nobita
นาย ชัยพร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

มีสลึง พึงบรรจบให้ครบบาท


"มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท อย่าให้ขาด สิ่งของ ต้องประสงค์ มีน้อย จ่ายน้อย ค่อยบรรจง อย่าจ่ายลง ให้มาก จะยากนาน"

           "มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท

อย่าให้ขาด สิ่งของ ต้องประสงค์

มีน้อย จ่ายน้อย ค่อยบรรจง

อย่าจ่ายลง ให้มาก จะยากนาน"

          ผมจำบทท่องนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ และเดี๋ยวนี้ก็ยังคงท่องไว้อยู่ในใจ เพราะบางครั้งชีวิตที่ไม่ครบบาท ก็อาจจะทำให้ผมต้องเดินทางไกล แทนการขึ้นรถ  หรือ บางทีการขาดไปสักสลึง ก็อาจจะทำให้ผมหมดโอกาสนั่งเรือข้ามฟากได้เหมือนกัน...

          มูลเหตุของบันทึกนี้ มาจากการได้รับเช็คเป็นเงินปันผลของกองทุน และเงินปรับลดมูลค่าหน่วยลงทุน จำนวน ๒ ฉบับ มีมูลค่ารวมกันประมาณ ๔ บาทกว่า ๆ  (อย่างงนะครับ สี่บาทกว่า ๆ จริง ๆ)

          หลาย ๆ คนบอกว่า เสียดายจัง มูลค่าของเงินในเช็คแต่ละฉบับ ไม่คุ้มกับค่าเช็คและค่าดำเนินการเลย แต่จะให้ทำอย่างไรได้ล่ะ ทางบริษัทจัดการก็ต้องดำเนินการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนตามหน้าที่และระเบียบการ ส่วนผมเมื่อได้รับเช็คเงินปันผลแล้ว ก็ต้องนำเช็คทั้งสองฉบับ (ฉบับแรกสามบาทกว่า ๆ   ฉบับที่สองสี่สิบสตางค์กว่า ๆ ) นำไปฝากเข้าบัญชี  

          ทีแรกก็อายเจ้าหน้าที่ธนาคารเหมือนกัน คิดอยู่ในใจ เอ... เจ้าหน้าที่เขาจะว่าอะไรเรารึป่าวนะ กะแค่เช็คมูลค่าน้อย ๆ แบบนี้ยังนำมาฝากอีก  แต่ก็ยังจำได้ว่าเคยท่องว่า มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท  หรือ ได้ยินมงคลชีวิตที่บอกไว้ว่า อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา  ก็เลยต้องนำเช็คไปฝากเข้าบัญชีเงินลงทุนที่เปิดไว้ให้เรียบร้อย  ซึ่งถือว่าเป็นไม่ละทิ้งเงินแม้จะเป็นจำนวนน้อยก็ตาม เพราะสักวันหนึ่งเงินสลึงก็อาจจะเพิ่มพูนเป็นเงินบาท เงินร้อย หรือเงินพันได้

          ที่สำคัญ ผมคิดว่า จุดเริ่มต้นมีการลงทุนออกเช็คมาแล้ว ถ้าเราไม่นำเช็คเข้าบัญชีต่อ ก็แสดงว่าการลงทุนออกเช็คมาก็สูญเปล่า ต้องเสียทั้งค่าดำเนินการ ค่าเช็ค และมูลค่าเงินในเช็ค  แต่ถ้าเรานำเงินเข้าบัญชีเรา อย่างน้อย ๆ เงินก็ยังเข้ามาหมุนในระบบต่อไปได้ ไม่สูญหายไปไหน

          แล้วอีกอย่าง การใช้ชีวิตในกรุงเทพ ผมคิดว่าหลาย ๆ คนก็คงจะมีโอกาสเจอเหรียญ ตั้งแต่เหรียญสลึง  เหรียญห้าสิบสตางค์  เหรียญบาท  และห้าบาทเป็นต้นไปบ่อย ๆ  หลาย ๆคน ถ้าเจอเหรียญเล็ก ๆ ก็เลือกที่จะไม่หยิบ ไม่เก็บไว้ ปล่อยให้วางไว้เฉย ๆ เดินข้ามไปเปล่า ๆ  คิดว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ อาย กับการจะเก็บเงินที่ตัวเองเจอ

          แต่จริง ๆ แล้ว ชีวิตในเมืองกรุง เงินมีค่าทุกบาท ทุกสตางค์  เพราะ  นั่งเรือข้ามฟาก ยังคงเก็บ ๓.๕๐ บาท  นั่งรถเมล์ ขสมก. ก็เก็บ ๖.๕๐ บาท  และการทอนเงิน ก็ยังคงทอนแบบเหรียญสลึง ๒ เหรียญด้วย  เห็นไหมว่า แค่เหรียญสลึงก็มีค่าสามารถใช้งานได้  หรือใครไม่อยากใช้ ก็เก็บสะสมเหรียญเหล่านี้ไว้จำนวนมาก ๆ แล้วนำไปแลกได้ที่ สำนักงานเหรียญกษาป หรือหน่วยงานที่รับแลกได้ อาจจะได้เงินในจำนวนที่คิดไม่ถึงก็ได้...

หมายเลขบันทึก: 537066เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยที่สุดค่ะ สมัยก่อนอยู่เวร ER (ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน) ทำหน้าที่ตั้งแต่ช่วยออกบัตรคนไข้, ตรวจ รักษา, จ่ายยา และเก็บตังค์ ตอนส่งเวรเงินหายไป ๑ บาท โอ้.. พระเจ้า.. ต้องนั่ง clear หารเงิน ๑ บาท.. ได้ลงเวรตีหนึ่งครึ่ง ฮ่าฮ่า

มาชื่นชมเยาวชนรุ่นใหม่ที่รู้จักอดออมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท