เทคนิคการทำงานเป็นทีมแบบไทยๆ



เทคนิคการทำงานเป็นทีมแบบไทยๆ

มีคำกล่าวว่า “คนไทยทำงานเป็นทีมไม่เป็น ทำงานกลุ่มมักล้มเหลว” เห็นได้จากกิจกรรมฝึกอบรม คนที่ทำหน้าที่เลขานุการกลุ่มมักทำหน้าที่แทน “กลุ่ม” เสมอ แม้แต่ในชีวิตจริงในการเรียนหรือการทำงาน เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานกลุ่มครั้งใด ประธานมักหาผู้อาสา ทำงานเดี่ยวมานำเสนอกลุ่มให้พิจารณาเห็นชอบ แล้วบอกว่าเป็นงานกลุ่ม เข้าทำนอง “งานกลุ่มทำงานเดี่ยว งานเดี่ยวทำงานกลุ่ม” มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ  ผลสุดท้าย “ทำงานเดี่ยว” สบายใจกว่า คนไทยเราจึงเก่งทำงานเดี่ยว และไม่ค่อยประสบผลสำเร็จในการทำงานกลุ่ม ดูตัวอย่างกีฬาประเภททีมเช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล นั่นปะไร  เราไม่เคยไปถึงโอลิมปิกเกมส์ แม้สักครั้ง คงมีแต่กีฬาประเภทเดี่ยวอย่างมวยสากลสมัครเล่น  ยกน้ำหนัก เท่านั้นที่พออวดชาติอื่นเขาได้  อยากจะยกตัวอย่างการทำงานเป็นทีมของฝ่ายบริหารชาติบ้านเมืองเราในเวลานี้บ้างเหมือนกันว่า ทำงานบูรณาการกันได้แค่ไหน? แต่ต้องขอยกไว้ก่อน เท่านี้ก็น่าจะชัดแล้ว...  เอาเป็นว่า ไม่ต้องอ้างทฤษฎีเชิงบริหารของฝรั่งมังค่า อย่างเช่น ทฤษฎีการระบุเหตุของพฤติกรรม  ทฤษฎีแรงจูงใจ  ทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำ  ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนที่สอนกันในมหาวิทยาลัย แต่จะวิเคราะห์วิจัยการทำงานเป็นทีมของกลุ่มตัวอย่างข้าราชการ พนักงานของรัฐ ในสภาพการปฏิบัติงานจริง  ซึ่งโดยภาพสรุปก็จะพบว่า พฤติกรรมการทำงานเป็นทีมยังต้องพัฒนาอีกมาก ดังนั้นในที่นี่  จะขอถอดรหัสประสบการณ์การทำงานในฐานะข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรอบ ๓๗ ปี เพื่อนำเสนอ สรุป แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิก Gotoknow  เป็นพื้นฐานดังนี้

พื้นฐานการทำงานเป็นทีมให้บรรลุความสำเร็จ

๑. สร้างเสน่ห์ตนเองให้ลุ่มลึก ก็คือ พัฒนาตนเองในเบื้องต้น ให้เป็นที่รักใคร่ น่าใกล้ชิดของคนอื่น  คนมีเสน่ห์ ใครๆก็อยากร่วมงาน วิธีสร้างเสน่ห์ง่ายๆ แบบชาวพุทธ ก็ใช้หลักธรรมสังคหวัตถุ ๔ มาใช้เป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่ บำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ช่วยเหลือ แบ่งปัน โดยไม่หวังผลตอบแทน ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้ขอ  (ทาน)  พูดจานุ่มนวล ไพเราะ มีเหตุผลน่าฟัง เร้าใจให้คิดให้ปฏิบัติ (ปิยวาจา)  ทำงานเป็นแบบอย่าง มีจิตอาสา ช่วยเหลือเสียสละ นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม องค์กร (อัตถจริยา)  มีความเยือกเย็น สม่ำเสมอ หนักแน่น ยึดความถูกต้อง เป็นธรรม (สมานัตตา) หากทุกคนสามารถพัฒนาตนเองเป็นปกติวิสัยย่อมเป็นผลดีต่อการทำงานร่วมกัน

 ๒. สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของงานที่ทำ ทั้งต่อตัวสมาชิก ต่อส่วนรวม ต่อสังคม ชาติบ้านเมือง ทุกคนถือเป็นเจ้าของงาน มีหน้าที่ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ออกแบบการทำงานร่วมกัน และลงมือทำอย่างใส่ใจให้งานบรรลุความสำเร็จ  ทำอย่างมีความสุข เกิดผลงานที่ “ดี เด่น ดัง” และชื่นชมผลสำเร็จด้วยกัน 

๓. สร้างความผูกพันใกล้ชิด  เสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน แสดงออกถึงการมีน้ำใจ ช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน ให้การยกย่องให้เกียรติในโอกาสอันควร  ให้การยอมรับวางใจในความรู้ความสามารถของแต่ละคน เชื่อว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน จึงไม่จำเป็นต้องติดยึดในสถาบันที่ร่ำเรียน ดีกรี สถานะทางครอบครัว  ภูมิกำเนิด รูปร่างผิวพรรณ

 ๔. สร้างมวลมิตรที่คิดต่าง  การคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ (ไม่ขัดแย้ง) ดีกว่าคิดตามอย่างเกรงใจ หรือหวังผลระยะสั้น งานย่อมผิดพลาดน้อย หากทุกคนช่วยกันติ ช่วยกันก่อ ช่วยกันอุดรอยรั่ว เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน งานยากหรืองานหนักกลายเป็นงานสนุกหรืองานเบา

 ๕. สร้างความกระจ่างในเนื้องาน  ทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน แจ่มชัดในขั้นตอนรายละเอียด ไม่มีใครอยากทำงานในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ คลุมเครือ ความกระจ่างชัดในเนื้องาน ช่วยให้การตัดสินใจ แก้ปัญหาระหว่างการทำงาน ทำได้อย่างถูกต้อง  

๖. สร้างสรรค์งาน สื่อสารอย่างต่อเนื่อง  มีการดำเนินการร่วมกันปรับปรุงแก้ไข พัฒนาต่อยอด ประเมินผลงาน และประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะในนามของกลุ่ม หรือองค์กร  ผ่านสื่อออนไลน์ สื่อมวลชน สื่อนิทรรศการ ในโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

    หมายเหตุ  การนำเสนอบทความนี้ ไม่ได้มุ่งหวังรางวัล ของ สรอ. แต่ตั้งใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านั้น


หมายเลขบันทึก: 536115เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 01:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทั้งเนื้อหาที่ดีและการร้อยเรียงคำที่ไพเราะ ขอบคุณมากค่ะท่าน

ได้ข้อคิดมาก ต้องรีบทำในส่วนที่ตนเองยังขาดอยู่  ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท