Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ประเด็นเกี่ยวกับการสละสัญชาติของบุตรที่เกิดในประเทศไทยของมารดาสัญชาติไทยกับบิดาที่ชอบด้วยสัญชาติเบลเยี่ยม : คิดอย่างไรดี ??


ตอบคุณจีจี้เรื่องสิทธิสละสัญชาติไทยของบุตรของหญิงสัญชาติไทยและชายเบลเยี่ยม

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อตอบคำถามของประชาชนเรื่องการจัดการประชากร

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ม พ.ศ.๒๕๕๖

--------

คำถาม

---------

คุณจีจี้เข้ามาใน http://www.gotoknow.org/posts/259492?2847752  เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เพื่อตั้งคำถามว่า “รบกวนสอบถามอาจารย์ว่า ถ้าลูกดิฉันเกิดที่เมืองไทย สามีเป็นคนเบลเยี่ยม จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายที่เมืองไทยแล้ว ถ้าลูกเกิดมาสามารถถือสัญชาติได้ทั้งสองสัญชาติเลยไหมคะ แล้วเลือกสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งตอนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ขอบพระคุณค่ะ”

--------

คำตอบ

---------

1.  บุตรของคุณจีจี้ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา หากว่า คุณจีจี้มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด คำถามที่ต้องถามกลับ ก็คือ คุณจีจี้ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย กล่าวคือ มีชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) หรือไม่คะ ?

2.  บุตรของคุณจีจี้ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมายจากมารดา หากว่า บุตรดังกล่าวเกิดในประเทศไทย และ คุณจีจี้มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด หรือในกรณีที่คุณจีจี้ไม่มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด บิดาสัญชาติเบลเยี่ยมก็จะต้องมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยการเข้าเมือง

3.  ในกรณีที่บุตรมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย ก็มีความเป็นไปได้ที่บุตรจะมีสิทธิในสัญชาติเบลเยี่ยมโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายเบลเยี่ยมว่าด้วยสัญชาติเบลเยี่ยม

4.  ในเรื่องการสละสัญชาตินั้น บุตรจะต้องกระทำหรือไม่ ภายในเงื่อนเวลาใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของทั้งรัฐไทยและรัฐเบลเยี่ยม

5.  ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติเบลเยี่ยมนั้น การสละสัญชาติเป็น “หน้าที่” หรือ “สิทธิ” ก็ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของรัฐเบลเยี่ยม แต่อย่างไรก็ตาม โดยข้อมูลจาก คุณตุลย์นภา ติลกมนกุล และอาจารย์บงกช นภาอัมพรแห่ง UNHCR หากบุตรของคุณจีจี้มีเงื่อนไขที่กฎหมายสัญชาติเบลเยี่ยมกำหนด เขาก็อาจจะมีสิทธิในการถือสองสัญชาติตามกฎหมายเบลเยี่ยม คำตอบที่แน่นอน ก็คงมาจาก การที่คุณบอกเราว่า บุตรของคุณเกิดในช่วงเวลาใด[1]

อาจารย์บงกช นภาอัมพร ให้หลักคิดตามกฎหมายสัญชาติเบลเยี่ยมว่า[2] กรณีคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยและสัญชาติเบลเยี่ยมย่อมตกอยู่ภายใน มีสัก ๔ สถานการณ์ (scenario) ดังต่อไปนี้  (๑) ถ้าคนสัญชาติเบลเยี่ยม ไปถือสัญชาติอื่นด้วย ก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ ให้เสียสัญชาติเบลเยี่ยม (๒) ถ้าคนชาติเบลเยี่ยม ไปถือสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติของประเทศออสเตรีย เดนมาร์ค สเปน ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ค นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ หรือ อังกฤษ ระหว่างวันที่ ๙  มิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕ ถึงวันที่ ๒๘  เมษายน ค.ศ.๒๐๐๘/พ.ศ.๒๕๕๑ – ให้เสียสัญชาติเบลเยี่ยม (๓) ส่วนคนชาติเบลเยี่ยมที่ได้สัญชาติอื่นหลังวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๘/พ.ศ.๒๕๕๑—ไม่เสียสัญชาติ และ (๔) แต่ยังมีกรณีคนชาติเบลเยี่ยมที่เกิดต่างประเทศก่อนวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๑๙๖๗/พ.ศ.๒๕๑๐ และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ ๑๘ – ๒๘ ปี และไม่เคยแสดงเจตนากับสถานทูตเบลเยี่ยมว่า ขอถือสัญชาติเบลเยี่ยมต่อ และมีสัญชาติอื่นอยู่แล้ว ก็จะเสียสัญชาติ  อาจจะพอสรุปได้ว่า ประเทศเบลเยี่ยมเพิ่งยอมรับให้มีการถือสองสัญชาติ หลังวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕

ในที่สุด ก็ขอแนะนำให้ไปหารือสถานกงสุลเบลเยี่ยมประจำประเทศไทย กฎหมายสัญชาติมีความละเอียด ซับซ้อน และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ควรหารือกงสุลเบลเยี่ยมประจำประเทศไทย จะเป็นข้อมูลที่ใช้ได้มากที่สุด

6.  ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติไทยนั้น การสละสัญชาติเป็น “สิทธิ” ค่ะ มิใช่ “หน้าที่” และหากบุตรจะใช้สิทธิสละสัญชาติไทยโดยไม่ยอมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทัดทานได้เลย ก็ต้องสละสัญชาติในระหว่างที่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบรูณ์ และไม่เกิน ๒๑ ปีบริบูรณ์ แต่หากจะสละสัญชาติไทยตั้งแต่ ๒๑ ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็อาจไม่อนุญาตค่ะ เมื่อท่านผู้นี้ไม่อนุญาต บุตรของคุณก็จะต้องถือสิทธิในสัญชาติไทยต่อไปค่ะ

7.  การสละสัญชาติไทยในกรณีแรก เป็นไปตามมาตรา ๑๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมถึง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า

“ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและได้สัญชาติของบิดาหรือมารดาด้วยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตาม มาตรา ๑๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๒/๑ (๒) และ (๓)  ถ้ายังประสงค์จะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไป ให้แสดงความจำนงสละสัญชาติไทยตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง[3]ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์

เมื่อได้พิจารณาความจำนงดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีหลักฐานเชื่อถือได้ว่าผู้นั้นอาจถือสัญชาติของบิดาหรือมารดาหรือสัญชาติอื่นได้จริง ก็ให้รัฐมนตรีอนุญาต เว้นแต่ในระหว่างประเทศไทยมีการรบหรืออยู่ในสถานะสงคราม รัฐมนตรีจะสั่งระงับการสละสัญชาติไทยรายใดก็ได้

8.  การสละสัญชาติไทยในกรณีที่สอง เป็นไปตามมาตรา ๑๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า

“นอกจากกรณีตามมาตรา ๑๔ ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทยให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง[4]

การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้สละสัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี

9.  การสละสัญชาติไทยในทั้งสองกรณีจะมีผลเฉพาะตัวและในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นไปตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “การได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๒/๑ การเสียสัญชาติไทยตามหมวด ๒ หรือการกลับคืนสัญชาติไทยตามหมวด ๓ ให้มีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัว”

10.  ด้วยข้อเท็จจริงที่คุณให้มา เราอาจมีคำตอบให้ได้เพียงนี้

11.  ขอมวลมิตรโปรดเพิ่มเติมข้อความรู้เพื่อคุณจีจี้ได้เลยค่ะ



[1] https://www.facebook.com/archanwell/posts/10151761451856425 <วันพุธที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>

[2] http://diplomatie.belgium.be/en/services/services_abroad/nationality/loss_and_re-acquisition/loss/<วันพุธที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>

[3]ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและได้สัญชาติของบิดาหรือมารดาด้วยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตาม มาตรา ๑๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๒/๑ (๒) และ (๓)  ชายหรือหญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าว ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้ดำเนินการยื่นคำขอตาม ข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๑๐) ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ออกตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘

[4]ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้ดำเนินการยื่นคำขอตาม ข้อ ๗ แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๑๐) ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ออกตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘


หมายเลขบันทึก: 542675เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท