กฎหมายโทรคมนาคม "การใช้การอนุญาตเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล" 1


การอนุญาตให้ประกอบกิจการให้ใช้คลื่นความถี่ภายใต้ตลาดเสรี

๑.  ความทั่วไปว่าด้วย “การอนุญาต” ประกอบกิจการโทรคมนาคม

                 แนวคิดดั้งเดิม รัฐเห็นว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐและรัฐ (แต่เพียงผู้เดียว) ที่มีหน้าที่ในการจัดให้บริการโทรคมนาคมแก่ประชาชน ดังนั้น รัฐจึงผูกขาดตลาดโทรคมนาคมมาโดยตลอด ประกอบกับแนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับทฤษฎีการจัดทำบริการสาธารณะตามกฎหมายมหาชน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเห็นว่าเป็นหน้าที่หลักของรัฐที่จะต้องจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น จึงเป็นการเน้นย้ำว่ารัฐมีหน้าที่ในการให้บริการโทรคมนาคมเหมือนกับบริการสาธารณะประเภทอื่นๆ ดังเช่น การบริการด้านไปรษณีย์ การบริการด้านการขนส่ง เป็นต้น แนวคิดว่าด้วยการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมที่มุ่งเน้นในการให้อนุญาตเอกชนประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยมิใช่ทำหน้าที่แทนรัฐ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ และมีการถกเถียงกันอย่างมากในแวดวงวิชาการ และหลายประเทศโต้แย้งว่าการอนุญาตให้เอกชนดำเนินการให้บริการโทรคมนาคมไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแต่อย่างใด

                ภายใต้ระบบการแข่งขันเสรี หลักเกณฑ์การอนุญาตเพื่อให้เอกชนเข้ามาประกอบกิจการนั้นมีลักษณะที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับหลักเกณฑ์ในช่วงเวลาที่รัฐผูกขาดกิจการโทรคมนาคมอยู่หลายประการด้วยกัน

                ระยะเริ่มต้นสำหรับการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในหลายประเทศ รัฐอาจจะจัดให้ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เป็นของรัฐที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งการจัดให้ใบอนุญาตดังกล่าวถือว่าเป็นขั้นตอนเริ่มแรกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากระบบการผูกขาดโดยรัฐมาเป็นระบบการแข่งขันเสรี ขณะเดียวกันก็สามารถกำหนดเงื่อนไข สิทธิและหน้าที่ต่างๆ ในใบอนุญาตเพื่อรักษาความมั่นคงและเป็นการรับประกันการจัดทำบริการโทรคมนาคมและเพื่อป้องกันปัญหาบางประการที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเริ่มแรกในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบได้ และการกำหนดเงื่อนไข สิทธิและหน้าที่ต่างๆ ในใบอนุญาตอย่างละเอียดยังสามารถสร้างความชัดเจนและความมั่นใจสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น นักลงทุน ผู้ประกอบกิจการ (รายใหม่และรายเดิม) ผู้บริโภค รัฐบาล เป็นต้น อีกทั้ง ยังเป็นช่วงเวลาที่องค์กรกำกับดูแลสามารถเตรียมความพร้อมและทำการเรียนรู้การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมภายใต้ระบบการแข่งขันเสรีได้ก่อนที่จะมีการเปิดตลาดเสรีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การอนุญาต” มีความสำคัญมาก ในระยะเริ่มต้นที่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบการผูกขาดโดยรัฐไปสู่ระบบการแข่งขันเสรี เนื่องจากกระบวนการอนุญาตที่โปร่งใสจะเป็นเครื่องมือที่รัฐสามารถใช้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาประกอบกิจการ ตลอดจนเจ้าหนี้ของผู้ประกอบกิจการที่ให้กู้เงินมาใช้ในการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม

   ดังนั้น “การอนุญาต” ภายใต้บริบทการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมจึงเปรียบเสมือนเป็นประตูที่ใช้เปลี่ยนผ่านและสามารถนำไปสู่ความสำเร็จของระบบการแข่งขันเสรีในท้ายที่สุด

๒. การใช้ การอนุญาต” เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล

                 การอนุญาตเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมไปสู่ระบบการแข่งขันเสรี และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดจำนวนผู้ประกอบกิจการที่ทำการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าใช้กำหนดระดับการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมได้ กล่าวคือ หากตลาดมีการแข่งขันน้อยเกินไปก็สามารถเพิ่มจำนวนผู้ประกอบกิจการโดยการออกใบอนุญาตเพิ่มได้ ในทางกลับกันหากตลาดมีการแข่งขันที่มากเกินไปก็สามารถจำกัดจำนวนผู้ประกอบกิจการในตลาดได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งการอนุญาตยังเป็นขั้นตอนในการกลั่นกรองและคัดเลือกคุณสมบัติของนักลงทุนที่ต้องการประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อสร้างการบริการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้บริโภคได้ อนึ่ง การอนุญาตเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งสำหรับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมภายใต้ระบบการแข่งขันเสรี ซึ่งวัตถุประสงค์สำหรับการอนุญาตสามารถจำแนกได้ ดังนี้

(ก) กิจการโทรคมนาคมในฐานะที่เป็นบริการสาธารณะประเภทที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศจึงมีความจำเป็นจะต้องทำการกำกับดูแล

               ทุกประเทศมีความเห็นพ้องกันว่าการให้บริการโทรคมนาคมประเภทพื้นฐานเป็นบริการสาธารณะประเภทหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันทุกประเทศก็ไม่อาจปฏิเสธกระแสการแปรรูปกิจการโทรคมนาคมที่มุ่งเน้นการแข่งขันเสรีซึ่งกำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกได้  ดังนั้น ประเทศ (ซึ่งแต่เดิมรัฐทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว) ที่มีความจำเป็นจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  รัฐจึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ของตนโดยทำหน้าที่ในการกำกับดูแลแทน ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ตอบสนองต่อประโยชน์ของสาธารณชนมากที่สุด  และเครื่องมือที่สำคัญประเภทหนึ่งที่รัฐใช้ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ก็คือ “กระบวนการในการอนุญาต”

(ข) การขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้มีการบริการอย่างทั่วถึง

                วัตถุประสงค์ในการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้มีการบริการอย่างทั่วถึง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญและอาจถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขการอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดโทรคมนาคมได้ เนื่องจาก หากจำนวนของผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่อยู่ในตลาดมาก่อนแล้วไม่เพียงพอต่อการขยายโครงข่ายพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม จึงทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้มักพบในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมที่ไม่เพียงพอ  ดังนั้น รัฐอาจกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตโดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่ในการจัดทำโครงข่ายพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมโดยให้บริการครอบคลุมพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งตามที่ระบุไว้ในการอนุญาตได้ และการระบุเงื่อนไขดังกล่าวนี้จะมีความสำคัญมากขึ้น หากผู้ประกอบกิจการที่ถูกแปรรูปเป็นผู้ประกอบกิจการของรัฐ หรือเป็นการให้อนุญาตโดยแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษในการประกอบกิจการบางประการ เช่น ใบอนุญาตที่ให้สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ที่มีจำกัด การออกใบอนุญาตประเภทduopoly cellular  licence เป็นต้น (ดูการให้บริการอย่างทั่วถึงเพิ่มเติมในบทที่ ๖)


(ค) การแปรรูปโดยมีวัตถุประสงค์ในทางพาณิชย์หรือการแปรรูปเพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดทำบริการ

                แม้ว่ารัฐจะมีหน้าที่ในการให้บริการโทรคมนาคม แต่ทางปฏิบัติพบว่ารัฐอาจจะไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเหตุผลหลายประการด้วยกัน เช่น ขาดแคลนเงินทุน ขาดแคลนบุคลลากรผู้เชี่ยวชาญ หรือขั้นตอนที่ยุ่งยากของระบบการบริหารงานภาครัฐ เป็นต้น  ดังนั้น การอนุญาตให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดทำบริการบางส่วนหรือทั้งหมดก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และรัฐอาจจะกำหนดเงื่อนไขหรือกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการที่เป็นเอกชนสำหรับการขออนุญาตได้ ยิ่งไปกว่านั้น นักลงทุนหรือเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการก็สามารถทราบได้ล่วงหน้า ถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหากได้รับการอนุญาต

(ง) การกำกับดูแลโครงสร้างของตลาดโทรคมนาคม

                สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมโดยผ่านระบบกลไกตลาด คือ จำนวนผู้ประกอบกิจการที่แข่งขันในตลาดโทรคมนาคมซึ่งการอนุญาตเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่รัฐสามารถใช้ควบคุมจำนวนผู้ประกอบกิจการในตลาดโทรคมนาคมได้ กล่าวคือ หากต้องการให้ตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้นก็สามารถทำได้โดยการอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่เข้าสู่ตลาด เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบกิจการในตลาด ในทางกลับกันหากต้องการให้ตลาดมีการแข่งขันกันน้อยลงก็สามารถจำกัดจำนวนผู้ประกอบกิจการ โดยการระงับการอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการรายใหม่ได้ 

                บางประเทศใช้เทคนิคการอนุญาตในการสร้างตลาดโทรคมนาคมให้มีรูปแบบผูกขาด หรือรูปแบบกึ่งผูกขาดที่มีผู้ประกอบกิจการเพียงสองถึงสามรายเท่านั้น หรือการให้สิทธิพิเศษบางประการสำหรับผู้ประกอบกิจการที่เข้ามาลงทุนในระยะเริ่มแรก ดังเช่นที่มักจะปรากฏในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังดำเนินการแปรรูปผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เป็นของรัฐ ซึ่งผลของการอนุญาตที่มีเงื่อนไขในการคงสถานะผู้ประกอบกิจการรายหนึ่ง รายใดให้ผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็เพื่อแสวงหาผลกำไรให้กับรัฐ ถึงแม้ว่าทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติจะเห็นพ้องกันว่า การผูกขาดตลาดโทรคมนาคมจะส่งผลให้ประสิทธิภาพหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริหารจัดการโดยผ่านกลไกตลาดลดลง แต่การที่รัฐกระทำการดังกล่าว รัฐมักจะเล็งเห็นว่าในระยะเริ่มแรกที่มีการเปลี่ยนผ่านระบบการบริหารจัดการจากการผูกขาดไปยังการบริหารจัดการโดยผ่านกลไกตลาดในระยะเริ่มแรกมักจะมีปัญหาเกิดขึ้นและประกอบกับการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมก็สามารถแสวงหากำไรในเบื้องต้นเพื่อชดเชยจำนวนหนี้สินของผู้ประกอบกิจการ (ที่เป็นของรัฐ) ที่มีก่อนหน้า

                 อย่างไรก็ดี การสร้างตลาดโทรคมนาคมเพื่อให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบกิจการ โดยใช้การอนุญาตเป็นเครื่องมือไม่สามารถนำมาใช้ได้ทุกกรณี เนื่องจาก การประกอบกิจการโทรคมนาคมบางประเภทอาจจะไม่สามารถใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือได้ เช่น การให้บริการภายในพื้นที่ที่ไม่มีการแข่งขันหรือเป็นพื้นที่ที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หรือการประกอบกิจการโทรศัพท์พื้นฐานที่มีการให้บริการโดยผู้ให้บริการรายเดิมซึ่งเป็นผู้ครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ก่อนแล้วและแนวโน้มผู้ใช้บริการในอนาคตก็มักจะมีการใช้งานที่ลดลง เป็นต้น  

(จ) การสร้างกรอบกติกาการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบกิจการ  

               การอนุญาตสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการกำหนดระดับการแข่งขันสำหรับตลาดโทรคมนาคมและสามารถใช้จำกัดการใช้อำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดโทรคมนาคมได้ เช่น การกำหนดไว้ในการอนุญาตว่าห้ามผู้ประกอบกิจการกระทำการที่มีลักษณะที่เป็นการต่อต้านการแข่งขันหรือการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวมีผลให้ผู้ประกอบกิจการจะต้องตระหนักถึงการปฏิบัติตามกฎหมายโทรคมนาคมและยังต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายแข่งขันทางการค้าอีกด้วย 


(ฉ) การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด

               ทรัพยากรในการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรที่จำกัดซึ่งคำว่า “จำกัด” ตามนัยนี้มิได้หมายความว่าเมื่อนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้แล้วจะหมดไปจากประเทศ แต่เป็นนัยที่เมื่อนำทรัพยากรนั้นมาจำหน่ายให้ผู้ประกอบกิจการรายหนึ่ง รายใดแล้ว ย่อมไม่สามารถจำหน่ายให้กับผู้ประกอบกิจการรายอื่นได้อีก  ดังนั้น เมื่อทรัพยากรมีปริมาณที่จำกัดผลที่ตามมาก็คือรัฐจำเป็นจะต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นให้กับผู้ประกอบกิจการที่สามารถนำทรัพยากรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนซึ่งรัฐจะต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบกิจการที่มีความสามารถในการใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และเมื่อรัฐจัดสรรคลื่นความถี่ในช่วงสัญญาณใดแล้ว ผู้ประกอบกิจการรายอื่นย่อมไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ในช่วงสัญญาณเดียวกันได้อีก หรือกรณีที่รัฐให้สิทธิผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งสร้างโครงข่ายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้วย่อมไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นสร้างโครงข่ายในพื้นที่นั้น ๆ ได้อีกเนื่องจาก (บริเวณ) พื้นที่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด เป็นต้น

               ยิ่งไปกว่านั้น การจัดสรรทรัพยากรโดยผ่านการอนุญาตเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งของรัฐที่ใช้ในการรักษาสมดุลระหว่างการแข่งขันที่เป็นธรรมกับประโยชน์ส่วนรวมได้ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการจัดประมูลซึ่งรัฐสามารถกำหนดราคาได้สูงถึงหลายหมื่นล้านบาท เพื่อจะได้นำเงินที่ได้จากการประมูลไปพัฒนากิจการอื่นของรัฐที่จำเป็นสำหรับประโยชน์ส่วนรวม หรือการตั้งราคาการอนุญาตในราคาที่ต่ำเพื่อให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบกิจการลดลงและจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการบริการที่ราคาถูกลงตามไปด้วย หรือกรณีของ “สิทธิแห่งทาง” (The rights of way) ที่รัฐสามารถมีรายได้จำนวนมหาศาลจากการอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการสร้างโครงข่ายพาดผ่านพื้นที่ของประชาชนทั้งทางพื้นดิน ทางน้ำ และทางอากาศ แต่ในมิติของเศรษฐศาสตร์แล้ว ข้อจำกัดในเรื่องสิทธิแห่งทางอาจจะมีผลให้การบริการประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ช้าลงและอาจมีผลให้ราคาค่าบริการสูงขึ้นได้ เป็นต้น

 (ช) สร้างรายได้ให้แก่รัฐ

                     รัฐสามารถมีรายได้จำนวนมหาศาลจากค่าธรรมเนียมการอนุญาตประกอบกิจการได้ ซึ่งทางปฏิบัติ พึงเห็นได้ว่าบางประเทศมีรายได้มากมายถึงหลายหมื่นล้านบาทหรือมากถึงแสนล้านบาท  ทั้งนี้ ขึ้นกับเทคนิคในการหารายได้จากการอนุญาตซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น วิธีการประมูลซึ่งรัฐจะได้รับเงินจำนวนมากในคราวแรกที่มีการประมูล หรือวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอนุญาตรายปีเพื่อสร้างความต่อเนื่องของรายได้ที่รัฐจะได้รับตลอดระยะเวลาการอนุญาต หรือวิธีการอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการรายใหม่เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดให้สูงขึ้นโดยรัฐคาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น


(ซ) การคุ้มครองผู้บริโภค

                   รัฐสามารถกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการอนุญาตได้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบกิจการจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรงเนื่องจากถือได้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการอนุญาต เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการจะต้องแสดงรายละเอียดของใบเรียกเก็บค่าบริการ การกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการจะต้องจัดให้ผู้บริโภคสามารถเรียกออกได้กรณีฉุกเฉินเร่งด่วนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือกระบวนการแก้ไขเรื่องร้องเรียน เป็นต้น


(ฌ) การสร้างความมั่นคงในกระบวนการกำกับดูแล

                    การอนุญาตที่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการและการกำหนดหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลอย่างชัดเจนจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการกำกับดูแลได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งความชัดเจนของเงื่อนไขการอนุญาตเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสถานการณ์ที่ต้องการดึงดูดผู้ประกอบกิจการต่างชาติเพื่อให้มาลงทุนภายในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบกิจการเหล่านั้นสามารถวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยผ่านเงื่อนไขการอนุญาตได้


หมายเลขบันทึก: 542680เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 18:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

....การให้บริการสาธารณูปโภคประเภทต่างๆภายใต้ระบบการแข่งขันเสรี ควรมีการจัดสรรทรัพยากรที่มีปริมาณจำกัดให้กับผู้ประกอบกิจการที่สามารถนำทรัพยากรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด...ผู้ประกอบการน้อยถ้าสามารถสร้างคุณภาพการบริการมาก น่าจะดีกว่าผู้ประกอบการมากแต่คุณภาพบริการน้อย ผลเสียตกอยู่ที่ผู้บริโภคนะคะ...

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ ดร. พจนา ทว่าจากการศึกษาทางด้านโทรคมนาคม พบว่ามีเพียงประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียเท่านั้นที่มีผู้ประกอบการน้อยราย แต่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความโปร่งใสในการบริหารจัดการและปัญหาการคอรัปชั่นมีน้อย ขณะที่ส่วนใหญ่ที่พบเมื่อมีผู้ประกอบการน้อยราย ผลที่ตามมาคือ ไม่มีการพัฒนาด้านสินค้าและบริการ และผู้บริโภคก้อจะได้รับของแพงมากขึ้นเพราะไม่การแข่งขันด้านราคา ด้วยเหตุนี้ เห็นว่า ถ้าไม่สามารถควบคุมตัวแปรในเรื่องการคอรัปชั่นและสำนึกต่อผู้บริโภคได้ ก็เห็นว่ากฎหมายในกลุ่มที่สร้างการแข่งขันทางการค้ามีความจำเป็นจะต้องนำมาปรับใช้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท