Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คนทำงานและระเบียบวิธีวิจัยในงานวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย - ไม่ใช่งานวิจัยเอกสารเป็นหลัก ใช้เรื่องจริงเป็นหลัก


--------------------------

รายงานผลการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

: คนทำงานและระเบียบวิธีวิจัย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151812006768834 

http://www.gotoknow.org/posts/544628

--------------------------

นอกจากนั้น ในบทนำของรายงานวิจัยนี้ ก็ควรจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้อ่านในส่วนที่เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้

(๑)  คนทำงานวิจัย

คนทำงานวิจัยประกอบด้วย (๑) ผู้เขียน (๒) ลูกศิษย์ที่มาทำงานวิชาการด้านการจัดการประชากรกับผู้เขียน (๓) คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เป็นเจ้าของปัญหา ซึ่งในวันนี้ พวกเขาหลายคนหลุดพ้นจากปัญหาไปแล้ว แต่ก็ยังร่วมงานกันต่อไป (๔) ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมงานในลักษณะต่างๆ (๕) ภาคราชการที่เข้ามาร่วมงานในลักษณะต่างๆ และ (๖) ภาคองค์กรอิสระที่เข้ามาร่วมงานในลักษณะต่างๆ

(๒)  วิธีวิทยาที่ใช้ในการวิจัย

งานวิจัยของผู้เขียนเป็นงานวิจัยด้านนิติศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเด่น ก็คือ เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนา (Research for Development) หรือเป็นงานพัฒนาเพื่อวิจัย (Development for Research) งานวิจัยจึงมีลักษณะของการทำงานกับเรื่องจริง และนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งมีความหมายให้ชัดเจน ก็คือ การแก้ไขปัญหาไม่เกิดเพียงแก่มนุษย์คนหนึ่งซึ่งประสบปัญหาความไม่มั่นคงของมนุษย์ แต่ควรจะต้องแก้ไขปัญหาให้แก่มนุษย์คนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน

งานในลักษณะนี้ถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “งานวิศวกรรมทางสังคม” ซึ่งมีความหมายว่า นิติศาสตร์ ก็คือ วิศวกรรมศาสตร์ทางสังคมนั่นเอง

เราเชื่อในการใช้เรื่องจริงในสังคมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหา เจ้าของปัญหาและนักวิจัยต่างก็ร่วมกันศึกษาปัญหาที่ประสงค์จะแก้ไข เป้าหมายของการทำงานในขั้นตอนนี้ ก็คือ การแสวงหาความรู้ด้านข้อเท็จจริงเพื่อทราบถึง “สาเหตุและอาการของปัญหา” ทั้งนี้ เพื่อที่การจัดการปัญหาจะได้เป็นไปในทุกจุดที่เกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ และรอบด้าน มีเรื่องที่ต้องตระหนักอย่างละเลยไม่ได้ ก็คือ ทุกองค์ความรู้ที่เจ้าของปัญหาและนักวิจัยได้เรียนรู้ สังคมโดยรวมจะต้องได้เรียนรู้ด้วย ทั้งนี้ เพราะการรับรู้ของสังคม (Social Awareness) ก็คือ การสร้างแรงกดดันของสังคม (Social Pressure) ในการสร้างความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice)

(๓)  กระบวนการวิจัย

ตามที่ได้เสนอในโครงการวิจัยฯ[1] ผู้วิจัยเสนอที่จะดำเนินการทั้งหมด ๙ ขั้นตอน กล่าวคือ (๑.) งานติดต่อประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์การระหว่างประเทศที่ยอมรับเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ (๒.) งานสำรวจกฎหมาย แนวนโยบาย และวิธีปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้อง (๓.) งานสำรวจชุมชนในประเทศไทยที่มีคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐ (๔.) งานเตรียมเอกสารประกอบการเสวนา (๕.) งานเขียนรายงานสรุปผลการศึกษาที่ใช้ในการนำเสวนา (๖.) งานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติในการจัดการ (๗.) งานเขียนรายงานสรุปผลการศึกษาที่ได้รับจากการเสวนา (๘.) งานเสวนาเพื่อเสนอองค์ความรู้ในการจัดการ และ (๙.) งานเสนอรายงานการสรุปผลการศึกษาต่อสาธารณชน และเราอาจจำแนกงานใน ๙ ขั้นตอนนี้ออกเป็น ๓ ธรรมชาติ กล่าวคือ (๑) งานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหา (๒) การจัดการองค์ความรู้เพื่อจัดการปัญหา และ (๓) งานถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาสู่สังคม

(๔)  กิจกรรมการวิจัย

กิจกรรมของงานวิจัยมีดังนี้ (๑) การสร้างประชาคมวิจัย (๒) การสำรวจกฎหมายและนโยบาย (๓) การลงพื้นที่เพื่อสำรวจชุมชนที่มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (๔) การสร้างสูตรสำเร็จในการทำงาน (๕) การสร้างห้องทดลองทางสังคม (๖) การบันทึกเพื่อถอดบทเรียนในการใช้สูตรสำเร็จ

(๕)  เค้าโครงรายงานผลการวิจัย

รายงานผลการวิจัยมีอยู่ ๙ บท อันได้แก่ (๑) บทนำ (๒) องค์ความรู้และวิธีการในการสืบค้นหาปัญหาความไร้สัญชาติและความไร้รัฐของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย (๓) แนวคิดในการจำแนกรูปแบบของปัญหาความไร้สัญชาติและความไร้รัฐของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย (๔) พันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในเรื่องการจัดการปัญหาคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย (๕) กฎหมายไทยในเรื่องการจัดการปัญหาคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย (๖) องค์กรภาครัฐของประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่จัดการปัญหาคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย (๗) อุปสรรคที่ปรากฏในกระบวนการจัดการปัญหาคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย (๘) ความเป็นไปได้ของกระบวนการขจัดปัญหาการไร้รัฐแก่คนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย และ (๙) บทสรุปและข้อเสนอแนะ

(๖)  ระยะเวลาของการทำงานวิจัย

โครงการวิจัยนี้ได้รับการอนุมัติตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวิจัยและบริการทางวิชาการ ครั้งที่ ๙/๒๕๔๕ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕ และก็ยังดำเนินการวิจัยอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลาเกือบ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว



[1] โปรดดูรายชื่อของบุคคลที่เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ ในภาคผนวกที่ ๑


หมายเลขบันทึก: 544628เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2013 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท