กฎหมายโทรคมนาคม 5


๔.๓.๓ การจัดรูปแบบการบริหารจัดการภายในองค์กรกำกับดูแล 

การจัดรูปแบบการบริหารจัดการภายในองค์กรกำกับดูแล  

                  รูปแบบการบริหารจัดการองค์กรกำกับดูแลมีหลากหลายวิธี อย่างไรก็ดี ไม่สามารถสรุปได้ว่าวิธีการใดเป็นวิธีการที่ดีที่สุดหรือมีประสิทธิภาพมากที่สุดเนื่องจาก ในแต่ละประเทศมีการบริหารจัดการกิจการภายขององค์กรมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น โครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมการทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร เป็นต้น และการบริหารจัดการกิจการภายในขององค์กรกำกับดูแลที่มีโครงสร้างแบบคณะกรรมการย่อมแตกต่างจากองค์กรกำกับดูแลที่มีโครงสร้างแบบองค์กรเดี่ยวหรือการบริหารจัดการกิจการภายในขององค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนย่อมมีความแตกต่างจากองค์กรกำกับดูแลเฉพาะภาคส่วน อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการบริหารจัดการกิจการขององค์กรจะเป็นรูปแบบใด ทุกรูปแบบใดก็จะมีลักษณะบางประการที่เหมือนกัน ดังนี้

๏  การกำกับดูแลที่ดีจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่มีลักษณะผสมผสานกันหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย บัญชี การเงิน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นในการพิจารณาข้อพิพาทหรือการออกคำสั่งใด ๆ หากพิจารณาโดยอาศัยความรู้และประสบการณ์จากหลายสาขาอาชีพมักจะเป็นที่ยอมรับได้ง่าย

๏  การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลในระยะเริ่มแรกมักจะขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ ซึ่งองค์กรกำกับดูแลควรจะมีนโยบายนำผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์จากภาคเอกชนหรือจากหน่วยงานอื่นของรัฐมาช่วยทำงานในระยะเริ่มแรกและบางประเทศมีนโยบายที่รับผู้ที่มีความรู้พร้อมประสบการณ์เข้ามาทำงานในองค์กรโดยการบรรจุเป็นพนักงานประจำและเสนอค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่มีมูลค่าสูง ขณะที่การทำงานบางประเภทสามารถว่าจ้างภาคเอกชนให้เข้ามาทำงานแทนได้ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นผลดีกว่าการว่าจ้างพนักงานประจำที่มีผลเป็นการเพิ่มขนาดขององค์กรและทำให้จำนวนพนักงานเพิ่มมากขึ้น เช่น องค์กรกำกับดูแลแห่งประเทศอาร์เจนตินาว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบในการใช้คลื่นวิทยุของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบกิจการก็สามารถให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยองค์กรกำกับดูแลก็สามารถสงวนอำนาจในการพิจารณาหรือในการออกคำสั่งในขั้นตอนสุดท้าย

๏  การบริหารจัดการกิจการภายในขององค์กรกำกับดูแลไม่ควรจะกำหนดลำดับสายการบังคับบัญชาที่เข้มงวดมากเกินไป เนื่องจากลักษณะพื้นฐานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น องค์กรกำกับดูแลซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลและติดตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงควรจะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมด้วย:ซึ่งสายการบังคับบัญชาที่เข้มงวดมากเกินไปอาจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว

                      จากบทเรียนในหลายประเทศพบว่าองค์กรกำกับดูแลที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมักจะมีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับคำวินิจฉัยหรือคำสั่งต่าง ๆ ขององค์กรโดยลักษณะเด่นของทีมเฉพาะกิจคือการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นสมาชิกของทีมได้ง่ายเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละครั้ง

                    อย่างไรก็ดี แนวคิดในการให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการให้บริการกิจการโทรคมนาคมและรัฐทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น พึ่งจะได้รับความแพร่หลายในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการแยกส่วนระหว่างนโยบายโทรคมนาคม การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและการให้บริการโทรคมนาคมออกจากกัน และได้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการแปรรูปกิจการโทรคมนาคมโดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลเหล่านั้นก็เพื่อการกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายโทรคมนาคมที่รัฐต้องการ

                     ในทางกลับกัน หากการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมเป็นไปในรูปแบบที่ถูกผูกขาดโดยภาครัฐก็ไม่มีความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลแต่อย่างใดเนื่องจากตัวผู้กำหนดนโยบาย และตัวผู้ให้บริการเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่หากผู้ประกอบกิจการเป็นเอกชนและเป็นผู้ผูกขาดการบริการกิจการโทรคมนาคมก็จำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้นเนื่องจากตัวผู้กำหนดนโยบายและตัวผู้ให้บริการมิใช่เป็นบุคคลคนเดียวกัน

๔.๓.๔ การจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรกำกับดูแล

การจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรกำกับดูแล

            การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรกำกับดูแลจำเป็นจะต้องได้รับงบประมาณที่มีจำนวนเพียงพอสำหรับการว่าจ้างพนักงานที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์เพื่อจะได้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร ในทางกลับกันการขาดแคลนงบประมาณที่เพียงพออาจจะกลายเป็นสาเหตุหลักที่ให้การกำกับดูแลล้มเหลวหรือด้อยประสิทธิภาพได้และจะมีผลให้การเปิดเสรีตลาดโทรคมนาคมล้มเหลวตามไปด้วยซึ่งรูปแบบการจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรกำกับดูแลสามารถมีดังนี้

การจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรกำกับดูแลโดยผ่านงบประมาณของแผ่นดิน

            งบประมาณขององค์กรกำกับดูแลอาจจะได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายของประเทศเฉกเช่นเดียวกันกับหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสถานะขององค์กรกำกับดูแลถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานของรัฐบาลก็มักจะได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยวิธีการดังกล่าวนี้ เช่น องค์กรกำกับดูแลเป็นแผนกหนึ่งในกระทรวงหรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐวิสาหกิจของรัฐเป็นต้น

การจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรกำกับดูแลโดยอาศัยเงินจากค่าธรรมเนียมการอนุญาตและค่าธรรมเนียมในการใช้คลื่นความถี่

             การจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรกำกับดูแลโดยวิธีนี้เป็นวิธีการกระจายต้นทุนในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไปยังผู้ประกอบกิจการทุกรายที่อยู่ในตลาดโทรคมนาคมตามสัดส่วนของรายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ประกอบกิจการแต่ละราย โดยองค์กรกำกับดูแลจะคิดคำนวณค่าธรรมเนียมการอนุญาตและค่าธรรมเนียมในการใช้คลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายรายปีในการดำเนินงานขององค์กร เช่น ระยะแรกที่มีการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม ผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในตลาดอยู่ก่อนแล้วและครองตลาดในสัดส่วนร้อยละ ๙๐ ของส่วนแบ่งตลาดจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงถึงร้อยละ ๙๐ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงานขององค์กรกำกับดูแลแต่เมื่อมีการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมมากขึ้นและจำนวนผู้ประกอบกิจการรายอื่นในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น ค่าธรรมเนียมที่จ่ายโดยผู้ประกอบกิจการรายดังกล่าวก็จะลดลงตามส่วนแบ่งตลาดที่เสียไป

            ข้อดีของการจัดสรรงบประมาณขององค์กรกำกับดูแลโดยอาศัยเงินจากค่าธรรมเนียมการอนุญาตและค่าธรรมเนียมในการใช้คลื่นความถี่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่างบประมาณที่ได้รับจะครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมดขององค์กรและเพียงพอต่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังสามารถมั่นใจได้ว่างบประมาณดังกล่าวจะไม่ขัดข้องหรือถูกตัดทอนลงหากรัฐบาลประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายขององค์กรกำกับดูแลก็ไม่เป็นภาระสำหรับภาคส่วนอื่น ๆ ของประเทศ และเป็นไปตามหลัก “User pay” คือ “ผู้ที่ใช้บริการองค์กรกำกับดูแลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย”

๔.๓.๕ ความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม

หลักความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล 

             ความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนโยบายการแข่งขันเสรี เนื่องจาก ความเป็นอิสระที่แท้จริงย่อมก่อให้เกิดความเป็นกลางในการทำงานและสามารถสร้างแนวป้องกันจากแรงกดดันทางการเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะที่ตลาดโทรคมนาคมมีผู้ประกอบกิจการของรัฐทำการแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการของเอกชนซึ่งในสภาวการณ์ดังกล่าวความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลและพฤติกรรมที่แสดงถึงความเป็นกลางย่อมสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในตลาดและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้

              การแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างองค์กรกำกับดูแลกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมออกจากกันสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการในระบบตลาดได้เป็นอย่างดีและทัศนะส่วนใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญในกิจการโทรคมนาคมต่างเห็นพ้องกันว่า “ความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาล” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแล อย่างไรก็ดี ระดับความเป็นอิสระดังกล่าวอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ระบบกฎหมาย โครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างขององค์กร เป็นต้น ดังที่เห็นได้จากบางประเทศที่คณะทำงานขององค์กรกำกับดูแลได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลหรือได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง ดังนั้น จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าองค์กรกำกับดูแลกับรัฐบาลมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน แม้ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะมิใช่เป็นความสัมพันธ์โดยตรงในฐานะองค์กรบังคับบัญชา แต่รัฐบาลก็อาจจะใช้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงทางอ้อมต่อการทำหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลได้

ความหมายของ การกำกับดูแลที่เป็น “อิสระ” (The Meaning of “Independent” Regulation) 

                 ความเป็น “อิสระ” ในการทำงานตามที่ปรากฏในบริบทของการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคม มักจะมีความเข้าใจที่สับสนอยู่บ้างกับความเป็น “อิสระ” ในองค์กรอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ความเป็น “อิสระ” หมายถึง เป็นอิสระจากนโยบายของรัฐบาลหรือเป็นอิสระจากการตัดสินใจของผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องเคารพนโยบายของรัฐบาลหรือไม่เคารพการตัดสินใจของผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ก็ได้

               อันที่จริงแล้ว ความเป็น “อิสระ” ในบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หมายถึงการดำเนินตามนโยบายของรัฐอย่างเป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมืองหรือจาก lobbyists ในอุตสาหกรรม ซึ่งความเป็นอิสระในการดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายของรัฐจะทำให้ การบริหารจัดการองค์กรมีลักษณะที่แตกต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเท่านั้น ทว่าองค์กรดังกล่าวก็ยังคงมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานของตนเช่นเดียวกันกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ

                 จากประสบการณ์ในหลายประเทศ พบว่าหากผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐถูกแทรกแซงการทำงานโดยฝ่ายการเมือง ผู้ให้บริการดังกล่าวจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สามารถตอบสนองอย่างเท่าทันต่อสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คณะผู้บริหารของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐควรจะได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการองค์กรของตน

                โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออุตสาหกรรมมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น  การบริหารจัดการก็จำเป็นจะต้องมีความเป็นอิสระและความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการจัดโครงสร้างโดยกำหนดให้ผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐเป็นอิสระจากรัฐบาลจึงเป็นการจัดรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงในตลาดโทรคมนาคมมากที่สุด และสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเหตุปัจจัยของหลายประเทศ ในการดำเนินนโยบายแปรรูปผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐให้มีลักษณะของการบริหารจัดการอย่างเอกชน

                  การจัดทำโครงสร้างการบริหารจัดการที่เป็นอิสระของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐให้พ้นจากการแทรกแซงทางการเมือง สามารถทำได้โดยการปฏิรูปโครงสร้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางการเมือง เช่น การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคณะผู้บริหารขององค์กร และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ความรับผิดชอบต่อรัฐบาล เป็นต้น แต่บางกรณี แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการแล้วก็ตาม แต่เนื่องด้วยความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างรัฐบาลกับผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐ รัฐบาลก็ยังอาจจะมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับองค์กรหรือยังสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องความรับผิดได้ แม้ว่าทางปฏิบัติจะไม่สามารถแทรกแซงการบริหารจัดการได้โดยตรงก็ตาม ดังนั้น  การตรากฎหมายโทรคมนาคมหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมจึงควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และอาจระบุวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการปฏิบัติของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐ และการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม

                 อันที่จริงแล้ว รัฐบาลสามารถสนับสนุนการบริหารจัดการที่เป็นอิสระของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐได้ทางอ้อม โดยวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐ ตามความเหมาะสมที่แท้จริงโดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือสนับสนุนโดย การที่รัฐบาลแต่งตั้งจำนวนผู้บริหารในองค์กรผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด หรือแต่งตั้งเพียงคนเดียวเพื่อทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการกำกับดูแลมีความมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น รัฐบาลอาจจะลดบทบาทของตนลงโดยไม่ แต่งตั้งผู้ใด ภายในคณะผู้บริหารของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐเลยก็ได้

               บางครั้งผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐ อาจจะดำเนินการโดยมุ่งเน้นทางด้านผลประกอบการมากกว่า การตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาในเรื่องการเข้าถึงโครงข่ายสำหรับการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม เป็นต้น หรือละเลยที่จะดำเนินการตามนโยบายสาธารณะ เช่น การจัดให้มีการบริการอย่างทั่วถึง เป็นต้น

               การจัดทำโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรกำกับดูแลเพื่อให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า การจัดทำโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐ  เนื่องจาก หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลคล้ายกันกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐบาลและอาจจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล เรื่องวิธีงบประมาณ และกระบวนการจ้างงาน เป็นต้น โดยอาจใช้วิธีการจัดทำรายงานและนำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อเปิดเผยความสัมพันธ์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรกำกับดูแลกับรัฐบาล หรือจัดทำรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรกำกับดูแล หรือรายละเอียดของระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ของ"คณะกรรมการ"  แต่ละคน เป็นต้น ซึ่งกลไกการเสริมสร้างความโปร่งใสดังกล่าว สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการรับประกัน “ความเป็นอิสระ” จากรัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นโดยปริยายต่อองค์กรกำกับดูแลจากแรงกดดันที่เกิดจากผลประโยชน์อันมหาศาลของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และจากอิทธิพลของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐ และจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้ป้องกันปัญหาอันเกิดจากความระบบการบริหารจัดการของอุตสาหกรรม  (industry capture) ได้

                 แม้ว่าองค์กรกำกับดูแลจะเป็นอิสระ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อรัฐบาล รับผิดชอบต่ออุตสาหกรรม และรับผิดชอบต่อประชาชน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสให้กับองค์กรกำกับดูแลมากที่สุด ซึ่งวิธีการสร้างความโปร่งใสและการสร้างความเชื่อมั่นขององค์กรกำกับดูแลอาจจะทำได้โดย การจัดทำรายงานประจำปีเพื่อรายงานประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล การจัดทำรายงานที่แสดงถึงบทบาทขององค์กรในอนาคตที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม  การเปิดเผยมาตรการและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรกำกับดูแล เป็นต้น นอกจากการจัดทำรายงานนำเสนอต่อสาธารณะดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น องค์กรกำกับดูแลยังสามารถสร้างความโปร่งใสในการทำงานได้ เช่น การกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในบริหารจัดการ การให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจขององค์กร การเปิดเผยคดีความที่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลและที่แล้วเสร็จ การจัดทำหลักเกณฑ์การเข้าถึงข้อมูลขององค์กร เป็นต้น ซึ่งวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างในการสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสให้กับองค์กรว่ามีความเป็นอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง

                  ความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลมีความสำคัญและเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความสำเร็จในการปฏิรูปอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เนื่องจากระยะเริ่มแรก เมื่อผู้ให้บริการรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่แปลงสภาพมาจากหน่วยงาน/องค์กรที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับทางการเมืองหรือกับทางราชการ ไปยังผู้ประกอบกิจการภายในตลาดโทรคมนาคมที่มีสถานะที่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบกิจการรายอื่นๆ และขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น การกำกับดูแลที่มีความโปร่งใสและเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยการกำกับดูแลก็จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมที่แท้จริงมิใช่เป็นการกำกับดูแลด้วยความลำเอียงหรือถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหรือจากกลุ่มอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 

                   ดังนั้น องค์กรกำกับดูแลจึงควรจะต้องมีอิสระตามสมควรในการกำหนดและปรับใช้นโยบายและสร้างแนวทางการทำงานขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งความเป็นอิสระขององค์กรจะเป็นเครื่องมือที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร และป้องกันการแทรกแซงจากทุกฝ่ายได้ และที่สำคัญเมื่อองค์กรกำกับดูแลมีอิสระมากขึ้นก็สมควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วนมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

                   แม้ว่าจะมีแนวคิดที่โต้แย้งว่า ความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล อาจจะกลายเป็นปัญหาในเรื่ององค์กรมีอำนาจในการกำกับดูแลที่มากเกินไปและมีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจ แต่ประสบการณ์ในปัจจุบัน เห็นได้ว่าการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา และสหราชอาณาจักรไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการป้องกัน  พฤติกรรมที่เป็นการต่อต้านการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการที่ครองส่วนแบ่งตลาดโดยส่วนใหญ่อยู่หรือในหลายประเทศ มักจะพบกับปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับนักการเมือง ดังนั้น หากพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปัจจุบัน พบว่าการกำกับดูแลที่เข้มแข็งก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เช่น การกำกับดูแลที่เข้มแข็งสามารถลดการแทรกแซงทางการเมืองได้ เป็นต้น อีกทั้ง การกำกับดูแลที่เข้มแข็งสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดโทรคมนาคมได้โดยตรง และจะมีผลต่อความสำเร็จตามนโยบายที่กำหนด


หมายเลขบันทึก: 541848เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 07:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท