หลักการ ขั้นตอน เทคนิค เคล็ดลับ การสอนสะกดคำ ๑


๑. วิธีฝึกอ่าน(สอน)การสะกดคำ

หลักการ

         การแจกลูกเป็นกระบวนการฝึกภาษา  เป็นพื้นฐานของการใช้ภาษาที่ดี มีประสิทธิภาพชั้นสูงต่อไป  หากครูไม่สอนการแจกลูกสะกดคำในระยะเริ่มแรก นักเรียนจะขาดหลักเกณฑ์การประสมคำ  ทำให้เมื่ออ่านหนังสือมากขึ้นจะสับสน จนอ่านหนังสือไม่ออก  เขียนหนังสือผิดตลอดไป    การแจกลูก มี ๒ ชนิด คือ การแจกลูกตามมาตราตัวสะกดต่างๆ  และการเทียบเสียง

 

๑.๑  วิธีการ/ขั้นตอนการฝึกอ่าน(สอน) แจกลูกสะกดคำตามมาตราตัวสะกด

        ๑.  เริ่มต้นจากการจำและออกเสียงพยัญชนะ สระให้ได้ 

        ๒.  ต่อจากนั้น  ฝึกเริ่มแจกลูกในมาตราแม่ ก กา (ไม่มีเสียงสะกด) จะใช้สะกดคำไปทีละคำไล่ไปตามลำดับของสระ(อะ  อา  อิ  อี  อุ  อู  เอ  โอ) เช่น

- กะ    สะกดว่า  กอ – อะ – กะ 

- กา    สะกดว่า   กอ – อา – กา  

        ๓.  แล้วจึงอ่านโดยไม่สะกดคำ  เช่น  กะ  กา  กิ  กี  กุ  กู  เก  โก  เป็นต้น

        ๔.  เมื่ออ่านได้จึงอ่านตามตัวสะกดมาตราอื่นๆต่อไป 

 

๑.๒ วิธีการ/ขั้นตอนการฝึกอ่าน(สอน) แจกลูกสะกดคำ แบบเทียบเสียง

        ๑.  เมื่อนักเรียนอ่านคำ จำคำได้แล้ว  ให้ครูนำรูปคำมาแจกลูกโดยการเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือพยัญชนะท้าย เช่น เมื่อจำคำว่า บ้านได้แล้ว  ก็ให้ลองหาพยัญชนะอื่นมาเปลี่ยน "บ" บ้าง เช่น ก้าน ป้าน ร้าน ล้าน ค้าน เป็นต้น

        ๒.  การแจกลูกสะกดคำแบบนี้  ครูต้องฝึก ดังนี้

             ๒.๑ อ่านสระเสียงยาวก่อนสระเสียงสั้น

            ๒.๒ นำคำที่มีความหมายมาฝึกเท่านั้น

            ๒.๓ เปลี่ยนเฉพาะพยัญชนะต้นหรือท้ายเท่านั้น

           ๒.๔ นำคำที่อ่านแล้วมาจัดทำเป็นแผนภูมิการอ่าน  ให้เด็ก  เห็นชัดเจนด้วย

 

เทคนิคการฝึก(สอน)อ่านสะกดคำ

  ๑. ควรฝึกอ่านแจกลูกให้คล่องปาก  ทั้งแบบจากหนังสือเรียน  หรือที่ครูเขียนบนกระดาน  หรือแบบเห็นคำจากบัตรคำ  หรือแบบปากเปล่า (ไม่เห็นคำ)

  ๒. การแจกลูกสะกดคำ ต้องเป็นการออกเสียง  มิใช่ฝึกการแยกตัวพยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์ ลงในตาราง หรือช่องว่าง  เพราะนั่นเป็นเพียงการจำแนกตัวอักษรที่เป็นส่วนประกอบของคำ

 

เคล็ดลับการฝึก(สอน) สะกดคำ

๑.  การสอนอ่านสะกดคำ  จะต้องให้นักเรียนสังเกตรูปคำพร้อมๆกับการอ่าน

๒.  ครูจะต้องให้อ่านสะกดคำ  แล้วเขียนคำพร้อมๆกัน

๓.  นำคำที่มีความหมายมาฝึกเท่านั้น

๔.  เมื่อสะกดคำจนจำคำได้แล้ว  ไม่ควรใช้วิธีการสะกดคำคำนั้นๆอีก

๕.  การสอนสะกดคำเป็นแค่เครื่องมือในการสอนอ่านคำใหม่  ถ้ายังสอนแบบสะกดคำอีก  จะทำให้นักเรียนอ่านจับใจความไม่ได้ และอ่านได้ช้า

๖. วิธีการสอนการสะกดคำที่ถูกต้อง ถ้าสอนสะกดคำเพื่ออ่าน  ต้องฝึกสะกดคำตามเสียง,  ถ้าสอนสะกดคำเพื่อเขียน  ต้องฝึกสะกดคำตามรูป  (ครูส่วนมากมักสอนให้สะกดคำตามรูปไม่ว่าทั้งอ่านและเขียน  จึงทำให้นักเรียนอ่านหนังสือไม่ถูกเป็นจำนวนมาก)

๗.  การสะกดคำจะทำได้เฉพาะคำที่เป็นคำไทยแท้  และมีตัวสะกดตรงตามรูปคำเท่านั้น

 

.................................

 

๑.๓  วิธีฝึก(สอน)สะกดคำตามรูปคำ และเสียง

- วิธีฝึกสะกดคำตาม "รูปคำ"

    - กา     สะกดว่า    กอ – อา - กา

   - คาง    สะกดว่า   คอ – อา – งอ - คาง

- วิธีฝึกสะกดคำ "ตามเสียง"  โดยสะกดแม่ ก กา ก่อน แล้วจึงสะกดตามมาตราอื่นๆ

    - คาง  สะกดว่า   คอ – อา – คา – คา – งอ - คาง

    - ค้าง  สะกดว่า   คอ – อา – คา – คา – งอ - คาง - คาง – โท – ค้าง

               (แต่จะเห็นชัดเจน  ตอนฝึกสะกดคำตามเสียงอักษรนำ หรืออักษรควบ) 

 

ขั้นตอนวิธีฝึกสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด

๑.  ฝึกให้เห็นรูปคำ  แล้วให้อ่านออกเสียงตามให้ถูกต้อง

๒.  ฝึกจำรูปคำ และรู้ความหมายของคำ  เพราะส่วนมากเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศตัวสะกดบางคำบางครั้งไม่ตรงตามมาตราที่ออกเสียง

๓.  รู้หลักการสะกดคำ  เช่น  แต่ละเสียง  สามารถใช้ตัวอะไรสะกดตามแม่มาตรานั้นๆได้บ้าง

๔.  คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา จะไม่สอนฝึกสะกดคำ  แต่ใช้หลักการสังเกตรูปคำ  จำคำให้ได้  โดยอ่านและเขียนบ่อยๆ

 

......................................

หมายเลขบันทึก: 543848เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 02:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท