แนวปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐาน ๔


พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนฝึกสมาธิ ส่วนใหญ่ไม่มีสมาธิกัน พระเราส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีสมาธิ เณรเราส่วนใหญ่ก็ไม่มีสมาธิ คุณแม่ชี อุบาสกอุบาสิกาส่วนใหญ่ก็ไม่มีสมาธิ ญาติโยมส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะมีสมาธิ


เราส่วนใหญ่น่ะอยู่กับความสงบไม่ค่อยจะเป็น...

การทำสมาธินี้เป็นเรื่องใหญ่เป็นงานใหญ่ งานทำไร่ทำนาทำสวนทำเกษตรกรรม  งานก่องานสร้าง งานค้างานขาย งานเป็นคุณครูเป็นทหารเป็นตำรวจ เป็นคุณหมอ  เป็นพยาบาลงานเหล่านี้ถือว่างานง่าย แต่งานใหญ่งานสำคัญน่ะคืองานทำใจให้สงบ  “งานทำใจสมาธิน่ะเป็นงานเบาแต่มันเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด...”

งานทำสมาธิ งานที่ทำใจให้สงบนี้แหละถือเป็นงานยากเป็นงานลำบาก

ใจของเรานี้จะให้มันสงบซักสองสามนาทีอย่างนี้ก็ยากลำบาก เหมือนเราเอาปลาขึ้นจากน้ำเอามาไว้ที่บนบกนี้มันดิ้น

การทำใจให้สงบนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดน่ะ ถ้าใจของเราสงบแล้วปัญหาต่าง ๆ มันไม่มี

ใจของคนเราทุก ๆ คนนี้ต้องฝึกนะ ถ้าไม่ฝึกมันไม่ได้ มันไม่สงบ ต้องหาวิธีให้มันสงบน่ะ ถ้าเราปล่อยไปธรรมดา ๆ มันก็เป็นธรรมดา เป็นใจที่ยังไม่ได้ฝึก

พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้นั่งสมาธิเพื่อฝึกใจ นั่งสมาธิเหนื่อยก็ให้เดินจงกรม  เดินจงกรมเหนื่อยก็ให้เราไปนั่งสมาธิ พยายามอยู่กับความวิเวก ไม่พูดไม่คุยไม่คลุกคลี  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งภายนอก ทิ้งสิ่งภายนอกหมด

เรามาอยู่วัดหลาย ๆ คนนี้ก็ให้เราทำใจเหมือนกับเราอยู่คนเดียว ไม่พูดไม่คุยกับใคร  ไม่สนใจใคร ถ้ามันไม่จำเป็นก็ไม่พูดเพราะว่าเรามีเวลาน้อย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมองหน้าใครนั่นแหละดี

ถึงเวลามานั่งสมาธิกับเพื่อนกับหมู่คณะ เราก็นั่งเหมือนกับเราอยู่คนเดียวนี้ คนอื่นเค้าจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวเค้า คนอื่นเค้าจะพูดจะคุย เค้าจะเข้าจะออกก็ช่างหัวเค้า เราถือว่าเป็นธรรมชาติ ถ้าได้ยินเสียงก็ให้ถือว่าเป็นเสียงดนตรีธรรมชาติก็แล้วกัน

ฝึกใจของเราปล่อยฝึกใจของเราวาง วางเรื่องอดีต วางเรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน เราต้องปล่อยวางหมดน่ะ เราถอนสมมติออกจากใจของเรา ถอนความเป็นผู้หญิงความเป็นผู้ชายออกจากใจของเราหมด เรามีหน้าที่หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ปล่อยวางหมด พักผ่อนสมองเรา เพื่อใจของเราจะได้สงบ

คนเราต้องฝึกสมาธิ... พระพุทธเจ้าน่ะ ก่อนท่านจะตรัสรู้ท่านก็เข้าสมาธิ ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ จนระลึกชาติได้ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเอง ท่านปล่อยวางทุกอย่าง ท่านเข้านิโรธสมาบัติ ก่อนที่ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานท่านก็เข้าสมาธิเหมือนกัน ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ถอยกลับไปกลับมาแล้วค่อยเสด็จดับขันธ์ระหว่างฌานที่ ๓ กับฌานที่ ๔ นี้แสดงให้ทุกท่านทุกคนให้เข้าใจนะว่าต้องฝึกใจให้เป็นสมาธิ

คนเรามันฉลาดมากมันเก่งน่ะแต่มันช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นะ เวลาเจ็บป่วย  เวลาใกล้จะตายน่ะ ญาติพี่น้องก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ เงินทองก็ช่วยเหลือเราไม่ได้  คุณหมอ คุณพยาบาล ยารักษาโรคก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ สิ่งที่จะช่วยเหลือเราได้ก็คือทำจิตใจของเราให้สงบ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้ทุกคนเตรียมพร้อมไว้ ตอนถึงเวลาแล้วเราจะได้เอาสมาธิของเราออกมาใช้งานได้ อย่างคนเราอยู่ดี ๆ ก็สบายหรอกแต่ถ้ามีใครมาขัดใจก็มีความทุกข์ เมื่อสิ่งภายนอกมันไม่ได้ตามใจก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเราอ่อนสมาธิ เราอ่อนการฝึกจิตฝึกใจ ญาติพี่น้องตายก็เป็นทุกข์ พ่อแม่ลูกหลานตัวเองตายก็เป็นทุกข์ มันเพราะอะไร...? เพราะเราไม่ได้ฝึกใจของเราให้มีสมาธินะ

ทุก ๆ คนน่ะต้องฝึกสมาธิให้มาก ๆ นะ มีหลายคนดูแล้วก็เป็นคนดีเป็นคนเก่ง  และก็นิสัยดี เปี่ยมด้วยบุญด้วยกุศล แต่เสียที่ไม่ค่อยฝึกสมาธิ ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ น่าเสียดายชีวิตของเค้าการดำเนินชีวิตของเค้า เพราะเค้ายินดีในพื้น ๆ เรื่องการให้ทาน การรักษาศีล  การสังคมสงเคราะห์ แต่เค้าขาดการฝึกจิตฝึกใจของเค้าเพื่อให้เกิดสมาธิ

ประเทศไทยเรานี้แหละ พระก็มีประมาณสามแสนรูป แต่จะหาพระที่ตั้งใจฝึกสมาธิกันน่ะซักพันรูปนี้ก็ยังหาได้ยากนะเพราะเรามาติดในความสุขที่มันเป็นวัตถุ เราไม่ได้เข้าถึงคุณถึงประโยชน์ในการฝึกจิตฝึกใจซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่เรา ที่ตัวเรา

วันหนึ่ง ๆ ไม่รู้ทำอะไรต่ออะไรแต่ว่าไม่มีการฝึกสมาธิ พระเราก็ยังหาได้ยากหาลำบาก ยิ่งโยมน่ะยิ่งหาได้น้อยนะ

เรามาคิด ๆ ดูน่ะ สิ่งภายนอกถึงมันจะสะดวกสบาย ถึงมันจะดีน่ะ มันก็ยังดับทุกข์ยังไม่ได้อย่างแท้จริง ไม่เหมือนการฝึกสมาธิ


การแก้อะไรก็ถือว่ามันแก้ง่าย แต่ว่ามาแก้จิตแก้ใจแก้ตัวเองนี้มันถือว่าเป็นเรื่องแก้ยากนะ

ทำไมมันถึงแก้ยาก...? เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทวนโลก ทวนกระแส ทวนอารมณ์  ถ้าเราไม่อดทน เราไม่มีความเพียร ถ้าเราไม่มีสมาธิจริงน่ะเราไปไม่รอดไปไม่ไหว

ทุกคนทำไมถึงเป็นอย่างนั้น...? ปัญหานี้เค้าตอบว่า ทุกคนมันติดความสุข ติดความสะดวก ติดความสบาย มันติดในอดีตที่ผ่านมา

อดีตที่ผ่านมาแล้วมันก็เปรียบเสมือนความตาย คือเราตายจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว  เมื่อเราตายแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ ช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนทิ้งอดีต ถ้าใครไม่ทิ้งอดีตที่ผ่านมาก็ถือว่าเรานี้กำลัง  ทำบาปกำลังเป็นคนบาปนะ

สติทุก ๆ คนต้องเร็ว ต้องว่องไว... เราพบเจอกับสิ่งที่มันทำให้เราหดหู่ สังเวช  ถ้าเราตามอารมณ์ตามสิ่งที่พบเห็นกับสิ่งที่เค้าเรียกว่าเป็นอดีต เราก็ต้องเศร้าโศรกหรือว่าน้ำตาไหล ถ้าเรามีสติทันอย่างนี้แหละ เราก็ทิ้งมันไป ละมันไป เราไปใจอ่อนน่ะมันได้อะไร มันมีแต่ความเสียหาย คนอื่นเค้าจะดีมันก็เรื่องของเค้า เค้าจะชั่วมันก็เรื่องของเค้า  เราช่วยเหลือไม่ได้

ปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นที่ตาเรากระทบ หูของเราได้ยิน ที่เราได้สัมผัสเกี่ยวข้องน่ะ  ให้เรามีสมาธิ มีความเข้มแข็ง อย่าให้มันมาหมุนจิตหมุนใจของเรา ให้ใจของเราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราจะเป็นคนไม่มีสมาธิ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ตัวของเรามันก็เลยขึ้นอยู่กับวัตถุ  สิ่งภายนอก เรามีใจก็ไม่เกิดปัญญา มีสมองก็ไม่เกิดปัญญา

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นอย่าได้หวั่นไหว ง่อนแง่นคลอนแคลนโยกคลอนไปกับสิ่งภายนอก

การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าท่านให้ใจของเราอยู่กับปัจจุบัน สิ่งที่เป็นอดีตน่ะท่านให้เราทิ้งหมด ถ้าเราไม่ทิ้งอดีตเราจะเป็นคนไม่มีปัญญา ถ้าเราไม่ทิ้งอดีตเราก็จะเป็นลูกหนี้ เราจะเป็นหนี้อยู่ตลอดกาล ถ้าเราไปคิดว่ามันทำลำบาก มันทำลำบาก “จริง..มันทำลำบาก”  แต่มันจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อพัฒนาจิตใจของเรา

เวรกรรมเราต้องระงับด้วยการตัดกรรมตัดเวร ไม่ใช่เราเอามาผูกเอามามัดไว้ในจิตใจของเรา

พยายามเจริญสติปัฏฐานให้ใจของเรามันอยู่กับกาย ถ้าเราไม่อยู่กับกายก็อยู่กับเวทนา ถ้าเราไม่อยู่กับเวทนาก็อยู่กับใจของเราน่ะ ถ้าเราไม่อยู่กับใจของเราก็ให้มันอยู่กับธรรมะ ธรรมะคือทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป พยายามเจริญสติปัฏฐานให้ใจของเรามันสงบ ให้ใจของเราเย็น

การเจริญสติปัฏฐานน่ะทุกท่านทุกคนเจริญได้หมดนะ อย่างเราเดินอย่างนี้ก็ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว เรานั่งก็ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ทิ้งอดีตให้หมด เรานอนใจก็อยู่กับเนื้อกับตัว เราทำการทำงานก็ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกไปปฏิบัติไปเดี๋ยวใจของเรามันก็สงบใจของเรามันก็เย็น ถ้าเราไม่ทำตามใจตัวเองไม่ทำตามกิเลสตัวเองเดี๋ยวไม่นานใจของเรา  มันก็เย็น ที่เรามันไม่เย็นมันมีปัญหาก็เพราะว่าเราทำตามใจตัวเอง ตามกิเลสของตนเอง

ทุกท่านทุกคนน่ะมันมีความต้องการเยอะ มีความอยากเยอะ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร  มันไม่ไว้หน้าเลย ทั้งพระทั้งเณรทั้งญาติโยม ความอยากมันมากมายก่ายกองจริง ๆ ถ้าเรา  ไม่มาฝึกสมาธิ ไม่มาเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ มันหยุดไม่ได้ มันเย็นไม่ได้

ปัญหาของเราทุก ๆ คนเราอย่าไปโทษคนอื่นนะ เราอย่าไปโทษสิ่งภายนอก อย่าไปโทษสังคม อย่าไปโทษคุณพ่อคุณแม่ อย่าไปโทษหัวหน้า อย่าไปโทษเพื่อน ทุกอย่างมันอยู่ที่เราไม่ได้ปฏิบัติ เราไม่ได้แก้ไขตัวเอง สิ่งภายนอกนี้มันเหมาะมันสมควรแล้วที่จะให้เราได้ฝึกได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีสิ่งภายนอกอย่างนี้ไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้ เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติ


ปัญหาต่าง ๆ ให้เราแก้ที่ตัวเรา แก้ที่การกระทำของเรา...

เราปฏิบัติธรรมะนี้นะ ทุกท่านทุกคนอย่าเข้าใจว่ามันขัดกับโลกขัดกับสังคมนะ  ปฏิบัติธรรมะนี้แหละช่วยเหลือโลกช่วยเหลือสังคม เป็นแบบพิมพ์เป็นตัวอย่าง

ในโลกของเราน่ะ ถ้ามีบุคคลอย่างนี้มันทำให้โลกสงบโลกร่มเย็น ถ้าธรรมะไม่กลับมา โลกาย่อมพินาศ

ทุกวันนี้น่ะมันไม่มีแบบพิมพ์มันไม่มีตัวอย่างนะ ประชาชนส่วนใหญ่ถึงเป็นแมลงเม่า บินเข้ากองไฟ วิ่งตามทางโลก วิ่งตามทางวัตถุ เป็นหนี้เป็นสิน มีปัญหาเยอะแยะเลยก็เพราะว่าเราไม่ได้แก้ไขตัวเองเรื่องจิตเรื่องใจ

อย่างครอบครัวเราครอบครัวหนึ่งอย่างนี้มีพ่อแม่แล้วก็ลูก ๆ ถ้าพ่อแม่พยายามแก้ที่จิตที่ใจ ที่นี้แหละลูกเรามันก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าพ่อแม่ก็คือแบบพิมพ์ของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูกนะ เพราะว่าพ่อแม่เป็นหลักเป็นจุดยืน ถ้าเราไม่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นหลักเป็นจุดยืนนี้ก็ยากลำบากอยู่เหมือนกัน

เราทุก ๆ คนน่ะพระพุทธเจ้าท่านให้พากันคิดดี ๆ นะ ทำไมเราถึงจะมีความสุขมีความดับทุกข์ ครอบครัวของเราทำอย่างไรถึงจะเกิดความสุขเกิดความอบอุ่น สรุปแล้วมันก็ต้องมาที่เรา มาแก้ที่ตัวเรา อันไหนไม่ดีก็ต้องปรับปรุงแก้ไขหมด ถ้าไม่ปรับปรุงแก้น่ะไม่ได้  มัวแต่ไปถือฟอร์มอยู่นั่น

เราทุกคนต้องกลับมาดูตัวเองว่าตัวเองเป็นคนรับผิดชอบในความดีมากพอหรือยัง ความเพียร ความขยัน ความอดทนมีพอหรือยัง ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวทีของเรามีพอหรือยัง ศีลของเรามันบกพร่องมั๊ย ตัวเองติเตียนตัวเองได้มั๊ย มันต้องกลับมาหาตัวเองอย่างนี้นะ เพราะอันนี้มันเป็นสูตรความดีสูตรตายตัวที่ทุกคนจะต้องพึงประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราวิ่งหาความสุขความดับทุกข์อย่างอื่นมันแก้ไม่ได้ เราทำอย่างนี้ดีมากประเสริฐมาก เรทติ้งในความเป็นมนุษย์ของเรามันก็ยิ่งสูงขึ้น “ในตัวเราและก็ครอบครัวของเราสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก...”

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนพิจารณาตนเอง ว่าเรานี้มีสมาธิเพียงพอหรือยัง  มีความสุขมีความอบอุ่นมีความร่มเย็นในครอบครัวแล้วหรือยัง...? ถ้ายังพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราไปแก้ที่อื่นนะ เราต้องทำใจตัวเองให้มันสงบ อย่าไปแก้ภายนอก เมื่อใจของเราสงบปัญหาทุกอย่างมันก็จบไป

พระก็ดีโยมก็ดีพากันหลงในวัตถุภายนอก หลงในอารมณ์ที่มันเป็นสวรรค์น่ะ  ไม่ได้พัฒนากายวาจาใจของตัวเองให้มันสงบ จะทำอะไรก็มีแต่จะเอาเรียนหนังสือก็เพื่อจะเอา ทำงานก็เพื่อจะเอา ทุกอย่างมันมีแต่จะเอา ถ้าเราเป็นผู้ที่มีแต่จะเอา ตัวเราจะมีความสุข  ได้อย่างไร ครอบครัวของเราจะเกิดความสุขความอบอุ่นได้อย่างไร

ให้เรามาตรวจดูตัวเองว่า อย่างตัวเองเป็นโยมอย่างนี้ศีลห้าของตัวเองมันดีแล้วหรือยัง เรามันกลับมาแก้ไขตัวเองหรือยัง ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิหรือเปล่า มันต้องแก้ไขตัวเองถือว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเป็นปัญหาที่รีบด่วน ถ้าเรารอให้เรารวย รอให้เราไม่มีภาระมันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะความอยากของทุกคนนั้นน่ะมันเลี้ยงเปรตไว้ในใจตั้งหลายตัว “เปรตมันอิ่มไม่เป็นมันเต็มไม่เป็น ถ้ามันอิ่มเป็นมันพอเป็นเราก็ไม่เรียกมันว่าเปรต...”

เราทุก ๆ คนน่ะมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งเป็นพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง มีพระธรรมคำสั่งสอนที่ประเสริฐ มันเสียอย่างเดียวมันตั้งอยู่ในความประมาททุก ๆ คน เราไม่ต้องไปว่าให้ใคร แม้แต่ตัวผู้พูดเองมันก็ตั้งอยู่ในความประมาท มันไม่มองเห็นตัวที่เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่มองเห็นเวลาทุกวินาทีเป็นเวลาที่ประเสริฐที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเอง


เราทุก ๆ คนน่ะส่วนใหญ่ยังมีความคิดเห็นว่าเราปฏิบัติไม่ได้ เราไม่มีโอกาสเราไม่มีเวลา พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนเราว่า "ทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราทุก ๆ คน..."

มรรคมีองค์ ๘ คือหนทางที่ประเสริฐ ในชีวิตของประจำวันทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับอริยมรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นจากความคิดน่ะ เริ่มจากการไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม การงานทุกอย่างนั้นน่ะคือการปฏิบัติธรรมของเราทุก ๆ คน


สิ่งที่มันไม่ใช่การปฏิบัติธรรมมันไม่มี แต่เราไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญวิปัสสนาน่ะ อันนั้นก็จริงอยู่ อันนั้นมันส่วนหนึ่ง แต่การปฏิบัติของเราต้องปฏิบัติทุกอย่างให้มันมีศีลมีธรรม มีคุณธรรม เพราะชีวิตของเราทุกคนต้องปฏิบัติถ้าปฏิบัติไม่ได้ ถ้าปฏิบัติมันมีปัญหาแน่ ที่เรามีปัญหาก็เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนคิดให้ดี ๆ นะว่าการประพฤติปฏิบัติมันมีกับเราทุก ๆ คน แต่ที่เราถ้าไม่มีไม่เป็นก็เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ ไม่เห็นความสำคัญของการประพฤติปฏิบัติ เราเห็นความสำคัญของข้าวของเงินทองลาภยศสรรเสริญ แทนที่เราจะได้ข้าวของลาภยศสรรเสริญเงินทอง ได้ทั้งคุณธรรมเรากลับได้แต่วัตถุมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมดุล

เราตรวจดูตัวเองถ้าอันไหนมันไม่ดี ถ้าเราแก้ไขมันต้องดีหมด มันจะไม่ดีมันเป็นไปไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราถือฤกษ์ดียามดี ไม่ถืออะไรต่าง ๆ น่ะ ให้ถือการกระทำความดีของเรา ทำดีมันดีแน่ ไม่ต้องขอพรมันก็ได้พร

พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ขึ้นมาท่านไม่ถือชาติไม่ถือตระกูล ไม่ถือวรรณะ ไม่ถือฤกษ์ดี ยามดี ท่านให้ถือความดี ต้องมั่นใจต้องแน่ใจในความดี

ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้... อย่างสุขภาพของเรามันไม่ดีอย่างนี้ ถ้าเราฝึกให้เราเป็นคนใจดีมีความสุข เป็นคนที่มีศีลมีธรรม มีระเบียบมีวินัย แล้วออกกำลังกาย ทานอาหารที่ไม่ได้ทำให้เราเกิดโรคเกิดภัย

ทุกวันนี้น่ะคนเค้าเป็นโรคเป็นภัยกันเยอะทั้งโรคจิตโรคประสาท โรคมะเร็ง โรความดันเบาหวานหัวใจ มันก็เกี่ยวกับใจเกี่ยวกับอารมณ์เกี่ยวกับอาหาร

พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นความสำคัญทางจิตใจแล้วให้ความสำคัญในเรื่องทานอาหาร ให้เราความสำคัญในการออกกำลังกาย


เรื่องจิตเรื่องใจนี้ก็คือการปฏิบัติธรรม เรื่องทานอาหารนี้ก็เรื่องปฏิบัติธรรม  เรื่องการออกกำลังกายนี้ก็เรื่องการปฏิบัติธรรม คนเรานี้แหละสร้างปัญหาให้กับตัวเองเน๊อะ ทำให้ตัวเองเป็นโรคประสาทโรคจิตโรคความดันเบาหวานหัวใจ อาหารที่เราบริโภคนี้มีแต่ของทอดของผัดทั้งนั้นนะ ของมันของเผ็ดของเค็ม ของหวานขนมนมเนย  ล้วนแต่เราทำร้ายตัวเอง ทำร้ายครอบครัวตัวเอง ทำกันทั้งบ้านทั้งเมืองน่ะ ของอันไหนไม่อร่อยก็ไม่อด ไม่ฝืน ไม่ทนที่จะรับประทาน ออกกำลังกายก็ขี้เกียจ สมาธิก็ไม่ทำไม่รู้จักทำใจสงบ มีแต่เราทั้งนั้นนะที่ทำร้ายตัวเองน่ะ ทำร้ายตัวเองยังไม่พอ ยังทำร้ายครอบครัวเราอีกนะ

ของเหล่านี้ทุก ๆ ท่านทุกคนก็ต้องบริโภคแต่ว่ามันมากเกิน มันเผ็ดเกิน เค็มเกิน  หวานเกิน มนุษย์นี้เราถึงเป็นผู้อยู่ยากกินยาก พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราทุก ๆ คนว่า  ต้องเป็นผู้ที่อยู่ง่ายกินง่าย ลูกของเราหลานของเรานี้น่ะมันติดอร่อย ถ้าไม่ให้มันกินอร่อยมันกินไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ไม่วางระบบในการรับประทานอาหารน่ะ

ของทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเอาเข้าในร่างกายของเราน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพินิจพิจารณานะ ให้มีสติสัมชัญญะ ให้รู้จักอันไหนควรบริโภคไม่ควรบริโภค อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ปากแก่ท้อง

พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติมาก ๆ ถ้ามันเคยทานอย่างนี้เคยบริโภคอย่างนี้ เคยทำอย่างนี้มันยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้นะถ้าทุกคนไม่สมาทานไม่ตั้งใจน่ะ

สิ่งเหล่านี้แหละมันเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งหมด เราอย่าไปคิดว่าไหว้พระสวดมนต์  นั่งสมาธิเดินจงกรมเท่านั้นเป็นการปฏิบัติธรรม การประพฤติในชีวิตประจำวันของเรานี้แหละคือการประพฤติปฏิบัติธรรม

ทุกคนต้องมีสติทุกคนต้องมีเบรก ต้องเป็นคนประหยัดเป็นคนไม่ฟุ่มเฟือย  ไม่ตามใจตัวเองถึงจะเกิดสมาธิเกิดสติเกิดปัญญาได้ เราอย่าไปเอาความสุขทางร่างกาย  อย่างเดียวเราต้องเอาความสุขทางจิตใจไปพร้อมกันถึงจะเกิดความสุขเกิดความถูกต้องได้

การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ที่ได้พร่ำสอนแล้วก็ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้กับเราทุก ๆ คน ผู้ประพฤติปฏิบัติตามย่อมได้เข้าถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยายให้แก่บุคลากรโรงพยาบาลสระบุรี

ค่ำวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 540108เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ช่วยกันส่งเสริมให้มากยิ่งขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท