ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถ้าไม่รู้ต้นตอก็แก้ไม่ได้


"ยิ่งครูลดนักเรียนก็ยิ่งลด ยิ่งนักเรียนลดครูก็ยิ่งลด เป็นลูปวนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะไม่มีครูไม่มีนักเรียนเหลือแต่อาคารเรียน"



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องที่ฮ็อตฮิตที่สุดเป็น Talk of the townเรื่องหนึ่งคงไม่พ้นการที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมีโครงการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่าหนึ่งหมื่นโรงทั่วประเทศ มีผู้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากโดยเฉพาะในสังคม Social network ตอนแรกผมก็ดีใจครับว่ามีคนสนใจมากขนาดนี้คงถึงเวลารุ่งอรุณแห่งระบบการจัดการศึกษาของไทยเสียทีแต่พอเข้าไปอ่านบทความหรือคอมเม้นท์แล้วก็ปลงครับเพราะเกือบทั้งหมดออกมาเพื่อหลับหูหลับตา"ด่า"รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลโดยไม่มีสาระอะไร อีกทั้งยังไม่มีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมอะไรที่เป็นไปได้จริงๆเลย ที่เหลือเป็นคนที่ออกมาให้ข้อเสนอแนะก็เป็นกลุ่มเดิมๆที่รู้ปัญหาและได้รับผลกระทบอยู่แล้ว กลุ่มนี้เขาได้ต่อสู้กับเรื่องนี้ตลอดมาซึ่งก็ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมายแต่อย่างใด

ก่อนที่ผมจะเข้าไปสัมผัสกับเรื่องของการจัดการศึกษา (ระดับขั้นพื้นฐาน) ในฐานะของหนึ่งในผู้ประเมินภายนอก (ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว) บอกตรงๆครับว่าไม่ได้คิดว่าปัญหาเรื่องคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กจะมากมายขนาดนี้จนเมื่อได้เข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง รู้เลยครับว่าใครก็ตามที่ตั้งใจจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ต้องมีทั้งความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นและต้องพร้อมที่จะรับแรงต้านอย่างหนักจากหลายฝ่ายที่ต้องได้รับความกระทบกระเทือนทางสถานภาพจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมานักการเมืองที่เข้ามารับผิดชอบจึงใช้วิธีเตะถ่วงไปเรื่อยๆ "ปล่อยไปตามเวรตามกรรม" มากกว่าที่จะลงมือทำ

เมื่อพูดถึงโรงเรียนขนาดเล็กผู้คนมักจะจินตนาการถึงโรงเรียนยากจนในชนบทห่างไกล ภาพเด็กนักเรียนหน้าตามอมแมมใส่เสื้อผ้าขาดวิ่นเดิน Barefoot ไปตามถนนโคลนถนนฝุ่น นั่นก็ดูจะโรแมนติกเกินไปครับเพราะโรงเรียนขนาดเล็กที่เรากำลังพูดถึงนี่จำนวนมากเลยทีเดียวที่อยู่ในเขตเมืองและโรงเรียนพวกนี้แหละครับที่ประสบปัญหาเรื่องมีจำนวนนักเรียนน้อยจนเป็นปัญหากับเรื่องงบประมาณ(ไม่คุ้ม)อย่างที่เขาเรียกว่าต่ำร้อย ต่ำห้าสิบ ไปจนถึงต่ำสิบ(และจะน้อยลงทุกปีๆ)ในขณะที่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลมีสภาพธุรกันดารทุรกันดารและขาดแคลนมักจะมีนักเรียนเป็นสัดส่วนกับอัตราการเกิดและจำนวนประชากรในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีจำนวนนักเรียนในระดับคงที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก

ปัญหาของโรงเรียนทั้งสองกลุ่มนี้จะต่างกัน กลุ่มเมืองจะมีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ทางการศึกษา (Education Devices) สื่อการสอนต่างๆ ถ้าใครเคยเห็นโรงเรียนเล็กๆที่มีเด็กไม่เกิน 50-60 คนแถวๆภาคกลางอย่างเช่นตามลุ่มแม่น้ำน้อยของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท พวกนี้ไม่ห่างไกลหรือธุรกันดารทุรกันดารนะครับ มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในใจกลางเมืองด้วยซ้ำ โรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนแม้ว่างบประมาณจากต้นสังกัดจะมีน้อยมาก แต่ในชุมชนเขามีแหล่งที่จะหาการสนับสนุนได้อย่างเพียงพอจนบางครั้งเรียกว่าเกินความต้องการ หลายโรงเรียนมีเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ (ที่ใช้การได้) มากกว่าจำนวนนักเรียนเสียอีก มีอาคารเรียนสวยงามสีสันสดใสภูมิทัศน์สวยงามถึงจะถูกน้ำท่วมปีเว้นปีก็ตาม

แต่ปัญหาของโรงเรียนกลุ่มนี้คือแม้ชุมชนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนประชากรมากขึ้นแต่จำนวนนักเรียนกลับทรงตัวและมีแนวโน้มไปทางลดลงทุกปี ต้นสังกัดก็จำเป็นลดจำนวนครูตามลงไปด้วย (เนื่องจากมีเกณฑ์กำหนดไว้) จนเกิดปัญหาครูไม่ครบชั้นซึ่งก็จะไปมีผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ผู้ปกครองไม่กล้าส่งลูกมาเรียนหรือย้ายไปที่อื่น ซึ่งก็คือพยายามให้ลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดังขนาดใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลและมีการคมาคมสะดวก ยิ่งครูลดนักเรียนก็ยิ่งลด ยิ่งนักเรียนลดครูก็ยิ่งลด เป็นลูปวนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะไม่มีครูไม่มีนักเรียนเหลือแต่อาคารเรียน คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็คือผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนไม่มีค่ารถค่าใช้จ่ายให้ลูกหลานไปเรียนในเมือง (ใกล้ๆ) ได้

แต่ก็ใช่ว่าเฉพาะคนที่มีฐานะยากจนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ในส่วนของผู้ปกครองที่พอมีฐานะซึ่งส่วนใหญ่พอใจที่จะส่งลูกหลานที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เช่นเด็กที่มีอายุตั้งแต่สิบปีขึ้นไป (ตั้งแต่ชั้น ป.4) เข้าไปเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมืองด้วยเหตุผลด้านคุณภาพของการเรียนการสอนเป็นหลัก แต่ก็ไม่ต้องการที่จะให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่านั้นตามเข้าไปด้วยโดยห่วงปัญหาด้านความปลอดภัย หากมีสถานศึกษาที่คุณภาพดีพอสำหรับเด็กระดับนี้คาดว่าส่วนใหญ่ก็จะให้เรียนใกล้บ้านมากกว่า

ปัญหาก็คือโรงเรียนระดับประถมศึกษาหลังการใช้แผนการศึกษาแห่งชาติปี 2520 ซึ่งได้มีการจัดเป็นระบบ 6:3:3 คือประถมศึกษามีตอนเดียว 6 ชั้น (มัธยมฯมีสองระดับระดับละ 3 ชั้น) จากเดิมที่แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2503 กำหนดให้มีสองระดับคือ ประโยคประถมศึกษาตอนต้น 4 ปี และประโยคประถมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ก็จับนำมารวมกันแล้วตัดชั้น ป.7 ให้ไปรวมอยู่กับระดับชั้นมัธยมศึกษาซึ่งก็คือ ม.1 ในปัจจุบันนั่นเอง

การรวบระดับประถมศึกษาเป็นตอนเดียว ทำให้หลังการใช้แผนการศึกษา 2520 และหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) โรงเรียนที่สอนในระดับ ป.1 - ป.4 ซึ่งส่วนใหญ่มีอยู่ในทุกชุมชนและเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศ เดิมสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ถูกโอนให้มาอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการที่ได้ตั้งขึ้นมาใหม่ พูดง่ายๆก็คือถูกยึดจากชุมชนให้ไปสังกัดอยู่ส่วนกลางนั่นเอง และทำให้จากที่ทุกโรงเรียนเคยมีอยู่ 4 ชั้นเรียนก็ถูกขยายเพิ่มขึ้นเป็น 6 ชั้นเรียนโดยอัตโนมัติทั้งที่ไม่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบเช่น การคาดการณ์อัตราการเกิดของประชากร การโยกย้ายถิ่นฐานของคนในวัยทำงาน ฯลฯ

ผมว่านี่แหละครับที่เป็นต้นกำเนิดสิ่งที่เรียกว่าฟองสบู่ของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยซึ่งทำให้เกิดปัญหานักเรียนน้อย ครูขาดแคลน (จากการบริหารจัดการไม่ใช่ขาดแคลนจริง) การใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า และนำมาสู่ปัญหาการศึกษาด้อยคุณภาพที่กำลังลุกลามไปทั้งระบบในปัจจุบันนี้

ในส่วนโรงเรียนในชนบทห่างไกลธุรกันดารทุรกันดาร ผู้ปกครองไม่มีทางเลือกอื่นจำเป็นต้องให้ลูกหลานเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเนื่องจากปัญหาค้านการคมนาคมขนส่ง แม้โรงเรียนเหล่านี้จะมีจำนวนนักเรียนมากพอ (ถ้าคิดในเรื่องของต้นทุน) แต่ก็มักขาดแคลนด้านอุปกรณ์การศึกษา แหล่งเรียนรู้ เช่นการมีโอกาสได้ออกไปทัศนศึกษารวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการมีโอกาสใช้ห้องสมุดที่มีคุณภาพ รวมถึงมีปัญหาจากการขาดแคลนครูเพราะนอกจากครูที่เป็นคนพื้นที่แล้วครูจากต่างถิ่นก็ไม่อยากเข้าไปทำการสอน หากจำเป็นก็จะหาทางโยกย้ายออกไปโดยเร็วที่สุด

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการดูแลจากต้นสังกัดเช่นการนิเทศการเรียนการสอน การสื่อสารต่างๆจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยิ่งเมื่อมีการยุบเลิกการประถมศึกษาเปลี่ยนเป็นให้สำนักงานเขตพื้นที่เป็นผู้ดูแลยิ่งเกิดความห่างเหินจากต้นสังกัดมากขึ้นจนมีปัญหาด้านการบริหารจัดการและในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาเรื่องของคุณภาพการเรียนการสอนในที่สุด

ผมลองยกให้เห็นแค่สองปัญหา (ย่อยๆ) นะครับ แค่นี้ก็คงเห็นนะครับว่าปัญหามันไม่ได้จิ๊บจ๊อยแล้วก็ไม่ได้เพิ่งเกิดมาเมื่อวานหรือเมื่อวานซืน แต่มันเรื้อรังมาเป็นสิบ ยี่สิบ หรือสามสิบปีย้อนหลังไปถึงต้นกำเนิดของปัญหาเมื่อปี 2520 นั่นเลยครับ คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะเขียนถึงข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาให้ทั้งกระทรวงศึกษาธิการสามารถยุบรวมโรงเรียนเพื่อให้มีจำนวนนักเรียนมากพอที่จะให้บริการการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพไปพร้อมๆกับที่ชุมชนก็ไม่ต้องสูญเสียโรงเรียนที่เป็นเสมือนจิตวิญญาณของตนไปนั้นจะทำได้จริงหรือ ?

หมายเลขบันทึก: 535849เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ให้กำลังใจในการสะท้อนปัญหาค่ะ


ขอบคุณค่ะ...เป็นบันทึกที่หลายคนอ่านแล้วจะได้รับความรู้ในเรื่อง ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ...หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดเป็นปัญหา...เพราะมีเรื่องของการได้รับผลประโยชน์และการเสียผลประโยชน์นะคะ...ขอเป็นกำลังใจ...ให้ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็กคลี่คลายไปในทางที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์กันทั่วหน้า...และเสียผลประโยชน์กันน้อยที่สุด...

เข้าใจในปัญหา และบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กได้ดีจ้ะ  สู้ต่อไป  ให้กำลังใจจ้ะ

ขอเสริมนิดนึงนะครับ ในฐานะนักวิชาการด้วยกัน น่าจะเป็นเรื่องเล่าที่บริสุทธิ์ใจอีกเรื่องนะครับ คือตัวกระผมเองได้เข้าไปสัมผัสด้วยตัวเองในโรงเรียนชนบทแห่งหนึ่งของ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งในช่วงที่มีการควบรวมโรงเรียน ปี 53-54 ผลปรากฏว่า ต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนใหญ่ใกล้เคียง คือ จันทร์ อังคาร พุธ และวันพฤหัสศุกร์ถึงจะมาเรียนโรงเรียนตัวเอง ตามคำสั่งของ สพฐ.เพราะมีนักเรียนทั้งโรงเรียน ประมาณแค่ 80 กว่าคน ระยะทางในการเดินทางประมาณ 3 กิโลเมตรจากโรงเรียนเดิม ผ่านไป 1 ภาคการศึกษาผลปรากฏดังนี้ครับ  1. ชาวบ้านทำการประชุมประชาพิจารณ์ประชาคมหมู่บ้าน 2. ให้ยกเลิกการควบรวม....ด้วยเหตุผลเพราะว่า ข้อแรก โรงเรียนเรียนนี้ตั้งมานานเป็นส่วนราชการส่วนแรกเมื่อตั้งหมู่บ้านร้อยกว่าปีก่อน จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนไปแล้ว ชาวบ้านบอกว่าอุุุ่่นใจกว่าที่ยังเห็นข้าราชการครูซึ่งเป็นลูกหลานของตัวเองยังอยู่ในพิ้นที่  ที่คอยให้คำปรึกษาทั้งทางด้านทำมาหากิน เรื่องราวต่างๆที่จะไปติดต่อราชการที่อำเภอ และเป็นผู้ค้อยฝึกอาชีพเศรษฐกิจชุมชนพอเพียงให้กับชาวบ้านและนักเรียนในพื้นที่ร่วมกับพัฒนากรตำบล และอื่นๆอีกมากมาย ข้อสอง ความใกล้ชิดระหว่างชาวบ้านในพิ้นที่ซึ่งมีประมาณ 100 หลังคาเรือนกล่าวว่า ข้าราชการคือตัวแทนของพระเจ้าแผ่นดิน จะให้ย้ายออกจากชุมชนอย่างไรได้ อย่างนี้จะกระทบกับขวัญกำลังใจของชาวบ้านในพื้นที่ ฟังดังนี้แล้วยังคิดจะยุบรวมโรงเรียนในถิ่นธุระกันดารอีกหรือเปล่าครับ ชาวบ้านเองก็มีภาคประชาสังคมหมู่บ้านที่เป็นภูมิปัญญาของหมู่บ้าน และกล่าวต่ออีกว่า ถึงทางรัฐจะไม่มีงบประมาณ แต่ธุรกิจท้องถิ่นในพื้นที่มีการทำบุญผ้าป่าบำโรงเรียนปีละหลายแสนบาท ปัจจุบันใช้งบของทางราชการครึ่งต่อครึ่งกับงบของชุมชนที่บริจาคให้โรงเรียน ดังนี้แล้วจึงสมควรพิจารณาให้เหมาะสมและทำประชาพิจารณ์ก่อน ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 ให้เน้นหนักในการส่งเสริมประชาธิปไตยใช่ไหมครับ ดังนี้แล้วควรทำประชาพิจารณ์ ถามชุมชน และ นักเรียนก่อนค่อยตัดสินใจกันอีกทีครับ..


อยากให้คนได้อ่านบันทึกนี้กันมากๆ จริงๆ ครับ

ปัญหาใหญ่ของวัฒนธรรมการให้ความเห็นของคนไทยเราคือ "พูดก่อนที่จะรู้ข้อมูล" แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ยังติดอยู่ในวังวนของวัฒนธรรมนี้ แม้จะมารู้ข้อมูลจริงในภายหลังผู้ใหญ่เหล่านั้นก็มีวิธีพริ้วรอดตัวไปได้ เลยกลายเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ครับ

ปัญหาการศึกษาไทยนั้นเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ครับ ผมเองได้มีโอกาสรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ "operation costs" (ต้นทุนการดำเนินงาน) ที่มหาศาลด้านการศึกษาของไทยเมื่อเทียบกับนานาชาติในขณะที่ผลลัพธ์กลับต่ำกว่ามาก วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้คงไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าแบบไหนถูกแบบไหนผิด ไม่มีใครทำนายอนาคตได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่การตัดสินใจดำเนินการแก้ปัญหาวิธีใดวิธีหนึ่งย่อมดีกว่าการเตะถ่วงอยู่เฉยๆ ครับ

เห็นภาพเด็กๆ แล้วดูน่ารัก...

คงจะมีทางออกที่ดี เพื่ออนาคตของลูกหลานเรานะครับ


เป็นกำลังใจให้คะ 

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการ

เปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง...

ตั้งแต่เรื่องทรงผมนักเรียน แล้วมานี่

ยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีก..ยิ่งเรื่องใหญ่

การเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่การพัฒนา 

ต่างจากการ แก้ปัญหา..เพื่อให้เกิดผลตามมา

ที่ยากจะคาดเดา..."สุดท้ายเด็กคือผู้รับผลจากการกระทำ"



คุณ Priyapachara
คุณอานนท์ ภาคมาลี
คุณมะเดื่อ
คุณ พ.แจ่มจำรัส

ขอบคุณครับ และขอส่งผ่านกำลังใจไปให้เด็กๆด้วยครับ

ท่านอาจารย์ ดร.พจนา แย้มนัยนาครับ  สิ่งที่ท่านบอกนั่นแหละคือหัวใจของการแก้ปัญหา "ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด ในขณะที่เสียประโยชน์น้อยที่สุด"

ขอบคุณครับ

ผมเข้าใจความต้องการของชุมชนอย่างที่ท่านอาจารย์ Chakrin Dansompadsa ได้สัมผัสมาดีครับ หลายครั้งสมัยที่เข้าประเมินโรงเรียนลักษณะนี้จะมีชาวบ้านเข้ามาขอพบ เข้ามาสอบถามแทบจะทั้งหมู่บ้าน คำพูดอ้อนวอนซ้ำๆก็คือ "อย่ายุบโรงเรียนของพวกเราเลย" ต้องอธิบายกันยาวกว่าจะเข้าใจว่างานของผู้ประเมินมันคนละเรื่องกัน นั่นแสดงให้เห็นถึงความหวงแหนของชุมชนได้เป็นอย่างดี ในบริบทของชุมชนลักษณะนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะยุบโรงเรียนของชุมชนเขาไป

แต่ในสภาพของความเป็นจริงผมก็ไม่เห็นด้วยที่ชุมชนจะต้องมาแบกรับภาระในการรักษาโรงเรียนทั้งหมดไว้ มันไม่ใช่แค่การหารายได้มาให้เพียงพอสำหรับการดำเนินการเท่านั้นนะครับ ถ้าโรงเรียนเป็นส่วนราชการอย่างที่ท่านว่าแม้ชุมชนจะสามารถดึงเอาโรงเรียนไว้ได้ แต่กิจกรรมกิจการมันจะต้องเชื่อมโยงไปยังส่วนราชการต้นสังกัดซึ่งมีกฏหมายและขั้นตอนการปฏิบัติที่เคร่งครัดรัดกุมชุมชนก็ไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการด้วยตนเอง เพราะไหนจะเรื่องของหลักสูตร การวัดและประเมินผล การจัดหาครู ฯลฯ เพียงแค่ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะถ้าผู้บริหารหรือต้นสังกัดเขาไม่ฟังมันก็ไม่มีความหมายเพราะสิทธิแห่งอำนาจ (Right of Authority) ไม่ได้เป็นของชุมชนครับ

หากจะให้เป็นโรงเรียนของชุมชนมีทางเดียวครับคือต้องยื่นขออนุญาตจัดตั้งในลักษณะโรงเรียนเอกชนซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่ทางออกที่ดีครับ

ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้เสียเลย ผมว่าลองย้อนไปดูระบบการศึกษาตามแผนการศึกษาชาติปี 2503 (ปรับปรุงปี2512) ดูนะครับน่าสนใจ ถ้านำเอามาแล้วปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคปัจจุบันก็น่าจะมีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้ Win Win ทั้งสองฝ่าย แต่ที่ผมสนใจกว่านั้นคือเรื่อประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณและที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของคุณภาพผู้เรียน

ชุมชนก็ได้โรงเรียนมาครึ่งหนึ่งบริหารเองมีหลักสูตรที่เหมาะกับตนเอง สพฐ.ก็ได้รวมนักเรียนให้มีจำนวนมากพอต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

แต่ต้องปรับใหญ่กันเลยนะครับ ระดับรัฐมนตรี หรือกระทรวงศึกษานี่เล็กเกินไป และต้องออก พรบ.การศึกษาฉบับใหม่รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สิน (อาจรวมถึงบุคคลากร) กันนั่นเลยครับถึงจะสำเร็จ


..เมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็ออกมันทางเข้าซิครับ ไม่ได้เสียหน้าอะไรสักหน่อย

ขอบคุณนะครับสำหรับคอมเม้นท์ดีๆ

หนึ่งในสาเหตุที่ผมยังวนเวียนอยู่ใน G2K ก็คือกำลังใจจากท่านอาจารย์ ดร.ธวัชชัยนี่แหละครับเพราะได้กระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ผมอยากให้อีกหลายๆคนมองปัญหาจากมุมกว้างเป็นองค์รวมไปพร้อมกันการมองแบบจุดต่อจุด มองแบบนักบริหารจัดการจะได้เข้าใจว่าเรื่องของ "operation costs" ที่อาจารย์ว่านั้นสำคัญแค่ไหน ยิ่งบ้านเราไม่ใช่ประเทศร่ำรวยที่จะเอามาใช้ทิ้งๆขว้างๆ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการยิ่งสำคัญ

ผมเห็นด้วยว่า "การตัดสินใจดำเนินการแก้ปัญหาวิธีใดวิธีหนึ่งย่อมดีกว่าการเตะถ่วงอยู่เฉยๆ" เพราะเมื่อแกะจากแผนมาลงมือปฏิบัติเท่านั้นจึงจะเห็นสิ่งที่จะต้องปรับปรุงให้เดินหน้าจนประสบความสำเร็จได้

คุณ kitty_b

ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ การพัฒนต้องมีเป้าหมายครับ การเปลี่ยนแปลงหากมันจะเกิดก็ต้องเกิด การมีกิจกรรมมันมี dynamic ของมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วครับ

ส่วนเรื่องทรงผมนักเรียนผมอาจจะมองต่าง คือไม่อยากให้มีกฎเกณฑ์อะไรมาบังคับเลย และเรื่องนี้ผมว่ามันสำคัญสำหรับกรอบความคิดของเด็กครับ

ในกลุ่มชุมชนมุสลิมนั้นเขาตั้งโรงเรียนปอเนาะซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย ที่จริงแล้วเมื่อมีปัญหาความไม่รุนแรงในภาคใต้ตอนล่างในปัจจุบัน โรงเรียนปอเนาะถูกมองในแง่ลบและกลับกลายเป็นเป้าที่ภาครัฐเข้มงวดอย่างมากแต่ชุมชนที่เข้มแข็งก็สามารถเลี้ยงโรงเรียนอยู่ไว้ได้

ผมเคยคุยกับเพื่อนมุสลิม เขาบอกสั้นๆ ว่าสำหรับมุสลิมนั้น ใครเรียนโรงเรียนปอเนาะก็เหมือนกับคนไทยพุทธไปเรียน "โรงเรียนเตรียมสามเณร" นั่นเอง โรงเรียนเตรียมสามเณรได้รับการยกย่องจากชาวพุทธอย่างไรโรงเรียนปอเนาะก็ได้รับการยกย่องจากชาวมุสลิมเช่นนั้นครับ

บางทีการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนนั้น เราควรเรียนรู้ "best practices" จากโรงเรียนปอเนาะนะครับ

ก็ขึ้นอยู่กับว่า "เมืองไทย เมืองพุทธ" จะยอมรับและทำได้แค่ไหนครับ

อืมม.... นอกจากตัวอย่างจากโรงเรียนปอเนาะแล้ว ในฝั่งอเมริกานั้นก็มีโรงเรียนที่บริหารจัดการโดยพระโรมันแคทอลิคอยู่มาก โรงเรียนเหล่านี้เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กโดยมีโบสถ์เป็นเจ้าของครับ ที่จริงแล้ว "โรงเรียนเอกชนคริสต์" นั้นก็มีอยู่ไม่น้อยในประเทศไทยและหลายแห่งเป็นโรงเรียนคุณภาพดีมากทีเดียวครับ

ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะ

เข้ามาแก้คำผิดครับ บังเอิญคุณ ผบทบ.เธอเข้ามาอ่านแล้วคอมเพลนเรื่องคำผิดผมก็เพิ่งสังเกต คำว่า "ทุรกันดาร" เขียนผิดเป็น "ธุรกันดาร" ที่จริงก็ทราบนะครับว่าคำนี้เขียนว่าอย่างไรแต่ตอนบันทึกเล่นผิดซะทุกที่เลย

คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ปล่อยผ่านไม่ได้ก็เลยต้องรีบเข้ามาแก้ (โดยขีดฆ่าคำผิดแต่ยังคงไว้ประจานตัวเองนิดหน่อย)

ต้องขออภัยทุกท่านที่เข้ามาอ่านมากๆเลยครับ ต่อไปจะระมัดระวังให้มากกว่านี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท