การบูรณาการการเรียนรู้แบบเรียนรวม


สาระที่ 12  การบูรณาการการเรียนรู้แบบเรียนรวม

      การเรียนรวมหรือการเรียนร่วม เป็นการจัดการศึกษาให้เด็กพิเศษ ซึ่งหมายถึง เด็กที่มีปัญญาเลิศ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูด เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์และพฤติกรรม เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปตามความสามารถและความต้องการพิเศษของแต่ละบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ได้เรียนรู้และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีความเท่าเทียมกันตามสิทธิมนุษยชน

      สำหรับรูปแบบของการจัดการเรียนแบบเรียนร่วมนั้นมีหลากหลายรูปแบบตัวอย่างเช่น

       - การเรียนร่วมอย่างสมบูรณ์ โดยเด็กพิเศษจะได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนปกติ

       - การเรียนร่วมบางเวลา เด็กพิเศษจะเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในบางรายวิชาและได้รับบริการพิเศษจากครูหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา

       - การเรียนร่วมทางสังคม เป็นการให้เด็กพิเศษเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกับเด็กปกติ เช่น กิจกรรมนันทนาการ งานสังสรรค์ของโรงเรียน งานแนะแนวการศึกษา แต่จะเรียนในชั้นพิเศษเฉพาะ

       หรืออาจจะมีการร่วมเรียนร่วมรู้โดยการจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มขึ้นมาตัวอย่างเช่น

       - เพื่อนสอนเพื่อน ส่วนใหญ่จะเป็นการทบทวนในเนื้อหาที่เรียนไปแล้วซึ่งเด็กบางคนอาจเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอนก็จะได้เพื่อนช่วยชี้แนะอีกทางหนึ่ง

       - โครงงานกลุ่ม เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานภาษาไทย โดยครูต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและดำเนินงานตามขั้นตอน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลานักเรียนจะต้องนำเสนอโครงงานที่ทำ อาจจะใช้เวลาในการทำงานมากกว่ากิจกรรมอื่น

       - การต่อชิ้นส่วน เป็นการมอบหมายให้ผู้เรียนมีบทบาทเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จก็นำงานแต่ละส่วนมารวมกันเป็นงานชิ้นใหญ่ที่เป็นระเบียบและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน

       - ผลสัมฤทธิ์ของทีมงาน โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มประมาณ 4 คน  ให้ผู้เรียนทุกคนร่วมกันอ่านเนื้อหาวิชาในส่วนที่ได้รับมอบหมาย ถ้าเพื่อนในกลุ่มคนใดไม่เข้าใจ เพื่อนที่เหลือในกลุ่มต้องช่วยกันอธิบายจนกว่าจะเข้าใจในเนื้อหาได้ครบทุกคน เมื่อเข้าใจหมดทุกคนแล้วจะมีการสอบเป็นรายบุคคล คะแนนของทุกคนจะถูกนำมาเฉลี่ยเป็นคะแนนกลุ่ม หากกลุ่มใดคะแนนต่ำ สมาชิกในกลุ่มต้องกลับไปเรียนรู้ใหม่จนกว่าจะสอบได้คะแนนตามเกณฑ์

       การเรียนร่วมทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีสำหรับการเรียนรวมคือ 1.ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น 2.เพิ่มการยอมรับนับถือในตนเองว่าตนเองมีคุณค่า ความสามารถ 3.เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา 4. เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม 5.ส่งเสริมทักษะในการผูกมิตรและการยอมรับจากเพื่อน 6.ลดการแข่งขันและการเอาเปรียบผู้อื่น ส่วนข้อเสียสำหรับการเรียนร่วมคือ 1.อาจเสียความเป็นระเบียบในชั้นเรียน 2.เด็กเรียนเก่งอาจจะรู้สึกว่าเสียเวลา แต่ครูควรชี้แจงให้เด็กเก่งเข้าใจและรู้จักการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม

       เราควรมีการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้การเรียนร่วมประสบผลสำเร็จ เพื่อเอื้ออำนวยต่อลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก โดยปรับสภาพแวดล้อมใน 3 ด้านคือ ด้านกลยุทธ์การเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล และด้านการจัดการกับพฤติกรรมเด็ก

บรรณานุกรม

ประกฤติ พูลพิพัฒน์. (2546). การเรียนร่วมชั้นของเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

ผดุง อารยะวิญญู. (2542). การเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ. กรุงเทพฯ : 

สำนักพิมพ์  แว่นแก้ว.


คำสำคัญ (Tags): #การเรียนร่วม
หมายเลขบันทึก: 544602เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท