ชีวิตที่พอเพียง : 128. ไปเยี่ยมลูกที่โบลเดอร์ : 1. การเดินทางขาไป


         ตกลงกับลูกชาย (ตั้ม - วิจักขณ์) ว่าก่อนเขากลับเมืองไทยในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ เราจะไปเยี่ยมให้เขาพาเที่ยวโคโลราโดสักครั้ง      เราไม่เคยไปอเมริกาแถวๆ นั้นเลย     อ. หมอประเวศเคยไปเรียนปริญญาเอก ที่เดนเว่อร์ โคโลราโด ๓ ปี  และเพิ่งไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย นาโรปะ ที่ลูกชายผมไปเรียน     ท่านยุผมว่าต้องไปเที่ยวแถวนั้นให้ได้     เพราะวิวสวยมาก      ภรรยาเป็นผู้วางแผนซื้อตั๋วเครื่องบินหลังจากนัดแนะกำหนดวันกันล่วงหน้า ๓ เดือน
        เราอยากไปสายการบินไทย เพราะบริการดี และเรามีเลือดรักชาติด้วย      แต่ราคาตั๋วแพงกว่าของ Cathay Pacific กว่าหมื่น    สองคนก็เกือบ ๓ หมื่น     ประกอบกับชื่อเสียงว่าบริการดี เราจึงเลือก Cathay    ภรรยาเป็นคนจัดการเรื่องตั๋วเครื่องบินทั้งหมด     การเดินทางด้วย Cathay Pacific สะดวก เพราะเขาร่วมมือกับ American Airlines     ตอนต่อเครื่องไม่ทัน เขาบริการให้เหมือนเป็นสายการบินเดียวกัน
        เรากำหนดเดินทางระหว่างวันที่ ๒๘ กย. ถึง ๘ ตค. ๔๙     ตอนซื้อตั๋วยังคิดว่าไปขึ้นเครื่องที่ดอนเมืองซึ่งอยู่ใกล้บ้านนิดเดียว แต่ในที่สุดเราก็รู้ว่าเราจะได้เป็นกลุ่มคนกลุ่มที่ได้ร่วมใช้สนามบินสุวรรณภูมิในวันแรกที่เปิดอย่างเป็นทางการ
        ภรรยาเขากังวลมาก ว่าการเดินทางไปสนามบินจะไม่ราบรื่น      เราลงทุนไปดูลาดเลาที่สนามบินล่วงหน้า ๒ สัปดาห์  พอใกล้วันเดินทางภรรยาก็กังวลมากขึ้น     เพราะมีข่าวว่าจะมีการอพยพเครื่องใช้ในสนามบิน ๓๐๐ เที่ยวในช่วงเวลา ตี ๒ ถึงตี ๓     จึงหาทางไปนอนที่โรงแรม Novotel ที่สนามบิน     เขาก็ปิดจองเสียอีก     แสดงว่ามีคนกังวลเหมือนเราจำนวนมาก     ผมขอให้เก๋ช่วยหาเบอร์โทรศัพท์ของตำรวจทางหลวง     สวพ. ๙๑   และ จส. ๑๐๐  เอาไว้โทรศัพท์ไปถามทางสะดวกก่อนออกเดินทางตอน ๔.๓๐ น.
        ปราการมาเวลา ๔.๑๕ น. ผมโทรศัพท์ไปที่ตำรวจทางหลวง หมายเลข ๑๑๙๓ รอประมาณ ๑๐ กริ่งก็ไม่มีคนรับสาย     จึงโทรไปที่ จส. ๑๐๐ หมายเลข ๑๖๔๔ เขารับสายในกริ่งแรก    น่าประทับใจจริงๆ     และเห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมการทำงานระหว่างราชการกับเอกชนชัดเจน     ผมถามว่าถนนไปสนามบินสุวรรณภูมิเส้นไหนบ้างที่รถติด     ได้รับคำตอบว่าสะดวกทุกสาย
        เราเลือกไปโดยทางด่วนจากแจ้งวัฒนะ  ไปออกพระรามเก้า  และต่อไปมอเตอร์เวย์     ทางสะดวกตลอด     ตอนมอเตอร์เวย์ มีรถขนเครื่องมือ เช่นบันไดขึ้นลงเครื่องบิน  และของอื่นๆ เป็นขบวน โดยมีรถนำ    มีการเปิดไฟกระพริบ   และวิ่งเลนซ้ายสุดอย่างเป็นระเบียบ     ผมประทับใจมาก ว่าเดินทางสะดวกมาก     เราใช้เวลา ๔๐ นาทีก็ถึงสนามบิน เมื่อเวลา ๕.๐๐ น.  
        บริการ check-in และตรวจคนเข้าเมืองสะดวกรวดเร็ว     จนเราเข้าไปบริเวณที่มีประติมากรรมกวนเกเษียรสมุทร   ก็ถ่ายรูปไว้ตามระเบียบ     คุณป้าไทยเชื้อสายจีนคนหนึ่งเดินทางไปฮ่องกงด้วย CX 2700 เที่ยวเดียวกับเรา     บ่นอุบว่าสนามบินนี้กว้างมาก แต่มีห้องน้ำน้อยเกินไป     ภรรยาไปเข้าห้องน้ำ บอกว่าสกปรก และไม่มีกระดาษชำระ     เรื่องมีห้องน้ำน้อยไปนี้ ดูจะเป็นจุดอ่อนของสนามบินสุวรรณภูมิ   คุณป้า (ที่จริงคงจะอายุเท่าๆ กับเราหรือมากว่าเรานิดหน่อย) ไปสั่งซื้อสินค้าจากจีน   ไปบ่อยๆ     เป็นนักธุรกิจ     มาคุยเรื่องคอรัปชั่นในรัฐบาลเก่า     เรื่องการขนสมบัติไปเมืองนอกของนักการเมืองที่เพิ่งถูกปลดจากอำนาจ      เธอบอกว่าลูกชายไปตีกอล์ฟกับนายทหาร และรู้เรื่องราวของความทะเยอทะยานที่จะ “ครองเมือง” ของนักการเมืองบ้าอำนาจ     ฟังดูแล้ววงการธุรกิจขนาดไม่ใหญ่นักเขาไม่ชอบรัฐบาลเก่า      เขามองว่าอดีต “ท่านผู้นำ” ต้องการล้มล้างพระมหากษัตริย์
        ระหว่างนั่งรอขึ้นเครื่อง     ผู้โดยสารคุยกันเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ     ว่ามีการคอรัปชั่นกันมาก     มีคนเคยบอกผมว่าคนกลุ่มแรกที่โกงกินการก่อสร้างสนามบินนี้ คือกลุ่มจอมพลประภาส
          เครื่องบินออกช้าเกือบชั่วโมง    บินเพียง 2.5 ชม. ก็ถึงฮ่องกง   เขาเลี้ยงอาหารเช้าให้เลือกผัดไทย หรือ ออมเลตไส้กรอก อร่อยทั้ง 2 อย่าง 
        เมื่อถึงฮ่องกง เครื่องบินที่เราจะต่อออกไปแล้ว    มีเจ้าหน้าที่มารอให้บริการผู้โดยสารที่จะต้องต่อเครื่องและตกเครื่อง    โดยเขาเตรียมบัตรขึ้นเครื่องของเที่ยวบินใหม่มาให้เรียบร้อย    เราได้เที่ยวบิน CX 882 บินตรงไปแอลเอเหมือนเที่ยวก่อน    แต่ออกเวลา 16.15 น. ถึง 14.30 น.   เราบอกเจ้าหน้าที่หญิงสาวว่าเรามี connecting flight ไป เดนเวอร์เวลา 15.30 น. แกบอกว่ามีเวลา 1 ชม.ถมไป    บอกให้ไปขอบัตรขึ้นเครื่องที่ แอลเอ
        เขาขอโทษขอโพยที่เครื่องบินช้า ทำให้ไม่สะดวก    และให้ voucher ราคาคนละ 40 เหรียญฮ่องกง   ให้ไปกินของว่างและเครื่องดื่ม  
        เรามีเวลาสองชั่วโมงที่ฮ่องกง ระหว่างรอเครื่อง    และคิดว่า 1 ชั่วโมงที่แอลเอ    ต่อเครื่องไม่ทันแน่   จึงถามทางไปหาเคาน์เตอร์ของ Cathay Pacific  ต้องเดินไปไกลเกือบๆ กิโล    สังเกตว่าสนามบินของเขาก่อสร้างประณีตกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ    และมีเก้าอี้นั่งพักผ่อนเป็นกลุ่มๆ มากกว่าที่สุวรรณภูมิอย่างเทียบกันไม่ได้
        เจ้าหน้าที่ของ Cathay Pacific  Counter ซึ่งทำหน้าที่ในลักษณะ help desk บริการน่าประทับใจมาก    บอกว่า การต่อเครื่องที่แอลเอ ต้องใช้เวลา 2 ชม.   และเปลี่ยน flight ระหว่าง LA - Denver ให้   เป็นออกเวลา 19.15 น. ถึง Denver 22.35 น. พร้อมทั้งออกบัตรขึ้นเครื่องให้เสร็จ  
        เราขอให้เขาช่วยโทรไปบอกตั้ม ว่าเปลี่ยน flight และเวลาถึงเดนเวอร์    เขาบอกว่าได้ และต่อรองให้เรารับ Phone Card เอามาโทรเอง    ให้มา 2 ใบราคาใบละ HK $25    เราเลยได้เรียนวิธีใช้ Phone  Card และโทรถึงตั้มเอง
        สบายใจจากเรื่อง flight แล้ว เราก็ไปหาทางซื้ออาหารว่างและเครื่องดื่ม   กินรองท้อง    กินบะหมี่เกี๊ยวน้ำ (Wantan soup noodle) ราคา HK $38 รสจืดสนิท   ไปเอาพริกไทย เกลือ พริกผัด มาเติม ก็ไม่อร่อยอยู่ดี   แปลกที่เขาไม่มีพริกดองน้ำส้มให้    เรากินแบบไม่เน้นรสชาติ       กินพอให้มีแรงเดินทาง  
       ระหว่างเดินไปทำเรื่องเปลี่ยนเที่ยวบิน และรับบัตรขึ้นเครื่อง    ผมสังเกตว่า สนามบินฮ่องกงมีห้องน้ำและที่นั่งรอมากว่า และกระจายกว่าที่สุวรรณภูมิ 
       ก่อนเข้าไปที่ประตูขึ้นครื่อง มีการตรวจเพื่อความปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้คนค้นกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง    ระดมพนักงานมาประมาณ ๕๐ คน ตั้งโต๊ะค้น   ถ้าคำนึงว่าต้องมีจุดค้นแบบนี้หลายสิบจุด   ก็เปลืองแรงงานคนมากทีเดียว   
       ในที่สุดเราก็ขึ้นเครื่อง Boeing 747 บินตรงไป ลอสแองเจลีส โดยไม่หยุดพักเลย    ที่นั่งในเครื่องบิน Cathay Pacific ช่วงระหว่างแถวสั้นกว่าของการบินไทย    ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแอร์บัส เอ 300 ที่บินจากกรุงเทพ หรือ โบอิ้ง 747 นี้
       บนเครื่องบินร้อนมาก    จนเครื่องขึ้นตั้ง ๒๐ นาทีแล้ว ก็ยังร้อนอยู่     ใครว่าบนเครื่องบิน คาเธ่ย์ บริการดี ผมว่าไม่จริง     แต่เราจะคาดหวังบริการระดับการบินไทยด้วยราคาที่ต่ำกว่ามาก ก็คงจะคิดผิด 
       ผู้โดยสารเกือบเต็มลำ    เราเลือกที่นั่งริมหน้าต่างเพราะอยากถ่ายรูป    ที่นั่งของเครื่องบิน โบอิ้ง ๗๔๗ เป็นแถว 3+4+3 จึงมีฝรั่งท่าทางไม่เป็นมิตรมานั่งที่นั่งริมทางเดิน    เราลุกเข้าออกไปห้องน้ำลำบาก   ต่อไปคงจะไม่เลือกที่นั่งริมหน้าต่างอีกแล้ว
      หลังอาหารเย็น พอเวลา 19.30 น. (เวลาฮ่องกง) เขาก็ปิดไฟให้นอน    ข้างนอกมืดสนิท    เรานอนแบบไม่หลับลึก   และคอพับคออ่อนจนรู้สึกปวดคอ    เก้าอี้นั่งไม่สบาย   
      เวลา 03.30 (เวลาฮ่องกง) เครื่องบินเดินทางมาได้ 11 ชม.  ข้างนอกสว่างโร่   เขาเสิร์ฟ brunch
      สายการบิน Cathay Pacific โฆษณาว่า เขาฉลอง 60 ปี ด้วยการเอาอาหารเหลามีชื่อของฮ่องกงมาเสิร์ฟ    แต่เราไม่รู้สึกว่าอร่อยเป็นพิเศษ   เราชอบแมกกาซีนฉบับฉลอง 60 ปีมากกว่า    ชอบที่เขาเอารูปเก่าๆ และไปสัมภาษณ์และถ่ายรูปแอร์โฮสเตสคนแรกๆ ที่เวลานี้อายุ 83 ปี มาลง
      การฉลอง 60 ปีโดยการรำลึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลา 60 ปี มีคุณค่ามาก    มีคุณค่าหลายอย่าง    ที่สำคัญคือ ช่วยเตือนสติคน ว่าโลกและสังคม รวมทั้งคนมันเปลี่ยนแปลงเร็ว    เราต้องเร่งทำตัวเป็นผู้เรียนรู้    ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้รู้    
     สังเกตว่าอาหารอร่อยสู้ขามาจากกรุงเทพไม่ได้    อาจเป็นเพราะรสถูกลิ้นคนไทยมากกว่าก็ได้
     บนเครื่องบินเขาไม่ฉายทีวีจอใหญ่    มีแต่จอเล็กตรงหน้า ติดกับพนักพิงของเก้าอี้หน้า    เราไม่ชอบ เพราะดูไม่ถนัด ใกล้เกินไป    ประกอบกับไม่ชอบดูหนังอยู่แล้ว    จึงไม่ได้ดูหนังเลยตลอดการเดินทาง    สังเกตว่าฝรั่งที่นั่งแถวเดียวกับเราชอบดูหนังมาก  
      การตรวจคนเข้าเมืองที่ แอลเอ เวลาบ่ายคนไม่แน่น     เขาใช้วิธีให้เอานิ้วชี้มือซ้ายกดลงที่แป้น แล้วนิ้วชี้มือขวา พร้อมกับเขาใช้กล้องถ่ายภาพ    โดยต้องเอาแว่นตาออก     ตอนเข้าตรวจเราต้องเข้าช่อง visitors     ทำให้นึกถึงคำอีก 2 คำ คือ citizens หมายถึงพลเมืองอเมริกัน     และ residents หมายถึงพลเมืองของรัฐ  
      การเดินทางคือการผจญภัย    เดินทางทุกครั้ง เราต้องผจญภัยทุกครั้ง    แล้วแต่ว่าจะเป็นการผจญภัยครั้งใหญ่หรือครั้งย่อย    ถ้าสามารถสื่อสารได้ดีก็จะสะดวกขึ้น     เราคิดว่าจะเอากระเป๋าไปที่ baggage transfer desk บอกให้เขาเปลี่ยน flight ที่ baggage tag แล้วเขารับกระเป๋าไป    แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นเช่นนั้น    เจ้าหน้าที่ที่มารับหน้าเราเป็น porter   บอกว่าเจ้าหน้าที่ไปไหนก็ไม่รู้    แนะให้เราขนกระเป๋าเดินไปที่ Terminal 4, Next door   เราก็ทำตาม ไม่ยาก แค่เข็นกระเป๋าด้วย "เกวียน" สมัยใหม่ใช้แรงคนเข็น    แต่พอไปถึง Terminal 4 พบว่า escalator ขึ้นชั้นบนที่เป็นบริการขาออกเสียหมด    ต้องไปถามเจ้าหน้าที่    เขาบอก "อยู่นั่นไง" เราบอกว่า It doesn't work.เขาจึงพาเดินไปขึ้นลิฟท์ ที่อเมริกันไม่เรียกลิฟท์ แต่เรียก elevator
       มีเจ้าหน้าที่ออกมาต้อนรับและช่วยชั้นแรก   จนแน่ใจแล้วว่าต้องไปที่เคาน์เตอร์เพื่อเปลี่ยน baggage tag เขาจึงบอกให้เราไปเข้าคิว
       วิธีให้บริการแบบมี mobile helper นี้ ช่วยลดเวลาคอยลงได้มาก    และทำให้คิวไม่ยาวมากเกิน    แก้ปัญหารอคิวจนถึงแล้วก็ช่วยไม่ได้    หรือไปถึงเคาน์เตอร์ก็พบว่าแก้ปัญหาง่ายนิดเดียว  ไม่น่าจะต้องรอคิวตั้งครึ่งชั่วโมง   ที่สำคัญที่สุด ให้ความรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่  บริการน่าประทับใจ
       mobile helper นี้เขามักเลือกคนที่ท่าทางเป็นมิตรมาทำหน้าที่  
       ติด baggage tag เสร็จเราต้องทำหน้าที่ porter ขนกระเป๋าไปยัง TSA (Transport Security Administration) baggage check area     เนื่องจากเรา ล็อก กระเป๋า เขาจึงบอกให้เรารอดูตรงช่องออกจากเครื่อง x-rays โดยไม่มีปัญหาก็ไปได้    ที่จริงเขาบอกว่าอย่า ล็อกกระเป๋า      ถ้าเราไม่ล็อก เอากระเป๋าให้เขาเสร็จเราก็ไปได้เลย ไม่ต้องรอดูว่ากระเป๋าผ่านไหม     การดูแลกระเป๋าให้เดินทางไปกับเราครั้งนี้ใช้เวลา 45 นาที
      ก่อนเข้าไปใน gates ต้องผ่าน security check ที่เคร่งครัดมาก    ต้องถอดเสื้อโค้ต โน้ตบุ๊ค รองเท้า ใส่ถาดพลาสติก เอาเข้าเครื่องเอ็กซเรย์   แล้วตัวคนผ่านเครื่องตรวจคน    พอเราผ่านเครื่องร้อง ต้องเอาเข็มขัดออก และกระเป๋าสตางค์ที่มีเหรียญออกใส่ถาดเข้าเครื่องตรวจ  
      ตอนนี้เราทิ้งพาสปอร์ตและบัตรขึ้นเครื่องไว้ในกระเป๋าถือ    เขาขอดูเราไม่มี ประกอบกับเราเดินผ่านเครื่อง เครื่องร้อง หมออมราเอาบัตรขึ้นเครื่องให้เขาดู    หลายเรื่องพร้อมๆ กันเจ้าหน้าที่คนดำร้องวู้    ผมได้บทเรียนทันทีว่าคนที่จะทำงานสำคัญ หรืองานยากๆ ได้ต้องมีสติมั่น ไม่แสดงอารมณ์ที่รบกวนผู้อื่น หรือแสดงความไม่มั่นคงทางอารมณ์ของตน    ความมั่นคงทางอารมณ์นี้อาจสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการทำงานยากๆ มากกว่าความเฉลียวฉลาดปราดเปรียวทางความคิด
      การเดินทางทางอากาศในสหรัฐมีขั้นตอนยุ่งยากและหมดเปลืองขึ้นมาก
      เดินผ่านร้านหนังสือ Hudson อดไม่ได้ที่จะเข้าไปดู    เลือกได้หนังสือปกแข็ง 2 เล่ม รวมกว่า $50   นึกขึ้นได้ว่าที่แคลิฟอร์เนียภาษีแพง    หนังสือที่วางเด่นหน้าร้านแบบนี้หาซื้อง่าย    ซื้อที่ร้านบริเวณปลอดภาษีดีกว่า     จึงหันไปซื้อหนังสือปกอ่อนเล่มไม่หนานัก ราคา $14  ชื่อ Mapping Human History แต่งโดย Steve Olson  เพื่อจะดูว่า VAT ที่นี่เท่าไร   ผลคือ 8.25%     ผมจ่ายค่าหนังสือเล่มนี้ $15.16  (มารู้ภายหลังว่า ที่ โคโลราโด ภาษี 8%)
      เราไปนั่งที่บริเวณนั่งรอ   หมออมราซื้อเสบียงมาจากกรุงเทพ เป็นขนมปังไส้กรอกและขนมปังไส้ถั่วแดง   กินกับน้ำเปล่าที่เป็นน้ำกดบริการโดยสนามบิน   เราไม่ยอมซื้อน้ำขวดราคา 2 เหรียญกว่าเพราะคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผล
      เครื่องบินจากแอลเอไปเดนเวอร์เป็นเครื่อง S80 ที่นั่ง (2+3) x 32    คนโดยสารมีเพียงประมาณ 1/4 ลำ      เขาเลี้ยงแค่ snack เราดันไปขอ red wine เลยโดนเก็บเงิน 5 เหรียญ
      ตั้มกับกชมารับ (กชชื่อเต็มคือกชกร วรอาคม เป็นเพื่อนตั้ม)    ตั้มยืมรถเพื่อนมาใช้  เป็นรถฮอนด้า แอคคอร์ด รุ่นที่ใช้มาแล้วกว่าสิบปี
      ถึงบ้านตั้มเกือบสองยาม    กินขนม ผลไม้ แล้วเข้านอน

                  

     สนามบินสุวรรณภูมิ.  ประติมากรรมกวนเกษียรสมุทร

                  

          สนามบินสุวรรณภูมิ . ทางไปห้องรอขึ้นเครื่อง

                   

         สนามบินสุวรรณภูมิ . บริเวณร้านค้าปลอดภาษี

 


 
วิจารณ์ พานิช
๒๙ กย. ๔๙
  โบลเดอร์ โคโลราโด

 

หมายเลขบันทึก: 53864เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2006 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณครับ
อ่านได้จุใจ มีประโยชน์แฝงอยู่แทบทุกบรรทัด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท