รูปแบบหลักสูตร


จากการศึกษาหนังสือ 2 เล่มของจีระ งอกศิลป์ และชวลิต ชูกำแพง จึงสามารถสรุปได้ว่าหลักสูตรถูกแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบซึ่งสรุปตามแนวคิด ดังต่อไปนี้

1.  หลักสูตรแบบรายวิชา (The Subject Curriculum)

เป็นหลักสูตรแบบเก่าแก่ที่สุด ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาการศึกษาแนวสารัตถนิยมและ  นิรันตรนิยม เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาเป็นหลัก ต้องการให้ผู้เรียนได้เนื้อหาวิชาความรู้มากๆ ใช้วิธีการบรรยาย เน้นครูเป็นศูนย์กลาง  วิธีการประเมินผลใช้การวัดความจำเป็นส่วนใหญ่ หลักสูตรแบบนี้เน้นการสอนหนังสือมากกว่าสอนคน ข้อดี คือ ประหยัดเวลา สะดวกต่อการสอนของครู เหมาะต่อการสอนติวเพื่อสอบเข้าหรือบรรจุทำงาน ข้อเสีย  คือ ผู้เรียนไม่มีส่วนร่วมในการเรียน ทำให้ไม่มีความกระตือรือร้น

2.  หลักสูตรแบบสัมพันธ์วิชา (Correlated Curriculum)

เป็นหลักสูตรที่ต้องการปรับปรุงหลักสูตรแบบรายวิชา โดยการนำเนื้อหาวิชาที่มีความคล้ายคลึงกันมาเชื่อมโยงไว้ด้วยกัน หลักสูตรแบบนี้ยังคงเอกลักษณ์ของวิชาอยู่เช่นเดิม การสอนเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ทำให้ครูมีโอกาสวางแผนร่วมกัน การวัดผลมุ่งวัดด้านเนื้อหาวิชา ข้อดี คือ นักเรียนได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างวิชา  ข้อเสีย คือ หาความสัมพันธ์ของแต่ละวิชาได้ยาก

3.  หลักสูตรแบบหมวดวิชา (The Broad field curriculum)

เป็นการผสมผสานเนื้อหาวิชาที่มีความใกล้เคียงกัน การสอนยึดการบรรยาย เน้นวัดความรู้ด้านเนื้อหาวิชา ได้แนวคิดมาจากสารัตถนิยมและนิรันตรนิยม

4.  หลักสูตรวิชาแกน ( The Core Curriculum)

 เป็นการผสมผสานเนื้อหาวิชาที่มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิตของผู้เรียน หลักสูตรนี้กำหนดวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นศูนย์กลาง วิชาแกนจะเน้นการผสมผสานความรู้ซึ่งเรียกว่า บูรณาการในการสอน(Integration) ได้แนวคิดมาจากปรัชญาปฏิรูปนิยม  ข้อดี คือ มีการผสมผสานเนื้อหาวิชา

5. หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม (The Social process and Life function Curriculum)

หลักสูตรนี้เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำ การประเมินผลจะยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นพัฒนาการของผู้เรียนทุกด้าน แนวคิดมาจากปรัชญาพิพัฒนาการ ข้อดี คือ ส่งเสริมผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม

6. หลักสูตรกิจกรรมและประสบการณ์ (The Activities and Experience Curriculum)

เป็นการยึดเอากิจกรรม ความสนใจ และประสบการณ์แวดล้อมมาเป็นแนวทางเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวผู้เรียนมากกว่าการท่องจำ ได้แนวคิดมาจากปรัชญาพิพัฒนาการ ข้อเสีย คือ ผู้เรียนอาจได้สาระวิชาน้อย เพราะเน้นการทำกิจกรรมมาก 

7. หลักสูตรแบบบูรณาการ (The Integrated Curriculum)

การผสมผสานเนื้อหาวิชาเข้าด้วยกัน ไม่แยกเป็นรายวิชา การบูรณาการเนื้อหาวิชาจะเน้นที่ตัวเด็กและปัญหาสังคมเป็นสำคัญ การเรียนการสอนจะยึดตัวผู้เรียนและสังคมเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง การวัดผลจะเน้นพัฒนาการทุกด้านโดยเฉพาะความสามารถในการแก้ปัญหา ข้อดี คือ ผู้เรียนมีประสบการณ์ต่อเนื่อง มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ข้อเสีย คือ นักเรียนต้องมีกิจกรรมมาก ครูมักมีปัญหาในการจัดกิจกรรม

8. หลักสูตรแบบเอกัตบุคคล (The Individual Curriculum)

 หลักสูตรจะจัดไปตามความเหมาะสม ความต้องการของแต่ละคน ครูผู้สอนจะวิเคราะห์ผู้เรียน ระดับสติปัญญา ข้อดี คือ ผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง ข้อเสีย คือ ผู้เรียนที่มีความรับผิดชอบน้อยจะส่งผลให้เรียนไม่ได้เต็มที่ 

ในความคิดเห็นของโบว์ คิดว่า หลักสูตรแต่ละรูปแบบล้วนมุ่งให้ผู้เรียนได้รับความรู้ หลักสูตรเริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จากหลักสูตรที่เก่าแก่ที่สุด คือแบบรายวิชาที่เน้นแต่เนื้อหาวิชาและครูผู้สอน จนเริ่มผสมผสานการเรียนรู้ในตำราพร้อมกับเรียนรู้การดำเนินชีวิตด้วย สังเกตได้ว่าหลักสูตรได้พยายามถูกพัฒนาเพื่อให้ครอบคลุมในทุกๆด้าน นอกเหนือจากความรู้จากหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว เมื่ออ่านเลยไปถึงความสำคัญของหลักสูตร มีอยู่ข้อหนึ่งที่กล่าวว่า หลักสูตรเป็นเครื่องทำนายอนาคตการศึกษาของชาติ อนาคตการศึกษาของชาติย่อมมาจากการวางกรอบเนื้อหาที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โบว์จึงมองย้อนกลับไปว่า แล้วการที่สังคมการศึกษาไทยยังไม่มีประสิทธิผลที่ดีอย่างที่ควรจะเป็นนั้นเป็นเพราะหลักสูตรยังมีข้อบกพร่องหรือผู้ที่นำหลักสูตรมาใช้ยังไม่เข้าใจหลักสูตรดีพอ แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้ว โบว์คิดว่าน่าจะมาจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทย 

อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นอย่างไร ขอคำแนะนำด้วยนะคะ โบว์จะได้เปิดทัศนคติตัวเองให้กว้างไกลขึ้นอีกค่ะ

บรรณานุกรม

ชวลิต ชูกำแพง.(2551).การพัฒนาหลักสูตร. มหาสารคาม:มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.




คำสำคัญ (Tags): #รูปแบบหลักสูตร
หมายเลขบันทึก: 541818เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

.."หลักสูตรเป็นเครื่องทำนายอนาคตการศึกษาของชาติ.." เราจะวิเคราะห์หลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน ฉบับปัจจุบันกันเสาร์นี้ ช่วยดูสิว่าคุณจะเห็นอะไรในอนาคต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท