รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แรกเปิดเรียน ปี 2492 (ตอนที่ 1)


รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แรกเปิดเรียน ปี 2492  (ตอนที่ 1)



เกิด 21 เมษายน 2473 (ปี 2556 อายุ 83 ปี)

     จบเป็นรัฐศาสตร์บัณฑิต ปี 2496

(ร.ต.เสมอใจ พุ่มพวง (2/ร) อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร : “รำลึกความหลัง” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 15 ปี ,มงคลการพิมพ์ 101 ถนนตานี บางลำพู พระนคร พ.ศ.2507 (ไม่ระบุหน้า)

ปฐมเหตุการณ์เขียน

       บอกกล่าวอันการ รำพึงถึงความหลัง ของผม มีจุดเริ่มขึ้นเมื่อคุณบรรณกรของหนังสือเล่มนี้เริ่ม “ขอ”
โดยไมได้ ”ร้อง” ให้ผมเขียน ”อะไรก็ได้ ” ลงในหนังสือ ที่ระลึกในการฉลองครบรอบ 15 ปี แห่งการจัดตั้ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นี้ ในการประชุมเตรียมจัดงานกันครั้งแรกเมื่อปลายเดือนสิงหาคม
2507 ผมซึ่งเคยเป็น ”นักเขียน” จดหมายขอเงินคุณพ่อ ก็พยายามบ่ายเบี่ยงเลี่ยงหลบ แต่คุณวันชัย วัฒนสินธุ์ ก็หาฟังไม่ บอกว่าผมเป็นนักศึกษารุ่นแรกแห่งการจัดตั้งคณะใหม่นี้  และเป็นนักศึกษาที่มีเลขทะเบียนน้อยที่สุด
ถ้าไม่ติดคุณพลัง จรัสศรี ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองยมโลกแล้ว ผมจึงต้อง (กัดฟันทน) รับคำคุณวันชัย ซึ่งพยายาม “เคี่ยว” ให้ผม “เข็น” เอาความหลังมาตีแผ่ในหนังสือเล่มนี้ให้จงได้ เรื่องของผมจึงเริ่มต้นด้วยประการฉะนี้แหละครับ

ใฝ่ฝันสู่แดนโดม  

       เนื้อเพลง “สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ ด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่องเอย ฯลฯ.....สำนักนั้นธรรมศาสตร์ ฯลฯ” ดังก้องอยู่ในโสตประสาทของผมมาตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียนเตรียม นุ่งกางเกงขาสั้น ตัดผมทรงท่าเตียนนั่นแหละครับ แล้วก็มีความใฝ่ฝันเหลือเกิน ที่จะเข้ามาเป็นลูกของแม่โดม แห่งท่าพระจันทร์ ความฝันของผมเป็นรูปร่างขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2492 หลังจากที่ผมไปยืนใจหายใจคว่ำ(ซึ่งความจริงใจเต้นเฉยๆ ไม่ได้หงายหรือคว่ำ) อยู่ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรอฟังประกาศผลการสอบ ชั้นเตรียมปีที่ 2 จากเพื่อนที่ผมส่งเข้าไปดูรายชื่อที่เขาประกาศผลการสอบแทน เพราะผมกับเพื่อนอีกหลายคน ไม่กล้าเข้าไปดูด้วยตนเอง เนื่องจากเกรงว่า กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ยอมพิมพ์ชื่อเราไว้ในบัญชีของผู้สอบได้ด้วย  และผลที่สุดผมก็เป็นผู้หนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ
เขายอมรับว่ามีความรู้พอที่จะเข้ามานั่งฟังอาจารย์เล็คเชอร์อยู่ในรั้วกำแพงชราริมฝั่งเจ้าพระยานี้ได้ การเข้าเป็นสมาชิกในรั้วเหลืองแดงของผม และเพื่อนในปี พ.ศ. 2492 นั้นไม่ต้องมีการทดสอบเหมือนสมัยปัจจุบัน เพียงแต่ข้าราชการชั้นตรี หรือผู้ที่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนี้รับรองก็เข้าเป็นชาวธรรมศาสตร์ได้แล้ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในขณะนั้นมีผู้สมัครเรียนน้อย หรือมหาวิทยาลัยต้องการเปิดให้เป็น “ตลาดวิชา” จริงๆ ก็เป็นได้

ความฝันเป็นจริง

        สองเดือนแรกแห่งการศึกษา นุ่งกางเกงที่เรียกกันว่าขายาว ซึ่งความจริงนุ่งแล้วเห็นขาสั้นของพวกเรานั้น
หาได้มีการแบ่งแยกเป็นคณะต่างๆ ดังเช่นในปัจจุบันไม่ คงเรียนร่วมกันในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตเดิม เวลาเรียนก็มีเพียง 2 ชั่วโมง หรือสองห้าสิบนาที คือตั้งแต่ 08.00 - 08.50 น. ชั่วโมงหนึ่ง และตั้งแต่ 09.00 - 09.50 น. อีกห้าสิบนาทีหนึ่ง แล้วต่างคนต่างก็แยกกันไปตามอัธยาศัย  ผู้หญิงก็ไปเดินพาหุรัด หรือตามโรงหนังบ้าง เพื่อดูหนังแผ่นเสียก่อน แล้วดูหนังจริงในตอนบ่าย ด้วยเหตุที่มีเวลาเรียนเพียง 2 ชั่วโมง หรือสองห้าสิบนาทีต่อวันนี้แหละ ชาวธรรมศาสตร์ส่วนมากจึงเป็นบุคคลชั้น “เส”แต่ไม่ได้หมายถึงเสนาธิการ หรือเสเพลบอย  ผมหมายถึง เส-มี-ย-น หรือพนักงานนั่นแหละครับ รวมทั้งผมเองก็เป็น “เส”เหมือนกัน อยู่ที่กรมทหารเสียด้วย และก็แน่นอนที่สุดในโลกที่มิได้เป็นเสนาธิการกะเขาหรอกครับ ผมเป็นเสมียนพนักงานอยู่ที่กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง บางซื่อ เท่านั้นเอง

       วิชาภาษาต่างประเทศก็ไม่มีอยู่ในหลักสูตร แต่ทางมหาวิทยาลัยก็เปิดโอกาสให้เป็นพิเศษสำหรับผู้สนใจ
โดยเปิดสอนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสขึ้นระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 น.มีอาจารย์นวลนาฏ อมาตยกุล เป็นผู้สอนภาษาอังกฤษ และอาจารย์นวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นผู้สอนภาษาฝรั่งเศส แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีผู้สนใจเรียนกันน้อยมาก สถานที่เรียนก็คือชั้นล่างของตึกเก่า ทางประตูด้านท่าพระจันทร์นั่นเอง

สภาพสถานที่มหาวิทยาลัย

       ผมฝอยมาพอสมควรแล้ว ยังไม่มีเนื้อหาอะไรเลย จึงใคร่ขอบรรยายสถานที่ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้นให้น้องๆ รุ่นหลังได้หลับตามองเห็นภาพเสียหน่อย สำหรับพี่ๆ และเพื่อนซึ่งรู้เห็นอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ลองลืมตานึกถึงความหลังดูมั่งก็ได้ บางทีท่านอาจจะมองเห็นภาพตัวท่านเองไปนั่งซุ่มอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ ซึ่งเคยแผ่กิ่งก้านสาขาตระหง่าน อยู่ภายในเขตรั้วกำแพงชรา ทางมุมมหาวิทยาลัยด้านใต้ของหอประชุมใหม่เดี๋ยวนี้บ้างก็เป็นได้สภาพพื้นที่และอาณาบริเวณของธรรมศาสตร์ ในสมัยที่ผมเข้าเป็นน้องใหม่มีดังนี้

       ทิศเหนือ จรดโรงละครศิลปากรลากตรงไปทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยาแค่สนามเทนนิสเท่านั้นตัวตึกบัญชาการ (ตึกโดม) ถูกตัดแค่ช่องทางรถผ่านใต้คณะสังคมเดี๋ยวนี้

       ทิศใต้ จรดกำแพงชราด้านวัดมหาธาตุฯ  ลากขนานกับถนนลงไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา

       ทิศตะวันออก จรดสนามหลวง

       ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณคณะรัฐศาสตร์และตึกบัญชาการใหม่ด้านเหนือเดี๋ยวนี้
เป็นที่ตั้งของหน่วยทหาร ที่เรียกว่า กรมการรักษาดินแดน ซึ่งปัจจุบันนี้ หน่วยทหารนี้ได้ย้ายไปอยู่สวนเจ้าเชษฐ์เสียแล้ว การเข้าไปในบริเวณธรรมศาสตร์สมัยนั้น บรรยากาศจึงเป็นกึ่งกรมทหารและกึ่งมหาวิทยาลัยยังไงชอบกล
เพราะบนถนนข้างสนามเทนนิสจะมีทหารสวมหมวกเหล็กถือปืนยืนจังก้าอยู่ด้วย ข้างๆ ทางมีป้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นขาวตัวอักษรสีแดงบอกว่า “เขตทหารห้ามเข้า” ในบางครั้งจะมีทหารแต่งเครื่องแบบสนามอาวุธครบมือ ไปยืนรักษาการณ์อยู่ที่ประตูเข้ามหาวิทยาลัย ด้านท่าพระจันทร์ ส่วนหนึ่งของตึกเตรียมปริญญา (ตึกคณะบัญชีปัจจุบัน) ด้านทิศตะวันตกซึ่งติดกับห้องจำหน่ายตำราต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เดี๋ยวนี้เป็นที่ทำงานของทหาร กรมการรักษาดินแดนเช่นกัน ดูปนเปกันไปหมด ราวกับว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปอาศัยเรียนอยู่ในกรมทหารยังงั้นแหละ     

        อาคารเรียนของธรรมศาสตร์ขณะนั้นมีอยู่เพียง 2 ตึกเท่านั้น คือที่ตึกโดม ซึ่งเรียกว่า ตึกบัญชาการของมหาวิทยาลัย ห้องสมุด และเป็นห้องเรียนของคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี กับที่ตึกเตรียมปริญญาเดิม (ที่ทำการและห้องเรียนของคณะพาณิชย์ฯ เดี๋ยวนี้) เป็นห้องเรียนของคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ตรงที่ทำการและตึกเรียนอันทันสมัยของคณะศิลปะศาสตร์เดี๋ยวนี้เป็นสนามหญ้าว่างเปล่า แต่มีตึกแถวของมหาวิทยาลัย ซึ่งให้เอกชนเช่าทำการค้าตั้งอยู่ริมถนนด้านท่าพระจันทร์ ริมสนามหญ้าด้านเจ้าพระยามีต้นจำปีและสนปลูกสลับกันอยู่เรียงราย จนทำให้ธรรมศาสตร์ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่ง “เจ้าจำปี หรือ “ร่มจำปี”อยู่เหมือนกัน ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ไปสำรวจภายในมหาวิทยาลัยเสียหลายปีแล้ว ไม่ทราบต้นจำปียังคงเหลืออยู่กี่ต้น

       ตรงตึกคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เดี๋ยวนี้ เป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายตำราเรียนและโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัย หลังตึกคณะนิติศาสตร์เป็นโรงรถและบ้านพักพนักงานของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีศาลาอีกศาลาหนึ่งตั้งอยู่ด้วย เรียกว่าศาลาแปดเหลี่ยม เป็นสถานที่ฝึกซ้อมมวย ดนตรี ฟันดาบ ที่เรียกว่าศาลแปดเหลี่ยมก็เพราะศาลานี้แทนที่จะสร้างเป็นรูปกลมๆ หรือสี่เหลี่ยมเหมือนศาลาอื่นๆ ทั่วไป ศาลานี้กลับมี 8 เหลี่ยมจริงๆ แต่ก็บังเอิญศาลานี้ไม่มีคมแม้แต่คมเดียว มิฉะนั้นก็คงกลายเป็นศาลาแปดเหลี่ยมสิบสองคมไปเป็นแน่ ศาลานี้มีน้ำล้อมรอบ ดูร่มเย็นดี ที่ว่าเป็นสถานที่ซ้อมดนตรี ซ้อมมวยและฟันดาบนั้น เขาซ้อมคนละเวลาครับ ขืนไปซ้อมเวลาเดียวกันเข้าไม่นักมวย นักดนตรี หรือนักดาบนั้น ก็คงมีอันเป็นต้องส่งโรงพยาบาลกันแน่ทีเดียว

        ตรงที่ตั้งหอประชุมอันโอ่โถงเดี๋ยวนี้ในขณะนั้นคงมีกำแพงชราใหญ่กั้นอยู่ ทางด้านถนนภายในกำแพง จนจรดถนนรอบสนามฟุตบอล เป็นที่ว่างที่ค่อนข้างจะรกรุงรังสักหน่อย มีพันธุ์ไม้ล้มลุกนานาชนิดขึ้นอยู่มากมายมีอาทิ เช่น ต้นกล้วย ต้นละหุ่ง เห็นมีอยู่หลายต้น ผมกับเพื่อนตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า “ดงจิ้งหรีด” ซึ่งตามข้อ(ไม่) เท็จ(แต่)จริงแล้วผมไม่เคยเช้าไปจับจิ้งหรีดที่นั่นกับเขาหรอกครับ บริเวณสนามฟุตบอลคงเป็นสนามเรียบๆ ทั้งสนามไม่มีลู่(ทาง)วิ่งเหมือนเดี๋ยวนี้ รอบสนามแต่เดิมไม่มีรั้วแน่นหนา คงมีแต่ต้นชงโคปลูกเรียงรายอยู่รอบๆ ถึงแม้ในสมัยนั้นต้นยังไม่ใหญ่โตเท่านี้ พื้นสนามใต้ต้นชงโคก็ยังคงพอเป็นที่อาศัยหลบแดดนั่งดูดำรา นั่งคุยหรือจู๋จี๋กับใครที่ใต้ต้นชงโค
ทั้งนี้รวมทั้งใต้ต้นมะขาม ต้นโพธิ์ ต้นจำปี และต้นอะไรอื่นๆ บรรดาที่มีในมหาวิทยาลัย และแม้กระทั่งในห้องเรียนด้วย

แยกเป็น 4 คณะ ในปี พ.ศ. 2492

        ผมได้เรียนรวมอยู่ในหลักสูตร “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” เดิมประมาณสองเดือน ทางมหาวิทยาลัยก็ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยใหม่ให้แยกการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็น 4 คณะ คือ

              1.คณะนิติศาสตร์                      2.คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี

              3.คณะรัฐศาสตร์                       4.คณะเศรษฐศาสตร์

       โดยให้นักศึกษาที่เรียนใหม่ในปีนั้น เลือกเอาว่าจะเรียนคณะไหน จะสมัครเรียนกี่คณะก็ได้ไม่จำกัด สำหรับนักศึกษาเก่านั้น มหาวิทยาลัยให้เลือกเอาว่าจะเรียนคณะไหนด้วยก็ไม่มีใครห้าม ค่าเล่าเรียนไม่เสีย เพราะรัฐบาลท่านเริ่มไม่เก็บค่าเล่าเรียนมาแต่สมัยนั้น ค่าบำรุงห้องสมุด กีฬาก็เสียเพียงครั้งเดียว สำหรับการเรียนตามหลักสูตรเก่านั้นมหาวิทยาลัยให้สอบอีก 3 ปี แล้วยุบเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2495 หลังจากนั้นผู้ที่ยังตกค้างอยู่ในหลักสูตรเดิมให้โอนไปเรียนในคณะนิติศาสตร์ โดยมีการเทียบวิชาให้ หรือจะโอนไปเรียนคณะอื่นๆ ก็ได้ แต่ต้องเริ่มเรียนชั้นปีหนึ่งใหม่ ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะเหตุที่ว่า หลักสูตรของคณะนิติศาสตร์กับธรรมศาสตร์เดิมนั้นคล้ายคลึงกันมาก ส่วนคณะอื่นๆ มีวิชาที่เรียนแตกต่างกันออกไปนั่นเอง

ผมสมัครเรียนรัฐศาสตร์คนแรก

       สำหรับตัวผมเองพอมหาวิทยาลัยประกาศให้ไปแจ้งความจำนงว่า จะเลือกเรียนคณะไหนนั้น ผมเป็นคนแรกที่สมัครเรียนคณะรัฐศาสตร์ทันที แต่สาเหตุที่ผมได้เลขทะเบียน 2/ร แทนที่จะได้ 1/ร นั้น เพราะว่าผมนำใบเสร็จค่าสมัครเรียนไปลงทะเบียนช้ากว่า  คุณพลัง จรัสศรี  ผู้ซึ่งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง  ปลัดอำเภอ สวรรคโลก ไม่ยอมเอาศีรษะหลบขวานที่คนร้ายใช้จามลงไป จึงหมดลมหายใจไปเสียแล้วเมื่อปี 2496
และป่านนี้อาจจะไปเกิดเป็นนางเมฆขลาแล้วก็ไม่รู้ ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้าผมลงทะเบียนได้ก่อนคุณพลังแล้วไซร้ บางทีผู้ที่ถูกเกณฑ์ให้เขียนเรื่องนี้อาจจะเป็นคุณพลังก็ได้ แทนที่จะเป็นผม เพราะตามข้อเท็จจริง (ซึ่งไม่เท็จ) ปรากฏว่าต่อมาผมเองก็เกือบเป็นเมฆขลาไปอย่างคุณพลังเหมือนกัน โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2498 เวลา 10.00 น.ขณะผมตำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ผมก็โดนแขกรำขวาน (และรำหอก) เข้าใส่เหมือนกัน แต่พลตำรวจบรรจบ พรหมสิทธิ แห่งสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งร่วมไปจับกุมคนร้ายกับผมรับเคราะห์ไปเสียก่อน โดยโดนเข้าทั้งขวานทั้งหอก 10 แผล ตั้งแต่ศีรษะไปจรดปลายเท้าตายคาที่อย่างไม่ต้องสงสัยด้วยประการฉะนี้ ผมจึงกล้ารับรองได้ว่า นอกจากท่านที่กล่าวนามทั้งสองแล้ว คงไม่มีใครเคยเห็นแขกรำขวานรำหอกได้ดีกว่าผม มันหวาดเสียวกว่า “ไทยรำเท้า” ที่คุณบุญส่ง อนันทิโก รัฐศาสตร์รุ่นน้องของผมได้ดูมากนัก

ทำไมจึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์

       ทำไมผมจึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ท่านล่ะทำไม่จึงเลือกเรียนคณะนี้ ทุกคนในโลกต่างก็รักชาติของตน คนไทยทุกคนต่างก็รักชาติไทย รักประเทศไทย ผมเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่รักชาติบ้านเมืองไม่น้อยกว่าใครๆมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยเพราะเพลง “รักเมืองไทย ชูชาติไทย เราทำนุบำรุงให้รุ่งเรือง สมเป็นเมืองของไทย” และ “ตื่นเถิดชาวไทย อย่ามัวหลับใหลลุ่มหลง ฯลฯ” ปลุกใจผมอยู่เสมอตั้งแต่ผมลงไปวิ่งเล่นหน้าบ้านโดยไม่ต้องเปลืองเสื้อเปลืองกางเกง จนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งผมเองก็ภาคภูมิใจอยู่เสมอว่า ถึงแม้ผม(ไม่นับตอนที่เป็นทหาร) ไม่ได้ใส่เครื่องแบบแสดงว่า รักชาติ สละชีพเพื่อชาติ ฯลฯ ก็ดี ผมก็ยังไม่เคยแสดงความไม่รักชาติออกมาทั้งภายในและภายนอก  ดังเช่นบุคคลบางคนที่แต่งเครื่องแบบเสียโก้หรู แล้วเที่ยวแสดงออกซึ่งอำนาจราชศักดิ์ (ซึ่งความจริงควรจะเรียกว่าอำนาจความเลวร้ายมากกว่า) เที่ยวข่มขู่ ข่มเหง รังแกราษฎร ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมชาติ ความหวังในอดีตที่ผมเคยเห็นบุคคลในเครื่องแบบและบุคคลผู้มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร กลับกดขี่ใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมแก่ราษฎรนี่แหละ เป็นมูลเหตุให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนรัฐศาสตร์ละ ถ้าผมหยุดเขียนเพียงแค่นี้ท่านก็อาจจะเข้าใจผิดว่า หมอคนนี้หรือนายคนนี้ เพราะความจริงไม่ได้เป็นหมอ หรือเจ้านี่ คิดเรียนรัฐศาสตร์
เพราะอยากเข้ารับราชการแล้วเอาตำแหน่งหน้าที่และโอกาสไปสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ตัวเองและพรรคพวก
บนความหายนะและเดือดร้อนของชาวบ้านกระมัง ไม่ใช่เช่นนั้นดอกครับท่าน ผมเรียนรัฐศาสตร์ เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้รับใช้ประเทศชาติในหน้าที่นักปกครอง เพื่อที่จะได้มีส่วนขจัดสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายดังกล่าวที่ผมเคยทราบเคยเห็น และเคยประสบกับตนเอง ผมเคยเป็นพยานในคดีอาญาแล้วถูกนายตำรวจผู้สอบสวนขู่ตะคอก ผมเคยไปติดต่อขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่อำเภอแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นี่แหละ แล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่ที่ต้อนรับอย่างไม่น่าดู ภาพเหล่านี้ตรึงอยู่ในความทรงจำของผม แต่มิใช่จำไว้เพื่อเอาเยี่ยงอย่าง แต่เพื่อขจัดหรือแก้ไขในเมื่อเรามีโอกาสต่างหาก

คณบดี และ อาจารย์ในยุคแรก

        คณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์เราได้แก่ ท่านศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนามซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอยู่ต่างประเทศ ท่านผู้นี้เป็นทั้งบิดา และอาจารย์ของพวกเราในขณะเดียวกัน กล่าวคือ ท่านเคี่ยวเข็ญให้พวกเราเรียน และประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้เราอย่างอาจารย์ ญาติสนิท จึงปรากฏว่าถึงแม้ท่านจะจากคณะรัฐศาสตร์ไปนานปีแล้วแต่พวกนักศึกษารุ่นเก่าๆ ก็ยังระลึกถึงความดีของท่านอยู่เสมอ

          อาจารย์ประจำคณะขณะนั้นเท่าที่ผมจำได้มี

        1.ท่านอาจารย์ประเสริฐ ปทุมานนท์  สอนความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์

        2.ท่านศาสตราจารย์ พ.ต. ม.จ.ลักษณเลิศ ชยางกูร สอนประวัติศาสตร์สากล

        3.ท่านอาจารย์ชำนาญ ยุวบูรณ์  สอนวิชาการปกครองท้องที่

        4.ท่านอาจารย์ประยูร กาญจนดุล  สอนการปกครองและกฎหมายปกครอง

        5.ท่านอาจารย์ขุนประเสริฐสุภมาตรา  สอนวิชาการกระทำทางการปกครองและ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ     กฎหมายทั่วไป

        6.ท่านอาจารย์หลวงศรีราชบุรุษ  สอนวิชากฎหมายที่ดิน

        7.ท่านศาสตราจารย์สมทบ สุวรณสิทธิ์  สอนหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        8.ท่านศาสตราจารย์เกษม อุทยานินท์  สอนวิชาสังคมวิทยา

        9.ท่านอาจารย์เสริญ ศรีกสิพันธุ์  สอนจิตวิทยาแห่งสังคม

        10.ท่านอาจารย์ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และ   อาจารย์พระองค์เจ้าสุขุมาลย์ภินันท์  สอนปัญหาประชากร

        11.ท่านศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย  สอนกฎหมายอาญา

        12.ท่านอาจารย์หลวงอรรถปรีชาชนูปการ  และหลวงนรกิจบริหาร  สอนวิธีพิจาณาความอาญา

        13.ท่านอาจารย์ พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร  สอนวิทยาการตำรวจ

        14.อาจารย์ พ.ต.อ.สืบ พงษ์สุวรรณ  สอนการสืบสวนสอบสวน

        15.ท่านอาจารย์ไชยเจริญ สันติศิริ  สอนอาชญาวิทยาและทันฑวิทยา

        16.อาจารย์กนต์ธีร์ สุภมงคล อาจารย์บุญย์ เจริญไชย อาจารย์ถนัด คอมันตร์และอาจารย์ขุน ศรียาภัย  สอนกฎหมายระหว่างประเทศ
        17.อาจารย์สะอาด ปายะนันท์และอาจารย์บุญชู เจนพนัส  สอนการปกครองระบบเทศบาล

        18.อาจารย์จินตมัย อมาตยกุล  สอนวิชาการคลัง

        19.อาจารย์ ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย อาจารย์บัณฑิต- อาจารย์ประภา กัณฑบุตรและ  อาจารย์ชิน ไชยประภา  สอนวิชาสถิติ

         20.อาจารย์ ดร.พร ศรีจามร  สอนวิชาทรัพยากรธรรมชาติ

         21.อาจารย์เสมอ มาพึ่งพงษ์  สอนวิชาเหมืองแร่

         22.อาจารย์พงษ์ ศรีวรรธนะ  สอนวิชาการประมง

        23.อาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม  สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ

        24.ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม  สอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ กฎหมายเลือกตั้ง

        25.อาจารย์เย็น มีเมศกูลและ อาจารย์หลวงจักรปราณีศรีศิลปะวิสุทธิ  สอนวิชากฎหมายแพ่งฯ

      (ซึ่งความจริงเราเรียกท่านว่าหลวงจักรไม่ปราณีเพราะวิชากฎหมายแพ่งที่ท่านสอนพวกเราซ้ำชั้นกันมาก)

        26.ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  สอนธรรมนูญศาล

        27.ศาสตราจารย์พระองเจ้าเปรม บุรฉัตร  อาจารย์นวลนาฏ อมาตยกุล อาจารย์สุภาพ ยศสุนทร  อาจารย์วิวัฒน์
ณ ป้อมเพ็ชร อาจารย์นิพัฒน์ ไกรฤกษ์ อาจารย์ ม.ร.ว.กิตตินัดดา กิตติยากร ฯลฯ
  ร่วมบรรยายวิชาภาษาอังกฤษ

      อาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มิได้เข้ามาสอนแต่สมัยเริ่มแรก แต่ใกล้ชิดกับนักศึกษามาก คือ

                            อาจารย์ พ.ต.ต. ยุทธพงษ์ พงษ์สวัสดิ์

 

                     (จบตอนที่ 1 มีต่อใน ตอนที่ 2)




หมายเลขบันทึก: 543853เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 06:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 07:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท