สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

คุณครูศตวรรษใหม่ "หัวใจ" ต้องพอเพียง


“มนุษย์จัดการได้หมดในเรื่องเทคโนโลยี แต่สิ่งที่มนุษย์ยังจัดการไม่ได้ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น อยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรม อยู่กันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจัดการไม่ได้ แสดงว่าตัวขับสำคัญๆ คือ "ความโลภ" นี่มันสุดยอด เล่นกับมันยาก ไม่ง่าย"เศรษฐกิจพอเพียง" ตีเข้าไปที่จุดนี้เลย ตีไปที่เรื่องความโลภ เราจะทำอย่างไรที่จะอยู่กับเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ไม่เน้นไปที่ความโลภเป็นตัวตั้ง”


       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่ปวงชนชาวไทยได้น้อมนำเป็น “หลักคิด หลักการใช้ชีวิต” มานานกว่าสองทศวรรษแล้ว แต่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจแจ่มชัด ... บ้างเข้าใจเพียงว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือ การอดออม บ้างก็พูดไปถึงการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตร


       แต่จริงๆ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” ที่เป็น“สากล”สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับ “ทุกเรื่อง” เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล มีความสุข ...


       และว่ากันว่า "วิถีชีวิตบนความพอเพียง" นี้เองจะเป็นหนึ่งใน “ทางออก” ของ “ทางตัน” ของโลกใน ศตวรรษที่21 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ !


       ที่นับวันจะยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เร็วขึ้น ทั้งในทางที่ดีด้วยปริมาณข้าวของเครื่องใช้จำนวนมากที่เข้ามาอำนวยความสะดวก การติดต่อสื่อสารไร้พรมแดน ระบบการผลิตที่ใช้พลังงานเป็นตัวผลักดันให้เรามีกินมีใช้ได้เหมือนไม่มีวันหมดฯลฯ


       แต่หากรู้ไม่เท่าทัน ก็ยากนักที่จะรับมือกับ “ผลกระทบด้านลบ” ที่มีมากมายเป็นเงาตามตัว ทั้งปัญหามลพิษ การร่อยหรอลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีที่เลือนหาย ตลอดไปจนถึงความเสื่อมโทรมของระบบคุณค่า คุณธรรม และจริยธรรมในใจคน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพชีวิต ความสุข และ ความทุกข์ ของคน “ทุกคน” ในท้ายที่สุด     

       การประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ซึ่งจัดมาจนถึงรุ่นที่ 5 คือส่วนหนึ่งจากหลายๆ ความพยายามของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ล้วนมุ่งตอบคำถามที่ว่า “ทำอย่างไร” ที่เราจะเผยแพร่ หลักคิด – หลักปฏิบัติแห่งความพอเพียง อันเปรียบเสมือน หางเสือบังคับทิศ และกระตุกเตือนสังคม ได้อย่างทันท่วงที

       โดยการอบรมคณะผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูที่มีศรัทธาในหลักปรัชญาฯ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และร่วมกันครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งจนตกผลึกถึงคุณค่าและความหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมดุล มีความสุข และเป็นมิตรกับโลกใบนี้


       จากนั้นจึงเข้ามาร่วมกันเป็นพลังที่จะช่วยกันคัดสรรหลากหลายวิธีการ “จัดการเรียนการสอนอย่างไร” ที่เราจะบ่มเพาะ “อุปนิสัยพอเพียง” ลงในเนื้อในตัวให้แก่ลูกศิษย์ ซึ่งเป็นเยาวชนอนาคตของชาติตามบริบทการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยมีโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา และสถานศึกษาพอเพียง โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นหัวจักรขับเคลื่อนขยายผลสู่โรงเรียนข้างเคียง และชุมชน

อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์


       “มนุษย์จัดการได้หมดในเรื่องเทคโนโลยี แต่สิ่งที่มนุษย์ยังจัดการไม่ได้ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น อยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรม อยู่กันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจัดการไม่ได้ แสดงว่าตัวขับสำคัญๆ คือ "ความโลภ" นี่มันสุดยอด เล่นกับมันยาก ไม่ง่าย"เศรษฐกิจพอเพียง" ตีเข้าไปที่จุดนี้เลย ตีไปที่เรื่องความโลภ เราจะทำอย่างไรที่จะอยู่กับเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ไม่เน้นไปที่ความโลภเป็นตัวตั้ง”


       อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นักวิชาการด้านการคิดเชิงระบบ (System Thinking) และวิทยากรหลักของการอบรมฯ ชวนผู้เข้าร่วมการอบรมขบคิด และเชื่อมโยงตนเองเข้ากับโรงเรียน ชุมชน สังคมไทย และสังคมโลก

       อ.ชัยวัฒน์ แนะว่าวิธีการออกจากวิกฤติของโลกในยุคใหม่นี้จะไม่มีทางให้เลือกมากนักนอกจากการหันวิถีการผลิต วิถีการใช้ชีวิต และนิยามทฤษฎีว่าด้วยการสร้างความมั่งคั่งของชาติเสียใหม่ ที่ไม่ใช่การเน้นทางวัตถุแบบทุนนิยมดั้งเดิมอีกต่อไป เวลานี้ก็มีบางกลุ่มที่จับประเด็นนี้ขึ้นมาแล้ว เน้นไปที่ Gross National Happiness แทนที่จะเป็น Gross Domestic Product ที่เน้นการผลิตทางวัตถุเป็นตัวตั้งของความเจริญ


        โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของสภาวะจิตใจของมนุษย์ที่จะมองเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเอง กับคนอื่น และ ตนเองกับโลก


       “แน่นอนว่ากระแสเหล่านี้เพิ่งเกิดมาเมื่อประมาณสิบกว่าปี มันยังต้องใช้เวลาอีกประมาณสามสิบถึงสี่สิบปี ทฤษฎีและความเชื่อเหล่านี้จึงจะขยายผล ดังนั้นสิ่งที่เราทำมันจะไม่สำเร็จทันทีทันใดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นกระแสอันหนึ่ง ซึ่งเป็นกระแสของโลก เพราะโลกใบนี้มันไม่มีทางเลือกอีกแล้ว"


       นอกจากนี้ อ.ชัยวัฒน์ ยังได้ชวนคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนพอเพียงแต่ละแห่งสร้างวิสัยทัศน์ร่วมที่มีชีวิตชีวา ผู้บริหารและครูมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงมองภาพอนาคตของโรงเรียนเชื่อมโยงบริบทใหม่ของสังคมโลก พร้อมตั้งคำถามชวนคิดว่าจะมีแนวโน้มด้านบวกและด้านลบอะไรบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน รวมถึงการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน


       “ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องBalance กันระหว่างวัตถุและจิตใจ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเขายังไม่มีเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนเรา ผมว่าเราสามารถจะเป็น "หลัก" ที่สำคัญในอาเซียนด้วยก็เป็นได้ สิ่งที่เราทำ ถ้าเราดูแลมันดีๆ เห็นคุณค่ากับมัน เท่ากับว่าเรากำลังสร้างอนาคตของสังคมไทย ที่เป็นแบบอย่างที่ดีอันหนึ่งในอาเซียน


       อ.ชัยวัฒน์ แนะนำว่า จากโอกาสและความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ละโรงเรียนจึงต้องวางแผนรองรับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ โดยใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือช่วยให้ก้าวผ่านอุปสรรคปัญหา และเปิดรับโอกาสใหม่ที่เข้ามาท้าทาย ที่สำคัญคือการปลูกฝังหลักความพอเพียงสร้างภูมิคุ้มกันแก่ลูกศิษย์สามารถใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ผลลัพธ์ของการอบรมนี้ ทำให้แต่ละโรงเรียนได้แผนการพัฒนาโรงเรียนบนวิถีความพอเพียงและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกกลับไปปรับใช้ยังโรงเรียนต่อไป 

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร

       คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จต้องขึ้นอยู่กับโรงเรียนแต่ละโรงเรียนได้เห็นความสำคัญ และหลอมรวมใจบุคลากรเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการระเบิดจากภายใน จากทั้งของผู้บริหารโรงเรียน และคุณครู ที่มีหัวใจของความเป็นครู และมีความรับผิดชอบต่อนักเรียน ซึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิฯ จัดขึ้นนี้ จะทำให้ผู้บริหารและครูบรรลุเป้าหมายดังกล่าว


       “เรามีความหวังและมีความเชื่อว่าคุณครูของเรามีสำนึกของความเป็นครู แต่เขาขาดเพื่อนร่วมทาง ขาดเครือข่ายที่ดี ในโลกที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มูลนิธิสยามกัมมาจลอาสาเข้าไปสนับสนุนในจุดนี้ เพื่อให้คุณครูได้มีเครื่องมือใหม่ๆ ไว้ใช้ในการทำงาน และมีเครือข่ายการทำงานที่แข็งแรง”คุณปิยาภรณ์ กล่าว


       ที่ผ่านมา นอกจากการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสถานศึกษาฯ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องแล้ว มูลนิธิสยามกัมมาจลยังได้ขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ โครงการค่ายอบรมและแข่งขันการออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง โครงการเรื่องเล่าเศรษฐกิจพอเพียง ปีที่ 1 และปีที่ 2 การจัดงานตลาดนัดความรู้ เครือข่ายการเรียนรู้สู่ความพอเพียง ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดเยาวชนในโครงการฯ ใน ค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้อ.ฤทธิชัย วิเศษชาติ


       ส่วนผลของการจัดการอบรมครั้งล่าสุด อ.ฤทธิชัย วิเศษชาติโรงเรียนบ้านเป้าวิทยา จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากการอบรมซึ่งตนประทับใจมาก คือ “กระบวนการเล่าเรื่อง” ที่ทำให้เราได้ย้อนคิดทบทวนตัวเองอย่างลึกซึ้งตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เมื่อเล่าเรื่องของตัวเองเสร็จก็เปิดใจรับฟังเรื่องราวของผู้บริหารและเพื่อนครูในโรงเรียน ทำให้เราได้เข้าไปรับรู้ถึงสภาวะจิตใจของเขา เชื่อมโยงและหลอมรวมเรื่องราวชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนภาพฝันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนจนเป็นภาพๆ เดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก


       นอกจากนี้ยังทำให้ตนตกผลึกความคิดที่ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จ หน่วยเล็กๆ คือ เราทุกๆ คนล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ต้องหลอมรวมพลังเข้าด้วยกันให้ได้อย่างแท้จริง เมื่อกลับไปที่โรงเรียนแล้วก็จะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อผู้บริหาร และเพื่อนครูด้วย

ว่าที่ ร.ต. บำรุง นอบน้อม
       ด้าน ว่าที่ ร.ต.บำรุง นอบน้อม ครูแกนนำเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี สะท้อนว่า สิ่งที่ตนได้รับจากการอบรมคือ “แรงบันดาลใจ” เพราะเป็นกุญแจสำคัญผลักดันให้เราประสบความสำเร็จได้เสมอๆ


       "ผมเชื่อว่าพวกเราที่เป็นครูทุกคนคิดตรงกันว่าเราไม่ต้องการอะไรจากโรงเรียน เพราะถ้าคนเป็นครูอยากได้อะไรจากโรงเรียนแล้วทุกคนจะแกะเอาไปหมด และโรงเรียนจะเหลือแต่ซาก เพราะโรงเรียนต้องพึ่งครู ถ้าครูทำตัวเป็นที่พึ่งให้โรงเรียนได้ โรงเรียนของเราก็จะรอดและยั่งยืน ผมหวังว่าหลังจากกลับไปวันนี้พวกเราจะกลับไปทำให้เกิดครูที่เป็นปลาว่ายทวนน้ำที่โรงเรียนเยอะๆ เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล และ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่ทำให้ผมมีพลังในการทำงานชิ้นนี้มากขึ้น"


       ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ และเห็นเป้าหมายเดียวกันของครู ผู้บริหารโรงเรียน มูลนิธิสยามกัมมาจล ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะเผยแพร่หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงสู่เยาวชนของเราอย่างทั่วถึง เชื่อว่า สังคมไทยจะอยู่รอดปลอดภัยในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง “ศตวรรษที่ 21” อย่างแน่นอน #



ขอบพระคุณภาพประกอบบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 542448เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2013 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2013 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอชื่นชนการทำงานของ SCB ที่ทำให้ครูได้พัฒนาอยู่บนความพอเพียง

ไม่ได้เห็นอาจารย์ชัยวัฒน์นานมากๆแล้วครับ

ขอบคุณเนื้อหาสาระดีๆที่นำมาฝากกันค่ะ...

.... ปรัชญา นี้ ใช้ได้ตลอดกาล นะคะ ..... ขอบคุณมากค่ะ


สวัสดีครับพี่ใหญ่ และ อ.ขจิต และ Dr.Ple

อ.ชัยวัฒน์ ท่านกรุณามา Workshop ให้มูลนิธิฯ ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อยๆ เลยหล่ะครับ :)

ขอให้เป็นเช่นนั้นจริงครับ ;)...

...ขอเป็นกำลังใจให้สังคมไทยจะอยู่รอดปลอดภัยในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง “ศตวรรษที่ 21” นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท