เรียนความรู้ที่ซับซ้อน (complex knowledge) ไม่ใช่เรียนความรู้เชิงเดี่ยว (simple knowledge)


การแก้ปัญหา ต้องการความรู้ที่ซับซ้อน (complex knowledge) และในบางกรณี มีความไม่ชัดเจน นี่คือทักษะที่คนทุกคนต้องมี และต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ และเพิ่มความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น ตามระดับพัฒนาการ

เรียนความรู้ที่ซับซ้อน (complex knowledge)  ไม่ใช่เรียนความรู้เชิงเดี่ยว (simple knowledge)

ระหว่างอ่านหนังสือ Who Owns the Learning? Preparing Students for Success in the Digital Age เขียนโดย Alan November  ผู้เขียนเล่าที่มาของการเรียนรู้ของตนเอง  เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ที่เป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้

ปี ค.ศ. 1981 ผู้เขียนเป็น ผอ. รร. ม. ปลายแห่งหนึ่งในรัฐแมสซาชูเสทส์  ในวันศุกร์หนึ่งมีครูมาแจ้งว่าจับนักเรียนคนหนึ่งที่แอบเข้าไปใช้คอมพิวเตอร์ (Apple II ที่เพิ่งออกใหม่) โดยไม่ได้ขออนุญาต  ให้ ผอ. ลงโทษ

เมื่อ ผอ. คุยกับเด็ก ก็ตระหนักในแรงบันดาลใจอันแรงกล้าที่จะเรียนวิธีเขียนโปรแกรม  ผอ. จึงแนะนำให้มาเรียนวิชานี้ในภาคฤดูร้อน  แต่เด็กบอกว่าติดไปทำงานหาเงิน  และเสนอว่า หากให้ยืมคอมพิวเตอร์ไปฝึกที่บ้านระหว่างสุดสัปดาห์ วันจันทร์จะเอาคอมพิวเตอร์มาคืนพร้อมกับส่งงานของรายวิชานั้น  แล้วเด็กก็ทำได้จริงๆ

ผอ. จึงเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะจัดสอนวิชา Computer Programming  และสอบถามเพื่อนๆ ว่าควรสอน Programming ภาษาใดดี  มีศาตราจารย์ที่ HBS (Harvard Business School) ท่านหนึ่งแนะนำว่า ในไม่ช้าจะมี software  การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์จะหมดยุค  หากต้องการเตรียมนักเรียนไว้รองรับยุคคอมพิวเตอร์  ควรฝึกทักษะที่จะใช้ได้ตลอดไป ไม่มีล้าสมัย คือทักษะแก้ปัญหา (basic problem solving)

การแก้ปัญหา ต้องการความรู้ที่ซับซ้อน (complex knowledge)  และในบางกรณี มีความไม่ชัดเจน  นี่คือทักษะที่คนทุกคนต้องมี และต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ  และเพิ่มความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น ตามระดับพัฒนาการ

นี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริง ในยุคศตวรรษที่ ๒๑

เมื่อเด็กโตขึ้น การฝึกแก้ปัญหาก็ต้องให้โจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น  เป็นการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (solving complex problem)  ซึ่งเป็นสัจธรรมของชีวิตจริง  ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิต เป็นทักษะชีวิต (life skills) อย่างหนึ่ง  ที่นักเรียนต้องฝึก  และจริงๆ แล้ว คนเราต้องฝึก/เรียนรู้ ตลอดชีวิต (lifelong learning)

ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของครู คือทักษะกำหนดปัญหาที่ท้าทาย ให้ศิษย์ฝึกแก้  ความท้าทายในระดับที่เหมาะสมจะดึงดูดความสนใจ (engagement) ของนักเรียน  ทำให้การเรียนเป็นสิ่งที่สนุกสนาน

การกำหนดปัญหาที่เปิดกว้างให้ศิษย์ใช้จินตนาการ ได้อย่างไม่สิ้นสุด เป็นทักษะสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของครู  เป็นสิ่งซับซ้อนท้าทายสำหรับครู  ท้าทายการฝึกฝนเรียนรู้ของครู 

การศึกษาไม่ใช่เพียงการเตรียมตัวเพื่อชีวิต  การศึกษาเป็นชีวิตในตัวของมันเอง

วิจารณ์ พานิช

๒๕ พ.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 537127เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่ง  เมื่ออ่านประวัตินักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าๆ ล้วนเรียนด้วยตัวเอง

การแก้ปัญหาคือการเรียนรู้ และต้องใช้ความรู้ด้านต่างๆ 


Have. A good knowledge..for the students .

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท