิ่งที่ได้เสวนาและชวนให้เข้าถึง ซึ่งก็สอดคล้องกับความที่เวทีมีกลุ่มนักเรียนนักศึกษา มารับฟังอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ก็คือ การมองย้อนกลับไปสู่เรื่องราวและความเป็นมา ก่อนที่จะมาเป็นตัวเขา และได้ทำสิ่งต่างๆในสังคมในทุกวันนี้ เป็นการย้อนกลับไปพิจารณากระบวนการชีวิตและที่มาแห่งความสำเร็จ ทุกคนคุยเรื่องราวชีวิต และชวนผู้ชมกับผู้ฟังเดินสำรวจแง่มุมต่างๆทั้งด้านความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง ได้อย่างสนุก มีชีวิตชีวา ให้ความลึกซึ้ง ให้แนวคิด มีการผุดประเด็นและชวนตั้งคำถามที่สำคัญๆต่อสังคมที่แหลมคมและเห็นโอกาสริเริ่มสิ่งต่างๆดีๆ ปรากฏอยู่เป็นระยะๆตลอดการเสวนา 
รูปแบบเหมือนการเสวนากันของคนทำสื่อ แต่สาระการคุย กลับไม่เพียงเป็นแง่มุมความเฉพาะด้านของคนในวงการสื่อ  แต่มีความสะท้อนให้เห็นถึงมิติการจัดการศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้ที่แท้ และพลังของสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน ที่มีบทบาทต่อการสร้างคนและกล่อมเกลาจิตวิญญาณของความเป็นผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งต่อมา หลังจากผ่านการศึกษาในระดับต่างๆแล้ว ก็กลับมีอิทธิพลต่อการทำให้เป็นผู้ที่ได้ทำสิ่งดีๆหลายอย่างให้เกิดขึ้นในสังคมตามโอกาสที่ตัวมีและสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน สาระของสิ่งที่คุย ก็มีความเป็นการให้ข้อมูลและให้การแนะแนว ต่อการตัดสินใจและเลือกสรรสิ่งต่างๆเข้าสู่ประสบการณ์ชีวิต ให้วิธีคิดและการก้าวเดินไปข้างหน้าบนชีวิตการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเด็กๆน่าจะได้ทั้งความบันดาลใจและมีข้อมูลสำหรับการวางแผนชีวิตตนเองในอนาคตได้ดียิ่งๆขึ้น นับว่าเป็นการสัมมนาและประชุมวิชาการทางด้านการศึกษาและการพัฒนาสังคมแบบไม่เป็นทางการ แต่มีพลังและมีความน่าสนใจมาก
ผู้ร่วมเสวนาทุกคน มีพื้นฐานชีวิตที่น่าจะจัดว่าเป็นกลุ่มคนที่ไร้โอกาสในหลายด้าน มีขีดจำกัดและขาดแคลนหลายสิ่งที่คนอื่นมีในชีวิต ซึ่งเมื่อเทียบกับภาพโดยทั่วไปแล้ว ในวัยการศึกษา โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ก็เหมือนกับมีจุดเริ่มต้นด้านต้นทุนชีวิตที่เป็นปัจจัยภายนอก ต่ำกว่าคนอีกเป็นจำนวนมากในสังคม แต่ต้นทุนชีวิตด้านในซึ่งมองด้วยกรอบที่เป็นทางการทั่วๆไปไม่ค่อยเห็นนั้น รวมทั้งสิ่งที่ได้รับจากการใช้ชีวิตการศึกษา ประสบการณ์ทางสังคมผ่านกลุ่มเพื่อน กิจกรรมนักศึกษา การขวนขวายศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง เหล่านี้ ก็ได้ทำให้ได้ทักษะชีวิต ส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตของการเป็นผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ มีวิธีคิด มีวิธีมอง และมีพลังการริเริ่มสิ่งต่างๆอย่างเชื่อมั่นในตนเอง กระทั่งมาทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นความสำเร็จดังที่คนทั่วไปเห็นในปัจจุบัน 
เวทีการเสวนาของรายการคนค้นคนอวอร์ดสัญจรครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งว่า การศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ การให้ประสบการณ์ทางสังคม และการสร้างทักษะชีวิต มีพลังชีวิต ได้ความเป็นตัวของตัวเอง สามารถทำให้ปัจเจกคนตัวเล็กๆ รวมทั้งการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนปฏิบัติ กลุ่มเพื่อน กลุ่มสนใจ และหน่วยจัดการตนเองหน่วยเล็กๆบนประเด็นความสนใจแบบต่างๆ มีพลังความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถคิดริเริ่ม และทำสิ่งต่างๆ ตามศักยภาพและเงื่อนไขชีวิตของตน ที่ให้ความบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์สังคมเพื่อการอยู่ร่วมกัน เหล่านี้นั้น มีกระบวนการก่อเกิด ที่เราจะสามารถเรียนรู้จากชีวิตของคนเล็กคนน้อยได้อย่างไร และวิถีปฏิบัติของคนตัวเล็กๆธรรมดาๆทั่วไปทุกคน จะมีส่วนร่วมต่อการสร้างสุขภาวะสังคม โดยส่งผลดีทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม ได้อย่างไรบ้าง.

 

หมายเลขบันทึก: 544767เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบทีมงานของรายการนี้มากค่ะ เขาสามารถนำชีวิตของคนในรูปแบบต่างๆมานำเสนอในแบบที่ให้คุณค่ากับความเป็นคนของทุกๆชีวิตที่นำเสนอ ดีใจที่พวกเขาสามารถยืนหยัดทำรายการที่สวนกระแสสื่อต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีนะคะ ทำให้เราเกิดศรัทธาว่าคนดีๆในสังคมยังมีอีกมาก เราต้องช่วยกันทำดี ส่งเสริมให้กำลังใจคนทำดี ไม่ว่าพวกเขาจะทำหน้าที่อะไรในโลกนี้ ทุกครั้งที่มีการมอบรางวัลนี้ในแต่ละปี ดูแล้วได้ตื้นตัน อิ่มเอิมใจ ทีมงานเองก็ดูมีความสุขกับการที่ได้ทำงานตามอุดมคติของเขานะคะ 

สวัสดีครับ ดร.โอ๋-อโณครับ
ชื่นชมทีมงานของเขาด้วยครับ ทีมวิทยากรที่มาจากรายการ around me และนิตยสาร aday ก็มีแนวทางในการทำงานเชิงสังคมที่น่าชื่นชมมากเช่นกันครับ เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าริเริ่ม และมีความมุ่งมั่นศรัทธาทำสิ่งที่ตนเองเห็นความสำคัญ ทำให้สังคมมีสิ่งใหม่ๆเพิ่มพูนความหลากหลายให้กับสังคมได้ดียิ่งๆขึ้น   

ยินดีกับการเปิดเวทีให้ผู้มีโอกาสน้อยด้วยนะคะท่านอ.

หากสังคมได้เปิดโอกาสให้คนด้อยโอกาสได้แสดงศักยภาพแม้เป็นเพียงจิ๊กซอชิ้นเล็กๆก็ตาม

แต่เชื่อมั่นว่ามันช่วยให้จิ๊กซออีกนับร้อยพันกลายเป็นภาพแห่งความเป็นจริงที่งดงามสมบรูณ์แบบขึ้นมาได้

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ krutoiting ครับ
การค้นหา เข้าไปเรียนรู้ เจียรนัย แล้วก็นำมานำเสนอเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในวงกว้าง ทางสื่อโทรทัศน์ แล้วก็มีวงจรหลายอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างนี้นี่ ให้วิธีคิดได้ดีมากเหมือนกันนะครับว่า สื่อกับการสื่อสารสิ่งดี หากทำดีๆพิถีพิถัน ก็สามารถสู้กับสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า สื่อที่คนจะสนใจจะต้องเป็นแต่เรื่องร้ายๆ ได้เหมือนกัน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท