562. "After Earth"


วันนี้ได้ดูหนังไซไฟที่อยากดูมานานคือเรื่อง After Earth ดูแล้วตื่นตาตื่นใจกับจินตนาการมากๆ หนังเป็นเรื่องราวในอนาคต ที่มนุษย์ได้อพยพไปอยู่บนดาวดวงอื่นไปนานนับพันปีแล้ว เนื่องจากโลกมีมลภาวะมากจนเกินกว่ามนุษย์จะอยู่ไหว  เมื่ออยู่โลกใหม่ก็ต้องเผชิญกับภัยจากต่างดาว  จึงมีการเตรียมตัวรับมือตลอด ครั้งหนึ่งมีการฝึกซ้อม โดยต้องมีการเดินทางไปดาวอีกดวง แต่ระหว่างทางเกิดเจอพายุอุกาบาต ทำให้ต้องหนี หนีไปหนีมาก็กลับมายังโลก แต่ยานเสียหายมาก เลยตก มีผู้รอดชีวิตสองคนคือพ่อกับลูกคู่หนึ่ง

                                          

ทั้งสองกลับมายังโลกที่กลายเป็นเหมือนโลกต่างดาวของทั้งสอง เพราะเมื่อพันปีข้างหน้านั้น โลกที่ปรากฏกตรงหน้า ไม่เหมือนโลกที่เราเคยอยู่ เพราะอากาศเปลี่ยนไป แถมสัตว์ก็พัฒนาตัวเองไปไกล จนกลายเป็นนักล่าที่น่ากลัว

ทั้งสองพบว่าเหลือกันอยู่สองคน แล้วจำเป็นต้องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ.. แต่เครื่องส่งอีกอยู่ในส่วนหาง ที่ตกอยู่ห่างจากส่วนหัวที่พ่อลูกอยู่ไปกว่า 100 กม. ..คนพ่อแม้จะเก่งมาก แต่ก็บาดเจ็บสาหัส เดินไม่ได้ เลยจำเป็นต้องส่งลูกไปแทน (ลูกอายุสัก 15 ปี)  คนที่เป็นลูกต้องออกเดินทางฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ โดยก่อนไปพ่อบอกลูกว่า  

“... ภยันอันตรายเป็นของจริง แต่จะกลัวหรือไม่กลัวอยู่ที่เราเลือก...” ซึ่งเป็นอะไรที่กินใจผมมากๆ

ระหว่างทางผู้เป็นลูก ก็จะสติแตกในระยะแรก ผู้พ่อต้องบอกให้นั่งลง หายใจ รับรู้สิ่งที่เป็นปัจจุบัน  ... นี่ก็ชอบ เพราะนี่คล้ายๆ กับการกลับมารู้สึกตัว หรือการมีสติในศาสนาพุทธนั่นเอง...  พอคนลูกทำอย่างนี้ จากลนลานก็ค่อยสงบ จากคิดไม่ออก มาคิดออก คุณจะเห็นว่าคนลูกต้องทำอย่างนี้หลายครั้งในเรื่อง คือนั่งคุกเข่าด้วยท่าแบบภาพข้างล่างนี้  จนที่สุดความกลัวก็หมดไป สามารถเอาชนะมนุษย์ต่างดาว และช่วยพ่อได้ในที่สุด

                       

และทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งในการทำ Appreciative Inquiry (AI) หรือไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ใดๆใน OD ก็ตาม.. เรามักเห็นชาว OD ทำสิ่งที่เรียกว่า Reflection หรือการใคร่ครวญ.. คือการหยุดคิดทบทวน สิ่งที่ทำไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแง่ของผลที่เกิดขึ้น หรือกระบวนการก็ตาม โดยทำทั้งก่อน ระหว่างโครงการ และหลังจบโครงการแล้ว ในศาสตร์ AI เอง จะมีในส่วน Destiny คือการตั้งคำถามว่า.. อะไรที่ Work ไม่ Work ทั้งผลที่เกิดขึ้น ระหว่างก่อน กลาง หรือหรือโครงการ โดยรวมถึงกระบวนการทำ AI ด้วยไม่ว่าจะเป็นส่วนของ Discovery Dream Design หรือแม้กระทั่ง Destiny เองก็ตาม...  เราจะไม่ทำ ทำ ทำ ให้เสร็จ หากแต่เราจะ “หยุดคิด  หรือทำ Reflection ครับ... ซึ่งตอนแรกผมก็ประหลาดใจ เพราะมันดูเสียเวลา ...

ผมจำได้สมัยผมเรียนปริญญาเอกด้าน OD ผมก็สติแตก เหมือนเด็กคนนี้ครับ.. ผมตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่ทำๆ ให้มากที่สุด ทำไมต้องมานั่งคิดด้วย แถมเขียนรายงานก็เยอะ.. เอาง่ายๆ ผมทำ AI หลายเดือน แต่ละเดือนก็ไม่ง่ายนัก ที่หนักกว่าคือทุกเดือนผมต้องมานั่งคิดว่าทำอะไรไป แล้ว Work ไม่ Work บ้าง แล้วทำรายงานส่งอาจารย์.. ผมใช้เวลากว่า 10 วันต่อเดือน ทำรายงาน... เรียกว่าช่วง 10 วันนั้นผมแทบไม่ได้ทำ AI เลย ตอนแรก ผมก็ร้อนรน.. ผมจะจบหรือเปล่า...​แต่พอทำครั้งแรกก็เริ่มเห็นครับ ว่า เวลาที่เราหยุดคิดนั้นๆ จริงๆ เราไม่เสียเวลาเลย ที่สำคัญกลับรู้สึกว่าเป็นการลงทุนด้านเวลาที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต การได้หยุดคิด แต่ละครั้ง ทำให้ผมค้นพบเรื่องราวดีๆ ที่ผมมองข้ามไป และทุกเรื่องที่นั่งคิด นั่งเขียน ทำให้ผมรู้สึกถึงการก้าวกระโดดในด้านการปฏิบัติ งานของผมทั้งที่เวลาน้อยลง กลับได้ผลมากขึ้น  เรียกว่า “การหยุด” ครั้งนั้นการเป็นเหมือนการก้าวข้ามอะไรบางอย่าง ที่ถ้าผมไม่หยุดคิดหยุดมอง ผมจะไม่เคยเจอมันเลย.. และผมคงจะเป็นอะไรที่ดูขยัน แต่ทำอะไรไม่ได้มาก ที่สำคัญคงไม่ไปถึงไหน

                         

ผมว่าการ “หยุด” สำคัญไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรมครับ และหนังเรื่อง After Earth เป็นเครื่องย้ำเตือนผมให้เห็นประโยชน์ของการ “หยุด” ครับ

การเขียน Blog ใน Gotoknow แห่งนี้ ก็นับเป็นกระบวนการทำ Reflection ของผมครับ และผมก็ค้นพบว่า กิจกรรมนี้ทำให้ผม เชื่อมต่อความคิดที่มันกระจัดกระจาย ปะติดปะต่อเป็นเรื่องเป็นราวได้ ที่สำคัญระหว่างเขียนมักได้แนวคิดดีๆ ผุดขึ้นมา ผมว่าการทำ AI ของผมพัฒนาไปมากก็จากการทำ Reflection ด้วยการเขียน Blog นี่แหละ... ตอนนี้ผมเขียนปีละ 100 ตอนครับ..

ส่วนเรื่องศาสนาพุทธ ผมเล่าเรื่องนี้ไว้ในเรื่อง “ศึกในป่าช้าครั้งนี้ ใหญ่หลวงนัก” ลองดูว่าผมไปทำอะไรในป่าช้ามา ... เป็นประสบการณ์ After Earth ที่ผมได้ผ่านมาระหว่างบวชครับ.. เป็นอะไรที่สุดๆ ครับ.. ชีวิตผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (ยังไม่บรรลุ แต่ดีมากๆ ครับ..)

เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูกันเอาเองนะครับ


Reference: 

1st Picture:  http://www.joblo.com/movie-news/new-after-earth-poster-with-will-and-jaden-smith-is-better-than-the-first-one

2nd Picture: http://wae.blogs.starnewsonline.com/35147/movie-review-%E2%80%93-%E2%80%98after-earth%E2%80%99/

3rd Picture: http://www.geekation.com/?p=19355



หมายเลขบันทึก: 538444เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2013 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2013 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านเรื่องนี้แล้วก็ได้หยุดคิดทบทวนตนเองเดี๋ยวนี้เลยค่ะ

โดยส่วนใหญ่จะหยุดคิดทบทวนตนเองอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงปีใหม่บ้าง วันสำคัญต่างๆของชีวิตบ้าง

ขอบพระคุณค่ะสำหรับการกระตุกให้หยุดคิด


ขอบคุณมากครับอาจารย์ 

งานที่ผมทำมันชะงักมาระยะหนึ่ง โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ตำหนิตัวเองอยู่ หัวหมุนทุกว้น เหมือนคนหลงป่า

ผมเข้าใจว่า การใช้ AIของอาจารย์น่าจะประมาณว่า หาที่สูงๆหรือปีนต้นไม้แล้วมองรอบๆเพื่อเลือกทางเดิน

ถูกต้องซักครึ่งมั็ยครับ

อาจารย์ขอบคุณมากครับ..ได้ทั้งบันเทิงและข้อคิด ผสมแนวคิดแบบ AI ลงไปในบทความจริงๆครับอาจารย์ 

เข้ามาอ่าน มาเขียน มาเรียนรู้

ขอบคุณครับอาจารย์...

ชอบมาที่นี่เสมอเมื่อมีเวลาพอ.. เพราะได้อ่าน ได้ทำความเข้าใจ ...อยากไปดูหนังเรื่องนี้ค่ะ ไม่ได้ดูหนังมา 1 เดือนเต็มๆ แล้วค่ะ

เำพิ่งไปดูหนังเรื่องนี้มาเมื่อเย็นวันศุกร์ที่แล้ว เห็นด้วยกับ Reflection ของอาจารย์  

ในทางกิจกรรมบำบัด เป็นการรับรู้สัมพันธภาพระหว่างพ่อกับลูกแบบ Social awareness & Cognitive integration ที่มุ่งหมายให้เกิดกระบวนการ Self-control สู่ Self-efficacy เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่มีคุณค่าแห่งชีวิต คือ ลูกช่วยเหลือพ่อให้ออกจากโลกที่ร้างได้ ลูกฝึกจิตให้มีความกล้าในการฆ่าสัตว์ร้่ายได้ในที่สุด   

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท