ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๗. ล่องหนหายตัว และเจ้าเล่ห์



          ผมเป็นแฟนหรือลูกค้าของ Amazon โดยเฉพาะ Kindle เพราะผมชอบอ่านหนังสือ  มีการอ่านหนังสือและจับคุณค่าเป็นงานอดิเรก  ดังนั้น เมื่อเห็นเรื่อง Amazon’s War on Taxesในนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๕๖ จึงสนใจเป็นพิเศษ

          อ่านแล้วจึงนึกขึ้นได้ว่า นี่คือเรื่องจริงของการล่องหนหายตัว ที่เราอ่านกันในนิยายจักรๆ วงศ์ๆ เป็นการล่องหนเพื่อเลี่ยงภาษี  ทำกันมากในวงการธุรกิจ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา  และในธุรกิจ ออนไลน์ 

          ที่จริงการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเก็บภาษีและฝ่ายเลี่ยงภาษีในธุรกิจ ออนไลน์ ภาษี มีมาตั้ง ๓๐ ปีแล้ว  ตั้งแต่เริ่มมีธุรกิจ ออนไลน์  และศาลตัดสินในปี พ.ศ.​๒๕๓๕ ว่า ให้ยึด physical presenceเป็นหลัก  หากบริษัททำธุรกิจออนไลน์ ไม่มีตัวตนที่จับต้องได้อย่างชัดเจน (substantial physical presence)  คือไม่มีร้านขาย หรือตัวแทนขาย ในรัฐนั้น ก็ไม่ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งให้แก่รัฐ

          ในปี ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่สอบบัญชีของรัฐ เท็กซัส ส่งหนังสือถึงบริษัท อะเมซอน ทวงภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจขายสินค้า ออนไลน์ แก่พลเมืองของรัฐ เป็นเวลา ๑๕ ปี  รวมค่าปรับ เป็นเงิน ประมาณ ๒๖๙ ล้านดอลล่าร์  เป็นการเปิดฉากการต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างสองยักษ์ใหญ่คือฝ่ายเก็บภาษี กับฝ่ายเสียภาษี

          ฝ่ายบริษัทอะเมซอนบอกว่า ตนไม่มีร้านจำหน่ายสินค้าใดๆ ในรัฐเท็กซัส  จึงไม่มี physical presence อยู่ในรัฐ ย่อมไม่ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า ส่งให้รัฐเท็กซัส  แต่จริงๆ แล้ว บริษัทฯ มีศูนย์กระจายสินค้าใหญ่โตมโหฬารพร้อมปักธง อะเมซอน อยู่ใกล้สนามบิน

          อ่านเรื่องราวยอกย้อน (ที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ) ในบทความนี้แล้ว  เห็นได้ชัดว่า บริษัทที่ทำธุรกิจแบบ ออนไลน์ ต่างก็ใช้ช่องได้เปรียบที่ไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นตัวเรียกลูกค้า  การอ้างความไร้ตัวตนในรัฐนั้นๆ ก็ไร้ตัวตนเฉพาะด้านการไม่จ่ายภาษีเท่านั้น  แต่ในเรื่องการกดดันและเจรจาต่อรองกับทางการของแต่ละรัฐ ที่เอาเรื่อง เขามีตัวตนสูงมาก  นอกจากนั้น บริษัทเองก็ต่อสู้กันเองในที  อย่างอะเมซอน ก็ต่อสู้กับ Barnes & Noble ที่ขายหนังสือเหมือนกัน   และขายแบบมีตัวตนสูงสุด คือมีร้านขายถึง ๑,๐๐๐ ร้าน ทั่วประเทศ   ซึ่งต้องใช้กลเม็ดแยกส่วนที่ขายทาง ออนไลน์ ไปเป็นอีกบริษัทหนึ่งต่างหาก  จึงเห็นความไม่ตรงไปตรงมา ของบริษัทธุรกิจทั้งหลาย 

          แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นถึงหนึ่งในสามของรายได้ของรัฐต่างๆ  จึงมีการรวมตัวกันหาวิธีเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ของกิจการธุรกิจ ออนไลน์  ในบทความมีรายละเอียดมาก สรุปได้ว่า ไม่สำเร็จ  เพราะต้องลงรายละเอียดของชนิดสินค้า  ทำให้ อะเมซอน ปลอดภาษีมูลค่าเพิ่มมา ๑๕ ปี  โดยในช่วงนั้นได้ใช้สารพัดเล่ห์กล เพื่อดำรงสภาพนี้ 

          ในที่สุดสนามรบก็ซับซ้อนขึ้นมาก  ไม่ได้มีแค่ ๒ ฝ่าย  แต่เพิ่มเป็น ๓ ฝ่าย  คือ อะเมซอน ต้องสู้ศึก ๒ ด้าน  เพราะบริษัทขายสินค้ายักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ขายในร้านชักจะโดนส่วนแบ่งตลาดไปมาก  ด้วยการที่อะเมซอนได้เปรียบราคา จากการไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  ออกมาร่วมรบด้วย 

          เมื่ออะเมซอนถูกรุม ก็ต้องหาวิธีรอมชอม ผสมกับการต่อสู้ขู่เข็ญ  ด้วยการใช้อาวุธของซุนวู  คือ “รู้เขา รู้เรา”  รู้ว่ารัฐต่างๆ ต้องการการลงทุน และต้องการตำแหน่งงานให้พลเมืองในรัฐ  รัฐไหนเข้มงวดไม่เจรจา ไม่เอื้อเฟื้อ ก็ขู่จะถอนตัวออกไป  จนถึงกับเคยมีสภาของรัฐต้องเปลี่ยนมติ

          ผมติดใจมาก ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในสหรัฐอเมริกา มีอำนาจตัดสินใจสูง และได้รับความไว้วางใจ จากสาธารณชนถึงขนาดนั้น  คืออธิบดีกรมสรรพากรของรัฐเท็กซัส ชื่อ Susan Comb สามารถเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับบริษัท อะเมซอน  แลกเปลี่ยนการไม่เก็บภาษีและค่าปรับย้อนหลัง  ๒๖๙ ล้าน ดอลล่าร์  กับการที่ อะเมซอน ยอมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ๘.๒๕% จากลูกค้าในรัฐเท็กซัส ส่งให้แก่ทางการทันที  และสัญญาว่าจะลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค่ามูลค่า ๒๐๐ ล้านเหรียญ  ซึ่งจะสร้างงานไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ตำแหน่ง  ผมคิดว่า สภาพนี้หากเกิดขึ้นในประเทศไทย  เราจะสงสัยว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมือง ได้ค่าเก๋าเจี๊ยะไปเท่าไร

          เล่ห์กลของ อะเมซอน คือพยายามยืดช่วงเวลาที่ไม่ต้องเสียภาษีออกไปให้มากที่สุด  และหาทางร่วมมือ ในลักษณะที่ อะเมซอน ได้ผลประโยชน์สูงสุด  ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความ  สะท้อนความฉลาดแบบเจ้าเล่ห์ ของ อะเมซอน อย่างสุดๆ  คือเขาร่วมมือกับคู่อริตัวยง คือรัฐเท็กซัส  จน ๓ เทศบาลในเท็กซัส ที่ศูนย์กระจายสินค้าของ อะเมซอน ตั้งอยู่  และอะเมซอน เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มส่งให้  รู้สึกขอบคุณ จนยินดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวในสัดส่วนที่สูง คือเทศบาลหนึ่งคืนร้อยละ ๘๕  ผู้เขียนบทความชี้ว่า เท่ากับ อะเมซอน มีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ลูกค้าของ อะเมซอน เองเป็นผู้จ่าย

          ต้องอ่านบทความนี้เองนะครับ  จึงจะได้รสชาติ  มีสาระรายละเอียดมากมาย



วิจารณ์ พานิช

๒ มิ.ย. ๕๖ 


 


หมายเลขบันทึก: 541854เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท