อบต.ปอน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน แบบอย่างการร่วมกันของบ้าน วัด โรงเรียน ท้องที่ และท้องถิ่น มากำหนดกฏระเบียบและมาตรการของตำบลเพื่อดูแลกันเอง


      ขอเล่าย้อนหลัง เมื่อวันที่ 4-5 ก.ค.2556 เราชาวคณะผู้ทรงคุณวุฒิของ สสค.(สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน) ได้ไปเยี่ยมพื้นที่ปฏิบัติงานตามโครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัด จังหวัดน่าน ซึ่งจังหวัดพัฒนาตามหลักการให้ท้องถิ่นเป็นฐานมาร่วมคิดร่วมทำ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จังหวัดกำหนดร่วมกันว่า "เด็กน่านเป็นคนรักดี รักถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล" และมียุทธศาสตร์การพัฒนา 3 ยุทธศาสตร์ ซึ่งมี ว่าที่ร้อยตรีสมเดช  อภิชยกุล เป็นประธานขับเคลื่อนโครงการระดับจังหวัด

    
                   
       จังหวัดน่านได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการ 3 อำเภอ 6 ตำบล คือ อ.เมือง ได้แก่ ต.กองควาย และ ต.สะเนียน  อ.ปัว ได้แก่ ต.ไชยวัฒนา และ ต.ศิลาเพชร และ อ.ทุ่งช้าง ได้แก่ ต.งอบ และ ต.ปอน 
       เราไปเยี่ยมมาทั้ง  6 ตำบล  ได้เห็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สอดรับกันอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ โดยมีเครือข่ายองค์กรและบุคคลจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันอย่างน่าชื่นชม
       ทุกพื้นที่มีวิธีดำเนินงานที่ดีหลายเรื่อง แต่ผมจะนำมาเล่าเพียงเรื่องเดียวในพื้นที่เดียวคือ ที่ อบต.ปอน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ที่มีการร่วมกันของบ้าน วัด โรงเรียน ท้องที่ และท้องถิ่น มากำหนดกฏระเบียบและมาตรการของตำบลตนเองขึ้น โดยมีท้องถิ่นเป็นแม่งานหลัก ในการเชิญตัวแทนของบ้าน วัด โรงเรียน ท้องที่ และท้องถิ่นจากทุกหมู่บ้านมาพูดคุยกันกันที่วัด ซึ่งมีหลวงพ่อที่เป็นศูนย์รวมจิตใจมาเป็นที่ปรึกษา  แล้วต่างร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านและตำบล ทั้งปัญหายาเสพติด การทำมาหากิน การตัดไม้ทำลายป่า  ปัญหาพฤติกรรมเด็ก ฯลฯ และร่วมกันกำหนดกฏระเบียบฯจนได้ข้อตกลงที่ทุกคนรับได้และสัญญาว่าจะถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด และคอยดูแลตรวจสอบ แนะนำกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละฝ่าย จากนั้นก็นำกฏระเบียบและมาตรการดังกล่าวไปติดไว้ในทุกหลังคาเรือน ทุกท้องที่ ท้องถิ่น  ซึ่งมีทั้งมาตรการดูแลด้านยาเสพติด ด้านสังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านค่าจ้างแรงงาน  ผมได้อ่านมาตรการที่เขาร่วมกันกำหนดแล้วน่ารักมากๆ เป็นภาษาง่ายๆที่สื่อสารเข้าใจกันดี ที่เกิดจากทุกฝ่ายมาช่วยกันระดมความคิดด้วยความรู้สึกที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ผมจึงเห็นว่าเป็นมาตรการที่มีพลังมากๆ  นี่ถ้าหากให้คนส่วนกลางกำหนด เหมือนการพัฒนาที่ผ่านมา แม้จะเป็นภาษาวิชาการที่ดูสละสลวยแต่ก็คงเข้าไม่ถึงปัญหาที่แท้จริงของพวกเขากันแน่

     ผมจึงชอบวิธีการของตำบลปอนนี้มากเลย และอยากให้การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของบ้านเรามาดูตำบลปอนแห่งนี้เป็นเป็นแนวทางที่เรียกว่า "ใช้พื้นที่เป็นฐาน"

     ที่จริงผมอยากบันทึกกฏระเบียบของเขาให้เห็นแต่ละมาตรการทุกข้อมาให้อ่าน ซึ่งน่าสนใจทั้งนั้น แต่ค่อนข้างยาว เลยถ่ายรูปมาให้แกะอ่านกันเอง  ตัวหนังสืออาจเล็กไปหน่อยก็คงต้องขยายให้ใหญ่ขึ้นก็แล้วกันครับ

       

ตำบลอื่นๆน่าจะลองเทียบเคียงนำไปใช้บ้างก็ดีนะ

หมายเลขบันทึก: 541805เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2018 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คนครับ

ขอชื่นชม...และเป็นกำลังใจให้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท