มูดี้ลดอันดับความเชื่อถือของประเทศไทย ทำไม ทำไม


จากกรุงเทพธุรกิจ

http://www.easy.tc?gtj

การเมือง : ทัศนะวิจารณ์

วันที่ 6 มิถุนายน 2556 01:00

โดย กาแฟดำ  สุทธิชัย หยุ่น

รายงาน Moody’s แล้วอย่าลืมรายงานคนไทยด้วย

Moody’s Investor Service ลดเครดิตเรทติ้ง   ผมเชื่อว่า ประเด็นผลพวงของระดับนโยบายของชาติอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่อง “ทำใจ” และเป็นเรื่อง “ทำจริง” ที่จะต้องเปิเผยโปร่งใสกับสาธารณชน ไม่ต้องสงสัยว่า Moody’s มีคำถามเรื่องนี้ เพราะคนไทยอย่างพวกเรายังไม่ได้ตัวเลขชัดเจนว่าโครงการนี้ขาดทุนจริงๆ ไปเท่าไร เพราะว่าตัวเลขมีตั้งแต่ 1 แสน ถึง 2 แสน ถึง 3 แสนล้าน และยังไม่มีวี่แววว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายนี้ให้ลดภาระต่อเงินงบประมาณของแผ่นดินอย่างไร

เป็นเรื่องแปลก ที่ตัวเลขที่มีนัยสำคัญต่อสถานภาพทางการเงินการคลังของประเทศอย่างนี้ กลายเป็น “ความลับราชการ” ที่คนไทยทั่วไปไม่อาจจะแสวงหาได้ตามขั้นตอนปกติ

ครั้นจะใช้สิทธิของเจ้าของประเทศ ตามกฎหมายเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร ก็ติดปัญหาขั้นตอนทางราชการ ที่ไม่อาจจะสร้างความเปิดเผยโปร่งใสได้

ข่าวบอกว่า แม้แต่ท่าน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอง ก็ยังถามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่าตัวเลขขาดทุนจริงๆ เป็นเท่าไร ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรวบรวมตัวเลขให้รอบด้าน เพื่อทำหนังสือชี้แจงไปที่ Moody’s

ข่าวบอกเช่นกันว่า Moody’s ได้ทำหนังสือสอบถามมา ขู่ว่าจะปรับเครดิตของประเทศลดลง เพราะเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นภาระการคลัง ทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มเขาคงต้องการรู้เหมือนคนไทยทั่วไปว่าการรับจำนำข้าวรอบใหม่ จะใช้เงินอีกเท่าไร และจะใช้เงินจากแหล่งใด เพราะหากว่ากู้เงินเพิ่ม ก็จะกระทบฐานะการคลัง กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ถูกลดเครดิต

ผลที่ตามมาจากการถูกลดเครดิตนั้น แปลว่า รัฐบาลกู้เงินใครก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ไม่เพียงแต่เท่านั้น เอกชนไทยก็จะต้องกู้เงินในตลาดระหว่างประเทศด้วยดอกเบี้ยที่แพงขึ้น เพราะว่าเมื่อเครดิตเรทติ้งของประเทศแย่ลง ความน่าเชื่อถือของธุรกิจไทย ก็พลอยถูกดึงลงไปด้วย

เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ว่า รัฐบาลไทยกลัวสำนักจัดลำดับความน่าเชื่อถือของต่างชาติมากกว่าคนไทยด้วยกันเอง เพราะว่าความจริงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขขาดทุนของโครงการนี้ ได้มีการทวงถามจากหลายๆ วงการของคนไทยตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ถึงวันนี้ก็ยังอ้ำๆ อึ้งๆ ขาดความชัดเจน และบอกไม่ได้ว่าเงินภาษีประชาชนที่ต้องไปอุ้มนโยบาย “ประชานิยม” เช่นนี้ จะตีกรอบไว้ตรงไหน อย่างไร

หลายคนได้เสนอรัฐบาล ให้ทบทวนนโยบายที่ใช้เงินเป็นแสนล้านอย่างนี้ และ “หาทางลง” ที่จะทำให้การขาดทุนน้อยลงเสีย แต่ดูเหมือนว่าทางการก็ยังยืนยันจะเดินหน้าทั้ง ๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าชาวนายากจนจริงๆ ได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด ขณะที่ค่อนข้างจะยืนยันว่าชาวนากลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่มีรายได้เพิ่ม แต่ที่สำคัญก็คือนักการเมืองและข้าราชการที่รู้เส้นสนกลในของระบบนี้ต่างหาก ที่ร่ำรวยจากการฉกฉวยโอกาสของช่องว่างนโยบายนี้

ยังไม่มีคำชี้แจงจากกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข่าว จากหนังสือ Phnom Penh Post วันก่อน ว่า ยอดส่งข้าวออกจากกัมพูชามาไทย ในช่วงหลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก เชื่อกันว่าอย่างน้อยส่วนหนึ่งเพื่อเข้ามา “สวมสิทธิ” ข้าวไทย ตามโครงการจำนำข้าวนี่แหละ

จะเป็นตลกร้ายมาก หากว่าคนไทยจะรับรู้ตัวเลขจริงๆ ของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลไทย จาก Moody’s อีกชั้นหนึ่ง เพราะว่าเขามีสิทธิทวงถามข้อมูลจากรัฐบาลไทยขณะที่ คนไทยถามแล้วถามอีก แต่...ไม่มีคำตอบ

Tags :สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือMoody’s


คำสำคัญ (Tags): #จำนำข้าวไทย
หมายเลขบันทึก: 538807เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"ความลับของทางราชการ" ดูเหมือนจะหาความโปร่งใสไม่ได้เลยนะคะอาจารย์

ด้วยกลัวผลประโยขน์ลด

หากระดับชาติเป็นกันอย่างนี้แล้วคิดูซิครับว่าระดับองค์กรเล็ก ๆ จะเป็นอย่างไร ที่เคยพบมาหัวหน้าใหญ่ จะนิ่งเฉยกับการใช้จ่ายและรายงานงบประมาณที่เป็นปัจจุบัน  อาจจะบอกด้วยรายงานประจำปี ที่แต่งบัญชีให้ดูดี เพื่อรายงานหน่วยเหนือก็มีอยู่บ้าง หากระดับชาติเป็นอย่างนี้ แล้วหน่วยงานทัวไปจะเป็นอย่างไร  .....หน่วยงานของ kunrapee เป็นอย่างนี้ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท