ประธานาธิบดีปัก กึน เฮ ผู้นำหญิงเกาหลีใต้ จะปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และเตรียมความพร้อมด้านอาชีพแก่นักเรียน


การให้โรงเรียนมัธยมต้นยกเลิกการจัดสอบหนึ่งภาคเรียน เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีเวลาไปค้นหาความถนัด และสำรวจตัวเองว่าสนใจอยากจะทำอะไรในอนาคต

จาก  http://blog.eduzones.com/magazine/110628

'หนึ่งเทอมงดสอบ-ตอบโจทย์ชีวิต' เกาหลีใต้ปฏิรูปการศึกษา ม.ต้น
          ประธานาธิบดีปัก กึน เฮ ผู้นำหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ ได้สัญญาไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่า จะปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และเตรียมความพร้อมด้านอาชีพแก่นักเรียนมากขึ้น ผ่านมา 4 เดือนนับจากรับตำแหน่ง คำสัญญานี้กำลังจะเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งผ่านนโยบายใหม่ที่ต้องใช้ความกล้าอย่างยิ่ง ในสังคมการศึกษาเกาหลีใต้ที่เลื่องลือว่า คร่ำเคร่งกับการสอบขนาดไหน นั่นคือ การให้โรงเรียนมัธยมต้นยกเลิกการจัดสอบหนึ่งภาคเรียน เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีเวลาไปค้นหาความถนัด และสำรวจตัวเองว่าสนใจอยากจะทำอะไรในอนาคต
          กระทรวงศึกษาเกาหลีใต้จะเริ่มทดลองการเรียนแนวใหม่ในภาคการศึกษาที่จะเริ่มกันยายนปีนี้ กับโรงเรียนนำร่อง 42 แห่ง จากนั้นในปีหน้าจะทดลองในอีก 40 โรงเรียน ก่อนกำหนดเป็นข้อบังคับใช้ในโรงเรียนมัธยมต้นทุกแห่งในปี 2559 ภาคการศึกษาที่ว่านี้ จะไม่มีการสอบกลางภาคและปลายภาค วันเตรียมสอบและวันที่ต้องเข้าห้องสอบ จะนำไปใช้เพื่อมุ่งหาประสบการณ์การทำงาน ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนจะต้องปรับหลักสูตรลดชั่วโมงวิชาการ และจัดสรรเวลาให้แก่แผนการเรียนรู้ที่ไม่เน้นวิชาการ โดยเฉพาะกิจกรรมสำรวจอาชีพ

          โรงเรียนเลือกเองได้ว่าจะให้เทอมใดใน 6 เทอมของ ม.ต้น ปลอดจากการสอบ แต่คาดว่าส่วนใหญ่น่าจะเลือกเทอมที่สองของ ม.1 หรือเทอมแรกของ ม.2 แผนการนี้ได้รับการขานรับจากนักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายวงการ โดยมองว่า นี่คือการยกเครื่องที่สำคัญครั้งหนึ่งในระบบการศึกษาเกาหลี ที่ถูกวิจารณ์ว่าหนักท่องจำ ขาดการคิดวิเคราะห์ เป็นการเรียนเพื่อสอบที่ส่งให้พ่อแม่ต้องทุ่มจ่ายค่ากวดวิชาสุดตัว แต่ขาดภูมิรู้ที่นำไปปฏิบัติใช้ได้จริง

          คุณครูอย่าง คิม ซอง ซป ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนโซนัน ในเมืองกวางจู หนึ่งในโรงเรียนนำร่องชุดแรก ก็เห็นด้วยว่า ในวัยนี้ ความสนใจและการคิดเรื่องอาชีพในอนาคตอย่างจริงจัง มีความสำคัญยิ่งกว่าการเรียนเลข ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้กำลังทำงานร่วมกับสถาบันวิชาการหลายแห่ง เพื่อพัฒนาหลักสูตรและให้การสนับสนุนด้านต่างๆ แก่โรงเรียน รวมถึงจะขอความร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันของรัฐและทางการท้องถิ่น ช่วยให้นักเรียนได้ประสบการณ์การทำงานตามวัตถุประสงค์นโยบาย

          ทว่าในประเทศที่ผลการสอบทั้งหลายเป็นตัวตัดสินความสำเร็จในชีวิต นโยบายใหม่จึงเต็มไปด้วยคำถามและความวิตก ฝ่ายพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น ห่วงว่า เด็ก ม.ต้น ยังเล็กเกินไปที่จะมองอนาคตหรือไม่ หรืออาจจะทำให้เด็กอาจขาดแรงจูงใจที่จะกลับมาเรียนหนักเพื่อทำคะแนนสอบดีๆ เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย และในที่สุด พ่อแม่อาจหันไปพึ่งโรงเรียนกวดวิชามากกว่าเดิม ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็จะสวนทางกับความคาดหวังของรัฐบาลที่ว่า โครงการนี้จะช่วยลดการพึ่งพาการกวดวิชา ฝ่ายครูและโรงเรียนก็ห่วงว่า จะจัดทำหลักสูตรใหม่อย่างไรมาแทนหลักสูตรมาตรฐานเดิม ยังไม่นับรวมเรื่องวัสดุอุปกรณ์และการสนับสนุนจากภายนอก ซึ่งโครงการลักษณะนี้ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างมาก หากจะช่วยให้นักเรียนสำรวจมองหาอาชีพที่ตนอยากทำได้จริงๆ ยังไม่รวมกับช่องว่างทางโอกาสระหว่างโรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัดกับในเมืองใหญ่

          ถึงจะมีเสียงท้วงติงอย่างไร แต่ นายโซ นัม ซู รัฐมนตรีศึกษาธิการเกาหลีใต้ มั่นใจว่า ภาคการเรียนที่ไม่มีสอบคือก้าวแรกของการก้าวผ่านระบบการศึกษาล้าสมัย ระบบการศึกษาที่เน้นสอบไปเป็นระบบที่เข้าถึงแก่นการศึกษาอย่างแท้จริง หากสำเร็จ โครงการนี้จะก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงทางบวกในระบบการศึกษาระดับ ม.ต้น ด้วยการลดแรงกดดันเรื่องการสอบ ให้โอกาสนักเรียนได้ศึกษาเรื่องที่มีพวกเขามีความสนใจ และกลายเป็นผู้เรียนรู้ที่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสโลกแห่งการทำงาน และคิดอย่างจริงจังว่าอยากทำอะไรในอนาคต

         "ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาปัจจุบัน คือ เราผลิตนักเรียนที่มุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากเกินไป" รัฐมนตรีศึกษาธิการเกาหลีใต้กล่าวระหว่างแถลงข่าวเมื่อเดือนที่แล้ว

          ที่เกาหลีใต้ นักเรียน ม.ปลาย 7 ใน 10 เรียนต่อวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย ถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลับมีผู้จบวิทยาลัยเพียง 50% เท่านั้นที่ทำงานแบบเต็มเวลาตามสถิติในปี 2554 ตัวเลขนี้ฉายภาพหลายอย่าง อาทิ ประเทศขาดแคลนแรงงานฝีมือ คนหางานทำกับความต้องการธุรกิจไม่สอดรับกัน และกำลังแรงงานมีคุณสมบัติเกินตำแหน่งงาน อาทิ มีคนจบระดับวิทยาลัยมากขึ้นที่ต้องไปทำงานง่ายๆ ที่จบเพียงมัธยมก็ทำได้แล้ว แต่หากไม่ทำก็จะต้องว่างงาน

          "กิจกรรมสำรวจอาชีพ" จึงเป็นความหวังของรัฐบาลเกาหลีใต้ ในการตอบโจทย์ข้อใหญ่ได้ว่า เหตุใดการศึกษาจึงไม่สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีขีดความสามารถเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจและสังคม
------------------------------------

ข้อมูลจาก คม ชัด ลึก ออนไลน์ ...หนึ่งเทอมงดสอบ-ตอบโจทย์ชีวิตเกาหลีใต้ปฏิรูปการศึกษาม.ต้น : โดย... อุไรวรรณ นอร์มา ข้อมูลจาก โคเรียเฮรัลด์ โคเรียไทมส์


หมายเลขบันทึก: 541234เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท