สาระที่ 11 การบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้


ความสำคัญของการเรียนรู้แบบบูรณาการ

-  เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพจริงตามธรรมชาติ เพราะสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติทั้งชีวิต
และสิ่งแวดล้อมล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หรือเชื่อมโยงอาศัยซึ่งกันและกัน มิได้เป็นไปอย่างโดดเดี่ยว
ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น ดังคำกล่าวที่ว่า " เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว "

-  ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ลักษณะรอบรู้ มีความรู้หลายด้านเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ความรู้ ประสบการณ์ไม่คับแคบ

-  ความรู้ที่ได้รับมีความหมายต่อชีวิตและสะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง เพราะได้เรียนรู้สิ่งที่สอดคล้อง
กับสภาพจริง ได้เรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม มีความรอบรู้เรื่องนั้นๆ ซึ่งเมื่อจะใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตจริงจะต้องใช้
ความรอบรู้ ความรู้ที่ได้เรียนอย่างบูรณาการกับสิ่งที่ต้องการใช้ในชีวิตจริงจึงสอดคล้องกัน สะดวกต่อการใช้งาน

-  สามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ประหยัดเวลาการเรียนรู้ และช่วยลดภาระการสอนได้

-  ส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ และช่วยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ประเภทของการบูรณาการ

  • แบ่งโดยพิจารณาจากการเชื่อมโยงจุดประสงค์ หรือมาตรฐานการเรียนรู้ หรือสาระการเรียนรู้ดังนี้
    1. บูรณาการแบบสอดแทรก เป็นลักษณะการสอนปกติทั่วไปที่บางช่วงได้นำเนื้อหาสาระอื่นมาสอดแทรก
    เช่นการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม เรื่องความซื่อสัตย์ในขณะสอนเรื่องกติกาการเล่นฟุตบอล โดยการเตรียม
    การสอน ผู้สอนมิได้ดำเนินการละเอียดถึงขั้นวิเคราะห์หลักสูตร แต่พิจารณาว่าเรื่องใดพอใจที่จะแทรกเชื่อมโยงกันได้
    และนักเรียนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นก็จัดสอดแทรก 

    2. บูรณาการภายในวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน เป็นการนำจุดประสงค์ หรือมาตรฐานการเรียนรู้
    และหรือสาระการเรียนรู้ หัวเรื่องหรือประเด็นสาระต่างๆ ที่มีในวิชานั้นๆ มาบูรณาการกัน โดยผู้สอนมีการดำเนิน
    การวิเคราะห์กำหนดรายละเอียดการบูรณาการชัดเจน เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์นำสาระย่อยเรื่องสสาร แรง พลังงาน
    เซลล์ไฟฟ้า และวงจรไฟฟ้า เป็นต้น มาบูรณาการสอนในหัวเรื่อง " กังหันมหัศจรรย์ " หรือวิชาภาษาไทย นำทักษะ
    การฟัง พูด อ่าน เขียน มาบูรณาการสอนในหัวเรื่อง " บ้านแสนสุข " เป็นต้น

    3. บูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือสหวิทยาการ เป็นการนำจุดประสงค์หรือมาตรฐานการเรียนรู้
    และหรือสาระการเรียนรู้ต่างๆ ตั้งแต่ 2 วิชา หรือกลุ่มสาระ มาบูรณาการกัน โดยผู้สอนมีการดำเนินการวิเคราะห์ 
    กำหนดรายละเอียดการบูรณาการของแต่ละวิชาอย่างชัดเจน

    4. บูรณาการกับวิถีชีวิต เป็นการกำหนดหัวเรื่อง เนื้อหาสาระและวิธีการเรียนรู้หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ยึด
    หรือให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นหลักก่อน แล้วจึงวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่เกิด เทียบโยง
    กับมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหรือสาระที่หลักสูตรกำหนด ตัวอย่างเช่น 
    ครูร่วมกับนักเรียน ร่วมกันกำหนดจุดประสงค์ สาระและกิจกรรมการเรียนรู้หรือกำหนด
    แผนการเรียนรู้ที่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น หัวเรื่อง " คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาชุมชน " 
    ซึ่งเป็นเรื่องราวการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตในชุมชน เป็นต้น แล้วดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้
    ที่กำหนดนั้นจนเสร็จสิ้น โดยครูมีบทบาทในการวิเคราะห์ผลการเรียนที่เกิดขึ้นนั้นว่าบรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง 
    หรือมาตรฐานการเรียนรู้ใดที่หลักสูตรกำหนดไว้บ้างเพื่อใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรต่อไป
  • แบ่งโดยพิจารณาจากกิจกรรมการเรียนการสอนดังนี้
    1.บูรณาการลักษณะสอดแทรกกิจกรรมต่างๆ โดยครูสอนวิชาใดวิชาหนึ่งตามปกติแล้วสอดแทรกกิจกรรม
    หรือเชื่อมโยงสาระวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการสอนนั้นๆ มาร่วมสอน เช่น ขณะสอนห้องเรียนขาดความสงบ
    ครูก็ชวนให้นักเรียนนั่งสมาธิ และกล่าวถึงประโยชน์ ของสมาธิพร้อมกันไปด้วย เป็นต้น

    2.บูรณาการโดยใช้กิจกรรมโครงงาน เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่บูรณาการการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรม
    การทำโครงงานเป็นหลัก หรือใช้ประกอบในการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ด้วยการทำโครงงาน โดยปกติจะต้องใช้ความรู้
    และความสามารถลักษณะบูรณาการอยู่แล้วโครงงานจึงสำเร็จได้ การเรียนรู้โดยการทำโครงงานจึงสะท้อนการเรียนรู้
    ลักษณะบูรณาการได้เป็นอย่างดี

    3.บูรณาการโดยใช้กิจกรรมแก้ปัญหา เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่บูรณาการการเรียนรู้
    โดยใช้กิจกรรมการแก้ปัญหาเป็นหลักในการเรียนรู้ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกิจกรรมการทำโครงงาน
    ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้จากกิจกรรมการแก้ปัญหาสามารถสะท้อนการเรียนรู้ลักษณะบูรณาการได้เป็นอย่างดี
    เพราะธรรมชาติการแก้ปัญหามิได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเดียวแต่ใช้อย่างบูรณาการ
  • การแบ่งประเภทการบูรณาการโดยพิจารณาจากผู้สอนแบ่งได้ดังนี้
    1.แบบสอนคนเดียว เป็นลักษณะการสอนที่ ครูสอนคนเดียว สอนหลายวิชาหรือทุกวิชา และผู้สอนท่านนั้น
    จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการในทุกวิชาหรือกลุ่มวิชาที่รับผิดชอบนั้น โดยดำเนินการกำหนด
    หรือวิเคราะห์รายละเอียดการบูรณาการอย่างชัดเจน

    2.แบบสอนคู่ขนาน มีลักษณะครู 2 วิชาขึ้นไปร่วมกันกำหนดหัวเรื่องใดหัวเรื่องหนึ่ง แล้วต่างคนต่างสอนสาระ
    ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องนั้นๆ ในวิชาตนเองเช่น ครูในสายชั้นวางแผนกันกำหนดหัวเรื่อง "สีสัน" 
    โดยในวิชาวิทยาศาสตร์ก็สอนเกี่ยวกันความถี่ของคลื่นแสง สีต่างๆ ครูศิลปะสอนเกี่ยวกับแม่สีและการผสมสี
    เพื่อวาดภาพ วิชาสังคมศึกษา ก็สอนถึงความเชื่อเกี่ยวกับสีในสังคมต่างๆ 
    วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีสอนการย้อมผ้าสีต่างๆ จากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น
    เมื่อผู้เรียนเรียนทุกวิชาแล้วก็จะได้ภาพความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสีสัน ตามหัวเรื่อง

    3.แบบสอนเป็นคณะ(ทีม) คือ การที่คณะครูหลายวิชามาร่วมกันกำหนดหัวเรื่อง จุดมุ่งหมาย สาระและกิจกรรม
    รวมทั้งการวัดและประเมินผลที่นำจากหลายวิชามาบูรณาการกัน กำหนดหัวเรื่องใดหัวเรื่องหนึ่งพร้อมรายละเอียด
    แล้วร่วมกันสอนเป็นคณะในหัวเรื่องนั้นผลงานที่เกิดขึ้นก็สามารถใช้ประเมินได้ทุกวิชา เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 544597เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แจกแจงให้เห็นการบูรณาการที่หลากหลายดีจังเลย ก็คงต้องเลือกเอาใช่ไหมคะว่าจะใช้การบูรณาการแบบไหนดีจึงจะเหมาะสมทั้งผู้เรียน สถานที่ และสาระที่จะเรียนรู้กัน สำคัญที่สุดต้องเอื้อให้เด็ทุกคนได้เรียนรู้ได้เกิดพัฒนาการทั้งกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ

ขอบคุณบันทึกดีๆมาแบ่งปันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท