การศึกษาความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ ด้วยการจัดการเรียนรู้เทคนิคหมวก ความคิดหกใบ โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5


 

ชื่อผลงาน   การศึกษาความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์  ด้วยการจัดการเรียนรู้เทคนิคหมวก

  ความคิดหกใบ โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

ชื่อผู้เสนอผลงาน   นางสาวดอกลักษ์  วรยศ  ตำแหน่ง  ครู  วิทยฐานะครูชำนาญการ

   โรงเรียนวัดราษฎรบำรุง  อำเภอหนองเสือ  จังหวัดปทุมธานี

   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี  เขต 2

1.  ความสำคัญของนวัตกรรม / วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ 

           

                        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545             ได้กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ใน หมวด 4 มาตรา 23 และ มาตรา 24  ให้สถาบันการศึกษา จัดการศึกษา โดยเน้น“ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ฝึกทักษะกระบวนการคิด  การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา  จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้    คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง ”   ( สุวัฒน์  วิวัฒนานนท์ 2550 : 2 )  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดสมรรถนะสำคัญของนักเรียน ซึ่งพัฒนานักเรียนให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดนั้น ในข้อ 2  คือ ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์  การคิดสังเคราะห์  การคิดอย่างสร้างสรรค์  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ  เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศ  การตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม  และมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาได้กำหนดมาตรฐานด้านผู้เรียนมาตรฐานที่ 4  ไว้ว่า  “ ผู้เรียนมีความสามารถใน  การคิดวิเคราะห์           คิดสังเคราะห์  มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์ ”  สรุปได้ว่า  แนวทางในการจัด     การศึกษา  หลักสูตร และการประเมินคุณภาพในการจัดการศึกษาของชาติ เน้นการพัฒนาคนทั้งด้านการคิดวิเคราะห์ และการอ่าน  ซึ่งจากผลการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)และจากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ทั้งในระดับประเทศ 0 -o- net และระดับโรงเรียนที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนของโรงเรียนวัดราษฎรบำรุงมีเกณฑ์การประเมินในอยู่ในเกณฑ์ที่ยังต้องได้รับการพัฒนาในด้านการอ่านคิดเคราะห์  ดั้งนั้นบทบาทของ       ครูผู้สอนจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและหาเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เพิ่มขึ้น

                   ทักษะการคิด เป็นทักษะขั้นพื้นฐาน ต้องนำไปใช้ในการคิดอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนและยากขึ้น การศึกษาขั้นพื้นฐานจึงให้สถานศึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ฝึกทักษะการคิด การเผชิญหน้าสถานการณ์               การประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ปัญหาโดยใช้การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง            ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น (กระทรวงศึกษาธิการ. 2545 ข : 1–2) สำหรับแนวทางในการจัดกิจกรร     มการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่ง กรมวิชาการ (2544 ค : 23)  ได้แนะแนวการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้หลายรูปแบบ  ได้แก่ การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน  การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ Story line  การจัดการเรียนรู้ด้วยแผนภาพโครงเรื่อง การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดโดยการใช้คำถาม เป็นต้น  นอกจากวิธีการจัด การเรียนรู้ที่กรมวิชาการแนะนำแล้วพบว่า ยังมีผู้ที่สนใจนำวิธีสอนในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอ่านคิดวิเคราะห์ ซึ่งจากการศึกษาวิธีการจัดการเรียนรู้แบบต่าง ๆ พบว่า เทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการสอนอ่านคิดวิเคราะห์ ซึ่งกรมวิชาการได้นำเสนอไว้ในส่วนของการแนะแนวการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือ การใช้เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบ เป็นเทคนิคการพัฒนาความคิดโดยการใช้คำถามหลายแบบ ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านได้เป็นอย่างดี  ซึ่งเน้นกระบวนการคิดที่สามารถเรียนรู้  ฝึกฝน  และพัฒนาได้  การคิดด้วยแบบสวมหมวกหกใบ จะช่วยให้ผู้คิดสามารถคิดได้อย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน  คิดได้อย่างหลากหลาย เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward De Bono)  ผู้คิดค้นเทคนิคดังกล่าว  มีแนวความคิดว่าสมองมีระบบที่จัดการตัวมันเองและจากความคิดนี้เขาจึงได้ออกแบบเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการคิด คือ เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบ

              การใช้เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบนั้นเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทางความคิด และสามารถคิดได้อย่างเป็นระบบ โดยใช้สีของหมวกเป็นสัญลักษณ์แทนการคิดหกแบบ  ได้แก่  หมวกสีขาว หมวกสีแดง  หมวกสีดำ  หมวกสีเหลือง  หมวกสีเขียว  และหมวกสีฟ้า  จากผลงานวิจัยของ  สุนันทา  สายวงศ์  (2544 : บทคัดย่อ)           สมันตา  วีรกุล (2547 : บทคัดย่อ)  พระมหาอำนาจ  แสงศรี (2548 : บทคัดย่อ)   วิริยา  วิริยารัมภะ (2549 : 2549 (2549 : บทคัดย่อ)  บุปผา  มุคุระ (2549 : บทคัดย่อ)  ทัศนีย์ หนูนาค  (2550 : บทคัดย่อ)  ธารีณี  คลังสมบัติ  (2525  ( 2550 : บทคัดย่อ)   ประยงค์   นุชรอด (2551: บทคัดย่อ)  และ ละเอียด   ทองสุทธิ (2552 : บทคัดย่อ)  พบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคหมวกหกใบมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น รวมทั้งนักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคดังกล่าว

                  จากความเป็นมา สภาพปัญหา ความสำคัญของการอ่านคิดวิเคราะห์และเหตุผลดังกล่าวข้างต้นครูผู้สอนจึงได้นำเทคนิคการจัดการเรียนรู้ด้วยหมวกความคิดหกใบ และออกแบบนวัตกรรมโดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เป็นสื่อ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียนให้เพิ่มสูงขึ้น

2.   จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน

  1.  เพื่อศึกษาความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  5 ก่อนและ

หลังการจัดการเรียนรู้ ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นสื่อ

  2.  เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ  โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นสื่อ

   เป้าหมายของการดำเนินงาน

                เป้าหมายเชิงปริมาณ: กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนวัดราษฎรบำรุง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2  ภาคเรียนที่ 2                    ปีการศึกษา 2555  จำนวน  20  คน  

เป้าหมายด้านคุณภาพ: ร้อยละ 90 ของนักเรียนในกลุ่มเป้าหมายมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5

3. กระบวนการผลิตผลงาน หรือขั้นตอนการดำเนินงาน

3.1  ขั้นวางแผน ( ดำเนินการและวางแผนดำเนินการ ) : Plan

            -  ศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เกี่ยวกับความสำคัญ ธรรมชาติ/ลักษณะเฉพาะ วิสัยทัศน์คุณภาพของผู้เรียน สาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล แหล่งการเรียนรู้และประเภทของสื่อการเรียนการสอน

             - วิเคราะห์หลักสูตร ตัวชี้วัดชั้นปี วางแผนการสอนว่าจะใช้นวัตกรรมอะไรมาสอนเพื่อให้สอดคล้องและบรรลุจุดประสงค์

3.2  ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ : Do

  ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือ

         -  ดำเนินการสร้างสื่อหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ประกอบการใช้คำถามด้วยหมวกความคิดหกใบ จำนวน 12  เรื่อง นำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา

        -  จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ โดยใช้หนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ และนำแผนที่จัดทำขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา

      -  ศึกษาวิธีการสร้างแบบทดสอบและดำเนินการสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน   แบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก  จำนวน 30 ข้อ  เพื่อนำไปใช้ในการทดสอบก่อนเรียน - หลังเรียน

       -  นำแบบทดสอบที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา

         -  ศึกษาเอกสารและสร้างแบบสอบถามความคิดเห็น  และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเทคนิคคำถามหมวกความคิดหกใบ

  ขั้นตอนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียน   ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยกำหนดขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ดังนี้

1.  ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน

             ครูชี้แจงจุดประสงค์การเรียนรู้ จัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการอ่านและให้ความรู้ พื้นฐานเกี่ยวกับการอ่านคิดวิเคราะห์

  2. ขั้นดำเนินการสอน 

2.1  ขั้นนำ ครูกระตุ้นความสนใจของนักเรียนเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่เรื่องการคิดแบบหมวกหกใบโดยใช้หมวกกระดาษ

2.2  ขั้นชี้แจงรายละเอียด ครูแนะนำหมวกทั้งหกสี พร้อมทั้งอธิบายลักษณะคำถามที่สัมพันธ์กับหมวกแต่ละสีโดย ยกตัวอย่างประกอบ

2.3  ขั้นสาธิต ครูยกตัวอย่างและถามคำถามที่สัมพันธ์กับหมวกแต่ละสีจากบทอ่าน จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกัน     ตั้งคำถามและตอบคำถาม โดยการใช้คำถามตามสีของหมวกจนครบทั้ง 6 ใบ

2.4  ขั้นฝึกปฏิบัติ  ให้นักเรียนฝึกตั้งคำถามและตอบคำถามตามสีของหมวกจากนิทานที่ครูกำหนดให้พร้อมทั้งบันทึกคำถามและคำตอบลงในใบงาน  โดยฝึกฝนให้ครบทั้ง 6 ใบ

2.5  ขั้นหารายละเอียดเพิ่มเติม ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการตั้งคำถาม โดยอาจ มีการตั้งคำถามหรือเสนอข้อมูลเพิ่มเติมตามสีของหมวก เพื่อความสมบูรณ์และชัดเจน

3. ขั้นสรุป

   ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ได้สาระสำคัญที่นำไปใช้ประโยชน์ได้

4.  ขั้นประเมินผล

  ประเมินผลการตั้งคำถามและตอบคำถามตามสีของหมวกด้วยการตรวจผลงานในขั้นฝึกปฏิบัติ

  ท้ายแผนการจัดการเรียนรู้

การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ศึกษาดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ทดสอบก่อนเรียน (Pretest) ด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่าน  คิดวิเคราะห์จากนิทาน จำนวน 30 ข้อ

2. ทดลองใช้แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ  โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ  จำนวน 12  แผน  ใช้เวลาทดลอง จำนวน 12 ชั่วโมง 

3.  ทดสอบหลังเรียน  (Posttest) ด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่าน  คิดวิเคราะห์จากนิทาน จำนวน 30 ข้อ

4. ให้นักเรียนทำแบบสอบถามความคิดเห็นที่มีการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ   โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ 

5. นำคะแนนที่ได้จากแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลจากการทำแบบสอบถามความคิดเห็นมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่าทางสถิติ

  3.3  การตรวจสอบ ประเมินผล : Check

     การวิเคราะห์ข้อมูล

           โดยนำผลการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน (Pretest) และหลังเรียน (Posttest)

มาดำเนินการหาค่าเฉลี่ย (  ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  แล้วเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย และ   ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของผลการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนด้วยการใช้สูตร t – test  dependent

   3.4  การรายงานผลเพื่อปรับปรุงพัฒนา : Action

- จากการทดสอบก่อนเรียน - หลังเรียน และจากการตอบแบบสอบถามความคิดเห็น ครูนำข้อมูลมาวิเคราะห์สรุปผลการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ  โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ สรุปรายงานผลพร้อมนำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงไปพัฒนางานในครั้งต่อไป  รวมทั้งเผยแพร่ผลงานไปยังเพื่อนครู  เครือข่ายสถานศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียน  และเผยแพร่ไปยังเว็ปไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรวิชาชีพครู

4.  ผลการดำเนินงาน / ผลสัมฤทธิ์ / ประโยชน์ที่ได้รับ

ผลการศึกษาพบว่า  1)  ความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ  โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  โดยคะแนนหลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้   2)  นักเรียนมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก 

    ผลสัมฤทธิ์  :  ผลจากการศึกษาพบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในกลุ่มเป้าหมาย   เกินร้อยละ 90 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านคิดวิเคราะห์เพิ่มสูงขึ้นเกินร้อยละ 5

  ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ได้แผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้เทคนิคคำถามหมวกความคิดหกใบ ที่มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการพัฒนาการคิดของผู้เรียน

  2. ได้แนวทางสำหรับครูภาษาไทย ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โดยใช้เทคนิคคำถามหมวกความคิดหกใบ

5. ปัจจัยความสำเร็จ 

1. ผู้บริหาร  ให้ความช่วยเหลือ  ส่งเสริม  สนับสนุนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเรียนรู้โดยการพัฒนาสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้  รวมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณ  สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของการทำงานในสถานศึกษาให้เป็นมิตร ให้ขวัญกำลังใจ  ทำให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครูไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้อันก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

  2. ครูผู้สอน มีความตระหนักและเน้นความสำคัญ ในการวิเคราะห์ผู้เรียนและนำผลการวิเคราะห์มากำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ และธรรมชาติของผู้เรียน มีความตระหนักในความสำคัญของการเรียนที่จะเสริมสร้างศักยภาพนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้และเห็นความสำคัญของการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน  ให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน  ให้การยอมรับ  ให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้  ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อบกพร่องในการทำงาน และมีทัศนคติที่ดีต่อการสอน  โรงเรียน  และนักเรียน  มีความสุขที่จะพัฒนานักเรียนในทุกๆ ด้าน

  3. ผู้ปกครองให้ความสำคัญและมีเวลาให้กับบุตรหลานในการร่วมกันพัฒนาความสามารถทางด้านการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ไม่ปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว  อีกทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ให้ความร่วมมือ  ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ให้ความร่วมมือแก้ปัญหา ในทิศทางเดียวกัน  ทำให้ทราบถึงความคาดหวังของผู้ปกครอง  ชุมชน  ที่มีต่อโรงเรียนและครู  รวมถึงให้ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้  ทำให้นักเรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ

     4. มีระบบการทำงาน คือ มีการวางระบบที่ดี (P)  มีการดำเนินงานตามระบบทุกขั้นตอน (D)มีการตรวจสอบระบบ (C)  และมีการปรับปรุงแก้ไขระบบ เพื่อนำไปวางระบบที่ดีกว่าเดิมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

6. บทเรียนที่ได้รับ ( Lesson Learned ) / ข้อเสนอแนะ

  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ โดยใช้นิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเป็นสื่อ ในการศึกษาครั้งนี้ได้ส่งผลต่อความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ดังนี้ 

1.  นักเรียนมีการปรับปรุงผลงานหรือวิธีคิดของตนเอง  ทำให้นักเรียนกล้าคิด  รวมทั้งมีความกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

2.  นักเรียนยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และเกิดการคิดที่รอบคอบ  กว้างไกล  ไม่คิดเพียงด้านเดียว ไม่คิด    นอกกรอบ แต่เป็นการใช้เหตุผลในความคิดที่เปิดมุมมองใน  หลาย ๆ ด้านทำให้ความคิดนั้นมีประสิทธิภาพ

3.  นักเรียนมีทักษะการคิด และสามารถแยกกรอบการคิดออกเป็นด้าน ๆ อย่างชัดเจน

4.  นักเรียนแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็นได้อย่างถูกต้อง

5.  นักเรียนประเมินค่าจากเรื่องที่อ่านได้อย่างเหมาะสม

6.  นักเรียนกลุ่มเป้าหมายเกินร้อยละ 90 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 %

ข้อเสนอแนะ

  -     -    -ครูผู้สอนควรศึกษาและฝึกการใช้คำถาม การตอบคำถามโดยใช้หมวกความคิดหกใบจนเกิดความชำนาญ  และควรเน้นให้นักเรียนตอบคำถามให้ถูกต้องตามหลักการของเทคนิคหมวกความคิดหกใบ ของ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบ โน  ( Edward De Bono ) เพื่อให้นักเรียนพัฒนาการตอบคำถามและทักษะการคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 - ขั้นการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเทคนิคหมวกความคิดหกใบ ครูควรอธิบายความหมายของหมวกแต่ละสีให้ชัดเจน และยกตัวอย่างวิธีการใช้หมวกแต่ละใบ  มีการฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคย และสามารถนำเทคนิคการคิดแบบหมวกความคิดหกใบไปใช้ในการฝึกคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- ระหว่างการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  โดยใช้เทคนิคหมวกความคิดหกใบ  ครูควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด คอยกระตุ้นให้นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็น เน้นให้นักเรียนได้รู้บทบาทหน้าที่ของตนตามสีของหมวกแต่ละใบ  และให้นักเรียนได้สับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ฝึกทักษะ  การคิดให้ครบทุกสี

- การเสริมสร้างบรรยากาศในการจัดการเรียนการสอน ครูควรให้ความเป็นกันเองเพื่อให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออก แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสรเสรี ควรมีการติดตามพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมในทุกขั้นตอนของการเรียนการสอน

- ครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดอย่างเสรี โดยไม่ควรชี้นำคำตอบให้นักเรียน

- ครูผู้สอนไม่ควรตั้งคำถามหรือกระตุ้นให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับหมวกใบใดใบหนึ่งนานจนเกินไป ควรที่จะมีการสับเปลี่ยนให้นักเรียนคิดหมวกใบอื่น อันจะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นทางความคิด และไม่ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย

7.  การเผยแพร่ / การได้รับการยอมรับ / รางวัลที่ได้รับ

การเผยแพร่ผลงาน 

1.  เผยแพร่ทางเว็ปไชต์ http://www.rdb.ac.th/

2.  เผยแพร่ทางเว็ปไชต์ http://www.gotoknow.org/posts/544047

  3.  เผยแพร่ทางเว็ปไชต์http://www.kroobannok.com/board_view.php?b_id=99841&bcat_id=16

4.  เผยแพร่ทางเว็ปไชต์ https://www.facebook.com/profile.php?id

5.  เผยแพร่ผลงาน โดยนำไปเสนอผลงานการวิจัยที่มหาวิทยาลัยวไลยอลงกรณ์ ฯ

6.  เผยแพร่ในการจัดนิทรรศการวิชาการของโรงเรียน

7.  เผยแพร่ในการจัดนิทรรศการวิชาการของเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2

8.  เผยแพร่ให้คณะกรรมที่มาตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน   (โรงเรียนดีประจำอำเภอ)  รุ่นที่ 3 

การได้รับการยอมรับ / รางวัลที่ได้รับ

-  ครูผู้สอนได้รับโล่รางวัลผลงาน/นวัตกรรมที่เป็นเลิศ  (Best Practice) กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย                   ในระดับยอดเยี่ยม  ประจำปี 2556  จาก สพป. ปทุมธานี เขต 2

-  ครูผู้สอนได้รับรางวัลครูผู้สอนดีเด่น กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ประจำปี 2553  จากคุรุสภา

-  ครูผู้สอนได้รับรางรางวัลครูเก่ง ประจำปี 2555  จาก สพป. ปทุมธานี เขต 2

-  ครูผู้สอนได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษา ของสำนักงาน สกสค. ประจำปี 2556

-  ครูผู้สอนได้รับรางวัลหนึ่งแสนครูดี ประจำปี 2554  จากคุรุสภา

-  นักเรียนได้รับการยอมรับในเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์และผ่านการประเมินเพื่อรับรองเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน  (โรงเรียนดีประจำอำเภอ)  รุ่นที่ 3  เมื่อวันที่ 14  มีนาคม  2556

รางวัลของนักเรียนที่สอนได้เข้าแข่งขันความสามารถด้านภาษาไทยในงานมหกรรมวิชาการ

-  เหรียญทอง การแข่งขัน Pop – Up ช่วงชั้นที่ 2

-  เหรียญทอง การแข่งขัน Pop – Up ช่วงชั้นที่ 3

-  เหรียญเงิน การแข่งขันท่องอาขยาน ช่วงชั้นที่ 2

-  เหรียญเงิน การแข่งขันนักอ่านรุ่นเยาว์ ระดับชั้น ป. 4 – 6

-  เหรียญเงิน การแข่งขันเขียนเรียงความและคัดลายมือ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3

-  เหรียญทองแดงการแข่งขันการอ่านออกเสียงและจับใจความสำคัญ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 -6

-  เหรียญเงิน การแข่งขันเขียนเรียงความและคัดลายมือ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6

-  เหรียญทอง การแข่งขันท่องอาขยาน  ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6

-  เหรียญทองแดง  การแข่งขันการอ่านเอาเรื่อง ( อ่านในใจ ) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3

 


หมายเลขบันทึก: 544047เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 03:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท