เรียนรู้จากการกระทำ 4/2 ชาตรี สำราญ


การศึกษาต้องมองจากภายในสังคม – วัฒนธรรมก่อน แล้วจึงเรียนรู้เพื่อรู้จักโลกอันเป็นเรื่องภายนอกทางเศรษฐกิจ – การเมือง

บันทึกผลการเรียนรู้นี้คือ ตำราเรียนที่ผู้เรียนเขียน ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองการเรียนอย่างนี้แหละคือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูยุคใหม่

การเรียนรู้เรื่องราวจากชีวิตจริงแล้วสามารถนำมาเชื่อมโยงกับงานวิชาการได้ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกลึกๆคือ

1.เกิดคุณภาพทางปัญญาซึ่งเกิดขึ้นจากการได้ลงมือกระทำตามกระบวนการเรียนรู้แต่ละขั้นตอนภาพแห่งความรู้แจ้งจะเกิดขึ้นที่ละนิดๆสั่งสมไว้จนกระทั่งก่อตัวโพลงออกมา แบบว่ารู้แล้วๆ นั่นเองการเรียนรู้แบบนี้ผู้เรียนจะต้องคิดในเชิงวิจัย ซึ่งเป็นการคิดที่ลึกซึ้งถ้าผู้เรียนได้รับการฝึกฝนการคิดเชิงวิจัยอย่าง

ต่อเนื่องก็จะเกิดจิตวิจัยขึ้นมา เวลามองปัญหาต่างๆ ก็จะพิจารณาแก้ไขด้วยกระบวนการวิจัยมากกว่าใช้อารมณ์

2.จะเกิดทักษะกระบวนการในจิตใจ เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้จากชีวิตจริงฝึกปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นนิสัย ผู้เรียนก็จะเกิดทักษะทักษะการเรียนรู้คือ

- ทักษะการสังเกต

- ทักษะการศึกษาค้นคว้า

- ทักษะการบันทึกข้อมูล

- ทักษะการเปรียบเทียบ

- ทักษะการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์แปลความ ตีความ

- ทักษะการตรวจสอบข้อมูล

- ทักษะการนำเสนอข้อมูล

- ทักษะการรายงานผลการศึกษา

- ทักษะการรวบรวมข้อมูลการจัดการข้อมูล

3.จะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนรู้คือ จะเกิดทัศนะคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และเรื่องราวที่เรียนรู้

- จะเกิดความภูมิใจต่อบ้านเกิดรักบ้านเกิด

- จะเกิดความศรัทธาต่อผู้เฒ่าผู้แก่ภูมิปัญญาท้องถิ่น

- จะเกิดความรักต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น

- จะเกิดความภูมิใจต่อความสำเร็จในการศึกษาเรียนรู้ของตน

- จะเห็นคุณค่าของวิธีการเรียนรู้และจะนำใช้ต่อ

การเรียนรู้แบบนี้ผู้เรียนจะรู้จักตนเอง รู้จักรักถิ่นฐานบ้านเกิด รู้จักรากเหง้าของตน

  เมื่อเรียนรู้เรื่องราวของภาคอีสานจบลงแล้วก็ลองเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนในภาคอื่นบ้างและต่อไปก็เรียนรู้ชีวิตของคนในประเทศเพื่อนบ้านผ่านงานเขียน บทเพลง บทกวีที่เขาเผยแพร่ให้ได้เรียนรู้

  การจัดการเรียนรู้แบบนี้จะสอดรับกับแนวคิดของ รศ.ศรีศักรวัลลิโภดม ที่อ้างถึงใน สื่อพลังปีที่ 21 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2556ในเรื่องสู่สากลบนรากฐานความเป็นไทยก้าวไกลด้วยรากเหง้า (หน้า 43)ที่กล่าวว่า “การศึกษาที่คนทั่วไปเข้าใจมักเป็นเรื่องของเนื้อหาสาระ เทคนิคและวิธีการ ว่าคืออะไร และเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาการศึกษาต้องอยู่ในบริบททางสังคม (Social Context)เพราะการศึกษาเป็นระบบอย่างหนึ่งทางวัฒนธรรมของคนในสังคมหนึ่งๆเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นเหล่า นับแต่การอยู่ร่วมกับครอบครัวเครือญาติ จนถึงชุมชนตั้งแต่ระดับบ้านไปจนระดับเมือง เพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกันการศึกษาจึงนับเนื่องเป็นระบบหนึ่งทางวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

  การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้ได้ความรู้ในการดำรงชีวิตร่วมกันในบริบททางสังคมนั้นมี2 ประการ อย่างแรก เป็นการเรียนรู้ (Learning)สิ่งที่เป็นภายนอกในทางโลกในมิติของเศรษฐกิจและการเมือง อย่างหลังการอบรมสั่งสอน (Cultivation) เข้าใจเรื่องภายในที่เป็นทางธรรม ให้รู้จักตนเองและความเป็นมนุษย์ในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม

  การศึกษาที่สมบูรณ์แบบในโลกปัจจุบันนั้นต้องเป็นการศึกษาที่ทำให้คนรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้านและรักบ้านเกิดเมืองนอนก่อน แล้วจึงรู้จักโลก นั้นคือการศึกษาต้องมองจากภายในสังคม – วัฒนธรรมก่อนแล้วจึงเรียนรู้เพื่อรู้จักโลกอันเป็นเรื่องภายนอกทางเศรษฐกิจ – การเมือง

ชาตรี  สำราญ

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 541858เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...ติดตามอ่าน...เป็นบันทึกที่ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท