ขุชชุตรา อริยสาวิกา (หนึ่งในผู้แต่งพระไตรปิฎก)


ขุชชุตรา อริยสาวิกา :
   ผู้ทรงปฏิสัมภิทาและเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต

[While working on "free" offline Thai dictionaries for (otpc) tablets and Android phones, I discovered many rewards - I like to share with you. This one is from  พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ by Reverend ป.อ. ปยุตโต.)

From พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ขุชชุตรา

ขุชชุตรา: อริยสาวิกาสำคัญท่านหนึ่งในฝ่ายอุบาสิกา บางทีเรียกว่าเป็นอัครอุบาสิกา เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นตราชูของอุบาสิกาบริษัท (คู่กับเวฬุกัณฏกีนันทมารดา)
  ท่านเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสิกาที่เป็นพหูสูต เป็นผู้มีปัญญามาก ได้บรรลุเสขปฏิสัมภิทา (ปฏิสัมภิทาของพระเสขะ),
  ตามประวัติที่อรรถกถาเล่าไว้ อริยสาวิกาท่านนี้ เป็นธิดาของแม่นมในบ้านของโฆสิตเศรษฐี (อรรถกถาเรียกเพี้ยนเป็นโฆสกเศรษฐี ก็มี) ในเมืองโกสัมพี ได้ชื่อว่า "ขุชชุตรา" เพราะเกิดมามีหลังค่อม (เขียนเต็มตามรูปคำบาลีเดิม เป็น "ขุชฺชุตฺตรา" ขุชฺชา แปลว่า ค่อม ชื่อของนางแปลเต็มว่า อุตราผู้ค่อม)
  ต่อมา เมื่อนางสามาวดี ธิดาบุญธรรมของโฆสิตเศรษฐีได้รับอภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพี นางขุชชุตราก็ได้ไปเป็นผู้ดูแลรับใช้ (เป็นอุปัฏฐายิกา, แต่อรรถกถาบางแห่งใช้คำว่าเป็นบริจาริกา) ขุชชุตราไม่ค่อยจะซื่อตรงนัก ดังเรื่องว่า เวลาไปซื้อดอกไม้ นางเอาเงินไป ๘ กหาปณะ แต่เก็บเอาไว้เสียเอง ๔ กหาปณะ ซื้อจริงเพียง ๔ กหาปณะ
  อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าของร้านดอกไม้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไปฉัน เมื่อขุชชุตราไปที่ร้านจะซื้อดอกไม้ เจ้าของร้านจึงขอให้รอก่อน และเชิญให้ร่วมจัดแจงภัตตาหารถวายด้วย ขุชชุตราได้รับประทานอาหารเองและทั้งได้เข้าครัวช่วยจัดภัตตาหาร แล้วก็เลยได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสตลอดทั้งหมดจนถึงอนุโมทนา และได้สำเร็จเป็นโสดาบัน
  เมื่อเป็นอริยบุคคลแล้ว วันนั้นก็จึงซื้อดอกไม้ครบ ๘ กหาปณะ ได้ดอกไม้ไปเต็มกระเช้า พระนางสามาวดีแปลกพระทัย ก็ตรัสถามว่าทำไมเงินเท่าเดิม แต่วันนั้นได้ดอกไม้มามากเป็นพิเศษ ขุชชุตราเป็นอริยชนแล้ว ก็เล่าเปิดเผยเรื่องไปตามตรง พระนางสามาวดีกลับพอพระทัย และพร้อมด้วยสตรีที่เป็นราชบริพารทั้งหมด พากันขอให้ขุชชุตราถ่ายทอดธรรม ขุชชุตราแม้จะเป็นคนค่อนข้างพิการ แต่มีปัญญาดีมาก (สำเร็จปฏิสัมภิทาของเสขบุคคล) ได้นำธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสมาถ่ายทอดเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงแสดง ทำให้พระนางสามาวดีและสตรีที่เป็นราชบริพารเข้าใจแจ่มแจ้งบรรลุโสดาปัตติผลทั้งหมด
  จากนั้น พระนางสามาวดีได้ยกขุชชุตราขึ้นพ้นจากความเป็นผู้รับใช้ เชิดชูให้มีฐานะดังมารดาและเป็นอาจารย์ที่เคารพ โดยให้มีหน้าที่ไปฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมทุกวัน แล้วนำมาเล่ามาสอนต่อที่วัง เวลาผ่านไป ต่อมา พระนางสามาวดี ถูกพระนางมาคัณฑิยาประทุษร้ายวางแผนเผาตำหนักสิ้นพระชนม์ในกองเพลิงพร้อมทั้งบริพาร แต่พอดีว่า ขณะนั้น ขุชชุตราไปกิจที่อื่น จึงพ้นอันตราย


  พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า (อิติ.อ.๓๔) พระสูตรทั้งหมดในคัมภีร์อิติวุตตกะ แห่งขุททกนิกายในพระไตรปิฎก จำนวน ๑๑๒ สูตร ได้มาจากอริยสาวิกาขุชชุตราท่านนี้ กล่าวคือ นางขุชชุตราไปฟังจากพระพุทธเจ้าและนำมาถ่ายทอดที่วังแก่พระนางสามาวดีพร้อมทั้งบริพาร แล้วภิกษุณีทั้งหลายก็รับไปจากอริยสาวิกาขุชชุตรา และต่อทอดถึงภิกษุทั้งหลาย (พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่เมืองโกสัมพี ในปีที่ ๙ แห่งพุทธกิจ และเมืองโกสัมพีอยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ วัดตรงเป็นเส้นบรรทัด ๔๐๕ กม. ไม่พบหลักฐานว่านางขุชชุตรามีชีวิตอยู่ถึงพุทธปรินิพพานหรือไม่) ทั้งนี้ได้รักษาไว้ตามที่นางขุชชุตรานำมากล่าวแสดง

  ดังที่คำเริ่มต้นพระสูตรชุด ๑๑๒ สูตรนี้ ก็เป็นคำของนางขุชชุตรา ว่า "วุตฺตํ เหตํ ภควตา วุตฺตมรหตาติ เม สุตํ" (แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้ไว้ ข้าพเจ้าได้สดับมาดังที่พระองค์อรหันต์ตรัสแล้วว่า...) ซึ่งพระอานนท์ก็นำมากล่าวในที่ประชุมสังคายนา ณ เมืองราชคฤห์ ตามคำเดิมของนาง (คำเริ่มต้นของนางมีเพียงเท่านี้ ไม่บอกสถานที่ตรัส เพราะเป็นพระสูตรซึ่งทรงแสดงที่เมืองโกสัมพีทั้งหมด และไม่บอกว่าตรัสแก่ใคร แต่ในทุกสูตรมีคำตรัสเรียกผู้ฟังว่า "ภิกฺขเว" บ่งชัดว่าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย คือคงตรัสในที่ประชุมซึ่งมีภิกษุสงฆ์เป็นส่วนใหญ่)
  อันต่างจากพระสูตรอื่นๆ ที่คำเริ่มต้นเป็นของพระอานนท์เอง ซึ่งขึ้นนำว่า "เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา [บอกสถานที่ เช่น ราชคเห วิหรติ ... และระบุบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น เตน โข ปน สมเยน ราชา มาคโธ...] ..." (ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่...โดยสมัยนั้นแล [บุคคลนั้นๆ]...)

  เรื่องที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นเกียรติคุณของอริยสาวิกา ซึ่งได้ทำประโยชน์ไว้แก่พระพุทธศาสนา สมเป็นผู้ทรงปฏิสัมภิทา และได้รับพระพุทธดำรัสยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต; ดู ตุลา, เอตทัคคะ
///


From คำไทยและความหมาย(ตัวอย่าง)
เอตทัคคะ

เอตทัคคะ: [เอตะ-] น. ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ. (ป.).


From พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
เอตทัคคะ

เอตทัคคะ: "นั่นเป็นยอด", "นี่เป็นเลิศ", บุคคลหรือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ดีเด่น หรือเป็นเลิศ ในทางใดทางหนึ่ง เช่น ในพุทธพจน์ (องฺ.เอก.๒๐/๑๔๖/๓๑) ว่า "เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขูนํ รตฺตญฺญูนํ ยทิทํ อญฺญาโกณฺฑญฺโญ" (ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้รัตตัญญู อัญญาโกณฑัญญะนี่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม), (องฺ.เอก.๒๐/๗๘/๑๗) ว่า "เอตทคฺคํ ภิกฺขเว วุฑฺฒีนํ ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ" (ภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเจริญทั้งหลาย ความเจริญเพิ่มพูนปัญญานี่ เป็นเยี่ยม) (องฺ.นวก.๒๓/๒๐๙/๓๗๗) ว่า "เอตทคฺคํ ภิกฺขเว ทานานํ ยทิทํ ธมฺมทานํ" (ภิกษุทั้งหลาย ในบรรดาทานทั้งหลาย ธรรมทานนี้เป็นเลิศ); ตามปกติ มักหมายถึงพระสาวกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นเอตทัคคะในทางธรรมกถึก หมายความว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางแสดงธรรม เป็นต้น
พระสาวกที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเอตทัคคะ ในบริษัท ๔ ปรากฏในพระไตรปิฎก (องฺ.เอก.๒๐/๑๔๖/๓๑-๑๕๒/๓๓) ดังนี้
  ๑. ภิกษุบริษัท
  พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นเอตทัคคะ ในบรรดาภิกษุสาวกผู้รัตตัญญู, พระสารีบุตร ...ใน~ผู้มีปัญญามาก, พระมหาโมคคัลลานะ ...ใน~ผู้มีฤทธิ์, พระมหากัสสป ...ใน~ผู้ถือธุดงค์, พระอนุรุทธะ ...ใน~ผู้มีทิพยจักษุ, พระภัททิยะกาฬิโคธาบุตร ...ใน~ผู้มีตระกูลสูง, พระ ลกุณฏกภัททิยะ ใน~ผู้มีเสียงไพเราะ, พระปิณโฑลภารัทวาชะ ...ใน~ผู้บันลือสีหนาท, พระปุณณมันตานีบุตร ...ใน~ผู้เป็นธรรมกถึก, พระมหากัจจานะ ...ใน~ผู้จำแนกความย่อให้พิสดาร, พระจุลลปันถกะ ...ใน~ผู้นฤมิตมโนมยกาย (กายอันสำเร็จด้วยใจ), พระจุลลปันถกะ ...ใน ~ผู้ฉลาดทางเจโตวิวัฏฏ์ (การคลี่ขยายทางจิต คือในด้านสมาบัติ หรือเรื่องสมาธิ), พระมหาปันถกะ ...ใน~ผู้ฉลาดทางปัญญาวิวัฏฏ์ (การคลี่ขยายทางปัญญา คือในด้านวิปัสสนา; บาลีเป็นสัญญาวิวัฏฏ์ ก็มี คือ ชำนาญในเรื่องอรูปฌาน), พระสุภูติ ...ใน~ผู้มีปกติอยู่ไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลส (อรณวิหารี), พระสุภูติ ...ใน~ผู้เป็นทักขิไณย, พระเรวตขทิรวนิยะ ...ใน~ผู้ถืออยู่ป่า (อารัญญกะ), พระกังขาเรวตะ ...ใน~ผู้บำเพ็ญฌาน, พระโสณ โกฬิวิสะ ...ใน~ผู้ปรารภความเพียร, พระโสณกุฏิกัณณะ ...ใน~ผู้กล่าวกัลยาณพจน์, พระสีวลี ...ใน~ผู้มีลาภ, พระวักกลิ ...ใน~ผู้มีศรัทธาสนิทแน่ว (ศรัทธาธิมุต), พระราหุล ...ใน~ผู้ใคร่ต่อการศึกษา, พระรัฐปาละ ...ใน~ผู้ออกบวชด้วยศรัทธา, พระกุณฑธานะ ...ใน~ผู้จับสลากเป็นปฐม, พระวังคีสะ ...ใน~ผู้มีปฏิภาณ, พระอุปเสนวังคันตบุตร ...ใน~ผู้ที่น่าเลื่อมใสรอบด้าน, พระทัพพมัลลบุตร ...ใน~ผู้จัดแจกเสนาสนะ, พระปิลินทวัจฉะ ...ใน~ผู้เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเหล่าเทพยดา, พระพาหิยทารุจีริยะ ...ใน~ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน, พระกุมารกัสสปะ ...ใน~ผู้แสดงธรรมวิจิตร, พระมหาโกฏฐิตะ ...ใน~ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา, พระอานนท์ ...ใน~ผู้เป็นพหูสูต, พระอานนท์ ...ใน~ผู้มีสติ, พระอานนท์ ...ใน~ผู้มีคติ, พระอานนท์ ...ใน~ผู้มีความเพียร, พระอานนท์ ...ใน~ผู้เป็นอุปัฏฐาก, พระอุรุเวลกัสสปะ ...ใน~ผู้มีบริษัทใหญ่, พระกาฬุทายี ...ใน~ผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส, พระพักกุละ ...ใน~ผู้มีอาพาธน้อย, พระโสภิตะ ...ใน~ผู้ระลึกบุพเพนิวาส, พระอุบาลี ...ใน~ผู้ทรงวินัย, พระนันทกะ ...ใน~ผู้โอวาทภิกษุณี, พระนันทะ ...ใน~ผู้สำรวมระวังอินทรีย์, พระมหากัปปินะ ...ใน~ผู้โอวาทภิกษุ, พระสาคตะ ...ใน~ผู้ชำนาญเตโชธาตุสมาบัติ, พระราธะ ...ใน ~ผู้สื่อปฏิภาณ, พระโมฆราช ...ใน~ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
  ๒. ภิกษุณีบริษัท
  พระมหาปชาบดีโคตมี เป็นเอตทัคคะ ในบรรดาภิกษุณีสาวิกาผู้รัตตัญญู, พระเขมา ...ใน~ผู้มีปัญญามาก, พระอุบลวรรณา ...ใน~ผู้มีฤทธิ์, พระปฏาจารา ...ใน~ผู้ทรงวินัย, พระธัมมทินนา ...ใน~ผู้เป็นธรรมกถึก, พระนันทา ...ใน~ผู้บำเพ็ญฌาน, พระโสณา ...ใน~ผู้ปรารภความเพียร, พระสกุลา ...ใน~ผู้มีทิพยจักษุ, พระภัททากุณฑลเกสา ...ใน~ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน, พระภัททากปิลานี (ภัททกาปิลานี ก็ว่า) ...ใน~ผู้ระลึกบุพเพนิวาส, พระภัททากัจจานา ...ใน~ผู้บรรลุมหาอภิญญา, พระกีสาโคตมี ...ใน~ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง, พระสิคาลมารดา ...ใน~ผู้มีศรัทธาสนิทแน่ว (ศรัทธาธิมุต)
  ๓. อุบาสกบริษัท
  ตปุสสะและภัลลิกะ สองวาณิช เป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสกสาวกผู้ถึงสรณะเป็นปฐม, สุทัตตะอนาถปิณฑิกคหบดี ...ใน~ผู้เป็นทายก, จิตตะคหบดี ชาวเมืองมัจฉิกาสณฑ์ ...ใน~ผู้เป็นธรรมกถึก, หัตถกะอาฬวกะ ...ใน~ผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔, มหานามะเจ้าศากยะ ...ใน~ผู้ถวายของประณีต, อุคคะคหบดี ชาวเมืองเวสาลี ...ใน~ผู้ถวายของที่[ตัวผู้ถวายเอง]ชอบใจ, อุคคตะคหบดี ...ใน~ผู้เป็นสังฆอุปัฏฐาก, สูระอัมพัฏฐะ ...ใน~ผู้มีปสาทะไม่หวั่นไหว, ชีวกโกมารภัจจ์ ...ใน~ผู้เลื่อมใส[เลือกตัว]บุคคล, นกุลบิดาคหบดี ...ใน~ผู้สนิทคุ้นเคย
  ๔. อุบาสิกาบริษัท
  สุชาดาเสนานีธิดา เป็นเอตทัคคะ ในบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม, วิสาขามิคารมารดา ...ใน~ผู้เป็นทายิกา, ขุชชุตตรา ...ใน~ผู้เป็นพหูสูต, สามาวดี ...ใน~ผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา, อุตตรา นันทมารดา ...ใน~ผู้บำเพ็ญฌาน, สุปปวาสาโกลิยธิดา ...ใน~ผู้ถวายของประณีต, สุปปิยาอุบาสิกา ...ใน~ผู้เป็นคิลานุปัฏฐาก, กาติยานี ...ใน~ผู้มีปสาทะไม่หวั่นไหว, นกุลมารดาคหปตานี ...ใน ~ผู้สนิทคุ้นเคย, กาฬีอุบาสิกา ชาวกุรรฆรนคร ...ใน~ผู้มีปสาทะด้วยสดับคำกล่าวขาน; เทียบ อสีติมหาสาวก


From Thai-English Lexitron Dictionary 2.0
เอตทัคคะ

N. specialist
  def:[ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ]

From พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ปฏิสัมภิทา

ปฏิสัมภิทา: ความแตกฉาน, ความรู้แตกฉาน, ปัญญาแตกฉาน มี ๔ คือ
  ๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
  ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
  ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในทางนิรุกติ คือ ภาษา
  ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

...

หมายเลขบันทึก: 544085เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

 

  

       ... ขุชชุตรา อริยสาวิกา ... หนึ่งในผู้แต่งพระไตรปิฎก....     

         ขอบคุณความรู้ใหม่ ที่ดีดีนี้ค่ะ

เคยแปลในธรรมบทสมัยเรียนบาลี  นานมาแล้ว เริ่มจะหลงลืมเรื่องราวเหล่านี้แล้วละ

The Tipitaka is full of stories of ordinary, local, "lay" people who came to do extra-ordinary deeds and to become extra-ordinary persons. The story of ขุชชุตรา (ขุด ชะ ตรา) อริยสาวิกา is one of a genius in humble backgrounf and humped body but who shone brightly when treated equally. She excelled in many different ways (พระพุทธดำรัสยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต). In the modern time, she would probably be called Dr ขุชชุตรา (Doctor of Dhamma and ... and ...) ;-)

Thanks Dr Ple and Dr Yumi.

เอ ตะ ภ ค วะ เต...สาธุ..สาธุ...สาธุ....

Thank you all (ณัฐรดา   ยายธี   krutoiting ) for coming by and reading this.

This story that I shamelessly copied from  พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ written by the Reverend Payutto Bhikkhu (ป.อ. ปยุตโต) while checked the data conversion of this dictionary from a Windows version to a more generic version that can be used on any computer (Linux and iMac too), any Android Tablet any Android phone. I am in the process of getting permission to reproduce and distribute this dictionary version freely to school children and the public. So we can all enjoy more stories from the Tipitaka.

Metta

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท