ความโปร่งใสที่ไร้รอยต่อ



ความโปร่งใสที่ไร้รอยต่อ

เป็นความลำบากใจไม่น้อยที่จะเขียนถึง “ความโปร่งใส” ของการทำงานในองค์กรของรัฐ ตลอดชีวิตการรับราชการกว่า ๓๐ ปีของผม ได้เห็นทั้งระบบผลประโยชน์ ระบบอุปถัมภ์ ระบบคุณธรรม และระบบอื่นๆ ที่ไม่อาจอธิบายได้อีกมากมาย แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ผมมีโอกาสได้ทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีอุดมการ อยู่ในองค์กรที่มีผู้นำมีวิสัยทัศน์มีภาพลักษณ์แห่งความโปร่งใสที่ทุกคนยอมรับ ผมเห็นว่า ความโปร่งใสไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่ “คน” ซึ่งเป็นกลไกของระบบองค์กรใดจะเกิด “ธรรมาธิบาล” ได้เพราะผู้นำองค์กรมีวัตรปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี และมีคนในองค์กรรู้จักวางแผน ออกแบบการทำงานให้เรียบร้อย ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่ติดกรอบ ไม่ติดระบบ ไม่ติดยศชั้นดีกรี จน “คิดเองไม่เป็น” ซึ่งผมเห็นจนชาชินในระบบราชการก็คือ จะทำอะไรสักอย่างต้องมีคำสั่ง มีการมอบหมายงาน อ้างอิงกฏระเบียบหยุมหยิม กำหนดช่วงเวลาสั้นๆ ให้ใช้งบประมาณ  มีการติดตามงานในกรอบคิดของนักวิชาการผู้ไม่เคยสัมผัสสภาพที่แท้จริง ได้แต่อ้างงานวิจัยต่างประเทศหรืองานวิจัยประเภทพิสูจน์ทฤษฎีมาสร้างรูปแบบพัฒนางานให้คนภาคปฏิบัติในพื้นที่ทำแล้วรายงานขึ้นหน่วยเหนือสุดท้ายก็สรุปผลว่าดี สำเร็จ อันที่จริงความล้มเหลวก็ปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อย แต่ทว่ามันกลายเป็น“ฝุ่นใต้พรม” ปีแล้วปีเล่า มีคนตั้งข้อสังเกตว่า คนดี หรือคนที่อุทิศทุ่มเทให้กับงานจริงๆไม่ก้าวหน้าเท่ากับคนที่ทำงานฉาบฉวยแต่เขียนรายงานเก่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รายงานผลงานประจำปีตามแผนปฏิบัติการแต่ละปีขององค์กร จึงมีแต่ข้อมูลเชิงปริมาณที่ไม่เคยตอบโจทย์ได้เลยว่า เอาไปใช้ประโยชน์อะไร มีข้อมูลเชิงคุณภาพที่มีเนื้องานติดอยู่กับเนื้อทฤษฎีนิดหน่อย และมีร่องรอยหลักฐานที่ไม่ค่อยสะดุดตา

ผมเองทำใจไว้ตั้งแต่เริ่มรับราชการครูข้าราชการต้องทำหน้าที่ตามกรอบตำแหน่ง และต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบโดยเอาประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง และเตือนตนอยู่เสมอว่า หากคิดจะทำการสิ่งใดที่ไม่ดีไม่งามกับงานราชการ ก็เหมือนถ่มน้ำลายรดฟ้า ที่จะต้องกลับมารดหน้าตนเอง แม้จะเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ควรมีความสง่างามในศักดิ์ศรี เกียรติยศ ความเป็นครู

ตอนนี้ผมทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ มีหน้าที่เอาประสบการณ์ดีๆ ตอนเป็นครู หรือนำเอาวิทยาการใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่วิเคราะห์สังเคราะห์หรือวิจัยได้ มาชี้แนะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูถึงชั้นเรียนให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ มีความสุขกับการทำหน้าที่ครู ....

ผลการนิเทศระบบเครือข่ายของผมทำท่าจะไปได้ดี ครูที่เบื่อการทิ้งห้องเรียนมาอบรมก็กำลังได้รับการปรับวิธีเรียนรู้กับนวัตกรรมนิเทศตัวใหม่ที่ผมออกแบบขึ้น แต่กระแสการจัดการเรียนการสอนแบบติววิชามาแรงเหลือเกิน ทั้งนี้ด้วยนโยบายเร่งคุณภาพด้วยตัวเลข การนำค่าเฉลี่ยผลการสอบระดับชาติ ไปผูกติดกับการขอวิทยฐานะหรือความดีความชอบของครู เกณฑ์การประเมินภายนอกของโรงเรียน จึงเป็นเหตุจูงใจทำให้โรงเรียนหันมาจัดการเรียนการสอนแบบติววิชาแบบเข้มข้นกับแนวข้อสอบเก่าๆ  แทนการสอนตามหลักสูตรปกติ เพื่อต้องการให้คะแนนสอบระดับชาติของเด็กสูงขึ้นกว่าเดิม ด้วยเชื่อว่า การเรียนแบบติววิชาเท่านั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

เอาละ ถ้าการเรียนแบบติววิชาดีจริง ปีนี้ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์จากการสอบระดับชาติสูงขึ้นแน่...ผมตั้งสมมุติฐานไว้ล่วงหน้า แล้วซ่อนความเห็นลึกๆไว้ในใจว่า “ การเรียนแบบติววิชาก็เท่ากับการอ่านหนังสือเตรียมสอบ สร้างความคุ้นเคยกับข้อสอบ แต่เท่าที่ผมรับผิดชอบกลุ่มงานวัดผลประเมินของเขตพื้นที่มา ๕ ปี ผมยังไม่เคยเห็นข้อสอบปีใดข้อใดวัดความรู้ความจำตรงๆ เคยเห็นแต่ข้อสอบวัดองค์ความรู้ที่ตกผลึกจากประสบการณ์ และกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางทั้งสิ้น...ถ้าครูไม่นำข้อสอบเก่ามาออกแบบหน่วยการเรียนรู้ใหม่จัดกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้โดยใช้กระบวนการคิด ฝึกปฏิบัติทดลอง หรือเรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิตจริงแทนการเฉลยคำตอบ การเรียนแบบติววิชาจะได้ผลจริงหรือ?  อย่างไรก็ตาม เมื่อต้านกระแสไม่อยู่ ก็ต้องเอาวิกฤตมาเป็นโอกาส โดยหาวิธีทำให้การติววิชาเป็นกระบวนการเรียนรู้ คิดดังนั้นแล้วผมก็สร้างเครื่องมือนิเทศแนวการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ตามแนวข้อสอบเก่า ที่วิเคราะห์รายมาตรฐานไว้แล้ว เน้นกิจกรรมการเรียนที่เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ค้นคว้าหาคำตอบ เมื่อติดตามดูก็พบว่าหลายโรงเรียนพอใจเอาด้วย บางโรงเรียนก็พอใจใช้วิธีของเขาเอง ก็ถือว่าเป็นสิทธิที่เลือกได้

ภารกิจอีกด้านหนึ่ง ผมและทีมงานในกลุ่มงานวัดผลประเมินผลของเขตพื้นที่ ต้องวางแผนเตรียมการ และจัดการสอบระดับชาติ (O NET และ NT)  อย่างเคร่งครัด รัดกุม เช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆมา ปีนี้ผู้นำองค์กรอย่างผู้อำนวยการเขตนำทีมพวกเราออกพบครูและผู้บริหารครบทั้ง ๖ อำเภอ เพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงการดำเนินการสอบในฐานะที่เขตพื้นที่เป็นศูนย์สอบ เน้นย้ำทุกโรงเรียนจัดการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ หากใช้ข้อสอบเก่าเป็นสื่อควรมีกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ ทดลอง ค้นคว้า ไม่ใช่นั่งเฉลยข้อสอบ ให้ศึกษานิเทศก์เร่งนิเทศติดตามช่วยเหลือ พัฒนาคลังข้อสอบไว้จัดสอบ Pre- O NET เป็นระยะ เน้นย้ำให้กรรมการคุมสอบในสนามสอบทุกคนตระหนักในบทบาทหน้าที่ ให้การจัดสอบได้มาตรฐาน  โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรมกับนักเรียนผู้เข้าสอบทุกคน เป็น “ห้องสอบสีขาว”

พอผลการสอบระดับชาติประกาศออกมา ค่าเฉลี่ยของเขตพื้นที่สูงขึ้นนิดหน่อย แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ขณะที่หลายเขตพื้นที่ก้าวกระโดดติดลำดับทอปเทนของประเทศ

ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ระดับเขตพื้นที่ที่ขยับขึ้น ถือเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ อันเป็นผลจากความร่วมมือและทำหน้าที่อย่างแข็งขันของทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่มีรายงานความผิดปกติจากสนามสอบ ทุกคนสบายใจที่งานสำเร็จลงด้วยดี ถึงพวกเราจะไม่ได้เงินโบนัส จากค่าผลสัมฤทธิ์เฉลี่ยต่ำกว่าระดับประเทศ แต่ก็มีความสุขใจต่อการทำงานที่ “โปร่งใส”


หมายเลขบันทึก: 538566เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2013 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความโปร่งใสไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่ “คน” ซึ่งเป็นกลไกของระบบ.. น่าจะจริงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท