ปัญหาและสาเหตุการพังทลายของชายหาด


การพัฒนาต้องมาพร้อมกับการอนุรักษ์

การพังทลายของชายหาดจากสิ่งก่อสร้างริมทะเล

(Impact of Coastal Structures on Beach Erosion)

โดย รศ. ดร. สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

29 พ.ค. 2556

เสถียรภาพของชายฝั่งคืออะไร

ชายฝั่งเป็นบริเวณเขตน้ำตื้นที่คลื่นมีผลกระทบต่อท้องทะเล ทำให้ตะกอนฟุ้งกระจายและเคลื่อนย้าย กระแสน้ำที่เกิดจากคลื่นลมที่กระทำต่อชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชายฝั่งอยู่ใน “สภาวะสมดุลพลวัต (dynamic equilibrium)” ซึ่งหมายถึง สมดุลบนความเคลื่อนไหว ดังนั้นการพิจารณาเสถียรภาพของ ชายฝั่งจึงต้องมองภาพรวมเป็นฤดูกาล ปี หรือรอบของการคืนสภาพเดิม การเปลี่ยนแปลงสภาพของชายฝั่งด้วยสิ่งก่อสร้าง เช่น เขื่อนกันคลื่น เขื่อนกันทราย รอดักทราย กำแพงกันคลื่น ฯ จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปร่างชายฝั่งที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้การสร้างเขื่อนและฝายในแม่น้ำจะกีดขวางการไหลของตะกอนลงสู่ทะเล ทำให้ชายหาดขาดแคลนทรายที่มาหล่อเลี้ยง ผลลัพธ์ก็คือชายหาดจะหดสั้นลง และในที่สุดคลื่นก็สามารถเข้าถึงฝั่งและกัดเซาะซึ่งจะยากต่อการแก้ไข

รูปที่ 1 สัณฐานของชายหาดตามฤดูกาล

อะไรคือการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งตามธรรมชาติ (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)

ชายฝั่งประกอบด้วยสันทราย (sand dunes) หาดทราย (beach) และสันดอนใต้น้ำ (sand bars) ซึ่งเป็นบริเวณที่คลื่นเริ่มแตก ในช่วงมรสุมที่คลื่นลมแรง สันทรายจะถูกกัดเซาะเป็นแนวตรงดิ่ง และทรายถูกพัดพาออกสู่ทะเลกลายเป็นสันดอนใต้น้ำ (เส้นทึบ) แต่เมื่อคลื่น ลมสงบคลื่นเดิ่งจะนำทรายนั้นถมกลับสู่ฝั่ง ก่อตัวเป็นชายหาดดังเดิม (เส้นปะ) ดังนั้นจะเห็นว่ารูปร่างชายหาดจะสมดุลด้วยตัวเองตามฤดูกาล

กระแสน้ำทำให้ชายหาดเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร (ดูรูปที่ 2 ประกอบ)

เมื่อคลื่นเคลื่อนที่เป็นมุมเอียงเข้าหาฝั่งจะก่อให้เกิดกระแสน้ำที่ไหลลัดเลาะไปตามแนวชายฝั่ง (longshore current) และจะพัดพาทรายให้เคลื่อนที่ไปด้วย ถ้ากระแสน้ำนี้ถูกขัดขวางโดยสิ่งก่อสร้าง ทรายก็จะตกทับถมที่โครงสร้างนั้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะไม่มีทรายไปหล่อเลี้ยง ก็จะเกิดการเสียสมดุลอย่างถาวร

เนื่องจากคลื่นแปรเปลี่ยนทิศทางไปตามฤดูกาล จึงทำให้การเคลื่อนของตะกอนเปลี่ยนไปมาด้วย ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้วจะได้ค่าสุทธิ (net transport) ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของทิศทางพายุทำให้ไม่สามารถ ประมาณการเคลื่อนที่ของตะกอนได้ถูกต้อง จะงอยสันทรายที่แหลมตะลุมพุกและอ่าวปัตตานี เป็นสิ่งบ่งบอกทิศทางการเคลื่อนที่สุทธิของตะกอนชายฝั่งได้เป็นอย่างดี


รูปที่ 2 กระแสน้ำเลียบฝั่ง

จริงหรือที่..สิ่งก่อสร้างทำให้หาดทรายและชายฝั่งพังทลายรุนแรงและลุกลาม (ดูรูปที่ 3 ประกอบ)

สิ่งก่อสร้างชายฝั่งอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1) สร้างยื่นออกจากชายฝั่ง เช่น รอหรือคันดักทราย (groynes) และ เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty)

2) สร้างที่ชายฝั่งทะเลขนานกับแนวชายฝั่ง เช่น เขื่อนกันคลื่น (breakwater) ฯ และ

3) สร้างไว้บนชายหาด เช่น กำแพงกันคลื่น (seawall) แบบต่างๆ

กรณีของรอดักทรายและเขื่อนกันทรายฯ กระแสน้ำจะพาทรายมาทับถมด้านต้นน้ำ ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง จากนั้นจะลุกลามไปไม่สิ้นสุดเพราะชายฝั่งจะพยายามจะปรับตัวให้เข้ากับทิศทางใหม่ของคลื่น ชายฝั่งที่เสียสมดุลแล้วจะมีลักษณะลาดชันทำให้ง่ายต่อการพังทลาย แม้แต่ถนนที่มีการบดอัดอย่างดีก็พังทลายลงในพริบตา ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ทั่วไปตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่ จ.นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช ดังตัวอย่างการพังทลายของชายฝั่งที่บ้านบ่อคณที ต.ขนาบนาก อำเภอปากพนัง ที่ขณะนี้ลุกลามไปจนถึงแหลมตะลุมพุก ที่บ้านหน้าศาล อ.หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่บ้านนาทับ อ.เมืองสงขลา ฯลฯ

รูปที่ 3 (ก) รอดักทราย และ เขื่อนกันทรายและคลื่น

การพังทลายของหาดทรายและชายฝั่ง จากเขื่อนกันทรายและกันคลื่น ที่ ต.นาทับ อำเภอเมืองสงขลา (ภาพปี 2545)

ถนนและทรัพย์สินเสียหาย ที่ ต.นาทับ อำเภอเมืองสงขลา การพังทลายของหาดทรายและชายฝั่ง ผลกระทบจากเขื่อนริมชายฝั่ง (ภาพปี 2547)

การพังทลายของหาดทรายและชายฝั่ง จากเขื่อนกันทรายและกันคลื่น ที่ ต.ขนาบนาก อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช (ภาพปี 2545)

ถ้ามีการสร้างคันดักทรายหลายๆตัว จะมีการทับถมที่คันดักทรายตัวแรกและกัดเซาะอย่างรุนแรงถัดจากคันดักทรายตัวสุดท้ายเสมอ


รูปที่ 3 (ข) คันดักทรายหลายตัว


รูปที่ 3 (ค) เขื่อนกันคลื่น


ชายหาดแสงจันทร์ จ.ระยอง ที่ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยเขื่อนหินชายฝั่ง

รูปที่ 3 (ก) การกัดเซาะชายฝั่งจากเขื่อนกันทราย (ข) การกัดเซาะชายฝั่งจากรอดักทรายหลายตัวและ (ค) การกัดเซาะชายฝั่งจากเขื่อนกันคลื่น

ในกรณีการสร้างเขื่อนกันคลื่นในทะเลขนานกับแนวชายฝั่ง ด้านหลังของเขื่อนจะมีทรายตกสะสม ขณะที่ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะเว้าเป็นอ่าวรูปโค้ง (tombolo) และถัดจากเขื่อนตัวสุดท้ายจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างฉับพลัน ดังเช่น การสร้างเขื่อนกันคลื่นที่บ้านนาทับ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทำให้ถนนที่แข็งแรงซึ่งห่างจากทะเลกว่า 80 เมตรพังทลาย และลุกลามทำลายบ้านเรือนที่บ้านบ่ออิฐที่อยู่ห่างออกไปกว่า 3 ก.ม.

กำแพงกันคลื่นที่สร้างล้ำลงไปบนชายหาด (รูปที่ 4) จะก่อให้เกิดการสะท้อนของคลื่นที่ชายฝั่ง คลื่นจะเพิ่มขนาดขึ้นทวีคูณที่กำแพง ซึ่งนอกจากจะทำให้สิ่งก่อสร้างเสียหายแล้ว ยังทำให้หาดทรายหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะคลื่นสะท้อนนั้นจะหอบทรายออกสู่ทะเลอย่างถาวร ละอองน้ำเค็มที่เกิดจากคลื่นกระแทกกำแพงจะปลิวไปในอากาศ เกิดเป็นไอกรดที่กัดเซาะทุกอย่างให้ผุกร่อนเสียหาย นอกจากนี้ที่ปลายของกำแพงกันคลื่นยังทำให้เกิดการกัดเซาะหาดทรายและชายฝั่งในลักษณะเดียวกับรอดักทราย

รูปที่ 4 การสะท้อนของคลื่นที่กำแพงกันคลื่น ชายฝั่งบ้านหน้าศาล อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช (ภาพปี 2555)

มีมาตรการใดบ้างช่วยฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนมา

จากการศึกษาและทำวิจัยการพังทลายของชายฝั่งภาคใต้ของไทยอย่างต่อเนื่อง พบว่าสัณฐานชายฝั่งตั้งแต่ จ.สงขลา ถึง นครศรีธรรมราช มีหาดทรายที่เป็นแนวยาวเรียบและตรง ซึ่งอ่อนไหวต่อการรุกล้ำของมนุษย์ การกระตุ้นด้วยสิ่งก่อสร้างที่ล่วงล้ำชายหาดทำให้ชายฝั่งต้องปรับตัวใหม่กับสิ่งแปลกปลอมนั้นและลุกลาม ชายฝั่งที่พังทลายไปแล้วไม่สามารถเยียวยาได้

ทางออกที่ดีคือการหามาตรการบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูในบางแห่ง นั่นคือ สิ่งก่อสร้างชายฝั่งจำนวนมากที่ไม่ใช้ ประโยชน์แล้วต้องเร่งรื้อถอนออกไป เพื่อให้ชายฝั่งปรับตัวตามธรรมชาติโดยเร็ว การเพิ่มทรายและถ่ายเททรายให้กับชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะจะให้ผลดีที่สุด

การถ่ายเททรายจากที่ถูกดักเก็บไว้ในบริเวณเขื่อนกันทรายไปสู่ด้านที่ถูกกัดเซาะ จะลดปัญหาได้อย่างรวดเร็วและยังช่วยเสริมความมั่นคงให้กับชายหาดส่วนอื่นๆ

นอกจากนี้การลักลอบขุดทรายจากชายฝั่งก็เป็นสาเหตุ สำคัญที่ทำให้ชายฝั่งสูญเสียชายหาดถาวร จึงต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการนำทรายออกไป

การเพิ่มเสถียรภาพให้ชายฝั่งโดยไม่สร้างกำแพงล่วงล้ำชายหาดและไม่เป็นกำแพงแนวดิ่ง การปลูกต้นไม้แนวชายฝั่งจะช่วยยึดทรายและลดการแพร่ของไอกรดลงได้เป็นอย่างดี

ต้องเร่งประเมินโครงการฯต่างๆที่ผ่านมาเพื่อเป็นบทเรียน และชดใช้ความเสียหายแก่บ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐฯโดยเร็ว การจัดการทรัพยากรชายฝั่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุดสำหรับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ... o

หมายเลขบันทึก: 537494เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2015 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

โอ้โห คลื่นที่หัวไทรดูน่ากลัวมากเลยนะคะ

ก่อนที่หาดทรายบ้านหน้าศาลจะถูกทำลายไปในปี 2548 จากการสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองชะอวด-แพรกเมือง ไม่เคยปรากฏคลื่นใหญ่ที่ชายหาดเลย แต่เมื่อหาดทรายถูกทำลายจึงกลายเป็นดังภาพ ดูรายละเอียดได้ที่นี่ อดีตความสุขที่บ้านหน้าศาล อ.หัวไทร

จากการสำรวจความรู้ความเข้าใจของประชาชนภาคใต้ตอนล่าง 600 ตัวอย่าง พบว่า่ประชาชนทุกกลุ่มได้คะแนนความเข้าใจต่อสาเหตุการกัดเซาะหาดทรายเฉลี่ยไม่ถึง 45%   ยกเว้นชาวประมงที่ได้คะแนน 66%  กลุ่มที่ได้คะแนนต่ำมาก(ต่ำสุด)คือสื่อมวลชน และนักการเมือง

คนจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่าปัญหากัดเซาะหาดทรายเนื่องจากโลกร้อนและน้ำทะเลสูงขึ้น

น่าจะเป็นจริงกับผลสำรวจค่ะอาจารย์ เพราะส่วนตัวแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าสาเหตุคืออะไรจนมาได้อ่านจากที่นี่ค่ะ 

Gotoknow เป็นแหล่งรวมปัญญาชน จึงต้องรู้สิ่งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่พิสูจน์แล้ว ไม่เช่นนั้นจะมีแต่ความเห็น คาดเดา และข่าวสาร ที่ไม่เกิดประโยชน์มากนักต่อการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว

ความรู้ความเข้าใจปัญหาและสาเหตุที่ทำให้หาดทรายของชาติ ต้องพังทลายไป

ได้ผ่านผู้อ่านอย่างมากมาย ส่งผลให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสนใจ

ในการแก้ปัญหาจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะที่ จ.สงขลา ท่านผู้ว่าฯสงขลาได้

จัดประชุมเรื่องนี้ถึง 3 ครั้ง แต่ก็น่าเสียดายที่ คำตอบการแก้ไขยัีงคงวนเวียน

อยู่ที่เพิ่มสิ่งก่อสร้างลงไปในชายฝั่งอีก แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจว่าหาดทรายมีคุณค่าอย่างไร  

อ่านแล้วก็ยิ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องรีบได้รับการแก้ไขด่วนครับ

ทราบว่าหลายหน่วยงานได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยการเสนอให้สร้างเขื่อนฯขนาดใหญ่ขึ้น และมากขึ้น ทำเอางงไปเลย 

นาย ชาติชาย ใจห้าว

จากการศึกษาและทดลองมา 7 ปี ผมได้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกับในบทความข้างต้น ต่างกันอยู่นิดเดียวคือการแก้ปัญหาเราไม่ต้องรื้อโครงสร้างแข็งที่หน่วยงานต่างๆได้ทำไปแล้วนั้นออก ผมมีวิธีการที่จะสร้างหาดทรายให้งอกเลยเขื่อนหินทิ้งหรือตัวทีที่ทำไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้เราได้พื้นที่ชายหาดยื่นออกไปในทะเลอีกเยอะ ตอนนี้ผมทำอยู่ที่หาดหินงาม อ.สิชล ใช้เวลา 1 ปีได้หาดงอกออกไป 25 เมตร และมีสภาพหาดที่สวยมาก ตอนแรกเพื่อนๆหลายคนตั้งคำถามว่า "ช่วงหน้ามรสุมคลื่นใหญ่และสูงจะสามารถต้านทานได้หรือ" ซึ่งบททดสอบนั้นได้ผ่านไปแล้ว คือเมื่อเดือนพฤศจิกาและธันวาที่ผ่านมาคลื่นสูงมาก การใช้วิธีการของผมทำให้หาดงอกสูงขึ้นกว่าเดิม 2 เท่าและยื่นไปในทะเลประมาณ 10 เมตร ถึงตอนนี้หาดก็ยังคงสภาพอยู่เช่นนั้น ตอนนี้ผมก็ใช้วิธีนั้นอยู่เพราะเป้าหมายของผมจะใช้เวลา 4 ปี เพื่อให้ได้พื้นที่ชายหาดยื่นไปในทะเล 100 เมตร โดยใช้ความยาวของชายหาด 400 เมตร ที่ผมคิดว่าทำได้แบบนี้เพราะผมได้ค้นพบความลับของธรรมชาติและหลักเกณฑ์เก่าๆที่ไม่เคยมีใครคิดเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงค์ชีวิตของมวลมนุษยชาติ ผมเห็นว่าทางเครือข่ายเฝ้าระวังชายหาดมีความพยายามที่จะรักษาชายที่สวยงามไว้คู่กับประเทศเราตราบนานเท่านาน ไม่ต้องวิตกกังวนเพราะวิธีการผมได้คิดค้นสำเร็จแล้วรอแต่การนำไปใช้งานเท่านั้น วิธืการสร้างหาดของผมไม่มีผลกระทบใดๆเลย ไม่ต้องใช้การก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่เสียทัศนียภาพขของชายหาด สามารถออกแบบได้ว่าจะให้หาดโค้งว้าวอย่างไร และที่สำคัญคือทำแล้วสามารถอยู่ได้เป็น 100 ปี นี่ไม่ใช่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อนะครับเป็นเรื่องจริงแต่ผมจะอธิบายทุกอย่างได้หลังจากทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรให้เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอรับสิทธิบัตร คงไม่นานชายหาดบ้านเรากลับมาสวยงามเหมือนในอดีต 40 ปีที่ผ่านมา

ยินดีด้วยที่ช่วยกันรักษาธรรมชาติไว้ โดยเฉพาะหาดทรายซึ่งเป็นสมบัติของลูกหลานเรา

ถ้าพ่อแม่ทำลายมรดกของลูกๆ ลูกเราก็จะสาปแช่งให้วิญญานเราไม่มีความสุข

ถ้าไม่หวงความรู้ก็ช่วยแนะนำด้วยว่า มีวิธีรักษาชายหาดให้เหมือนเดิมได้อย่างไร

เราไม่ต้องการให้หาดทรายเพิ่มขึ้นหรือลดลง เอาแค่เหมือนเดิม แค่นั้นพอ

ช่วยบอกด้วยจะเป็นพระคุณ

สวัดดีครับคุณ Boon ผมไม่ใช่คนที่หวงความรู้หรอกครับ เพราะอยากให้ความรู้ที่ผมใช้เวลาศึกษามาหลายปีได้เอาไปใช้เพื่อรักษาชายหาดของบ้านเราไว้ให้นานเท่านาน แต่มันมีปัญหาตรงที่วิธีการของผมเป็นวิธีการที่เราต้องช่วยธรรมชาติ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาและปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน สิ่งที่ผมต้องรู้คือ ทิศทางคลื่นในแต่ละเดือน กระแสน้ำทะเล ระดับน้ำขึ้น-ลง ปริมาณตะกอนดินและทราย สภาพพื้นท้องทะเล เดือนที่มรสุมรุนแรง สภาพทางภูมิศาสตร์ของชายหาดหรืออ่าวนั้น ๆ และสำคัญคือสาเหตุการกัดเซาะเกิดขึ้้นตามธรรมชาติหรือเป็นเพราะสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทุกอย่างเหล่านี้ต้องใช้ในการออกแบบวิธีการช่วยธรรมชาติ เพราะจริงๆแล้วหาดทรายมีการงอกและหดได้เองตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่มีการกัดเซาะเป็นเพราะว่าเมื่อหาดโดนกัดไปแล้วคลื่นไม่สามารถเอาทรายกลับมาได้ และวิธีการของผมจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการทับถม ซึ่งเราจะทำอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่ผมกล่าวมาข้างต้น ถ้าอยากรู้จริงๆต้องใช้เวลาคุยกันนานครับ ขอบคุณมากครับที่สนใจแนวคิดและวิธีการของผม

ชาติชาย ใจห้าว ขอดูช่วงไหนของหาดหินงาม อ.สิชล ที่คุณบอกว่าผลงานคุณ

ผมเคยไปเจอคลื่นที่นครศรีธรรมราช ซัดเข้ากำแพงน่ากลัวมาก ถ้าไม่มีแนวกำแพงบ้านแถวนั้นคงหายไปหมดแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท