แบบไหนถึงเรียกว่านวัตกรรม


1.1  นวัตกรรมคืออะไร

คำว่า นวัตกรรม หมายถึงการทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอดทั้งนี้ มักมีการแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการประดิษฐ์คิดค้น ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรม อันหมายถึงความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล

(Mckeown, 2008)

มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย ในยุคแรกๆ จะพูดถึงอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ เท่านั้น ต่อมา โรเจอร์ ได้เริ่มกล่าวถึง การแพร่กระจายของนวัตกรรมด้วย Diffusion of Innovation อย่างไรก็ดี คำจำกัดความที่ดูเหมือนจะครอบคลุมที่สุด คือ Invention + Commercialization หรือ ต้องมีการนำสิ่งประดิษฐ์ที่คิดว่าใหม่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งทางธุรกิจ หรือ ทางสังคม ทั้งนี้รูปแบบของนวัตกรรม ก็สามารถแบ่งออกเป็นได้ตามรูปแบบ (Product, Service, Process) หรือ อาจแบ่งตามระดับความใหม่ก็ได้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ Incremental, Modular, Architectural และ Radical Innovation Teerapon.T (2008) กล่าวถึง Innovation หรือ นวัตกรรมว่า อาจหมายถึง สิ่งประดิษฐ์ หรือ สิ่งใหม่ ที่ต้องสร้างให้เกิด Value Creation คือ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้นั่นเอง (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

นวัตกรรม (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ ”การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฎิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ , Xaap.com)

นวัตกรรม หรือ Innovation หมายถึง สิ่งใหม่ๆ และการทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด กระบวนการการผลิต และเทคโนโลยี ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะปฏิวัติแนวคิด หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบต่อยอด กล่าวโดยสรุปก็คือ การที่จะเรียกสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นนวัตกรรม สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแปลกใหม่อย่างชัดเจน และสิ่งนั้นต้องสามารถสร้างคุณค่าต่อสินค้าและบริการ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างผลิตภาพ (Productivity) ให้เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ นำไปสู่ความสามารถการแข่งขันขององค์กร อุตสาหกรรม และประเทศ 

(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ,Brandage.com)

จากข้อมูลดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า นวัตกรรม หรือ Innovation คือ สิ่งใหม่ที่เกิดจาการใช้ความรู้   ความคิดสร้างสรรค์ใส่ไป   มีคุณค่าหรือมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

1.2  มีองค์ประกอบอะไรบ้าง

อัจฉรา จันทร์ฉาย  (2553 : 54)  ได้อธิบายองค์ประกอบของนวัตกรรมมีอยู่  3 ประการ คือ

1. ความใหม่ (Newness) สิ่งที่จะได้รับการยอมรับว่า มีคุณลักษณะเป็นนวัตกรรมได้นั้นจะต้องมีก็คือ ความใหม่ หมายถึง เป็นสิ่งใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นตัวผลิตภัณฑ์บริการ หรือกระบวนการ โดยจะเป็นการปรับปรุงจากของเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่เลยก็ได้

2. การใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์  (Knowledge and Creativity Idea) หมายความว่า สิ่งที่จะถือเป็นนวัตกรรมได้นั้นจะต้องเกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานของการพัฒนาให้เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่เกิดจากการลอกเลียนแบบการทำซ้ำ เป็นต้น

3. ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (EconomicBenefits) และสังคม (Social)  ก็คือ การให้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ หรือการสร้างความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ นวัตกรรม จะต้องสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จากการพัฒนาสิ่งใหม่นั้นๆ ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นสามารถวัดได้เป็นตัวเงินโดยตรง และในเชิงสังคมเป็นการสร้างคุณค่า ซึ่งไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้

ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมอาจสรุปได้ดังนี้

1.  เป็นสิ่งใหม่

2.  เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความรู้  ความคิด  ประสบการณ์ใส่เข้าไป

3.  เป็นสิ่งที่มีคุณค่า  มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

1.3  กระบวนการทางนวัตกรรม (Innovation Process) มีขั้นตอนอย่างไร

1.  การค้นหาความคิดใหม่ : Idea Generation

แหล่งที่มาของความคิดที่เป็นนวัตกรรม

-  ความรู้ใหม่

-  การใช้ประโยชน์จากความคิดของลูกค้า

-  การเรียนรู้จากกลุ่มผู้ใช้ที่มีหัวก้าวหน้า

-  การออกแบบที่เข้าถึงใจคน

-  ฝ่ายวิจัยและพัฒนา

-  นวัตกรรมจากภายนอกองค์กร

    2.  การรับรู้ถึงโอกาส : Opportunity Recognition

§  สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องฉลาดพอที่จะรับรู้ว่า สิ่งนั้นจะเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เมื่อเราเห็นมันอยู่ตรงหน้า” (Norman Augustine)

§  หลักการรับรู้โอกาสด้วย “แผนผังอรรถประโยชน์”

·  นวัตกรรมสร้างอรรถประโยชน์มากที่สุดในด้านใดได้บ้าง

·  อรรถประโยชน์นั้นมากกว่าหรือน้อยกว่าเทคโนโลยีของผู้อื่นเพียงใด

·  อรรถประโยชน์ใดมีความสำคัญมากที่สุด

·  สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เป็นอรรถประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

3.  การประเมินความคิด : Idea Evaluation

§  ความเหมาะสมของนวัตกรรมกับกลยุทธ์ขององค์กร

§  ความสามารถด้านเทคนิคขององค์กรในการสร้างนวัตกรรม

§  ความสามารถทางด้านธุรกิจที่ส่งผลให้นวัตกรรมประสบความสำเร็จ

4.  การพัฒนานวัตกรรม : Development

(วุทธิศักดิ์  โภชนุกูล)

กระบวนการของนวัตกรรมทางการศึกษา

วิวัฒนาการนวัตกรรมทางด้านการศึกษาได้มีพัฒนาการต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่เดิมที่มีการเรียนรู้จากห้องเรียน เป็นหลัก ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ออกไปอีกหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบต่างมีสิ่งผูกพันเกี่ยวข้องต่อกัน

1.  กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้เมื่อครูได้วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนแล้ว ก็ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนนั้นคือ กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนตามเป้าหมายของหลักสูตร เช่น ความสามารถในกระบวนการแก้ปัญหา ความสามารถในทักษะกระบวนการสร้างค่านิยม

2. กำหนดกรอบแนวคิดของกระบวนการเรียนรู้เมื่อได้กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้แล้ว ครูควรศึกษาค้นคว้าหลักวิชาการ แนวคิดทฤษฎีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ในการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน และนำมาผสมผสานกับความคิดและประสบการณ์ของตนเอง กำหนดเป็นกรอบแนวคิดของกระบวนการเรียนรู้ขึ้นเพื่อจัดสร้างเป็นต้นแบบนวัตกรรมขึ้น เพื่อใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
  3.  สร้างต้นแบบนวัตกรรม
เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะเลือกจัดทำนวัตกรรมชนิดใดครูผู้ต้องศึกษาวิธีการจัดทำนวัตกรรมชนิดนั้น ๆ อย่างละเอียด เช่น จะจัดทำบทเรียนสำเร็จรูปในรายวิชาหนึ่ง ต้องศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดทำบทเรียนสำเร็จรูปว่ามีวิธีการจัดทำอย่างไรจากเอกสารตำราที่เกี่ยวข้อง แล้วจัดทำต้นแบบบทเรียนสำเร็จรูปให้สมบูรณ์ตามข้อกำหนดของวิธีการทำบทเรียนสำเร็จรูป
สำหรับเครื่องมือที่ต้องใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์หรือเครื่องมืออื่น ๆ ต้องมีการพัฒนาเครื่องมือตามวิธีการทางวิจัยด้วย การสร้างต้นแบบนวัตกรรมจะต้องนำไปทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม ซึ่งมีขั้นตอนการหาประสิทธิภาพนวัตกรรม ดังต่อไปนี้
  3.1 ขั้นตอนการการหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม อย่างง่ายๆ ดังนี้

 1. การหาคุณภาพของนวัตกรรมเบื้องต้น ควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนในวิชานั้น ๆ ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและการสื่อความหมาย โดยนำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นพร้อมแบบประเมินที่มีแนวทาง หรือประเด็นในการพิจารณาคุณภาพให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินคุณภาพ

2. นำข้อมูลในข้อที่1 ซึ่งเป็นข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข หลังจาก นั้นจึงนำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปทดลองกับผู้เรียนกลุ่มเล็ก ๆ อาจเป็น 1 คน หรือ 3 คน หรือ 5 คน แล้วแต่ความเหมาะสม โดยให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรม หรือฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุไว้ แล้วเก็บผลระหว่างปฏิบัติกิจกรรม และผลหลังการทดลองใช้นวัตกรรม เพื่อหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมตามหลักการต่อไป

3. นำผลการทดลองใช้นวัตกรรมจากผู้เรียนกลุ่มเล็กในข้อ 2 มาปรับปรุงข้อบกพร่องอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำไปใช้จริงกับกลุ่มผู้เรียนที่รับผิดชอบหรือผู้เรียนที่ต้องการแก้ปัญหาการเรียน

3.2  การทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรม
การทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรม โดยทั่วไปจะใช้ทดลองกับผู้เรียนกลุ่มหนึ่งตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถใช้วิธีการหาประสิทธิภาพได้ดังนี้

1. วิธีบรรยายเปรียบเทียบสภาพก่อนและหลังการใช้นวัตกรรม โดยการบันทึกหรือเก็บข้อมูลที่ได้จากการวัดผลผู้เรียนด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังการใช้นวัตกรรม แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการบรรยายเชิงคุณภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าหลังการใช้นวัตกรรมแล้ว ผู้เรียนมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจมากน้อยเพียงใด

2.  วิธีนิยามตัวบ่งชี้ที่แสดงผลลัพธ์ที่ต้องการ แล้วเปรียบเทียบข้อมูลก่อนใช้และหลังใช้นวัตกรรม เช่น กำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ ร้อยละ 65 แสดงว่าหลังจากการใช้นวัตกรรมแล้ว ผู้เรียนทุกคนที่เป็นกลุ่มทดลองจะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 65 จึงจะถือว่านวัตกรรมนั้นมีประสิทธิภาพ

3. วิธีคำนวณหาอัตราส่วนระหว่างร้อยละของจำนวนผู้เรียนที่สอบแบบทดสอบอิงเกณฑ์ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (P1) ต่อร้อยละของคะแนนเต็มที่กำหนดเกณฑ์การผ่านไว้ (P2) เช่น P1 : P2 = 70 : 60 หมายความว่า กำหนดเกณฑ์การผ่านไว้ต้องมีผู้เรียนร้อยละ 70 ของจำนวนผู้เรียนทั้งหมด ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม จึงจะแสดงว่านวัตกรรมนั้นมีประสิทธิภาพ

4. ทดลองใช้นวัตกรรม

การทดลองภาคสนามเพื่อหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ดำเนินการทดลอง ใช้นวัตกรรมกับผู้เรียนที่เป็นกลุ่มทดลอง (กลุ่มที่ต้องการแก้ปัญหา) ในสภาพในกลุ่มเรียนจริง วิธีดำเนินการเหมือนกับวิธีการทดลองกับกลุ่มเล็กทุกอย่าง ต่างกันที่จุดประสงค์ของการใช้นวัตกรรม ซึ่งการทดลองในที่ผ่านมาถือว่าเป็นการกระทำเพื่อหาข้อบกพร่องที่ควรแก้ไข ผู้เรียนเปรียบเสมือนที่ปรึกษา และนวัตกรรมที่ใช้ก็เป็นเพียงการยกร่าง เมื่อผ่านการทดลองกับกลุ่มเล็กแล้ว จึงจะถือว่าเป็นบทเรียนฉบับจริง การทดลองภาคสนามก็เป็นการทดลองโดยเป็นการนำไปใช้จริง

ก่อนเริ่มใช้นวัตกรรมผู้สอนควรแนะนำผู้เรียนให้เข้าใจวิธีเรียนเสียก่อน และให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียน และเมื่อใช้นวัตกรรมเสร็จแล้วก็ต้องมีการทดสอบหลังเรียนอีกครั้ง

5. เผยแพร่นวัตกรรม

เมื่อนำนวัตกรรมไปขยายผลโดยให้ผู้อื่นทดลองใช้และให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็จัดทำนวัตกรรมนั้นเผยแพร่เพื่อบริการให้ใช้กันแพร่หลายต่อไป

(สถาบันกศน.ภาคเหนือ  สำนักงานกศน.)

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นกระบวนการของนวัตกรรมอาจสรุปได้ดังนี้

1. เริ่มต้นจากปัญหา  (การคิด)

2.  หาสาเหตุของปัญหา  (ใช้ความรู้)

3.  นวัตกรรม  (การสร้างสรรค์)

4. นำไปใช้   (มีคุณค่า)


คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรมคือ
หมายเลขบันทึก: 538809เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอแสดงความคิดเห็นนิดหนึ่งนะครับ ถ้าถามว่า "นวัตกรรมคืออะไร" เอาเฉพาะความหมายนะครับ

  • ถ้ามองตามหลักภาษาบาลี ผสมด้วยความเข้าใจส่วนตัวก็จะได้ดังนี้
  • นว หรือ อ่านว่า นะวะ  แปลได้ว่า "ใหม่" หรือจะแปลได้อีกอย่างว่า "เก้า" หรือเลข ๙ ก็ได้
  • กรรม หรือ กัมม ก็อ่านว่า  "กำมะ" แปลได้ว่า "การกระทำ"  ตามหลักธรรมหมายถึงการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ  เป็นคำกลางๆ ไม่ชั่วไม่เลว  ถ้าใช้ในทางดีก็เรียกว่า "กุศลกรรม"  ถ้าใช้ในทางไม่ดีก็เรียกว่า "อกุศลกรรม"  ไม่ใช่ว่า "มันเป็นเวรเป็นกรรมของเราเหลือเกิน" หรือ "กรรมแต่อดีตชาติมาตัดรอน" แบบนี้ไม่ถูกแล้ว เข้าใจผิดกันหมด       ถ้าใช้ตามหลักวิชาการ "กรรม" หมายถึง การทำงาน การสร้างสรรค์ผลงาน การทดลอง การวิจัย การวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นการกระทำทั้งนั้นแหละครับ
  • อีกคำหนึ่งที่ควรจะมีและส่วนมากจะไม่กล่าวถึงกัน คือ "อัตตะ"  แปลว่า "ตัวตน" หรือ "ตัวเรา" ก็ได้ เพราะคำนี้มันจะแฝงมาในรูปของคำอ่านแต่จะไม่มีในรูปของคำเขียน  หากเราตัด อ อ่าง ข้างหน้าออกไปหนึ่งตัว และตัด ต เต่า ข้างหลังออกไปอีกหนึ่งตัว เป็นการลดคำไม่ให้ฟุ่มเฟือย  ผมคิดว่า คงใช่เลยแหละ
  • เพราะฉะนั้นแล้วหากเรานำเอาคำดังกล่าวมา มาผสมควบรวมกันก็จะได้ดังนี้  "นว+อัตต+กรรม"  ก็จะเกิดเป็นความหมายใหม่ ได้ดั่งที่ใครๆ หลายๆ ท่านแปลและให้ความหมายกัน  แต่ผมให้ความหมายว่า  "การกระทำในสิ่งใหม่ด้วยตนเอง" หรือ  "การกระทำด้วยตนเอง ๙ ประการ" ก็ได้   การที่จะเป็น  "นวัตกรรม" หรือ "นวัตตกรรม" ได้นั้น  โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า  น่าจะมีขั้นตอนหรือกระบวนการในการสร้างสรรค์ อย่างน้อยน่าจะมีถึงเก้าขั้นตอนเหมือนดั่งโครงการ และที่สำคัญต้องทำด้วยตนเองด้วย  ถึงจะดูสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง  หรือใครคิดว่าไงก็ลองต่อยอดความคิดกันครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท