ลมหายใจ (นิตยสารสารคดี ฉบับ 340 เดือนมิถุนายน 2556)


ลมหายใจ

ไม่แน่ใจว่าคุณผู้อ่านเคยฝึกนั่งสมาธิกันมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าปัจจุบันมีผู้คนมากทีเดียวหันมาสนใจการปฏิบัติสมาธิภาวนาตามวัดวาอารามต่างๆ  ที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “ไปปฏิบัติธรรม” มีสำนักอาจารย์มากหลาย หลักสูตรมากมาย ๑ วัน ๒ วัน หรือเป็นสัปดาห์ ให้เลือกตั้งแต่แบบพื้นฐานไปถึงขั้นสูง

  ถ้าใครยังไม่เคยสนใจ หรือที่ผ่านมาได้แต่อ่านหนังสือธรรมะกล่อมเกลาจิตใจ 

  ผมคิดว่าการฝึกทำสมาธิก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจัดเวลาชีวิตในแต่ละวันให้สักหน่อย

  อย่างพื้นๆ การฝึกสมาธิช่วยลดระดับความคิดที่มักฟุ้งซ่าน เคร่งเครียด หรือวุ่นวายสับสนอยู่ตลอดทุกวินาที ให้เกิดความสงบและผ่อนคลายลงสักช่วงระยะเวลาหนึ่งบ้าง ซึ่งเป็นภาวะที่ดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ 

  อย่างสูงๆ สำหรับบางคนก็มุ่งหวังถึงขั้นบรรลุธรรม หลุดพ้นสิ้นเชิงจากความทุกข์ทั้งปวง

  ว่ากันว่าวิธีฝึกสมาธิ พระพุทธเจ้าแจกแจงไว้ถึง ๔๐ วิธีให้เหมาะแก่อุปนิสัยหรือจริตของแต่ละคน  แต่วิธีที่ค่อนข้างนิยมโดยทั่วไป คือการติดตามลมหายใจ

  หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก บางสำนักก็มีคำภาวนาช่วยกำกับไปพร้อมกับจังหวะการหายใจเข้าหายใจออก เช่น  “พุท-โธ” “พองหนอ-ยุบหนอ” “สัมมา-อะระหัง” ฯลฯ บางสำนักก็ไม่ให้มีคำภาวนาใดๆ แล้วแต่แนวทางซึ่งอาจถือเป็นเรื่องปลีกย่อย 

  เพราะทุกวิธีมุ่งพาเราไปสู่สภาวะที่ความคิดซึ่งปรกติเคยผุดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมาในหัวสมองค่อยๆ หยุดนิ่งลง และหายตัวไปในที่สุด เหลือเพียงเรากับลมหายใจ ณ ชั่วขณะนั้น

  ในทางวิทยาศาสตร์ เริ่มมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาศาสตร์เก่าแก่ของโลกตะวันออกนี้ และชี้ว่าการทำสมาธิช่วยพัฒนาสมองและอารมณ์ได้อย่างเห็นผลจริง

  สังเกตง่ายๆ เวลาเกิดอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ วิธีระงับความโกรธที่ได้ผลคือการสูดลมหายใจเข้าออกยาวๆ

ลมหายใจจึงถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างร่างกายและจิตใจ  

และยิ่งกว่านั้น เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยลมหายใจ  หมดลมหายใจคือหมดสิ้นสภาวะของการมีชีวิต

  สัตว์แทบทุกชนิดหายใจเพื่อเอาออกซิเจนในอากาศเข้าไปใช้เผาพลาญน้ำตาลให้เกิดเป็นพลังงานสำหรับใช้ในกิจกรรมทุกอย่างและรักษาอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสม

  ยิ่งต้องการพลังงานมาก เราก็ยิ่งต้องหายใจถี่ขึ้นเพื่อนำออกซิเจนเข้าไปให้เพียงพอ

  แต่การจับแยกออกซิเจนจากอากาศและขนส่งออกซิเจนไปให้ถึงเซลล์ทุกเซลล์เป็นหน้าที่ของฮีโมโกลบินในเลือด  

  หากขยายส่องดูฮีโมโกลบิน เราจะเห็นว่ามันประกอบขึ้นจากโครงสร้างที่เหมือนกัน ๔ ชิ้นต่อกันเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม เรียกว่า ฮีม (heme) และตรงใจกลางของฮีม คือที่ตั้งของธาตุเหล็ก ๑ อะตอม 

  ธาตุเหล็กนี่ละคือตัวจับออกซิเจน

  ในร่างกายคนเราซึ่งมีเลือดทั้งหมดประมาณ ๕ ลิตร จะมีเหล็กอยู่เพียง ๒.๕ กรัม

  คงไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่าชีวิตของเราขึ้นอยู่กับเหล็ก ๒.๕ กรัมนี้เท่านั้น

  แล้วออกซิเจนในอากาศและลมหายใจมาจากไหน

  คำตอบที่ (น่าจะ) รู้กันดี คือมาจากพืช พืชเป็นผู้สร้างออกซิเจนให้แก่โลกจากกระบวนการสังเคราะห์แสงด้วยคลอโรฟิลล์สีเขียว  

  เรื่องน่าประหลาดที่สุดคือ ฮีมและคลอโรฟิลล์นั้นมีโครงสร้างคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง  จุดแตกต่างสำคัญคือตรงกลางของฮีมเป็นธาตุเหล็ก ส่วนตรงกลางของคลอโรฟิลล์เป็นธาตุแมกนีเซียม

  นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าฮีมและคลอโรฟิลล์นั้นเคยมีบรรพบุรุษร่วมกันมาก่อนแต่ได้วิวัฒนาการแยกสายมาทำหน้าที่ซึ่งแตกต่างแต่มีความสัมพันธ์กันอย่างเหลือเชื่อ

  เมื่อพืชสังเคราะห์แสงด้วยคลอโรฟิลล์ปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาให้สัตว์หายใจเข้าไปใช้ด้วยฮีม สัตว์ก็หายใจออกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับสู่อากาศ ให้พืชใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง

วนเวียนเป็นวัฎจักรแห่งลมหายใจของสรรพชีวิตบนโลก

  แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ หากคุณรู้ว่า ธาตุเหล็กตรงกลางฮีมและแมกนีเซียมตรงกลางคลอโรฟิลล์ ไม่ใช่ธาตุที่ถือกำเนิดขึ้นได้เองบนโลก

  โลหะทั้งสองเกิดขึ้นเฉพาะในดวงดาวขนาดใหญ่ยักษ์เมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้าย และระเบิดออกปล่อยธาตุและโลหะไว้เป็นฝุ่นดาวกลางห้วงอวกาศ และเมื่อระบบสุริยะของเราถือกำเนิดขึ้นใหม่จากฝุ่นดาวเหล่านั้น จึงมีเหล็กและแมกนีเซียมมาปรากฏบนโลก 

  ทุกชีวิตบนโลกจึงเป็นส่วนหนึ่งของดวงดาวบนฟากฟ้า

  ....

  ครั้งหนึ่งกับการปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ ซึ่งเน้นการมีสติอยู่กับลมหายใจ  มีช่วงผ่อนคลายผู้เข้าปฏิบัติด้วยบทเพลงที่น่าประทับใจหลายเพลง แต่บทเพลงที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษนั้นมีบทร้องว่า

  “We are the leaf of one tree...

We are the wave of one sea...

We are the star of one sky...

The Time has come for all to live as one...”

  ลมหายใจอาจไม่เพียงเชื่อมโยงร่างกายและจิตใจของเรา แต่มันเชื่อมโยงเรากับทุกชีวิตและจักรวาล


บรรณาธิการบริหาร

    สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ


หมายเลขบันทึก: 542260เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2013 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2013 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท