สมุดไทย-หนังสือบุด


ภูมิปัญญาบรรพชนที่ทรงคุณค่า

คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักสมุดนะคะ  แต่ถ้าเป็น สมุดไทย  เพื่อนๆ พอจะทราบไหมค่ะว่าหมายถึงอะไรและมีความแตกต่างจากสมุดที่เราใช้กันในปัจจุบันอย่างไร 

สมุดไทย

     สมุดไทย  คือ  สมุดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ทำด้วยกระดาษข่อยแผ่นยาวๆ หน้าแคบ  พับทางขวางทบกลับไปกลับมาคล้ายผ้าจีบ  มีทั้งชนิดกระดาษขาวและกระดาษดำ  โดยมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น  สมุดข่อย  สมุดไทย  สมุดไทยดำ  สำหรับในภาคใต้เรียกว่าสมุดไทยว่า  หนังสือบุด
     คำว่า  บุด  ในภาษาถิ่นใต้  อาจมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า  ปุสตก  และภาษาบาลีว่า  โปตถก ซึ่งหมายถึง  คัมภีร์ใบลาน  ผ้าเปลือกไม้  รูปปั้น  ในภาษาชวา - มลายู  มีคำที่เกี่บวข้องกับหนังสือบุด  คือคำว่า Pustaka ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต  หมายถึง  หนังสือทุกประเภท  คำว่า  Perpuswakaan  หมายถึง  ห้องสมุด  คำว่า  Pustakawan หมายถึง  บรรณารักษ์     และมีคำภาษาสันสกฤตอีกคำหนึ่งว่าปุฎ  หมายถึง  การพับ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังสือบุดคือเป็นหนังสือพับเช่นเดียวกัน ( ในภาษาถิ่นใต้จะออกเสียงคำว่า  สมุด  เป็น  มุด  จึงอาจกลายเป็น บุด ในเวลาต่อมา)  
     สมุดไทย  หรือ  หนังสือบุด  ของภาคใต้โดยทั่วไปมีหลายขนาด  แต่ละขนาดจะสัมพันธ์กับเนื้อหาที่เขียน  เช่น  ถ้าใช้บันทึกวรรณกรรมประเภทศาสนาจะเป็นหนังสือพระมาลัย  โดยจะบันทึกอักษรขอมบาลีหรือขอมไทย  มีความกว้างประมาณ  15-20 เซนติเมตร  ยาวประมาณ  70  เซนติเมตร  สำหรับนิทานชาดก  นิทานประโลมโลก  ตำนาน  พงศาวดาร  หรือตำราดูลักษณะเรือ  จะเป็นหนังสือบุดขนาดกลาง  กว้างประมาณ  10-13  เซนติเมตร  ยาวประมาณ  34-40  เซนติเมตร  และเรื่องตำรายาหรือคาถาอาคมจะนิยมบันทึกลงหนังสือบุดขนาดเล็ก  เป็นต้น

     ในปัจจุบันสมุดไทย  หรือ  หนังสือบุด  ได้ถูกทำลายหรือสูญหายไปเป็นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากค่ะ  ถ้าเพื่อนๆ ท่านไหนสนใจหรืออยากเห็นหนังสือบุดสามารถมาชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร  ได้ทุกวันทำการค่ะ

เอกสารอ้างอิง

- สถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ   สงขลา. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้      พ.ศ.2529  เล่ม  10. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2529.

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 5365เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2005 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ทางเหนือเขาเรียก "ปั๊บสา" หรือ "พับสา" สา ก็ คือ กระดาษสา ปั๊บสา ก็คือ กระดาษสาที่นำมาพับเป็นเล่มคล้ายกับสมุดไทย 

ส่วนสมุดไทยเข้าใจว่าแต่ก่อนเราไม่เรียกว่าสมุดไทย เข้าใจว่ามาเรียกสมุดไทย  เมื่อมีสมุดแบบฝรั่งเข้ามา

 

พี่ชาย คัดจากhttp://kanchanapisek.or.th/kp8/srt/srt601.html
หนังสือบุดของสุราษฎร์ธานี หนังสือบุดหรือหมุด คือหนังสือซึ่งทำด้วยกระดาษย่านปริหนา ซึ่งพับเป็นชั้น ๆ ภาคกลาง เรียกหนังสือชนิดนี้ว่า "สมุดไทย" หรือ "สมุดข่อย" ลักษณะตัวอักษรที่ใช้บันทึกมักเอนไปข้างหลัง หรือ ทางขวาประมาณ 30-40 องศา ที่เขียนด้วยตัวตรงนั้นพอ จะมีอยู่บ้างแต่น้อยกว่าการเขียนเอนไปข้างหลัง มักจะใช้บันทึกเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น นิทานเรื่องพระแสงสุริฉาย เล่ม 2 วรรณกรรมท้องถิ่นจากหนังสือบุดเรื่องพระแสงสุรีฉาย มีอายุประมาณ 100 กว่าปี แต่งขึ้น สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2438 เนื้อเรื่องกล่าวถึงฤาษีตนหนึ่งพบทารกน้อยนอนอยู่ใกล้แม่น้ำ จึงเก็บมาเลี้ยงและตั้งชื่อว่า อุบลวันนา เพราะว่านางถือกำเนิด มาจากดอกบัว ฤาษีและพระแสงสุรีฉายซึ่งเป็นศิษย์จึงช่วยกันเลี้ยงดูนาง นางอายุได้ 14 ปี ฤาษีจึงให้นางอภิเษกกับพระแสงสุรีฉาย แล้วเนรมิตปราสาทให้ทั้งสองครองคู่กัน ทุกวันทั้งสองจะออกหาผลไม้ให้พระฤาษีทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งพระแสงสุรีฉายออกเที่ยวป่า องค์เดียวเกิดหลงป่า หาทางกลับไม่ได้ จนค่ำก็พบช้างป่ามากมาย พระแสงสุรีฉายจึงแผงสรออกไป ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกใจหนี ไปหมด เหลือแต่พญาช้างเผือกตัวเดียว พญาช้างเผือกเห็นพระแสงสุรีฉายจึงเกิดความรักใคร่ แล้วถามพระสุรีฉายว่าทำไมมาเดินป่า องค์เดียว พระแสงสุรีฉายตอบว่าตนหลงป่าให้พญาช้างสารช่วยบอกทาง กลับให้ที พญาช้างจึงให้พระแสงสุรีขี่หลังแล้วพาหายไป ขณะที่นั่งบนหลังพญาช้างพระแสงสุรีฉายได้กลิ่นหอมของดอกไม้ จึงถามพญาช้างว่ากลิ่นอะไร พญาช้างตอบว่าเป็นกลิ่นของ นางแสงแก้วธิดาของยักษ์วิจิตราช มีสิริโฉมงดงามมาก พระแสงสุรีฉายต้องการจะเห็นโฉมของนาง จึงให้พญาช้างพาไป พญาช้าง บอกว่าบิดาของนางดุร้ายมาก พระแสงสุรีฉายบอกว่าไม่กลัว พญาช้างจึงพาพระแสงสุรีฉายเหาะลงมาเมืองยักษ์พระแสงสุรีฉาย จึงได้ลักลอบเข้าในห้องของนางแสงแก้ว และได้นางแสงแก้วเป็นมเหสีอีกองค์หนึ่ง จนกระทั่งพ่อของนางแสงแก้วทราบเรื่อง จึงต่อสู้กับพระสุรีฉาย แต่สู้ไม่ได้จึงต้องยอมรับพระแสงสุรีฉาย หลังจากนั้นพระแสงสุรีฉายและนางแสงแก้วได้เดินทางกลับมายัง อาศรมฤาษีและเล่าความจริงให้นางอุบลวันนาฟัง พักอยู่กับฤาษี 15 วัน พระแสงสุรีฉายจึงลาฤาษีกลับเมืองและพานางแสงแก้วและ นางอุบลวันนากลับไปด้วย หนังสือบุดเล่มนี้ได้มาจาก นางเงิน อภัยสวัสดิ์ อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาพของหนังสือข้อนข้างสมบูรณ์ ชำรุดหน้าปลายเล็กน้อย

 

 

อยากเห็นรูปแบบเต็มๆของหนังสือ  และตักอักษรที่ใช้เขียนหนังสือ
ถ้าคุณน้องมีเวลาว่าง  ลองแวะมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท