การบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้


สาระที่ 11  การบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้

       การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นการเรียนรู้ในลักษณะองค์รวม จัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบหรือวิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มีการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยประเมินจากการปฏิบัติและประเมินตามสภาพจริง

      การเรียนรู้แบบบูรณาการจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งต่างๆชัดเจน เมื่อความรู้และความคิดย่อยๆประสานและเชื่อมโยงกันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าทุกสิ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาจัดระบบระเบียบใหม่ให้เหมาะสมกับตน เกิดเป็นองค์รวมของความรู้ของตนเอง ซึ่งในการสอนต้องให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเชื่อมโยงด้านความคิดในเนื้อหา ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองโดยนำความรู้จากหลากหลายสาขาวิชามาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ

      การบูรณาการเชิงเนื้อหาสาระเป็นการผสมผสานเนื้อหาสาระหรือองค์ความรู้ในลักษณะของการหลอมรวมกันแล้วตั้งเป็นหัวข้อเรื่องขึ้นมาโดยเนื้อหาสาระที่นำมารวมกันนั้นจะมีลักษณะคล้ายกัน สัมพันธ์กัน ต่อเนื่องกัน แล้วเชื่อมโยงกันให้เป็นเรื่องเดียว

      การบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นการจัดกิจกรรมการสอนแบบเชื่อมโยงภายในกลุ่มสาระ  การเรียนรู้เดียวกัน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงแนวคิด ทักษะและความคิดรวบยอดของเนื้อหาสาระในกลุ่มสาระการเรียนรู้ มักใช้กันมากในการจัดการเรียนการสอนด้านภาษารวมถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับการรู้หนังสือหรือการอ่านออกเขียนได้ เป็นกระบวนการพัฒนาความคิดจากการเชื่อมโยงระหว่างการฟัง การดู การพูด การอ่านและการเขียนในรูปแบบต่างๆที่หลากหลาย การเรียนการสอนในรูปแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือโลกรอบตัวได้ เช่น มีความรู้ในเรื่องของหลักภาษาและการใช้ภาษา ตลอดจนการใช้ได้ถูกต้องชัดเจนขึ้น เมื่อผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนแล้ว จะได้ผลมากขึ้นเมื่อถึงขั้นที่ผู้เรียนต้องสร้างตำราขึ้นด้วยตนเอง อ่านและประยุกต์สู่การเขียนด้วยตนเอง ตัวอย่างการบูรณาการในวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น นำสาระย่อยเรื่องสสาร แรง พลังงาน เซลล์ไฟฟ้า และวงจรไฟฟ้า เป็นต้น มาบูรณาการสอนในหัวเรื่อง " กังหันมหัศจรรย์ " การเรียนแบบบูรณาการนี้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเรียนที่แยกเป็นส่วนๆ ขาดการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ในการเรียนการสอนแบบบูรณาการนั้นครูและนักเรียนต้องช่วยกันกำหนดหัวข้อเรื่องที่จะเรียน ช่วยกันเลือกหนังสืออ่าน ซึ่งการเลือกหนังสือนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะทำให้เกิดแนวคิดในการวางแผนการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บรรณานุกรม

สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์. (2546). การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ. กรุงเทพฯ : บุ๊ค พอยท์.

Lab Schooks Project อนุบาลบางคนที. สืบค้นเมื่อวันที่  4 สิงหาคม  2556. จาก                   

        http://anubanbangkontee.sskedarea.net/page8.html


คำสำคัญ (Tags): #การบูรณาการ
หมายเลขบันทึก: 544601เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท